ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป048

สัมมาทิฏฐิ ๒๐ ความรู้จักนามรูป (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

มหาภูตรูป ๓

จตุธาตุววัฏฐานะ ธาตุกรรมฐาน ๓

อุปาทายรูป ๕

โคจร ๕ ๖

ภาวะ ๒ ปกิณณกะ ๔ ๖

วิญญัตติ ๒ วิกาล ๓ ลักษณะ ๔ ๗

รูป ๒๘ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๐/๒ ( File Tape 47 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๒๐ ความรู้จักนามรูป (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร

ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ มาถึงตอนที่ท่านได้แสดงว่า

สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือ รู้จักนามรูป รูปจักเหตุเกิดแห่งนามรูป

รู้จักความดับแห่งนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป

และท่านก็ได้แสดงอธิบายไปทีละข้อ ดังที่ได้แสดงแล้ว

และได้แสดงอธิบายขยายความในที่นี้ในข้อแรก คือข้อรู้จักนามรูป

ได้แสดงนามมาแล้ว จะได้แสดงรูปต่อไป

อัน รูป นั้นก็ได้นำมาใช้กันในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกัน เช่น รูปร่างหน้าตา รูปกาย

ตามศัพท์คำว่ารูปนั้นแปลว่าชำรุด สิ่งใดย่อมชำรุด สิ่งนั้นชื่อว่ารูป

ตามความหมาย ก็หมายถึงรูปที่เป็น รูปขันธ์ หรือที่เป็น รูปกาย

มหาภูตรูป

และได้มีแสดงอธิบายไว้เป็น ๒ อย่าง

ตามพระเถราธิบายนั้นเอง ก็คือ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป

มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่ ภูตะก็แปลว่าสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี

รูปที่เป็นสิ่งที่มีสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า มหาภูตรูป

ก็ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบอยู่ในกาย คือในรูปกายนี้

อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน

ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ

สิ่งที่อบอุ่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ

สิ่งที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม

ธาตุทั้ง ๔ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ นี่แหละคือมหาภูตรูปทั้ง ๔

อันแปลว่ารูปที่เป็นมหาภูตะ คือที่เป็นธาตุส่วนใหญ่ประกอบเข้าเป็นกาย

เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่ คือเป็นกายมีชีวิต

เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ความดำรงอยู่แห่งกายนี้ก็สิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป

จตุธาตุววัฏฐานะ ธาตุกรรมฐาน

ทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธาตุทั้ง ๔ นี้

อันเป็นส่วนมหาภูตรูปดังกล่าวเป็นกรรมฐาน ดังเช่นที่เรียกว่าธาตุกรรมฐาน

หรือ จตุธาตุววัฏฐานะ กำหนดธาตุทั้ง ๔ และก็ยังได้ตรัสแสดงวิธีพิจารณาธาตุกรรมฐานนี้

จำแนกออกไปเป็นอาการต่างๆ สำหรับผู้ปฏิบัติจะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา

แม้ในทางที่เป็น ปฏิกูละ คือเป็นปฏิกูล เป็นของไม่สะอาดไม่งดงาม

และสำหรับในด้านพิจารณาให้เห็นว่าปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงามนี้

ก็มักยกขึ้นจำแนกในข้อปฐวีธาตุ ธาตุดิน และอาโปธาตุ ธาตุน้ำ

เพราะเป็นสิ่งที่พิจารณาเห็นเป็นของปฏิกูลไม่สะอาดได้ง่าย

ดั่งที่ตรัสจำแนกเอาไว้ อันเรียกว่าอาการ ๓๒

สำหรับที่เป็นส่วนปฐวีธาตุ ธาตุดินนั้น ที่ตรัสจำแนกไว้ ก็คือ

เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น อัฏฐิกระดูก

อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด

(เริ่ม ๖๐/๒) ปิหกังม้าม ปัปผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังไส้เล็กหรือว่าสายรัดไส้

อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า เป็น ๑๙

แต่ได้ตรัสเติมในที่บางแห่งคือ มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศรีษะ ก็รวมเป็น ๒๐

นี้เป็นส่วนปฐวีฐาตุ ธาตุดิน คือเป็นส่วนที่แข้นแข็ง

ส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ตรัสแสดงเอาไว้สำหรับพิจารณา

ก็คือ ปิตตังน้ำดี เสมหังน้ำเสลด ปุพโพน้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตังน้ำเลือด

เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย สิงฆานิกาน้ำมูก

ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร รวมเป็น ๑๒

ส่วนที่เป็นปฐวีธาตุเติมขมองในขมองศรีษะเป็น ๒๐

กับส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ๑๒ ก็รวมเป็นอาการ ๓๒ ดั่งที่รู้จักกัน

แต่ที่ตรัสแสดงไว้โดยมากนั้นเพียงอาการ ๓๑ คือไม่มีข้อขมองในขมองศรีษะ

พระอาจารย์แสดงว่ารวมอยู่ในข้อเยื่อในกระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก

หรือว่าอีกนัยยะหนึ่ง รวมอยู่ในข้อ หทยัง หัวใจ

ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในครั้งก่อน ว่าเป็นสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึกด้วย

เมื่อเติมขมองในขมองศรีษะเข้า จึงเป็นอาการ ๓๒

แม้ส่วนที่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม ก็ได้มีตรัสจำแนกเอาไว้

สำหรับที่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ก็คือไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น

ไฟที่ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน

ไฟที่ย่อยอาหาร คือที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ นี้ก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ

ส่วนที่เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม ที่ตรัสแสดงไว้สำหรับพิจารณา

ก็ได้แก่ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ หรือในกระเพาะ

ลมที่พัดไปๆตลอดอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย

ลมอัสสาสะลมหายใจเข้า ลมปัสสาสะลมหายใจออก

 สำหรับที่ตรัสสอนให้พิจารณาทางปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม

ก็ยกเอาปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ จำแนกออกไปเป็นส่วนๆ

เป็นอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังกล่าว

สำหรับที่ตรัสจำแนกไว้ครบทุกธาตุ ก็เพื่อให้พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ

ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็นสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาตัวตนของเรา

ก็เป็นอันว่ามหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ หรือว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ ได้ตรัสสอนให้ใช้เป็นกรรมฐาน

ได้ทั้งทางสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

และในการแสดงรูป ก็จำแนกรูปออกเป็นมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าว

ซึ่งเป็นกล่าวเป็นส่วนรวม อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นดิน

ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นไฟ

ส่วนที่พัดไหวก็เป็นมหาภูตรูปส่วนที่เป็นลม กล่าวรวมๆ นี้หมวดหนึ่งของรูป

อุปาทายรูป

อีกหมวดหนึ่งของรูปก็คืออุปาทายรูป ที่แปลว่ารูปอาศัย

คือเป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ อันได้แก่ประสาททั้ง ๕

คือสิ่งที่ให้สำเร็จการเห็นเรียกว่าจักขุประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยินเรียกว่าโสตะประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่นเรียกว่าฆานะประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบรสเรียกว่าชิวหาประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้องเรียกว่ากายประสาท

โคจร ๕

โคจรคืออารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของประสาททั้ง ๕ นั้น ๕

ก็คือรูปที่เป็นวิสัยของจักขุประสาท เสียงที่เป็นวิสัยของโสตะประสาท

กลิ่นที่เป็นวิสัยของฆานะประสาท รสที่เป็นวิสัยของชิวหาประสาท

โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่เป็นวิสัยของกายประสาท

ภาวะ ๒ ปกิณณกะ ๔

 ภาวะคือเพศ ๒ ได้แก่อิตถีภาวะ ภาวะเป็นหญิง หรือเพศหญิง

ปุริสะภาวะ ภาวะเป็นชาย หรือเพศชาย

ปกิณณกะข้อเบ็ดเตล็ด ๔ อันได้แก่หทัยหมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึก

ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิตได้แก่ความเป็นอยู่ของรูปกาย

หรือสิ่งที่ให้รูปกายเป็นอยู่ ดำรงชีวิตอยู่

อาหารหมายถึงโอชะของอาหารที่บริโภคเข้าไป เป็นโอชะซึมซาบไปเลี้ยงร่างกาย

อากาศช่องว่างอันเรียกว่าปริจเฉทรูป คือเป็นรูปที่สำหรับกำหนดขอบเขตหรือปันขอบเขต

เป็นต้นว่านิ้วทั้ง ๕ ของบุคคล

ไม่ติดเป็นพืดเดียวกัน แบ่งออกเป็น ๕นิ้ว มีช่องว่างในระหว่างทั้ง ๕ นิ้ว

สิ่งที่ทำให้นิ้วทั้ง ๕ นิ้วนี้แยกกันออกเป็น ๕ นิ้วได้ ก็เพราะมีอากาศ คือช่องว่างในระหว่าง

ถ้าไม่มีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง นิ้วทั้ง ๕ นี้ก็จะติดเป็นพืดอันเดียวกันทั้งหมด

แต่เพราะมีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง จึงได้แบ่งเป็น ๕ นิ้วแยกกันไปได้

เพราะฉะนั้นอากาศจึงเรียกว่า ปริเฉทรูป รูปที่กำหนดตัดเป็นส่วนเป็นชิ้นเป็นอัน

ให้มีขอบเขตของส่วนนั้นๆของร่างกาย

วิญญัตติ ๒ 

วิญญัตติ ๒ อันได้แก่ กายวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางกาย

วจีวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางวาจา

ที่เรียกว่าวิญญัตตินั้น เพราะว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดความรู้กันได้

โดยใช้กายเคลื่อนไหวก็เรียกว่ากายวิญญัตติ เช่นทำมือแสดงความหมายให้เข้าใจกัน

และเมื่อใช้วาจาพูดสำหรับที่จะให้เข้าใจกัน ก็เรียกว่าวจีวิญญัตติ

 

วิกาล ๓

 วิกาลคืออาการที่ต่างๆกัน ๓

ได้แก่ความเบาของร่างกาย ร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เบากว่าร่างกายที่สิ้นชีวิตแล้ว

ความอ่อนของร่างกาย คือร่างกายที่มีชีวิตนี้อ่อน เช่นแขนจะยกขึ้นยกลง จะงอแขน

จะกางแขน ก็ทำได้ ขาก็เหมือนกัน จะยืน จะนั่ง จะพับขา จะเหยียดขา ก็ย่อมทำได้

มีความอ่อนไม่แข็งกระด้างเหมือนอย่างศพ คือร่างกายของคนตาย

ความควรแก่การงาน คือใช้ร่างกายประกอบการงานต่างๆได้ตามต้องการ

ใช้มือใช้เท้าเป็นต้นได้ต่างๆ ต่างจากร่างกายของคนที่ตายแล้ว เป็นศพ

ไม่ควรแก่การงาน ใช้ทำการงานอะไรไม่ได้

 

ลักษณะ ๔ 

ลักษณะ ๔ ก็คือความที่เติบโตได้ เติบใหญ่ได้

ดั่งเมื่อแรกเกิดมาก็เป็นเด็กเล็ก ก็เติบโตขึ้นเป็นเด็กใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็นต้น

ความสืบต่อก็เช่น ผมเก่าหลุดไป ผมใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน

เล็บเก่าหมดไป เล็บใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน เหมือนอย่างเมื่อโกนผม ผมก็งอกขึ้นมาแทนได้

ตัดเล็บ เล็บก็งอกยาวออกมาได้ เป็นความสืบต่อ

ความชราคือความชำรุดทรุดโทรม กับอนิจจตาความไม่เที่ยง ก็คือต้องมีเกิดต้องมีดับในที่สุด

เกิดก็คือธาตุมาประชุมกัน ดับก็คือว่าธาตุทั้งหลายแตกสลาย เป็นอนิจจตาความไม่เที่ยง

 

รูป ๒๘

ทั้งหมดนี้ เรียกว่าอุปาทายรูป รูปอาศัย อาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔

ซึ่งก็รวมเป็น ๒๕ มหาภูตรูป ๔ อุปาทาย ๒๕ ก็รวมเป็น ๒๙

แต่ว่าท่านมักจะตัดโคจร ๕ เหลือ ๔ ในอุปาทายรูป

ซึ่งโคจร ๕ นั้นก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ได้แก่รูปอันเป็นวิสัยของจักษุ

เสียงอันเป็นวิสัยของโสตะคือหู กลิ่นอันเป็นวิสัยของฆานะคือจมูก

รสอันเป็นวิสัยของชิวหาคือลิ้น และโผฏฐัพพะอันเป็นวิสัยของกายะคือกาย

ท่านมักจะตัดข้อโผฏฐัพพะนี้ออกเสีย

โดยเอาไปรวมเข้าในข้อที่ ๑ คือรูปที่เป็นวิสัยของจักษุ

เพราะว่าโผฏฐัพพะนั้นก็เป็นรูปเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อเอาไปรวมกันเข้ากับข้อรูป รูปข้อที่ ๑ นั้นจึงเป็นวิสัยของจักษุด้วย

เป็นวิสัยของกายด้วย เพราะฉะนั้น โคจร ๕ จึงเหลือ ๔

เมื่อโคจร ๕ เหลือ ๔ อุปาทายรูปที่มีทั้งหมด ๒๕ จึงเหลือ ๒๔

ฉะนั้นเมื่อรวมเข้ากับมหาภูตรูปอีก ๔ ก็เป็น ๒๘

เพราะฉะนั้นในอภิธรรมจึงมักจะแสดงว่ารูปทั้งหมด ทั้งมหาภูตรูปทั้งอุปาทายรูปมี ๒๘

เหล่านี้คือรูป

สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักรูป รู้จักนามรูป รู้จักนาม รู้จักรูป

รู้จักนามก็ได้แก่รู้จัก เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว

รู้จักรูปก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และรู้จักอุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

จิต วิญญาณ มโน ๓

วิญญาณในขันธ์ ๕ อาการของจิต ๕

ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ ๖

มโน อายตนะภายในข้อที่ ๖ ๗

หมู่แห่งวิญญาณ ๖ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๑/๑ - ๖๑/๒ ( File Tape 48 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิ

ตามที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่านพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ

และเมื่อท่านตอบไปตอนหนึ่งๆแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ถามต่อไปว่า

ยังจะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี

ในวันนี้จึงถึงข้อที่ท่านตอบ ว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

ก็คือ รู้จักวิญญาณ รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

รู้จักความดับวิญญาณ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ

แล้วท่านได้อธิบายไปทีละข้อว่า รู้จักวิญญาณ

ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ๖ คือ หมู่แห่งจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา

หมู่แห่งโสตะวิญญาณ วิญญาณทางหู หมู่แห่งฆานะวิญญาญ วิญญาณทางจมูก

หมู่แห่งชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น หมู่แห่งกายะวิญญา วิญญาณทางกาย

หมู่แห่งมโนวิญญาณ วิญญาณทางมโนคือใจ

รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด

รู้จักความดับแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า มรรคมีองค์ ๘

มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ

จะได้แสดงอธิบายในหมู่แห่งวิญญาณ ๖ นี้ต่อไป

 

จิต วิญญาณ มโน

(เริ่ม ๖๑/๑) อันคำว่าวิญญาณนั้นได้มีใช้ในพุทธศาสนาหลายความหมาย

และว่าถึงถ้อยคำที่เกี่ยวแก่ จิตใจ วิญญาณ ก็มีอยู่ ๓ คำ คือจิตคำหนึ่ง วิญญาณคำหนึ่ง

มโนซึ่งมักแปลกันว่าใจอีกคำหนึ่ง แม้จิตก็มักจะเรียกควบกันว่าจิตใจ

คำว่าใจนั้นเป็นภาษาไทย เรียกรวมๆกันไป เช่น จิตใจ หรือมโนที่แปลกันว่าใจ

สำหรับคำทั้ง ๓ นี้ เมื่อใช้ต่างกัน ก็ใช้ต่างกัน ดั่งนี้

จิตนั้นได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้

ว่าให้อบรมจิต ให้รักษาจิต ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส

และยังได้ตรัสเอาไว้อีกว่า จิตเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา

แต่ว่าจิตนี้เมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนาอบรมจิตตามที่ตรัสสั่งสอนไว้

ก็วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลายได้

และในท้ายพระสูตรทั้งหลายเป็นอันมากก็มีแสดงว่า

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระพุทธโอวาทที่ตรัสสั่งสอนแล้ว

จิตก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

และในพระสูตรที่แสดงไตรลักษณ์ ดังเช่น อนัตตลักขณะสูตร

ตรัสว่า ขันธ์ ๕ คือ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตา

เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

จึงไม่ควรที่จะยึดถือว่า นี่เป็นเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา

ท่านพระปัญจวัคคีย์ได้ฟังเทศนานี้จบแล้ว

จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้

ในพระสูตรดังกล่าวนี้ แสดงขันธ์ ๕ ซึ่งรวมวิญญาณด้วยว่าเป็นอนัตตา

กับทั้งเป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ คือเป็นไปตามไตรลักษณ์

หรือสามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง

แต่มิได้ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา เป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ แต่ตรัสว่าจิตวิมุติหลุดพ้น

และยังได้มีพระคาถาแสดงอีกว่า จิตถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไป

เพราะฉะนั้น ตามที่อ้างมานี้ จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญในบุคคล

ที่ตรัสสอนให้รักษา ตรัสสอนให้อบรม จนถึงตรัสว่าจิตนี้เองที่เป็นผู้วิมุติหลุดพ้น

จิตนี้เองบรรลุวิสังขารคือนิพพาน

และจิตนี้ก็เป็นธรรมชาติธรรมดา อันเรียกว่าเป็นธาตุ

แต่ว่าเมื่อแสดงถึงธาตุทั้ง ๖ คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ

เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ

วิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณคือธาตุรู้ ก็ใช้คำว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้

ในธาตุวิภังคสูตร ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุทั้ง ๕

คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ

ว่าไม่ควรที่จะยึดถือว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา

แต่ว่ามิได้ตรัสว่าวิญญาณธาตุเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น คำว่าวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ นี้ จึงมีความหมายเสมอกับคำว่าจิตดังที่กล่าว

คือเป็นสิ่งสำคัญในบุคคล ที่เป็นตัวธรรมชาติธรรมดา เป็นตัวธาตุ

และยังมีในที่อื่นอีกหลายแห่ง ที่ใช้คำว่าวิญญาณแทนจิต หรือเท่ากับจิต

ฉะนั้น คำว่าวิญญาณกับคำว่าจิตนี้ จึงใช้เท่ากัน

หมายถึงธาตุที่เป็นอย่างเดียวกันอยู่เป็นอันมาก

 

วิญญาณในขันธ์ ๕ อาการของจิต

 แต่ว่าเมื่อแสดงต่างกัน ก็แสดงถึงวิญญาณที่มีลักษณะต่างจากจิต

ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น คือวิญญาณที่แสดงในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ซึ่งมีความหมายเป็นอาการของจิต ในเมื่ออารมณ์ทั้งหลายมาสู่ทวารทั้ง ๖

หรือว่าอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมาประจวบกัน จิตจึงน้อมออกรับอารมณ์

ตั้งต้นแต่รู้อารมณ์ ดังที่เรียกว่าเห็นรูป ที่เรียกว่าได้ยินเสียง

ที่เรียกว่าทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราว

เพราะอาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้น ก็คือรู้นั้นเอง แต่ว่ารู้ทีแรกดังกล่าวเรียกว่าวิญญาณ

แล้วจึงรู้ที่ยิ่งๆขึ้นไปเป็นสัมผัส เป็นสัญญา เป็นสังขารความคิดปรุงหรือปรุงคิด

ก็ล้วนแต่จิตนี้เองรู้ทั้งนั้น เมื่อรู้ที่เป็นการเห็นการได้ยินเป็นต้นก็เป็นวิญญาณ

รู้ที่เป็นสัมผัสคือกระทบก็เป็นสัมผัสหรือผัสสะ รู้ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ก็เป็นเวทนา

รู้จำก็เป็นสัญญา รู้ปรุงคิดหรือคิดปรุงก็เป็นสังขาร

 อาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้นเป็นรู้ทั้งนั้น แต่ว่าที่เป็นครั้งแรกนั้นก็คือวิญาณดังกล่าว

เมื่อรู้ที่เป็นวิญญาณมีขึ้น จึงมีรู้ที่เป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นต้นต่อไป

นี้เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ซึ่งเมื่อเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ดั่งนี้ ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์

คืออนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

วิญญาณจึงมีใช้ในความหมายดังกล่าวนี้อีกอย่างหนึ่ง

แต่แม้เช่นนั้นบุคคลโดยมากก็ยังใช้คำว่าวิญญาณแทนจิต หรือเสมอกับจิต

และมีความเข้าใจว่าวิญญาณเสมอกับจิต

หรือมีความเข้าใจยิ่งไปกว่านั้น ว่าวิญญาณนั้นเป็นตัวยืน

ดังที่มีแสดงว่าพระอรหันต์บางรูปนิพพาน มารเที่ยวค้นหาวิญญาณของท่านว่าท่านไปไหน

พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงได้ตรัสว่าไม่สามารถจะค้นพบได้ เพราะว่าท่านนิพพานแล้ว

ไม่เกิดอีก ไม่มีวิญญาณที่จะไปเกิดอีก

 

ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ

และก็ยังได้แสดงถึงสัตว์บุคคลที่เกิดมา เริ่มตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา

ก็เรียกกันว่าปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตก็เรียก

และเมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิตในครรภ์ของมารดาแล้ว

ก็เริ่มปฐมจิตปฐมวิญาณขึ้นมา เริ่มก่อเกิดนามรูปขึ้นมาตั้งแต่ในเบื้องต้น

แม้จะเคลื่อนออกไปคือตาย ก็เป็นจุติจิต จุติวิญญาณ

เพราะฉะนั้น คนจึงมักจะใช้กัน หลังจากตายว่าวิญญาณไปเกิด

ก็ไม่ใช่ใช้กันเฉพาะในเวลาปัจจุบันนี้สำหรับคนไทยเท่านั้น

แม้ในภาษาบาลีที่เป็นพระสูตรต่างๆเองก็ยังใช้ดังที่กล่าวมานั้น

อันแสดงว่าวิญญาณนั้นได้ใช้เป็นที่นิยมทั่วไปในความหมายของจิต

ที่เป็นสิ่งสำคัญในสัตว์บุคคลทั้งหลาย 

แต่ในพุทธศาสนาเมื่อมาแสดงขันธ์ ๕

ก็มาใช้คำว่าวิญญาญนี้เป็นขันธ์ที่ ๕ ซึ่งต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ดังกล่าวมานั้น

และเป็นสิ่งที่มีขึ้นในเมื่ออายตนะภายนอกภายในประจวบกัน

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าจิตออกรับอารมณ์ เริ่มต้นรู้ ซึ่งเป็นการเห็นการได้ยิน

ซึ่งเป็นรู้ขั้นที่ ๑ ก็เป็นวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับๆ

เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ทุกข้อ

 

มโน อายตนะภายในข้อที่ ๖ 

ส่วนมโนคือใจนั้นได้ใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ หรือทวารข้อที่ ๖

นับเข้าในอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต้องมีประกอบกันไป

กับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้น ทวาร ๕ ข้อข้างต้น และมีหน้าที่โดยเฉพาะของตนเอง

รู้ธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ ของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประจวบพบผ่านมาแล้ว

มโนจึงเป็นเรื่องของอายตนะภายใน เป็นเรื่องของทวารทั้ง ๖

ซึ่งมิได้ใช้ในความหมายอื่นมากเหมือนอย่างวิญญาณ และจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพุทธศาสนา จึงต้องศึกษาให้รู้จักความหมายของถ้อยคำที่ท่านใช้

เป็นอย่างเดียวกันบ้าง ต่างกันบ้าง และโดยเฉพาะที่เป็นอย่างเดียวกัน

ก็คือวิญญาณกับจิตดังกล่าวมานั้น ซึ่งมีใช้เป็นอย่างเดียวกัน หรือเท่ากันเป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะอธิบายศัพท์จึ่งต้องกำหนดขอบเขตว่า

จะอธิบายศัพท์ เช่นศัพท์ว่าวิญญาณนี้ ในข้อไหน ในเรื่องอะไร

ถ้าในเรื่องของธาตุ ๖ ก็ต้องอธิบายเท่ากับจิต หรือเสมอกับจิต

ถ้าอธิบายในเรื่องของขันธ์ ๕ วิญญาณก็มีความหมายลดลงมา

เป็นความรู้ของจิตที่ออกรับอารมณ์เป็นขั้นแรกดังกล่าวมานั้นเท่านั้น

 

หมู่แห่งวิญญาณ ๖

และในพระเถราธิบายนี้

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายในข้อว่ารู้จักวิญญาณ

ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ก็คือวิญญาณในขันธ์ ๕ นั่นเอง

และที่เรียกว่าหมู่นั้นก็เพราะว่า วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ เกิดขึ้น ดับไป

ในทุกอารมณ์ที่ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้ามา

ดังจะยกอายตนะภายในภายนอกขึ้นเป็นตัวอย่างว่า

เมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้ขึ้น ที่เรียกว่าเห็นรูป

ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ เมื่อเห็นรูปอันใด ก็เกิดขึ้นดับไปในรูปอันนั้น

ทุกๆคนนั้นย่อมเห็นรูปต่างๆมากมาย เป็นรูปนั่นรูปนี่

วิญญาณก็ย่อมเกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ที่เห็น

เพราะฉะนั้น ชั่วระยะเวลาประเดี๋ยวเดียว วิญญาณก็เกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่

ที่ตาเห็นนั้น หลายสิบ หลายร้อย หลายพัน แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าหมู่ หมู่แห่งวิญญาณ

เมื่อเกิดขึ้นทางตา ก็เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตาเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิจึงได้แก่ความรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ดังกล่าวมา

ความรู้จักนั้นต้องกำหนดเข้ามาดูด้วยสติ คือมีสติกำหนดอยู่ที่ตาที่หูเป็นต้นของตนเอง

เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เห็นหรือได้ยินนั่นแหละ ก็คือวิญญาณทางตาวิญญาณทางหู

และก็เกิดดับไปในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้น แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่ง แต่ละสิ่งไป

เพราะฉะนั้น หากว่าหัดใช้สติกำหนดดูอยู่ รู้อยู่ ก็จะรู้สึกว่า เห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่

และก็เทียบดูได้ว่าเกิดดับอย่างไร

เช่นในขณะที่เห็นใบไม้ วิญญาณก็เกิดอยู่ที่ใบไม้

เห็นผลไม้ วิญญาณก็ดับจากใบไม้ ไปเกิดที่ผลไม้

เห็นบ้าน วิญญาณก็ดับจากผลไม้ ไปเกิดที่บ้านที่เห็น

เห็นคนเดินมา วิญญาณก็ดับจากบ้าน ไปเกิดที่คนเดินมาที่เห็นนั้น ดั่งนี้เป็นต้น

ลองคิดดูว่าขณะหนึ่งๆ อันหมายถึงว่า ระยะเวลาหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง

ที่ไม่ๆ ..ที่แม้ไม่ๆนานนัก (เริ่ม ๖๑/๒) วิญญาณก็เกิดที่นี่ ก็ดับ

ดับจากที่นี่ไปเกิดที่โน่น ดับที่โน่นไปเกิดที่นู้น อะไรอย่างนี้ มากมาย

เมื่อมีสติหัดกำหนดดูดั่งนี้ ก็อาจที่จะกำหนดดูได้ รู้ได้

ว่าวิญญาณนี้ เกิดที่นี่ ดับจากนี่ไปนั่น ดับจากนั่นไปเกิดที่โน่น

ดับจากที่โน่นไปเกิดที่นั่น เป็นอย่างๆไป เป็นสิ่งๆไป

จะเห็นว่าเป็นหมู่จริงๆ มากมาย

แล้วก็ไม่ใช่รูปอย่างเดียว ยังมีเสียงอีก

เกิดที่รูป ดับจากรูปไปเกิดที่เสียง ดับจากเสียงไปเกิดที่กลิ่น

ดับจากกลิ่นไปเกิดที่รส ดับจากรสไปเกิดที่โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย

ดับจากโผฏฐัพพะไปเกิดที่เรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ดับจากเรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่

เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๖ แล้วก็จะรู้สึกว่า เป็นหมู่ใหญ่จริงๆของวิญญาณ

เกิดดับๆ กันอยู่ทุกขณะ ทุกขณะไป

มีสติกำหนดอยู่ดังนี้เป็นวิธีกำหนดให้รู้จักวิญญาณ ที่เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตา

หมู่แห่งวิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ

แล้วก็หัดให้เห็นเกิดดับของวิญญาณดังกล่าวมานี้

ก็จะเป็นตัวสติด้วย แล้วก็ตัวปัญญาที่เป็นวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงด้วย

จะมองเห็นความเกิดดับ ซึ่งเป็นตัวอนิจจะคือไม่เที่ยง

จะทำให้มองเห็นทุกข์ คือสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

จะมองเห็นอนัตตา ว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไปอยู่อย่างนี้

ดั่งนี้คือรู้จักวิญญาณ รู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ตามพระเถราธิบาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats