ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป041

สัมมาทิฏฐิ ๖ ความรู้จักชาติความเกิด

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 ชาติความเกิด ๓
ธาตุ ๖ นามรูป ๔
 ความเชื่อ ๒ อย่าง ๕
เหตุเกิดของชรามรณะ ๖
ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๗
 เงื่อนสำคัญของธรรมะ ๘
 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๑/๑ ( File Tape 41 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ

 สัมมาทิฏฐิ ๖ ความรู้จักชาติความเกิด

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักชาติความเกิด รู้จักชาติสมุทัยเหตุเกิดแห่งชาติ รู้จักชาตินิโรธความดับแห่งชาติ รู้จักชาตินิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ รู้จักดั่งนี้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ อุชุกะทิฏฐิความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าท่านพระสารีบุตรได้อธิบายสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ คืบขึ้นไปอีกช่วงหนึ่ง หรืออีกลูกโซ่หนึ่ง หรืออีกเปลาะหนึ่ง และท่านได้แสดงอธิบายถึงชาติคือความเกิดว่า ก็ได้แก่ชาติ สัญชาติ ความก้าวลง ๒ ความบังเกิด ความบังเกิดยิ่ง ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความได้เฉพาะอายตนะทั้งหลาย รู้จักชาติก็คือรู้จักดั่งนี้ รู้จักชาติสมุทัยเหตุเกิดแห่งชาติ ก็คือรู้จักว่าเหตุเกิดแห่งชาติ หรือความเกิดแห่งชาติ ก็มีเพราะความเกิดแห่งภพ คือเพราะภพเกิด ชาติก็เกิด รู้จักดั่งนี้เป็นความรู้จักเหตุเกิดแห่งชาติ รู้จักชาตินิโรธความดับชาติก็คือรู้จักว่า ความดับแห่งชาติย่อมมีเพราะความดับแห่งภพ ก็คือว่าเพราะภพดับ ชาติก็ดับ รู้ดั่งนี้เป็นความรู้จักชาตินิโรธความดับแห่งชาติ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติ ชาติความเกิด ต่อไปนี้จะได้แสดงอธิบายไปตามสมควร อันชาติคือความเกิดนี้ ที่ได้มีพระพุทธาธิบาย และมีพระเถราธิบายตาม ว่าได้แก่ ชาติ สัญชาติ ความก้าวลง และใช้คำอื่นๆ ก็มีความหมายถึงชาติคือความเกิดตามที่ได้เข้าใจกัน และได้พูดถึงกัน อันชาติคือความเกิดนี้สำหรับมนุษยชาติ หรือว่าสัตว์ที่เกิดอาศัยครรภ์มารดาทั้งปวง ย่อมเรียกว่าชาติคือความเกิดตั้งแต่ก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์ของมารดา อันความก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์ของมารดานี้ ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงอธิบายไว้ ว่าอาศัยองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ ๑ มารดาบิดาอยู่ด้วยกัน ๒ มารดามีฤดู ๓ คันธัพพะ หรือที่เรียกกันว่าคนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะมาถือกำเนิด หรือหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณมาปรากฏขึ้น เมื่อประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้ ครรภ์ก็ตั้งขึ้น หรือเรียกตามคำแปลตามศัพท์ภาษาบาลีว่า ความก้าวลงแห่งครรภ์ก็ย่อมมี ๓ อันคำว่าครรภ์นี้ก็หมายถึงสัตว์ผู้มาบังเกิดในท้องของแม่ ที่เรียกว่าตั้งครรภ์ ก็คือความก้าวลงของครรภ์ ก้าวลงของสัตว์ที่จะมาบังเกิดในครรภ์ ก็ย่อมมีขึ้น และก็เรียกว่าเป็นปฐมจิตปฐมวิญญาณตั้งแต่นั้น และอาศัยความเติบโตขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงครบถ้วน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ก็คลอดออกจากครรภ์ของมารดา ชาติคือความเกิดนั้นก็นับตั้งแต่คันธัพพะหรือคนธรรพ์ หรือปฏิสนธิวิญญาณมาปรากฏก่อขึ้น เป็นปฐมจิตปฐมวิญญาณ แต่ตามที่นับกันคือนับอายุ ก็มักจะนับตั้งแต่เมื่อได้คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว จึงจะเรียกว่าเกิด และก็นับอายุกันมาตั้งแต่นั้น ธาตุ ๖ นามรูป ในพระบาลีอีกแห่งหนึ่งได้มีแสดงไว้ว่า เมื่อธาตุทั้ง ๖ มาประชุมกัน ครรภ์จึงตั้งขึ้น หรือก้าวลง ที่เรียกว่าตั้งครรภ์ ธาตุทั้ง ๖ นั้นก็ได้แก่ ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม อากาสธาตุธาตุอากาศคือช่องว่าง วิญญาณธาตุธาตุรู้ หรือธาตุวิญญาณ เมื่อธาตุทั้ง ๖ นี้มาประชุมกัน ครรภ์ก็ตั้งขึ้น หรือความก้าวลงของครรภ์ก็มีขึ้น และเมื่อครรภ์ตั้งขึ้น นามรูปก็มีขึ้น ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในที่นี้ ว่าเมื่อธาตุทั้ง ๖ ประชุมกัน ครรภ์ก็ตั้งขึ้น ธาตุทั้ง ๖ นั้น ธาตุทั้ง ๕ ข้างต้น คือธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมธาตุอากาส เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ เป็นธาตุที่เป็นฝ่ายวัตถุ เป็นฝ่ายรูป ส่วนธาตุที่ ๖ คือวิญญาณธาตุนั้นเป็นธาตุรู้ และธาตุที่ ๖นี้ คือวิญญาณธาตุ ก็ตรงกับที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ รวมความก็คือเมื่อส่วนที่เป็นรูป คือธาตุ ๕ ข้างต้น กับปฏิสนธิวิญญาณมาประชุมกัน ครรภ์ก็ตั้งขึ้นมา นับเป็นปฐมจิตปฐมวิญญาณ ดั่งที่กล่าว ๔ ความเชื่อ ๒ อย่าง ชาติคือความเกิดนี้ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น หรือหลังจากที่พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเชื่อถือกัน ว่ามีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อีกอย่างหนึ่ง เกิดมาแล้วดำรงอยู่เป็นนิรันดร ไม่ตาย และคนเป็นอันมาก หรือเรียกว่าทั้งโลก เมื่อเกิดมาก็ไม่ปรารถนาที่จะแก่จะเจ็บจะตาย ต้องการที่จะดำรงอยู่ แม้ว่ารู้ว่าดำรงอยู่ไม่ได้ ก็ต้องการให้อายุยืนนาน จึงพากันแสวงหาวิธีหรือหยูกยาที่จะทำให้อายุยืนนาน ที่เรียกว่าอายุวัฒนะ และแม้ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ รู้อยู่ว่าจะต้องตาย ก็ปรารถนาที่จะไปเกิดในภพชาติที่ไม่ตาย เช่นไปเกิดเป็นเทพที่เชื่อว่าไม่ตาย เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกเทพว่าอมรที่แปลว่าผู้ไม่ตาย แม้ศาสดาทั้งหลายผู้สอนศาสนานั้นๆ ก็สอนกันว่ามีสรวงสวรรค์ อันเป็นที่สถิตย์ของเทพที่เป็นอมรคือไม่ตายนี้ และก็สอนให้นับถือปฏิบัติเพื่อที่จะไปเกิดในภูมิชั้นของเทพที่ไม่ตาย ไปเป็นอมรคือเป็นผู้ที่ไม่ตาย คือไปเกิดแล้วก็ไม่ตาย และแม้เป็นมนุษย์นี้เอง ก็ยังมีลัทธิที่เชื่อถือว่าเมื่อไปปฏิบัติในวิธีพิเศษ ตามลัทธิที่สั่งสอนนั้น ก็จะสำเร็จทั้งที่เป็นกายมนุษย์นี้ เป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ตลอดไปไม่ตาย เช่นไปสำเร็จเป็นเซียนต่างๆ พระพุทธเจ้าเองเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ได้ทรงพิจารณาเข้ามา เห็นว่าแม้พระองค์เองจะทรงดำรงอยู่ในโลกนี้ในฐานะใดๆก็ตาม ๕ แม้ในฐานะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก ก็ต้องแต่ต้องเจ็บต้องตาย จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น พ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย ด้วยทรงพิจารณาเทียบเคียงว่า เมื่อมีแก่มีเจ็บมีตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหมือนอย่างเมื่อมีกลางวันก็มีกลางคืน มีกลางคืนก็มีกลางวัน เป็นคู่กัน จึงได้เสด็จออกผนวชเพื่อทรงแสวงหาโมกขธรรม เหตุเกิดของชรามรณะ

(เริ่ม ๕๑/๑) ในพุทธประวัติตอนนี้ก็ยังมิได้กล่าวถึงชาติคือความเกิด ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพิจารณาด้วยพระปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ จึงได้ทรงพบว่าความแก่ความเจ็บความตายนั้น ย่อมมีเพราะชาติคือความเกิด เมื่อมีชาติคือความเกิด จะเกิดเป็นอะไรๆ ก็ต้องมีดับ คือตายหรือแตกสลายในที่สุด ไม่มีใครหรืออะไรที่จะเป็นอมรคือไม่ตาย ใครหรืออะไรเมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับดังกล่าว จึงได้ทรงพบสัจจะคือความจริง ว่าสมุทัยคือความเกิดหรือเหตุเกิดของชรามรณะนั้น ก็เพราะชาติ เมื่อมีชาติ ก็มีชรามีมรณะ อันนับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ตามที่ท่านพระสารีบุตรท่านได้อธิบาย และพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงพิจารณาสืบค้นขึ้นไป ว่าความเกิดขึ้นแห่งชาติ หรือเหตุเกิดแห่งชาตินั้นคืออะไร ก็ได้ทรงพบว่าก็คือภพ เพราะภพเกิดขึ้นชาติจึงเกิดขึ้น เพราะภพมีขึ้นชาติจึงมีขึ้น ดังที่ท่านพระสารีบุตรได้นำมาอธิบายในขั้นนี้ และพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงค้นคว้าสืบๆขึ้นไป แต่ในขั้นนี้นั้นเอาเพียงแค่ว่าเพราะมีภพ หรือเพราะภพเกิดขึ้น ชาติจึงมี ชาติๆจึงเกิดขึ้น เพราะความเกิดขึ้นแห่งภพ จึงมีความเกิดขึ้นแห่งชาติ ๖ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นในโลกนี้ ซึ่งเป็นพระผู้ตรัสรู้ ได้ตรัสรู้พบสัจจะคือความจริงตั้งแต่ในขั้นนี้ ว่าชรามรณะนั้นมีเพราะชาติคือความเกิด และชาติคือความเกิดมีขึ้นก็เพราะมีภพ นี้เป็นสัจจะคือเป็นความจริงที่เป็นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าคือพระผู้ตรัสรู้ ที่ได้ชื่อว่าพุทธะนี้เท่านั้น จึงตรัสรู้ดั่งนี้ ศาสดาก่อนแต่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น หรือแม้ภายหลังที่พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้น ก็มิได้มีผู้ใดแสดงดั่งนี้ ได้ตรัสรู้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อเสด็จออกทรงผนวชแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์อาฬารดาบสและอุทกดาบส ได้ทรงศึกษาจบสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างสูงตามลัทธิของท่านดาบสทั้งสองนั้น ซึ่งยังปฏิบัติสมาธิดังกล่าวเพื่อภพชาติ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอมรคือไม่ตาย ดังเช่นที่บัญญัติว่าเป็นพรหม หรือเป็นเทพชั้นสูงสุดชั้นใดชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอันว่า ปฏิบัติลัทธิสมาบัติทั้งปวงนั้นเพื่อชาติคือความเกิด ซึ่งความเกิดในภพชาติที่ไม่ตายนั้นไม่มี เมื่อมีชาติคือความเกิดแล้ว จะในภพชาติใดก็ตาม ก็จะต้องมีดับ ต่างแต่เร็วหรือช้าเท่านั้น แต่ก็มิได้ทรงปฏิเสธว่าไม่มีเทพดาไม่มีพรหม เทพดาพรหมมี ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามลัทธิสมาบัตินั้นก็ไปได้ แต่ว่าแม้ไปเกิดเป็นพรหมเป็นเทพนั้นๆ ก็ชื่อว่ามีชาติ คือความเกิดก็จะต้องมีแก่ มีตาย มีดับ จึงเป็นอันว่าไม่พ้นทุกข์ เพราะยังต้องมีเกิดมีดับ และยังมีตัณหาคือความอยากอันเป็น โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อเกิดในภพชาติใหม่ ก็เป็นอันว่ายังไม่สิ้นกิเลส ยังไม่สิ้นชาติสิ้นภพ ยังไม่สิ้นทุกข์ จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ก็ไม่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะไม่เป็นทางให้เกิดปัญญา ที่จะรู้ถึงสัจจะคือความจริงที่ยิ่งๆขึ้นไปได้ ๗ เงื่อนสำคัญของธรรมะ และก็เป็นอันว่า แม้ในขั้นที่ทรงละสละสำนักของท่านดาบสทั้งสองนั้น ก็ได้ทรงเริ่มที่จะเข้าพระทัย ที่จะรู้ว่าเมื่อยังมีชาติคือความเกิดอยู่ ก็จะต้องมีชรา มีมรณะ ยังมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องหาทางปฏิบัติเพื่อดับชาติคือความเกิด ซึ่งทางปฏิบัติเพื่อดับชาติคือความเกิดนี้ ยังไม่มีศาสดาใดสั่งสอนได้ มีแต่สั่งสอนที่จะให้ไปเกิดในภพชาติที่เข้าใจว่าเป็นอมรคือไม่ตาย ดังที่กล่าวนั้น ซึ่งหามีไม่ตามความเป็นจริงดังที่กล่าว เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าแม้ในขั้นนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้มีพระปัญญาที่ได้ทรงพิจารณาเห็น จับเหตุจับผล จับลูกโซ่ของสังสารวัฏ จับตั้งแต่ความแก่ความตาย ว่ามีเพราะชาติคือความเกิด แต่ก็เมื่อไม่มีศาสดาใดจะสั่งสอนว่าจะดับชาติได้อย่างไร จึงต้องทรงหาเอาเอง ด้วยทรงปฏิบัติค้นคว้าต่อไป จนได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาดังกล่าว เพราะฉะนั้น เงื่อนของธรรมะตอนนี้จึงเป็นเงื่อนสำคัญ ที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมะทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา จะต้องทำความเข้าใจ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ที่จะนำให้เข้ามาสู่สัทธรรม คือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ถูกตรง ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๗ ความรู้จักภพ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กามภพ รูปภพ อรูปภพ ๓
 กรรมภพ ๔
อัสมิมานะ ความเป็นเรา ความมีเรา ๕
 อุปปัติภพ ๖
ภวสมุทัย ภวนิโรธ ภวนิโรธคามินีปฏิปทา ๗
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๕๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๑/๒ ( File Tape 41 )
อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ

 สัมมาทิฏฐิ ๗ ความรู้จักภพ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ จนถึงท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอธิบายจับชรามรณะ ว่ามีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดมีเพราะภพ และภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านอีก ว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ จะมีอธิบายอย่างไรอีก ท่านก็ตอบว่ามี และท่านก็จับอธิบายต่อไปซึ่งมีความว่า ความเห็นชอบคือสัมมาทิฏฐินั้น ก็คือรู้จักความเกิดขึ้นแห่งภพ ว่ามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน โดยที่ท่านได้ให้คำอธิบายเป็นหัวข้อไว้ก่อน ว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบที่จะพึงอธิบายได้ต่อไปนั้น ก็คือความรู้จักภพ ความรู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งภพ รู้จักความดับภพ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับภพ เมื่อมีความรู้จักดั่งนี้ ก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิเห็นชอบ ๒ อุชุกะทิฏฐิเห็นตรง ทำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม และนำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้ กามภพ รูปภพ อรูปภพ และท่านก็ได้อธิบายขยายความในข้อแรกว่า รู้จักภพ ก็คือรู้จักว่าภพนั้นมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ อันคำว่าภพนั้นมักจะพูดกันคู่กับชาติว่า ภพชาติ ซึ่งดูเหมือนจะคล้ายๆกัน หรือเป็นอันเดียวกัน และก็ได้มีอธิบายภพทั้ง ๓ นี้ไว้ด้วย ว่าได้แก่โลกอันเป็นที่บังเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลาย และโลกที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม ก็เรียกว่ากามภพ ส่วนโลกที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ท่องเที่ยวไปในรูป อันหมายถึงได้รูปฌาน ได้รูปสมาบัติ อันเป็นชั้นพรหม คือชั้นรูปพรหม ก็เรียกว่ารูปภพ ส่วนโลกอันเป็นที่บังเกิดขึ้นของผู้ที่ท่องเที่ยวไปในอรูป คือได้อรูปฌาน อรูปสมาบัติ คือเกิดเป็นอรูปพรหม ก็เรียกว่าอรูปภพ นี้เป็นอธิบายทั่วไป และก็อธิบายทั่วไปนี้เองที่ได้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ดั่งนี้ และก็พูดควบคู่กันไปกับชาติ ว่าชาติภพ ดังกล่าว แต่ว่าในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่โยงกันไป อันเรียกตามศัพท์ว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ที่ท่านพระสารีบุตรมาจับอธิบายแสดงสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็คือความที่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่นี้ ท่านจับแต่ชรามรณะว่ามีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดก็มีเพราะภพ และในตอนนี้ท่านก็แสดงว่าภพก็มีเพราะอุปาทาน แต่ในข้อแรกที่ท่านตั้งขึ้นเป็นหัวข้อ ท่านก็จับเอาภพขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าสัมมาทิฏฐินั้น คือความรู้จักภพ รู้จักภพสมุทัยเหตุเกิดภพ รู้จักภพนิโรธความดับภพ ๓ รู้จักภพหรือภวนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ดั่งที่กล่าว เมื่อเป็นดั่งนี้ภพกับชาติจึงต่างกัน และชาติมีเพราะภพ ความเกิดขึ้นแห่งชาติ ก็มีเพราะความเกิดขึ้นแห่งภพ เมื่อเป็นดั่งนี้ คำว่าภพในที่นี้จึงมีอธิบายต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอธิบายจำเพาะในหมวดธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นโยงกันไป เหมือนดั่งลูกโซ่ดังกล่าวนั้น กรรมภพ และท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า ภพ หรือ ภว ในที่นี้มี ๒ คือ กรรมภพ ภพคือกรรม อุปปัติภพ ภพคืออุปบัติคือความเข้าถึง คำว่ากรรมนั้นก็ได้แก่การงานที่กระทำ ทำทางกายก็เรียกว่ากายกรรม ทำทางวาจาก็เรียกว่าวจีกรรม ทำทางใจก็เรียกว่ามโนกรรม หมายถึงการงานที่กระทำด้วยความจงใจ อันเรียกว่าเจตนา เมื่อเจตนาคือจงใจทำ การที่กระทำนั้นจึงเป็นกรรม อันให้บังเกิดผล กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว นี้เป็นอธิบายกรรมทั่วไป ดังได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ แปลความว่า เราตถาคตกล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม เพราะบุคคลจงใจแล้วจึงทำ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ดั่งนี้ แต่แม้เช่นนั้นในการแสดงกรรมโดยพิสดาร ท่านก็ยังจัดกรรมที่ทำโดยมิได้มีเจตนา คือไม่จงใจไว้ว่า ก็เรียกว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า กตัตตากรรม กรรมที่สักแต่ว่าทำ พิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า การกระทำบางอย่างที่กระทำไปแม้มิได้เจตนา แต่อาศัยความประมาทเลินเล่อเผลอเพลินพลาดพลั้ง ก็มีโทษได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดเอาไว้ว่าเป็นกรรมประเภทหนึ่งด้วย ก็มีเหตุผลอยู่ ๔ แต่ว่ากล่าวโดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีเจตนาคือจงใจทำ ท่านจึงเรียกว่าเป็นกรรม อ้างพระพุทธภาษิตดั่งที่ได้ยกมาแปลไว้ข้างต้นนั้น เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ ใจที่จงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นกรรมขึ้นมาทางใจก่อน อันเรียกว่า มโนกรรม

( เริ่ม ๕๑/๒ ) เพราะฉะนั้น กรรมจึงเกิดจากใจ และลำพังคิดไปในใจก็เป็นมโนกรรมได้ ฉะนั้น การที่ท่านจัดว่ากรรมก็ชื่อว่าเป็นภพอย่างหนึ่ง คือกรรมภพ ภพคือกรรมก็มีเหตุผลอยู่ เพราะคำว่าภพนั้นมาจากคำว่า ภวะ ที่แปลว่าเป็น หรือความเป็น ความเป็นความมี มีอีกคำหนึ่งคือคำว่า ภาวะ ก็แปลว่าความเป็นความมี เป็นคำเดียวกันกับคำว่าภวะ หรือภพความเป็นความมี อัสมิมานะ ความเป็นเรา ความมีเรา เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าภพก็คือความเป็นความมี ที่เกิดตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน ความเป็นความมีอะไร ที่บังเกิดขึ้นตั้งขึ้นในจิตใจนี้ก่อน ก็คือความเป็นเรา ความมีเรา อันเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่า อัสมิ อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น เรามีเราเป็น ฉะนั้น ความมีเรา ความเป็นเราขึ้น อันเป็นตัวอัสมิ คืออัสมิมานะนี้ จึงบังเกิดขึ้นในจิตใจนี้ มีอยู่เป็นไปอยู่ และเมื่อมีเรา เป็นเรา หรือเรามีขึ้น เราเป็นขึ้น จึงมีอย่างอื่นต่อๆไป เช่นว่ามีของเรา คือจะต้องมีเราขึ้นมาก่อน จึงจะมีของเรา ถ้าไม่มีเรา ของเราก็ไม่มี ฉะนั้น ความมีเราเป็นเราขึ้น ตั้งขึ้นในจิตใจนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นมโนกรรมอันละเอียด ซึ่งมีอยู่ในบุคคลสามัญทุกๆคน ตรงกับคำว่า ภวาสวะ อาสวะคือภพ นอนจมดองจิตสันดานของทุกๆคนอยู่ ก็คือความที่มีเราเป็นเรา เป็นตัวภวาสวะ อันนี้แหละกล่าวได้ว่าเป็นตัวมโนกรรมอันละเอียดที่ทุกๆคนมีอยู่ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จะต้องมีเราเป็นเราขึ้นก่อน จึงจะมีของเรา และมิใช่ว่าจะมีเพียงของเราเท่านั้น แต่ก็หมายความว่าย่อมมีสิ่งอื่นทุกๆอย่าง ที่เกี่ยวกับตัวเรานี้ และข้อที่เกี่ยวเนื่องเป็นประการแรก ก็คือว่าชาติความเกิด ต้องมีตัวเรา และตัวเรานี้เกิด ถ้าหากว่าไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด ๕ แต่เพราะมีตัวเราจึงมีชาติคือความเกิด คือตัวเราเกิด เช่นเดียวกับว่าของเราดังที่กล่าวแล้ว ต้องมีตัวเราจึงมีของเรา ถ้าไม่มีตัวเรา ของเราก็ไม่มี ฉันใดก็ดี เมื่อมีตัวเรา ตัวเรานี้เองที่มีอยู่ จึงเกิด เพราะฉะนั้น ชาติคือความเกิดจึงมีเพราะภพ ก็คือความที่มีเราเป็นเรา คือตัวเรา และตัวเราที่มีที่เป็นอยู่ อันเป็นมโนกรรมอย่างละเอียดนี้เองเกิด เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าภพในที่นี้หมายถึงกรรมภพ ภพคือกรรม ก็ดังที่ได้อธิบายแล้ว ว่าหมายถึงมโนกรรมอย่างละเอียด ที่เรามีเราเป็น เป็นเรามีเรา เป็นตัวเราขึ้นมา นี่แหละคือตัวภพ และตัวภพนี้เองก็เป็นตัวกรรม คือจิตใจนี้เองปรุงแต่งขึ้น ทำขึ้นมา สร้างตัวเราขึ้นมา ทำขึ้นมาเป็นมโนกรรมอย่างละเอียด และเมื่อสร้างตัวเราขึ้นมา ก็ตัวเรานี้เองจึงเกิด เพราะฉะนั้น เพราะมีกรรมภพดั่งนี้จึงมีชาติคือความเกิด ถ้าไม่มีกรรมภพดั่งนี้ก็ไม่มีอะไรเกิด เพราะไม่มีตัวเรา เมื่อไม่มีตัวเราก็ไม่มีอะไรเกิด เมื่อมีตัวเราขึ้นจึงมีชาติคือความเกิด คือตัวเราเกิด และตัวเรานี้เองก็คือตัวกรรมภพ อุปปัติภพ และอธิบายของภพประการที่ ๒ ว่าได้แก่อุปปัติภพ ภพคือความเข้าถึง ก็สืบเนื่องมาจากกรรมภพนั้นเอง คือเมื่อเรามีเราเป็น มีเราเป็นเรา ตัวเรานี้เองจึงเข้าถึงชาติคือความเกิด คือตัวเรานี้เองมีอาการไป มีอาการมา และประการแรกก็คือไปสู่ชาติคือความเกิด เข้าถึงชาติคือความเกิด ตัวเรานี้เองเข้าถึงชาติคือความเกิด ดังที่เรียกในที่อื่นว่า ปฏิสนธิวิญญาณ หรือ ปฏิสนธิจิต หรือ ปฏิสนธิ และอันนี้เองที่เป็นอุปปัติภพ ถ้าหากว่ามีตัวเรา แต่ว่าถ้าตัวเราไม่มีอาการไปไม่มีอาการมา ก็ไม่มีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด ๖ แต่ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีตัวเรา ตัวเราก็ต้องมีอาการไปอาการมา จึงต้องมีอาการเข้าถึงชาติคือความเกิด อาการของตัวเราที่เข้าถึง คือที่ไปที่มา นี่แหละเป็นอุปบัติภพ เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรท่านจึงได้แสดงว่า สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบนั้น ก็คือรู้จักภพ ว่าภพคืออะไรเป็นประการแรก และเมื่อรู้จักภพว่าภพคือกรรมภพอุปปัติภพ อันได้แก่ภาวะที่เป็นเรา ที่มีเรา เป็นตัวเรา ซึ่งมีอาการเคลื่อนไหวไปมาได้ เข้าถึงโน่นเข้าถึงนี่ได้ นี่แหละคือตัวภพ ซึ่งเมื่อมีภพดั่งนี้ก็มีชาติคือความเกิด ให้รู้จักภพดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ภวสมุทัย ภวนิโรธ ภวนิโรธคามินีปฏิปทา และต่อไปท่านก็แสดงว่า รู้จักภวสมุทัย หรือภพสมุทัยเหตุเกิดแห่งภพ ก็ได้แก่อุปาทาน คือความยึดถือ รู้จักภวนิโรธ หรือภพนิโรธความดับภพ ก็คือดับอุปาทานความยึดถือ รู้จักภวนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับภพ ก็คือดับอุปาทานเสีย ความที่รู้จักดั่งนี้เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง เป็นไปเพื่อละราคานุสัย อนุสัยคือราคะความติดใจยินดี เพื่อบันเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง เป็นไปเพื่อถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น เป็นไปเพื่อละอวิชชา เพื่อทำวิชชาคือความรู้แจ้งเห็นจริงให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่สัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาให้รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นโยงกันไปเป็นลูกโซ่ ตามพระเถราธิบายนี้ จึงเป็นข้อที่ควรกระทำ และเมื่อพิจารณาให้มีความเข้าใจแล้ว ก็จะได้รู้จักสัจจะคือความจริงในพุทธศาสนา จนถึงขั้นที่เป็นอริยสัจจ์ ๗ และจะรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่จำแนกออกไปได้อย่างกว้างขวาง และครอบคลุมสัจจะคือความจริงทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาให้มีความเข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็จะได้ประโยชน์ดั่งที่กล่าว

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats