ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป080

พระธรรมคุณ ๓ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

ธรรมะที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ๓

ทางแห่งความตรัสรู้ ๔

กฏเกณฑ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา ๕

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ๖

กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้กาลเวลา ๗

ผลอันบังเกิดขึ้นทันที ๘

ข้อที่ต้องปฏิบัติกระทำให้แจ้ง ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๓/๑ เริ่มต้น ต่อ ๑๐๓/๒ ( File Tape 80 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๓ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระธรรมคุณบทต่อจาก สวากขาโต ภควตา ธัมโม

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ในการแสดงอธิบายพระธรรมคุณบทว่า อกาลิโก นี้ พึงทำความเข้าใจในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกาลเวลาไว้เป็นอันมาก

เช่น ตรัสสอนให้ฟังธรรมโดยกาล ให้สนทนาธรรมโดยกาล

อันหมายความว่า ให้ฟังธรรมในกาลเวลาที่ควรฟัง

ให้สนทนาในกาลเวลาที่ควรสนทนาธรรม ว่าเป็นมงคลอันอุดม

และตรัสสอนให้มี กาลัญญู รู้กาลเวลาไว้ในสัปปุริสธรรม ๗ ข้อ

และได้ตรัสสอนให้ไม่หน่วงคิดถึงอดีต ไม่หวังอนาคต

แต่ให้กำหนดรู้ปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบัน

ในพระวินัยเองก็มีบัญญัติเกี่ยวกับกาลเวลาไว้เป็นอันมาก

เช่นให้ทำอุโบสถสังฆกรรมในวันจันทร์เพ็ญ วันจันทร์ดับ

และกำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันธรรมมัสวนะ คือวันเป็นที่ฟังธรรมด้วย

กำหนดวันกึ่งปักษ์ให้เป็นวันธรรมมัสวนะ คือเป็นวันเป็นที่ฟังธรรมด้วย

ทั้งให้เป็นวันรักษาอุโบสถศีลสำหรับคฤหัสถ์ด้วย

และกุลบุตรที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุได้ต้องมีอายุครบ ๒๐ ปี

การนับวันเดือนปีของโลกก็เกี่ยวแก่กาลเวลา อายุของคนที่เกิดขึ้นและล่วงไปๆ

ก็เกี่ยวแก่กาลเวลา จนถึงเวลาที่จะตายก็เรียกว่าทำกาลกิริยา

กระทำกาละ ก็คือกาลเวลา

 

ธรรมะที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

จะพึงมีความเข้าใจอย่างไร เมื่อพิจารณาดูแล้วในทางแห่งธรรมะ

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง เป็นของจริง

ดั่งที่ตรัสไว้ในปฐมเทศนาของพระองค์ ว่าพระองค์ได้พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ได้ทรงปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทานี้ จึงได้ตรัสรู้

คือได้มีจักษุดวงตา ญาณความหยั่งรู้ ปัญญาความรู้ทั่ว วิชชาความรู้ที่ถูกต้อง

อาโลกะความสว่างผุดขึ้นในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยสดับมาก่อน

 

ว่านี้ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว

นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์นี้ควรละ

ทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้ทรงละได้แล้ว

นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธนี้ควรกระทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธนี้ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว

นี้มรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ทรงอบรมปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นแล้ว ดั่งนี้

ก็คือได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยญาณ อันมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

เป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือเป็นไปในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์

ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

โดยเป็นสัจญาณ ความหยั่งรู้ว่าเป็นความจริง รอบหนึ่ง เป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

โดยเป็นกิจญาณ คือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำ รอบหนึ่ง เป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

โดยความเป็นกตญาณ คือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำว่าได้ทำเสร็จแล้ว

คือได้ทำความกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ได้ทำการละสมุทัยได้แล้ว

ได้กระทำให้แจ้งนิโรธแล้ว ได้อบรมปฏิบัติมรรคให้สมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้

จึ่งได้ทรงปฏิญญารู้รับรองพระองค์ว่าเป็นอภิพุทธะคือผู้ตรัสรู้ยิ่ง

ซึ่งความตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ดั่งนี้

 

ทางแห่งความตรัสรู้

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยการที่ทรงพบทางแห่งความตรัสรู้

ได้ทรงปฏิบัติมาจนสมบูรณ์จึงได้ตรัสรู้ ก็คือตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าว

ก็เป็นอันว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้

หากจะมีปัญหาว่าทางที่พระองค์ทรงพบคือมัชฌิมาปฏิปทา อริยสัจจ์ที่ได้ตรัสรู้

เป็นทางใหม่หรือทางเก่า เป็นอริยสัจจ์ใหม่ หรือเป็นอริยสัจจ์เก่า

 

ในข้อนี้พระอาจารย์ผู้พิจารณาทั้งหลาย

ตลอดจนถึงได้มีพระพุทธภาษิตเองแสดงไว้ในที่อื่น ซึ่งมีใจความว่า

ทางที่ทรงพบคือมัชฌิมาปฏิปทาก็เป็นทางเก่าทางดั้งเดิม

อริยสัจจ์ ๔ที่ตรัสรู้ ก็เป็นอริยสัจจ์เก่าดั่งเดิม คือเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้

อันหมายถึงทั้งทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาที่ทรงพบ

อริยสัจจ์ที่ตรัสรู้ เป็นสัจจะธรรมที่ตั้งอยู่แล้วที่มีอยู่แล้ว

หรือเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาที่มีอยู่แล้วที่ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีเบื้องต้นไม่มีที่สุด

เป็นของที่ตั้งอยู่ เป็นของที่ดำรงอยู่ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ก็เช่นเดียวกับธรรมชาติธรรมดาของโลกธาตุ ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล

ที่ตั้งอยู่แล้วที่ดำรงอยู่แล้ว

 

เพราะฉะนั้น เมื่อใดมีผู้มีปัญญาเกิดขึ้นได้ค้นพบสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง

คือธรรมชาติธรรมดา หรือหลักธรรมชาติหลักธรรมดา หรือว่ากฏธรรมชาติกฏธรรมดา

ที่มีอยู่ที่ดำรงอยู่แล้ว จับเหตุจับผลตามกฏเกณฑ์แห่งหลักธรรมชาติธรรมดาได้ถูกต้อง

ก็สามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามที่ต้องการได้

ดังเช่นที่ผู้ค้นพบหลักกฏเกณฑ์ของธรรมชาติธรรมดาต่างๆ ของโลกธาตุ

ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในปัจุบัน เป็นไฟฟ้า เป็นวิทยุ และเป็นสิ่งอื่นๆทุกอย่างดังที่ปรากฏ

อันกฏเกณฑ์ของธรรมชาติธรรมดาทั้งปวงนี้ไม่ใช่เป็นของใหม่

เป็นของมีอยู่เก่ามีมาแต่ดั้งเดิมทั้งนั้น เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน

 

กฏเกณฑ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา

 

โมกขธรรมที่พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ต้องการ

พระองค์ทรงค้นหาทางแห่งโมกขธรรม จนทรงพบมัชฌิมาปฏิปทา ทางที่เป็นทางกลาง

ก็เป็นทางที่มีอยู่แล้วเช่นเดียวกัน เป็นหลักเป็นกฏเป็นเกณฑ์ตามเหตุและผล

แห่งการที่จะได้ปัญญา ได้ญาณ ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔

และอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งประกอบด้วยเหตุด้วยผล ในด้านทุกข์ ในด้านดับทุกข์

ก็เป็นกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดา จึงเป็นของเก่าที่มีอยู่แล้วเช่นเดียวกัน

 

เมื่อยังไม่มีผู้มีปัญญาเกิดขึ้น ก็ไม่พบทาง ไม่พบอริยสัจจ์ทั้ง ๔

ต่อเมื่อมีผู้มีปัญญาเกิดขึ้น คือเมื่อมีพระโพธิสัตว์ซึ่งได้ทรงสั่งสมพระบารมีมา

เพื่อปัญญาที่จะรู้ทางที่จะพบอริยสัจจ์ เพื่อที่จะพ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นบังเกิดขึ้น

พระโพธิสัตว์จึงได้ทรงพบทาง ก็เป็นทางเก่านั้นแหละ ทางที่มีอยู่แล้วนั่นแหละ

 

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม

 

ทรงเดินทางนี้จึงได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ ก็เป็นของเก่านั่นแหละ

ที่เรียกว่าของเก่านี้ ก็เพียงแต่ยืมมาเรียก คือยืมคำมาเรียกเท่านั้น

อันที่จริงไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่

หากว่าจะเรียกเทียบกับชีวิตร่างกาย ก็เรียกได้ว่า ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย ไม่มีเสื่อม ไม่มีดับ

จึงไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เมื่อพูดว่าใหม่ก็จะต้องมีเก่า เมื่อพูดว่าเก่าก็จะต้องมีใหม่ เป็นคำคู่กัน

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีใหม่ก็ต้องไม่มีเก่า ไม่มีเก่าก็ไม่มีใหม่ เป็นของที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่

ดังที่ตรัสไว้ในธรรมนิยามสูตรว่าธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม

เป็นธรรมนิยามความกำหนดแห่งธรรมดั่งนี้

 

นี้แหละคืออกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

และสภาพที่เป็นอกาลิโกนี้ก็มีอยู่ทั้งในส่วนที่เป็นโลกธาตุ ทั้งในส่วนที่เป็นธรรมะ

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ เพื่อความไม่เกิดอีก

อันจะพึงกล่าวได้ว่ากฏเกณฑ์ที่เป็นอกาลิโกทางโลกธาตุนั้นเป็นส่วนโลกธาตุ

ส่วนกฏเกณฑ์ทางความสิ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบได้ทรงตรัสรู้

เป็นกฏเกณฑ์ที่เป็นโลกุตรอยู่เหนือโลก

กฏเกณฑ์ทางโลกธาตุนั้นเป็นโลกิยะเกี่ยวกับโลก เป็นไปทางโลก

แต่กฏเกณฑ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้เป็นโลกุตรอยู่เหนือโลกพ้นโลก

อันเป็นสภาพที่สูงกว่าที่เหนือกว่า

 

กฏเกณฑ์ที่เป็นไปทางโลกธาตุทั้งปวงนั้น

ก็เป็นกฏเกณฑ์ที่เป็นสัจจะธรรมที่เป็นความจริงซึ่งต้องมีเกิดมีดับ

แต่ว่ากฏเกณฑ์ที่เป็นโลกุตรของพระพุทธเจ้านี้เป็นกฏเกณฑ์ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก

จนถึงไม่ต้องเกิดไม่ต้องดับอีกขั้นหนึ่ง นี้เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เป็นส่วนที่เป็นหลักใหญ่

 

กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้กาลเวลา

 

มาถึงธรรมะที่ทรงสั่งสอน อันเป็นศาสนธรรม

ธรรมะคือคำสั่งสอน เมื่อทรงสั่งสอนโลกหรือชาวโลก

ก็ต้องทรงสั่งสอนเกี่ยวกับกาลเวลา ดังที่ได้แสดงมาแล้วในเบื้องต้น

( เริ่ม ๑๐๓/๒ ) แต่ว่าคำสั่งสอนของพระองค์แม้จะเกี่ยวกับกาลเวลา ก็เป็นสัจจะวาจา

คือเป็นวาจาจริงที่ไม่ตาย คือเป็นวาจาที่จริงอยู่ทุกกาลสมัย

เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน ดังเช่นที่ตรัสสอนไว้ในสัปปุริสธรรม

ข้อว่าให้มี กาลัญญู รู้จักกาลเวลา ในอันที่จะทำจะพูดจะคิดอะไรต่างๆ

ก็เป็นคำสั่งสอนที่ใช้ได้ทุกกาลสมัย

 

ก่อนแต่พุทธกาล ใครจะทำอะไรก็ต้องให้เหมาะแก่กาลเวลา

ในสมัยพุทธกาล ใครจะทำอะไรก็ต้องให้เหมาะแก่กาลเวลา

ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ใครจะทำอะไรก็ต้องให้เหมาะแก่กาลเวลา

ต่อไปก็เหมือนกัน ใครจะทำอะไรก็ต้องให้เหมาะแก่กาลเวลา

จึงจะเป็นคนดีคนฉลาด จึงจะสำเร็จประโยชน์

เพราะฉะนั้น กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้กาลเวลา จึงเป็นธรรมะหรือเป็นคุณธรรมที่ต้องใช้อยู่

ต้องปฏิบัติอยู่ทุกกาลสมัย ไม่ว่าเมื่อไรก็ต้องปฏิบัติ ต้องมีทั้งนั้น ใช้ได้ทั้งนั้น

 

เพราะฉะนั้น แม้คำสั่งสอนของพระองค์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับกาลเวลา

ก็เป็นอมตาวาจา เป็นวาจาที่ไม่ตาย เพราะเป็นสัจจะคือความจริง

ให้สำเร็จประโยชน์จริง เป็นสัปปุริสธรรมคือเป็นธรรมของคนดีมีปัญญาจริง

เพราะฉะนั้น แม้คำสั่งสอนดังที่กล่าวมาข้างต้นอันเกี่ยวกับกาลเวลานั้น

ก็เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลาโดยปริยายที่กล่าวมานี้เช่นเดียวกัน

 

ผลอันบังเกิดขึ้นทันที

 

และนอกจากนี้เมื่อมาปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ก็ได้รับผลในขณะที่ปฏิบัติทันที

แต่ว่าผลที่ได้รับในขณะที่ปฏิบัตินี้เป็นผลที่ละเอียดก็มี เป็นผลที่หยาบก็มี

เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่พิจารณาจึงไม่รู้จักผลที่ตนได้รับจากการปฏิบัติทันที

ทั้งที่ผลที่ปฏิบัตินั้นบังเกิดขึ้นทันที เช่นว่า เมื่อทำดีก็ได้ผลดีทันที เมื่อทำชั่วก็ได้ผลชั่วทันที

อันผลดีผลชั่วที่ได้ทันทีนี้ ก็คือความเป็นคนดีความเป็นคนชั่ว เมื่อทำดีก็เป็นคนดีขึ้นทันที

เมื่อทำชั่วก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที ตนเองจะรู้ หรือไม่รู้ ผู้อื่นจะรู้หรือไม่รู้

ก็ไม่เป็นเหตุเปลี่ยนแปลงสัจจะคือความจริงดังกล่าวนี้ได้

 

ข้อที่ต้องปฏิบัติกระทำให้แจ้ง

 

แต่ว่าผลคือความเป็นคนดีความเป็นคนชั่ว

ดังกล่าวนี้เป็นของละเอียด ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณา แม้ตนเองก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้นในส่วนที่เป็นผลนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ว่า ให้ปฏิบัติกระทำให้แจ้ง

อันเป็นกิจของอริยสัจจ์ข้อที่ ๓ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ที่ตรัสสอนไว้ให้กระทำให้แจ้ง

ถ้าไม่ปฏิบัติกระทำให้แจ้ง ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ทำให้เข้าใจผิด

 

เพราะฉะนั้น ในข้อนี้จึงต้องศึกษา

ด้วยการที่มาปฏิบัติทำจิตให้สงบ จากกิเลสอย่างหยาบด้วยศีลเสียก่อน

ถ้าจิตยังหยาบอยู่ ยังต้องการที่จะไปฆ่าเขาบ้าง จะไปลักของเขาบ้าง

ประพฤติผิดในกามบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

ดื่มสุราเมรัยอันเป็นทางของความประมาทบ้าง ก็ยากที่จะมีปัญญารู้จักได้

เพราะฉะนั้น ต้องปฏิบัติในศีลให้จิตสงบเสียก่อน

จิตเป็นปรกติเสียก่อนจากกิเลสอย่างหยาบ และปฏิบัติในสมาธิกับทางปัญญาต่อไป

โดยนำจิตเข้ามากำหนดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ที่ตนเอง และเมื่อรู้จักทั้ง ๔

ก็มาหัดกำหนดให้เป็นสมาธิ คือให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เพื่อให้จิตมีสมาธิดียิ่งขึ้น

เช่นกำหนดที่ข้อกายอันเป็นข้อหยาบกำหนดได้ง่าย กำหนดลมหายใจเข้าลมหายในออก

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

หายใจเข้าหายใจออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าหายใจออกสั้นก็ให้รู้

ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า หายใจออก

เราจักรู้จักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้

อันเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เอง

ให้จิตรวมเข้ามา มีอารมณ์เป็นอันเดียวอยู่ที่ลมหายใจ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

พระธรรมคุณ ๔ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ธิปไตย ๓ ตัณหาธิปไตย ๓

สตาธิปไตย สติเป็นใหญ่ ๔

การปฏิบัติที่เป็นอกาลิโก ๔

ฤกษ์งามยามดีขึ้นอยู่กับการกระทำ ๕

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับกาลเวลา ๕

ข้อปฏิบัติที่ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ๖

พุทธานุภาพ ๗

ทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน ๙

การปฏิบัติตรงในพุทธศาสนา ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๔/๑ ( File Tape 80 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๔ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง

เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เพราะเป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้

อันเป็นความจริงที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ตลอดไปไม่มีกาลเวลา ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดและจะดับไปเมื่อใด

ธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนจากธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็เป็นสัจจะวาจา

วาจาที่เป็นของจริงของแท้ อันเป็นอมตะวาจา วาจาที่ไม่ตาย ดังได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า สตัญจธัมโม นยังรังอุเปติ ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงชรา คือเก่าแก่พ้นสมัย

แต่เป็นของที่ไม่ชราไม่เก่าแก่ไม่พ้นสมัยก็คือไม่ตายนั้นเอง เป็นสัจจะวาจาที่ดำรงอยู่

ดังที่ได้แสดงแล้วในครั้งก่อน และยังได้แสดงต่อไปอีกว่า

 

การปฏิบัติธรรมก็ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

การให้ผลของธรรมที่ปฏิบัติก็ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

และแม้ว่าจะอธิบายคำว่าธรรมเป็น กุศลธรรม ธรรมที่เป็นกุศลคือส่วนดีเป็นกิจของคนฉลาด

อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศลคือส่วนชั่วเป็นกิจของคนไม่ฉลาด

เป็น อัพยากตธรรม ธรรมะที่ไม่พยากรณ์ว่ากุศลหรืออกุศล คือเป็นกลางๆไม่ดีไม่ชั่ว

ก็คงเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง เมื่อเป็นอกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม

เมื่อเป็นกุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม เมื่อเป็นอัพยากตธรรมก็เป็นอัพยากตธรรม อยู่ทุกกาลสมัย

ซึ่งยังได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ถึงความเป็นใหญ่ตามที่ถือกันอยู่ แสดงกันอยู่ เป็นไปอยู่

คือโลกาธิปไตยโลกเป็นใหญ่ อัตตาธิปไตยตนเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่

 

ธิปไตย ๓

 

สำหรับที่เป็นโลกาธิไตย โลกเป็นใหญ่นั้นไม่แน่นอน

โลกคือหมู่ชน บางคราวก็ว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี

แต่บางคราวก็ว่ากลับกัน ว่าอย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี สุดแต่นิยมของหมู่ชน

ส่วนข้อที่ว่าตนเป็นใหญ่นั้นก็ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน

บางคราวตนเองก็ว่าอย่างนั้นดีอย่างนี้ไม่ดี แต่บางคราวก็ว่ากลับกัน

ว่าอย่างนี้ดีอย่างนั้นไม่ดี ตามความคิดเห็นของตนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

เช่นเดียวนิยมของโลกที่เปลี่ยนไปมา

 

แต่ว่าธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน คือมุ่งเอาธรรมะที่เป็นสัจจะ

คือความจริงเป็นใหญ่ เมื่อเป็นกุศลธรรมจริงก็ต้องเป็นกุศลอยู่ตลอดไป

เมื่อเป็นอกุศลธรรมจริงก็เป็นอกุศลอยู่ตลอดไป เมื่อเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆจริง ก็เป็นอัพยากตธรรมอยู่ตลอดไป ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

ตัณหาธิปไตย

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสแสดงถึงอธิปไตยไว้ในพระสูตรอื่นอีกว่า

ตัณหาธิปไตยตัณหาเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่

สำหรับโลกาธิปไตยอัตตาธิปไตยนั้น ในเมื่อโลกคือหมู่ชนและอัตตา

คือตัวเองยังมีตัณหาอยู่ ก็ย่อมจะต้องมีตัณหาธิไตยตัณหาเป็นใหญ่

แต่ถ้าโลกก็ดีตนเองก็ดีมีธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ลุอำนาจแห่งตัณหา ก็เป็นธรรมาธิปไตย

 

สตาธิปไตย สติเป็นใหญ่

 

และในการที่จะไม่ลุอำนาจแห่งตัณหานั้น ก็จะต้องมีสติต้องมีปัญญา

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสแสดงสติว่าเป็นสตาธิปไตย สติเป็นใหญ่

ซึ่งเป็นข้อสอนให้ทุกๆคนได้พากันทำสติความระลึกได้ ระลึกรู้

พร้อมกับปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ให้เป็นสตาธิปไตย สติเป็นใหญ่

อันนำให้ได้ปัญญาเป็นใหญ่ จึงจะพบธรรมาธิปไตย ธรรมะที่เป็นใหญ่ได้

ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีตัณหาธิปไตยตัณหาเป็นใหญ่กันอยู่นั่นแหละ

จะอ้างว่าอะไรเป็นใหญ่กันก็ตาม แต่เมื่อลุอำนาจของตัณหากันอยู่

ก็ยังคงเป็นตัณหาธิปไตย ไม่อาจจะเข้าถึงธรรมาธิปไตยได้

เมื่อเข้าถึงธรรมาธิปไตยไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความสุขความเจริญโดยส่วนเดียวไม่ได้

ต้องเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนกันอยู่ร่ำไป ตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่

เพราะตัณหานั้นเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ดั่งที่ตรัสแสดงไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

เหล่านี้ก็เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

ที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ในครั้งไหนๆ ยุคไหนๆ ในอดีต ในปัจจุบัน

ตลอดไปถึงภายหน้า ก็เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริงอยู่นั่นเอง

 

การปฏิบัติที่เป็นอกาลิโก

 

ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลานั้น

ก็คือการละอกุศลธรรม การทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ผ่องใส

เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอยู่ทุกกาลสมัย ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเวลาเช้า

เวลากลางวัน เวลาบ่าย เวลาเย็น เวลากลางคืน คือเป็นข้อที่พึงปฏิบัติอยู่ทุกเวลา

 

ฤกษ์งามยามดีขึ้นอยู่กับการกระทำ

 

ดั่งได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้อีกว่า ทำดีเช้าก็เป็นฤกษ์ดีเวลาเช้า

ทำดีกลางวันก็เป็นฤกษ์ดีเวลากลางวัน ทำดีเวลาเย็นก็เป็นฤกษ์ดีเวลาเย็น

เพราะฉะนั้นฤกษ์ดียามดีนั้นจึงขึ้นอยู่แก่การทำดี ทำดีเมื่อใดก็ฤกษ์ดียามดีเมื่อนั้น

แม้ในทางพระวินัยพระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงถึงเวลาที่พึงประกอบกระทำ

สังฆกรรมทั้งหลาย ว่าเป็นเวลาที่ความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว

ดังที่แสดงไว้ในคำสวดสังฆกรรมว่า ยทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง

ผิว่าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ก็พึงประกอบสังฆกรรมนั้นๆ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ความพรั่งพร้อมของสงฆ์นี่แหละเป็นเวลาที่เรียกว่าฤกษ์ดียามดี

ในการประกอบสังฆกรรมของสงฆ์

( เริ่ม ๑๐๔/๑ ) และเมื่อพิจารณาดูโดยสัจจะคือความจริงแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า

แม้ในการประกอบกิจกรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีความพรั่งพร้อมถึงที่

ก็ประกอบกิจกรรมนั้นๆได้ เป็นสัจจะคือความจริงที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดั่งที่กล่าว

 

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับกาลเวลา

 

แต่ในข้อปฏิบัติอันเกี่ยวแก่ บุคคลกาละเทศะต่างๆ ดังที่ได้เคยแสดงแล้วว่า

ให้แสดงธรรมะโดยกาล ให้สนทนาธรรมโดยกาล ให้มีกาลัญญูรู้กาลเวลา

เหล่านี้ ก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติจำเพาะกิจจำเพาะอย่างที่เกี่ยวกับกาลเวลา

อันเกี่ยวแก่บุคคลหรือหมู่ชนเป็นต้น ซึ่งคำสั่งสอนนี้ก็เป็นคำสั่งสอนที่ใช้ได้อยู่ทุกกาลสมัย

แต่ที่กล่าวว่าการทำความดีทำได้ทุกกาลเวลานั้น ก็เป็นคำกล่าวรวมๆ

เพราะความดีนั้นเมื่อจำแนกรายละเอียดไปก็มีมาก

ความดีอะไรที่ควรทำก่อนทำหลัง ทำเวลาไหนที่ไหน ก็ต้องทำให้พอเหมาะพอควร

แต่ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าความดี เมื่อทำถูกทำเหมาะดังกล่าวนั้นจึงเป็นความดี

ซึ่งเป็นข้อปลีกย่อยออกไป แต่เมื่อประมวลเข้ามาแล้วในคำเดียวว่าความดี

ก็พึงทำให้เป็นความดีอยู่ทุกกาลสมัย ไม่เลือกว่าเวลาไหน

แต่ว่าเวลาไหนจะทำความดีอย่างไหนนั้น ก็สุดแต่ความเหมาะสมดังที่กล่าว

 

เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจในธรรมะที่สั่งสอน รู้จักจำแนกแจกแจงให้ถูกต้อง

เหมือนอย่างว่าการใช้ยาแก้โรค เมื่อป่วยก็ต้องใช้ยาแก้โรค

แต่ว่าจะใช้ยาอย่างไหน แก้โรคอย่างไหน ใช้ในเวลาไหน

ก็เป็นรายละเอียดของแต่ละราย ซึ่งต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่รวมความเข้าแล้วก็คือว่า ใช้ยาแก้โรค ซึ่งก็จะต้องใช้กันอยู่

หรือเวลาเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บเช่นเดียวกัน

 

ข้อปฏิบัติที่ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

 

และความดีที่ควรทำอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ควรละความชั่วอยู่เสมอ

และควรชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสอยู่เสมอนั้น

จึงเป็นข้อที่ปฏิบัติไม่จำกัดด้วยกาลเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว โดยส่วนรวม

คือว่าจะทำอะไรเวลาไหน ก็ให้ดีก็แล้วกัน อย่าให้ชั่ว ให้ดีก็แล้วกัน

แต่ว่าจะดีอย่างไรนั้นก็จะต้องศึกษาให้รู้จัก และปฏิบัติให้ถูกต้อง

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะได้รับผลของการปฏิบัติทันทีที่ปฏิบัติ

อันไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน

 

ในเรื่องการทำดีที่ควรทำไม่จำกัดด้วยกาลเวลาดังกล่าวมานั้น

ก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจกันอยู่เป็นอันมาก เช่นบางคน เมื่อตั้งใจทำความดีที่เข้าใจว่าเป็นความดี

เช่น ตั้งใจทำทาน ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจเจริญภาวนา

แต่ว่าก็มาบ่นว่าไม่เห็นจะได้ดีสักทีหนึ่ง คือหมายความว่าไม่เห็นจะบรรลุผลที่ต้องการ

เช่นว่าต้องการได้ทรัพย์ก็ไม่ได้ทรัพย์ ต้องการได้ยศได้ตำแหน่ง ก็ไม่ได้ยศได้ตำแหน่ง

ที่นึกว่าตนควรจะได้ ก็ทำให้ท้อใจในการที่จะทำความดี มีเข้าใจกันอยู่ดั่งนี้เป็นอันมาก

ซึ่งทำให้รู้สึกว่าการประพฤติธรรมนั้นไม่ให้ผลเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ไม่ให้ผลเห็นทันตา หรืออาจจะไม่ให้ผลเลย ก็ทำให้เลิกประพฤติ

 

พุทธานุภาพ

 

และที่มีความเข้าใจในพุทธานุภาพ พร้อมทั้งธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ

ไปในทางผิดก็มีอีกเป็นอันมาก เช่น เข้าใจว่าอาศัยพุทธานุภาพ

ด้วยการที่อธิษฐานขอพรจากพระพุทธรูปที่เข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เป็นผู้ชนะ

ตั้งแต่ชนะในการที่ประชันแข่งขันจำเพาะตัวๆ ตลอดจนถึงชนะที่เป็นส่วนรวม

เช่นว่าชนะสงคราม ครั้นไม่ชนะกลับแพ้ก็ทำให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มีประโยชน์

พระธรรมไม่มีประโยชน์ พระสงฆ์ไม่มีประโยชน์ ช่วยให้ชนะไม่ได้

จนถึงเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา หรือว่าเลิกนับถือพุทธศาสนาไปก็มี

ด้วยความเข้าใจผิด

 

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าทรงมีพุทธานุภาพ

ให้ผู้นับถือไปรบใครแล้วก็ชนะ หรือว่าไปแข่งขันอะไรกับใครแล้วก็ชนะ

มีพุทธานุภาพที่จะทำให้ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย

มีพุทธานุภาพที่จะทำให้พ้นจากผลของกรรมของตนที่จะพึงได้รับได้

ปัดเป่าให้พ้นจากผลร้ายอันจะเกิดจากกรรมที่ตนเองทำไว้ได้

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองว่า

ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ทำกรรมดีจักได้ดี ทำกรรมชั่วจักได้ชั่ว

เพราะฉะนั้น ถ้าพระองค์ไปทรงช่วยได้ ว่าทำกรรมชั่วแล้วไม่ต้องได้ชั่ว

คำที่พระองค์สอนไว้ก็กลายเป็นไม่จริง ไม่ใช่เป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

ไม่ใช่เป็นอมตะวาจา วาจาที่ไม่ตาย กฏของกรรมก็ต้องเป็นกฏของกรรม

ต้องเป็นไปตามที่ทรงสอนเอาไว้

 

แต่ว่าพระพุทธเจ้านั้นได้ทรงช่วยทางจิตใจ

เพื่อให้จิตใจได้ที่พึ่ง จิตใจบริสุทธิ์ ให้ประกอบคุณงามความดี

ตั้งอยู่ในทาน ในศีล ในภาวนา เป็นต้น อันเป็นบุญ ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน

เพราะฉะนั้นแม้ผู้ที่กรรมมาถึง อันจะทำให้ต้องถึงแก่ความตาย

เมื่อได้พบพระพุทธเจ้า ได้ถึงที่พึ่งทางใจจากพระพุทธเจ้า

ได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรมจากธรรมะที่ทรงสั่งสอน

ก็แปลว่าได้ประสบบุญได้ที่พึ่งของจิตใจแล้ว เมื่อต้องตายไปก็มีคติดีเป็นที่ไป อันเป็นสุคติ

พระองค์ได้โปรดดั่งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปโปรดให้เขาพ้นจากผลของกรรมที่เขาจะต้องได้รับ

 

ดังที่ได้ทรงโปรดธิดาของช่างทอหูก

ซึ่งนางจะต้องถึงแก่ความตายในวันนั้น ตามกรรมที่นางได้กระทำเอาไว้

พระองค์ได้เสด็จไปดักพบนาง เมื่อนางธิดาของช่างทอหูกนั้นกำลังจะไปสู่โรงหูกของบิดา

นางได้พบได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ได้สนทนาตอบปุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมะจากพระองค์ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ศรัทธาได้ปสาทะ ได้ที่พึ่งทางใจเป็นอย่างดี ก็ไปสู่โรงทอหูก

บิดากำลังนั่งหลับอยู่กับหูก เมื่อธิดาของตัวไปถึงก็ตกใจด้วยเสียงที่ธิดาเดินเข้าไป

ก็เหวี่ยงกระสวยหูกออกไปกระทบธิดาของตนโดยแรง จนถึงแก่ความตายทันที

ก็เป็นไปตามผลของกรรมที่นางได้กระทำเอาไว้

 

ถ้าหากว่าผู้ที่มีความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาข้างต้น

ก็จะต้องกล่าวว่าพระพุทธเจ้าช่วยไม่ได้ ไปพบพระพุทธเจ้าแล้วน่าจะไม่ตาย

อาจจะเข้าใจผิดอย่างนั้นได้ แต่ผู้ที่เข้าใจพุทธศาสนาแล้วก็จะไม่เข้าใจอย่างนั้น

จะต้องเห็นว่ากรรมที่ใครทำไว้ก็ต้องได้รับผลของตัวเอง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้

เรียกว่าเป็นคำปกาสิต ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว

เป็นสัจจะวาจา เป็นอมตาวาจา เป็นคำปกาสิตที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น พระองค์ก็โปรดได้ในทางที่จะพึงโปรดได้

ด้วยการที่ให้ผู้ที่จะต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างแรงนั้นได้พบพระองค์

และได้ที่พึ่งทางใจจากพระองค์ไปดั่งที่กล่าว ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ที่ไปดีแน่นอน

ไม่ไปสู่ทุคติคือคติที่ชั่ว พระองค์ทรงช่วยดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจพระพุทธให้ถูกต้องดั่งนี้แล้ว ก็จะเข้าใจถูกต้อง

เช่นว่า ในการที่จะได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นลาภก็ดีเป็นยศก็ดีเป็นต้นนั้น

ต้องอาศัยประกอบเหตุที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็ต้องประกอบกับเหตุแวดล้อม

บุคคลที่แวดล้อมอีกเป็นอันมาก เป็นไปตามทางโลก ตามกระบวนการของโลก

ที่มีผิดบ้างมีถูกบ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง เพราะว่าโลกนั้นเป็นตัณหาธิปไตยกันอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว

แม้ตัวเองก็เป็นตัณหาธิปไตยกันอยู่ตามที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อต้องการลาภอันใด เช่นว่าต้องการที่จะได้ข้าว ทำนาจะได้ข้าว

จะไปทำทาน ทำศีล ทำภาวนา แล้วให้ข้าวงอกขึ้นในนานั้นเป็นไปไม่ได้

จะต้องทำนา จึงจะได้ข้าวขึ้นมา ดั่งนี้เป็นต้น

 

ทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน

 

และธรรมะของพระพุทธเจ้าที่จะใช้ในเรื่องเหล่านี้

ก็ทรงสอนเอาไว้แล้ว ว่าต้องการประโยชน์ปัจจุบันเหล่านี้ก็จะต้องมีอะไรบ้าง

ในหมวดทิฏฐธรรมิกัตถะประโยชน์ปัจจุบัน มี อุฏฐานะสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร

อารักขะสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา กัลยาณะมิตตา คบเพื่อนมิตรที่ดีงาม

สมะชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ เหล่านี้เป็นต้น

ต้องปฏิบัติเหตุให้ถูกแก่ผลในทางโลก ก็ย่อมจะได้ผล

จะไปทำทานรักษาศีลเจริญภาวนา เพ่งดูนาให้ข้าวงอกขึ้นมานั้น ไม่ได้

เป็นการปฏิบัติผิดทาง แล้วจะหาว่าทำดีไม่ได้ดี ทำดีไม่ได้ข้าว

ไม่ได้ลาภ ทำดีไม่ได้ยศ ดั่งนี้ก็ไม่ได้

 

การปฏิบัติตรงในพุทธศาสนา

 

พระพุทธศาสนานั้นตรัสสอนให้ละกิเลสละตัณหา ละโลภละโกรธละหลง

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติเพื่อที่จะละกิเลสตามที่ตรัสสั่งสอนไว้นั้น

ซึ่งมีเป้าหมายคือนิพพานในที่สุด อันเป็นธรรมะที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์

ที่เป็นการปฏิบัติตรงในพุทธศาสนา ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น

ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ทำทานเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น

เพราะเป็นเครื่องขัดเกลา ชำระจิตใจ จากตัณหา จากโลภ จากโกรธ จากหลง

หรือว่าจากราคะโทสะโมหะเป็นต้น ทำเมื่อใดก็เป็นการชำระเมื่อนั้น เป็นผลเมื่อนั้น

รวมความก็คือว่าทำดีเมื่อใดก็ได้เป็นผู้ดีเมื่อนั้น มีภาวะเป็นคนดีเมื่อนั้น

ทำชั่วเมื่อใดก็มีภาวะเป็นคนชั่วเมื่อนั้น เป็นภาวะที่ปรากฏอยู่ที่จิตใจ ที่ตัวเองในภายใน

ขึ้นทันทีที่กระทำดีหรือกระทำชั่ว

 

ต้องหมั่นพิจารณาดูตัวเองให้เห็นสัจจะคือความจริงอันนี้ ให้รู้จักดีจักชั่วที่เป็นส่วนเหตุ

ให้รู้จักดีจักชั่วที่เป็นส่วนผล อันมีขึ้นทันทีตามลำดับของการกระทำ ดั่งนี้

ตั้งแต่เบื้องต้นเรื่อยขึ้นไป จนถึงขั้นมรรคผลนิพพานก็เช่นเดียวกัน ย่อมให้บังเกิดเป็นมรรคผล

เป็นนิพานไปตามลำดับที่ปฏิบัติถึงขั้นถึงวาระ ทุกกาลทุกสมัย ไม่กำหนดด้วยกาลเวลา

เมื่อครั้งพุทธกาลเป็นอย่างใด เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลกแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats