ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป081

พระธรรมคุณ ๕ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สัจจะธรรมเป็นอกาลิโก ๓

ธรรมสมาทาน การประกอบกระทำกรรม ๔ ข้อ ๔

อกุศลกรรมบถ ๑๐ ๕

กุศลกรรมบถ ๑๐ ๖

ผลกรรมประกอบด้วยกาลเวลา ๗

ผลติดต่อกับเหตุทันที ๘

บุถุชนย่อมปฏิบัติในด้านก่อทุกข์ ๙

สมาธินิมิต สมาธิบริขาร ๑๑

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๐๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๔/๒ - ๑๐๕/๑ ( File Tape 81 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๕ อกาลิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะนั้นเป็นสวากขาตธรรม ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

เป็นสันทิฏฐิโกอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ซึ่งได้แสดงมาแล้วโดยความว่า ธรรมะที่กล่าวโดยปริยายหนึ่ง ก็ได้แก่สัจจะธรรม

ธรรมะที่เป็นตัวความจริง หรือของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้

ศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งสั่งสอนตามสัจจะธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น

และศาสนธรรมนั้นก็เรียกอีกว่าปริยัติธรรมคือเป็นธรรมที่พึงเล่าเรียน

อันได้แก่ตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจอ่าน ตั้งใจท่องบ่นจำทรง

ตั้งใจเพ่งพินิจขบเจาะด้วยทิฏฐิลงความเห็น คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

จึงนำมาประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม

และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงมรรคผลนิพพาน

คือตัดกิเลสกองทุกข์และในสันดานให้สิ้นไป

จึงเรียกรวบยอดว่าปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอด

และก็มีแสดงว่ามรรค ๔ ผล ๔ นิพาน ๑ กับปริยัติธรรมรวมเป็น ๑๐

นับถือว่าเป็นธรรมะ ซึ่งเป็นสรณะที่ ๒ หรือเป็นรัตนะที่ ๒

รวมอยู่ในคำว่าพระพุทธะ พระธรรมะ พระสังฆะ

 

สัจจะธรรมเป็นอกาลิโก

 

อันสัจจะธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ดำรงอยู่ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด เพราะไม่มีกาลเวลา เป็นสัจจะธรรมที่ตั้งอยู่ที่ทรงอยู่ที่ดำรงอยู่

และศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนก็เป็นอมตาวาจา เป็นวาจาที่ไม่ตาย เป็นสัจจะวาจา

เพราะฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย

( เริ่ม ๑๐๔/๒ ) ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงความชรา

คือความแก่ความชำรุดทรุดโทรม ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย

 

เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมคือพุทธศาสนาจึงได้ดำรงอยู่ ปฏิบัติได้อยู่

ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้โดยที่ไม่มีข้อบกพร่องที่จะต้องเพิ่มเติม

ไม่มีข้อผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข เพราะเป็นสัจจะวาจา

เป็นอมตะวาจา วาจาที่เป็นสัจจะเป็นจริง จึงเป็นวาจาที่ไม่ตาย

หรือไม่แก่ ไม่ตาย ดำรงอยู่ดังกล่าว

 

ในการปฏิบัตินั้นเล่า ซึ่งเป็นปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย

ปฏิบัติได้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ และต่อไปก็ปฏิบัติได้

ผู้ปฏิบัติเองเท่านั้นประกอบด้วยกาลเวลา คือปฏิบัติเมื่อนั่นเมื่อนี่ ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติเองจึงประกอบด้วยกาลเวลา

 

แต่ธรรมะที่ปฏิบัตินั้น ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

อันหมายความว่าปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย ใช้ได้ทุกกาลสมัย

และผลของการปฏิบัตินั้น อย่างหนึ่งประกอบด้วยกาลเวลา

เพราะเกี่ยวแก่ผลที่เป็นสิ่งเนื่องมาจากเหตุปัจจัยภายนอก

เนื่องมาจากสิ่งที่เป็นส่วนสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่ง เช่นเป็นสุข เป็นทุกข์

เป็นอุปกรณ์ต่างที่ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ อันเกี่ยวแก่โลก เกี่ยวแก่สังขาร

เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุบ้าง ในภายนอก

กล่าวรวมเข้ามาคือเกี่ยวแก่ส่วนที่เป็นร่างกาย หรือเกี่ยวแก่ขันธ์ ๕

ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ก็ย่อมเนื่องในกาลเวลา

แต่ที่ส่วนด้วยผลทางจิตใจแล้ว ไม่เกี่ยวด้วยกาลเวลา

ปฏิบัติทางจิตใจตามหลักอริยสัจจ์ อันเป็นหลักคำสั่งสอนหลักของพุทธศาสนา

ย่อมให้บังเกิดผลได้ทันที

 

ธรรมสมาทาน การประกอบกระทำกรรม ๔ ข้อ

 

ว่าถึงในส่วนที่เกี่ยวแก่สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

สังขารภายในเกี่ยวแก่เบ็ญจขันธ์ กายใจอันนี้ หรือนามรูปอันนี้เกี่ยวแก่โลกธาตุ

เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุบ้างดังกล่าว ย่อมประกอบด้วยกาลเวลา

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสแสดงถึงเรื่องกรรม คือการที่บุคคลกระทำ

ทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เป็นฝ่ายชั่วอันเรียกว่าอกุศลกรรมบ้าง เป็นฝ่ายดีอันเรียกว่ากุศลกรรมหรือบุญกรรมบ้าง

บางอย่างก็ให้เสวยผลในปัจจุบัน บางอย่างก็ให้เสวยผลในภายหน้า

บางอย่างก็ให้เสวยผลในเวลาที่ถัดจากภายหน้าไป

 

และความประกอบกระทำกรรมนี้

ท่านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมสมาทาน แปลว่าสมาทานธรรมะ คือถือปฏิบัติธรรมะ

ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบันด้วย ให้ผลเป็นทุกข์ในภายหน้าด้วย

ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นสุขในปัจจุบัน ให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า

ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน แต่ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า

ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นสุขในปัจจุบันด้วย ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้าด้วย

 

อกุศลกรรมบถ ๑๐

 

ข้อที่ ๑ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน

และให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วยนั้น ก็ตรัสยก อกุศลกรรมบถ

ทางกรรมที่เป็นอกุศลขึ้นเป็นตัวอย่าง

อกุศลกรรมบถทางกรรมที่เป็นอกุศล ที่เป็นกายกรรมทางกายนั้นก็ได้แก่

ปาณาติบาตทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

อทินนาทานถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ด้วยอาการเป็นขโมย

กาเมสุมิจฉาจารประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

 

อกุศลกรรมบถทางวาจาที่เรียกว่าวจีกรรม

ก็ได้แก่มุสาวาทพูดเท็จ ปิสุณาวาจา วาจาส่อเสียด

ผรุสะวาจา วาจาหยาบ สัมผัปปลาวาจา วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล

 

อกุศลกรรมบถทางใจอันเรียกว่ามโนกรรม

ก็ได้แก่อภิชฌาโลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน

พยาบาทมุ่งร้ายปองร้ายผู้อื่น มิจฉาทิฏฐิเห็นผิดจากคลองธรรม

 

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกระทำอกุศลกรรมบถเหล่านี้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยใจที่เป็นทุกข์เดือดร้อน

และเมื่อปฏิบัติไปแล้ว ก็ต้องได้เสวยผลของอกุศลกรรมเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วย

เรียกว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน

และให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วย

ส่วนข้อ ๒ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นสุขในปัจจุบัน แต่ว่าให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า

ก็ได้แก่ปฏิบัติกระทำอกุศลกรรมบถเหล่านี้อยู่ในปัจจุบันด้วยใจที่ร่าเริงเป็นสุขสนุกสนาน

ก็อาจจะเทียบยกตัวอย่างเช่นว่าเล่นกีฬาสนุกแบบไปล่าสัตว์ตัดชีวิต ไปตกปลายิงเนื้อเป็นต้น

เป็นการกีฬา เป็นการสนุกสนาน แต่ว่าจะต้องเสวยผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า

ก็ชื่อว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้เสวยผลเป็นสุขในปัจจุบัน แต่ให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า

 

กุศลกรรมบถ ๑๐

 

ส่วนข้อ ๓ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน

แต่ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า ก็ได้แก่ฝ่ายกุศลกรรมบถอันตรงกันข้าม

ทางกายกรรมก็เช่นการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในทางกาม

ทางวาจาก็คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อหลวไหล

ทางใจที่เป็นมโนกรรมก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน

ไม่พยายาทปองร้ายผู้อื่น และเป็นสัมมาทิฏฐิคือมีความเห็นชอบ

 

เมื่อประพฤติปฏิบัติกระทำกุศลกรรมบถเหล่านี้ด้วยทุกข์โทมนัส

เช่นต้องจำใจทำ หรือว่าต้องลำบากในการกระทำ

ก็เป็นการเสวยผลเป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า

ก็ชื่อว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน แต่ให้สุขต่อไปภายหน้า

 

ข้อ ๔ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นสุขในปัจจุบันด้วย

ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้าด้วย ก็ยกตัวอย่างกุศลกรรมบถทั้งหลายดังกล่าว

ในขณะที่ปฏิบัติกระทำอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำด้วยสุขโสมนัส

ต่อไปภายหน้าก็ได้สุขโสมนัส ก็เป็นธรรมสมาทานที่ให้เสวยผลเป็นสุขในปัจจุบัน

และให้เสวยผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า

 

ผลกรรมประกอบด้วยกาลเวลา

 

ธรรมสมาทานหรือการกระทำกรรมดีกรรมชั่วดังกล่าว

มีการให้ผลประกอบด้วยกาลเวลาก็เพราะว่า เกี่ยวแก่สุขโสมนัส

หรือว่าเกี่ยวแก่สุขทุกข์ เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่นำให้ได้สุขได้ทุกข์

ซึ่งเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งเกี่ยวแก่นามรูปอันนี้ ชีวิตร่างกายอันนี้

แต่เกิดจากวัตถุทั้งหลายในโลก บุคคลทั้งหลายในโลกเป็นต้นที่เกี่ยวข้อง

อันล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เรียกว่าเกี่ยวแก่ภายนอก เหล่านี้จึงเนื่องด้วยกาลเวลา

ในการปฏิบัติเกี่ยวแก่บุคคล เกี่ยวแก่เทศะ เกี่ยวแก่สิ่งทั้งหลายในโลก

ต้องอาศัยกาลเวลามาประกอบ

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนไว้ว่าให้มีกาลัญญูให้รู้จักกาลเวลา

 

ส่วนที่ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา

ก็คือเกี่ยวแก่ภูมิชั้นในจิตใจโดยตรง เกี่ยวแก่ข้อปฏิบัติทางจิตใจโดยตรง

ซึ่งเข้าหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา คือแม้ในการที่ประกอบกรรมต่างๆ ดีหรือชั่ว

หรือสมาทานธรรมะอันเรียกว่าธรรมสมาทานฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล เมื่อสมาทานฝ่ายอกุศล

ประกอบกรรมฝ่ายอกุศล ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นชั่วขึ้นทันที

เมื่อสมาทานฝ่ายกุศล ประกอบกรรมที่เป็นกุศล ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นคนดีขึ้นทันที

ภาวะของตน ของจิตใจ อันเป็นส่วนภายในนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ทำดีเมื่อใดก็เป็นคนดีเมื่อนั้น ทำชั่วเมื่อใดก็เป็นคนชั่วเมื่อนั้น ตนเองจะรู้หรือไม่รู้ตนเอง

คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ ไม่เป็นประมาณ แต่ว่าเมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นคนชั่วขึ้นทันที

เมื่อทำดีก็ต้องเป็นคนดีขึ้นทันที นี้ในส่วนกรรม ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

 

แต่ว่าที่เกี่ยวแก่ส่วนภายนอกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ

เป็นผลที่เกี่ยวแก่สุขทุกข์ต่างๆนั้นจึงประกอบด้วยกาลเวลา

เป็นภายนอก เป็นส่วนสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งในภายนอก เป็นส่วนโลกภายนอก

ส่วนตนที่เป็นภายใน จิตใจที่เป็นภายในของทุกคน นี่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาอย่างนั้น

 

แต่ว่าในข้อนี้ต้องอาศัยปัญญาที่พิจารณาดูตามเหตุและผล

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วจึงจะเข้าใจในสัจจะคือความจริงข้อนี้

และเมื่อเข้าใจในสัจจะความจริงข้อนี้ได้ ก็จะให้ผลดีแก่ตนเองมาก

ทำให้ตนเองเกิดหิริความละอายใจต่อความชั่ว รังเกียจต่อความชั่ว

โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว เว้นความชั่ว มีฉันทะในอันทำความดี

หรือกล่าวเป็นศัพท์แสงว่า เว้นอกุศลธรรมสมาทาน เว้นอกุศลกรรม

แต่มาประกอบกุศลธรรมสมาทาน ประกอบกุศลกรรมต่างๆ

 

ผลติดต่อกับเหตุทันที

 

และเมื่อพิจารณาตรงเข้าในหลักอริยสัจจ์

เมื่อมีสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อันเรียกว่าทุกขสมุทัย

หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก สืบมาถึงอุปาทานความยึดถือ

เมื่อมีความอยากความยึดขึ้นในสิ่งใดในเวลาใด ก็เกิดทุกข์ขึ้นในสิ่งนั้นในเวลานั้นทันที

เมื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือในสิ่งใดเวลาใด

ก็ดับทุกข์ในสิ่งนั้นในเวลานั้นทันที เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

 

คือไม่ต้องรอว่าจะปฏิบัติแล้ว จะต้องไปได้รับผลเป็นทุกข์

หรือเป็นความดับทุกข์เมื่อนั่นเมื่อนี่ ได้รับผลที่สืบเนื่องติดต่อไปทันที

ตั้งแต่ในขั้นปฏิบัติเบื้องต้นที่สามัญชนทุกคนปฏิบัติกันอยู่ และก็เป็นดั่งนี้เรื่อยไป

จนถึงเป็นอริยมรรคอริยผล เมื่อเป็นอริยมรรคก็สืบต่อเป็นอริยผลขึ้นทันที ไม่มีคั่น

คือไม่มีระยะเวลาที่ต้องรอ ต้องเว้น ไม่มีคั่น ผลติดต่อกับเหตุทันที ผลติดต่อกับมรรคทันที

และผลติดต่อกับเหตุทันทีนี้ ก็มิใช่ว่าจะมีในตอนเป็นมรรค เป็นอริยมรรคอริยผล

ย่อมมีอยู่ในตอนที่เป็นปัจจุบันเบื้องต้นที่ปฏิบัติกันอยู่นี่แหละ

มีตัณหาอุปาทานขึ้น ก็มีทุกข์ขึ้นทันที ดับตัณหาอุปาทานได้ ก็ดับทุกข์ได้ทันที

เป็นเหตุและผลที่ติดต่อกันไปทันที ทั้งฝ่ายเกิดทุกข์ ทั้งฝ่ายดับทุกข์

เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

 

บุถุชนย่อมปฏิบัติในด้านก่อทุกข์

 

แต่ว่าเพราะผู้ปฏิบัติเองมีกาลเวลาในการปฏิบัติ

คือปฏิบัติเมื่อนั่น ปฏิบัติเมื่อนี่ ปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง

และสำหรับสามัญชนส่วนใหญ่นั้นไปปฏิบัติในด้านตรงกันข้าม

ไม่ใช่ว่าไม่ปฏิบัติในด้านดับทุกข์แล้ว จะอยู่เฉยๆ ไม่ใช่เช่นนั้น

ที่เป็นบุถุชนอยู่นั้น ย่อมปฏิบัติในด้านก่อทุกข์กันอยู่เสมอ

เรียกว่าเป็นอกาลิโกกันอยู่ในด้านก่อทุกข์

 

เพราะว่ามีตัณหามีอุปาทานประจำกันอยู่ในจิตใจ

ทั้งที่เป็นส่วนละเอียดคือเป็นตัณหานุสัย ตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในใจ

ทั้งที่เป็นส่วนหยาบขึ้นมา เป็นตัณหาที่บังเกิดขึ้นในใจ อยากได้โน่นอยากได้นี่ ยึดโน่นยึดนี่

และที่เป็นอย่างหยาบขึ้นมาอีก จนถึงให้ละเมิดออกทางกายทางวาจาทางใจ คือเป็นกรรม

เป็นกรรมที่เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น

และเมื่อเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่ากรรมกิเลส ( เริ่ม ๑๐๕/๑ ) คืออกุศลกรรม

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกรรมกิเลสไว้ มีการฆ่าการลักการพูดปด

การประพฤติผิดในกาม การพูดปด

 

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสามัญชนหรือบุถุชนทั้งปวงนั้น

เป็นอกาลิโกอยู่กับทุกข์ กับทุกขสมุทัย เป็นพื้นประจำอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

แม้ว่าจะไม่มีกิเลสส่วนที่หยาบมาก ก็ยังมีกิเลสส่วนที่บังเกิดอยู่ในใจ

หรือเมื่อว่า แม้ว่าใจจะสงบ ก็ยังมีส่วนที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในใจ

เพราะฉะนั้น จึงอยู่กับกิเลส ไม่ไกลกิเลส อยู่ใกล้กิเลส อยู่กับกิเลส เป็นอกาลิโกอยู่กับกิเลส

จึงเป็นอกาลิโกอยู่กับทุกข์ คือมีกิเลสอยู่เรื่อย มีทุกข์อยู่เรื่อยไม่กำหนดว่าเวลาไหน

ก็ขอยืมคำว่าอกาลิโกมาพูดในทางนี้ว่าสามัญชนหรือบุถุชนมักจะเป็นกันอยู่ดั่งนี้

ยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีอุปาทานความยึดถือ

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีทุกข์

 

ฉะนั้น ถ้าหากว่ามาปฏิบัติกระทำให้มากในฝ่ายดับทุกข์

คือลดละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ

เมื่อละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอุปาทานความยึดถือได้ ก็ละทุกข์ได้

ไม่มีอะไรเข้ามาทำใจที่ละตัณหาอุปาทานให้เป็นทุกข์ขึ้นได้ มนุษย์ก็ทำไม่ได้

เทวดาก็ทำไม่ได้ พรหมก็ทำไม่ได้ ที่จะทำใจที่ละตัณหาอุปาทานนั้นให้เป็นทุกข์

ที่มนุษย์ด้วยกันทำได้ เทวดาทำได้ พรหมทำได้นั้น ก็เพราะว่ายังมีตัณหามีอุปาทานอยู่

ในมนุษย์บ้าง ในเทวดาบ้าง ในพรหมบ้าง ในมารบ้าง ในวัตถุต่างๆบ้าง

จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ในใจ ยึดเอาสิ่งใดเข้ามาก็มีสิ่งนั้นตั้งอยู่ในใจ

ยึดเอาทรัพย์สินเงินทองเข้ามา ทรัพย์สินเงินทองก็ตั้งอยู่ในใจ

ยึดเอามนุษย์คนไหนเข้ามา มนุษย์คนนั้นก็ตั้งอยู่ในใจ

ยึดเอาเทวดามารพรหมองค์ไหนเข้ามาตั้งอยู่ในใจ

เทวดามารพรหมองค์นั้นก็มาตั้งอยู่ในใจ จึงอยู่ที่ความยึด

 

เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดดูให้รู้ดั่งนี้แล้ว

ก็ตั้งใจปฏิบัติเพื่อละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ

ไม่อยาก ไม่ยึด ปล่อยวาง เมื่อเป็นดั่งนี้ทุกอย่างนั้นก็ตกไปจากใจหมด ไม่ตั้งอยู่ในใจ

ทุกข์ก็ตกไปหมดจากใจ คือว่าตกไปทันที สืบต่อกันทันที

ดับตัณหาอุปาทานเมื่อใด ทุกข์ก็ดับเมื่อนั้นต่อกันทันทีไม่มีคั่น ไม่มีอะไรในระหว่าง

เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลาดั่งนี้ เกี่ยวกับภาวะทางจิตใจ

ภูมิชั้นของตนซึ่งเป็นภายในย่อมเป็นอยู่ดั่งนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

๑๐

การปฏิบัติทางจิตใจพร้อมทั้งกายวาจา ตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นมา

จนถึงมรรคผลนิพานก็ย่อมเป็นดั่งนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

 

สมาธินิมิต สมาธิบริขาร

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิ สอนให้รู้จักนิมิตเครื่องกำหนดสมาธิ

สอนให้รู้จักบริขารเครื่องบำรุง เครื่องใช้ของสมาธิ ให้รู้จักสมาธิภาวนา อบรมสมาธิ

โดยตรัสสอนไว้โดยใจความว่า สมาธิ ก็คือเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

หรือความมีอารมณ์อันเดียวของจิต ชื่อว่าสมาธิ สมาธินิมิต เครื่องกำหนดแห่งสมาธิ

สติที่กำหนดดูให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรม เป็นสมาธินิมิต

สมาธิบริขาร เครื่องใช้สอยของสมาธิ เครื่องอาศัยของสมาธิก็คือ ปธานะ การตั้งความเพียร

สมาธิภาวนา ก็คือการปฏิบัติอบรมกระทำให้มากซึ่งสมาธิ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระธรรมคุณ ๖ เอหิปัสสิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

นิพพานเป็นภูมิที่ดำรงอยู่ ๓

ข้อว่าควรเรียกให้มาดู ๔

ข้อที่ตรัสสอนพระราหุล ๖

แว่นส่องดูตนเอง ๘

การปฏิบัติที่เป็นเอหิปัสสิโก ๙ 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๕/๒ ( File Tape 81 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๖ เอหิปัสสิโก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง

ไม่ประกอบด้วยกาล และ เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูได้

ควรทำความเข้าใจในบทว่าเอหิปัสสิโกนี้ ให้ต่อเนื่องกับ อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ตามที่ได้อธิบายมาแล้วก็พึงสรุปบทว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

โดยเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้

จึงเป็นของจริงของแท้ ที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลเวลา

 

ธรรมะคือคำสั่งสอนอันเรียกว่าศาสนธรรม หรือพุทธศาสนา

ซึ่งตรัสแสดงสัจจะธรรมที่ได้ตรัสรู้สั่งสอน ก็เป็น อมตาวาจา วาจาที่ไม่ตาย

ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า สัจจะแลเป็นวาจาที่ไม่ตาย คือคำสัจจ์เป็นวาจาที่ไม่ตาย

และตรัสไว้ว่าธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงชรา คือความแก่เก่าชำรุดทรุดโทรม

ส่วนธรรมะที่เป็น ปริยัติ ซึ่งหมายถึงว่า การสดับตรับฟัง การอ่าน การท่องบ่นจำทรง

การเพ่งด้วยใจพินิจพิจารณาขบเจาะด้วยทิฏฐิลงความเห็น คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ซึ่งทรงอยู่ด้วยสัญญาความจำหมายในใจของตน ย่อมประกอบด้วยกาลเวลา

เพราะสัญญาคือความจำนั้นไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ จำได้ ลืมได้

หรือว่าจำได้ตลอดชีวิต สิ้นชีวิตแล้วก็ดับไปพร้อมกับนามรูปที่แตกดับ

 

นิพพานเป็นภูมิที่ดำรงอยู่

 

ในส่วนที่เป็นปฏิบัติธรรม

ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลบรรลุถึงภูมิเป็นที่บรรลุ

การปฏิบัติที่เป็นเหตุ และผลคือการบรรลุ ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ

เพราะเมื่อบรรลุถึงภูมิที่บรรลุ การปฏิบัติเพื่อบรรลุ และผลคือการถึงก็เป็นอันว่าสิ้นสุด

ก็ประกอบด้วยกาลเวลา แต่ว่าภูมิที่บรรลุอันเป็นภูมิที่สุดที่เรียกว่านิพพาน

เป็นภูมิที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ เป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

นี้ในความหมายของคำว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

และ กาลิโก ประกอบด้วยกาลเวลาที่ประกอบกันอยู่

 

อีกอย่างหนึ่งอกาลิโกในความหมายที่ปฏิบัติบรรลุผลได้ไม่มีอะไรคั่น

ทุกกาลทุกสมัย เมื่อครั้งพุทธกาล ในเวลาต่อมา ในบัดนี้และต่อไปก็เช่นเดียวกัน

เมื่อปฏิบัติในเหตุก็บรรลุผลทันที ผลที่บรรลุนั้นบังเกิดขึ้นสืบจากเหตุ ต่อจากเหตุทันทีไม่มีคั่น

อันหมายถึงภูมิชั้นของตน ของจิตใจ หรือภาวะของตนของจิตใจ

 

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ทำชั่วเมื่อใด ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที

คือภูมิชั้นภาวะของตนของจิตใจ ชั่วขึ้นทันที

ทำดีเมื่อใดภูมิชั้นของตนก็ดีขึ้นทันที เป็นคนดีขึ้นทันที

และเมื่อก่อทุกขสมุทัยขึ้น คือก่อตัณหาอุปาทานขึ้นในสิ่งใดเมื่อใด

ก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้นเมื่อนั้นทันที

ดับตัณหาอุปาทานได้เมื่อใดก็ดับทุกข์ได้ทันทีสืบต่อกันไป

เหตุผลซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติภายในเกี่ยวแก่ภูมิชั้นของตนของจิตใจ

ภาวะของตนของจิตใจดังกล่าวมานี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดั่งนี้

คือการให้ผลบังเกิดขึ้นสืบต่อจากเหตุที่ทำทันทีไม่มีคั่น

 

นี้เป็นอกาลิโกในความหมายเกี่ยวแก่การให้ผล

ซึ่งต่างจากการให้ผลของต้นไม้ตามที่เปรียบเทียบไว้ ว่าต้องมีระยะกาลเวลาให้ผล

แต่ว่าธรรมะที่ปฏิบัตินั้น เมื่อปฏิบัติเหตุก็ให้ผลทันที เป็นเหตุเป็นผลที่ต่อกันทันที

ไม่มีคั่นดังกล่าว เว้นแต่ผลที่เป็นภายนอก เป็นส่วนที่ร่างกายจะพึงได้รับ

อันเกี่ยวแก่สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เกี่ยวแก่บุคคลภายนอก เกี่ยวแก่โลกธาตุภายนอก

ดังที่ได้ยกเอาธรรมสมาทาน ๔ อย่างขึ้นมาแสดงไว้แล้วนั้น อันนับว่าเป็นผลภายนอก

แต่ว่าผลที่เป็นภายในนั้นบังเกิดต่อจากเหตุที่ปฏิบัติทันทีดังกล่าว

 

ข้อว่าควรเรียกให้มาดู

 

ตรงนี้ จึงจะต่อถึงพระธรรมคุณบทว่า เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู

ซึ่งฟังดูก็คล้ายๆกับว่าเรียกใครๆให้มาดูได้ ให้มาพิสูจน์ได้

ว่าเป็นสัจจะธรรม เป็นของจริงเป็นของแท้

แต่ว่าอีกความหมายหนึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมนั้นพึงเข้าใจว่า

พึงเรียกตนเองนี่แหละ ให้มาดูก่อน ให้ตนเองเห็นเสียก่อน ให้ตนเองรู้เสียก่อน

ส่วนการจะเรียกผู้อื่นให้มาดูด้วยการสั่งสอนบอกกล่าวนั้นเป็นเรื่องภายหลัง

 

เพราะฉะนั้น ความสำคัญของคำว่า เอหิปัสสิโก จึงอยู่ที่ตนเองของทุกๆคน

พึงเรียกตนเองให้มาดู หรือจะพูดว่า จะต้องเรียกตนเองให้มาดู

จึงจะเห็นว่าธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นธรรมะอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง

เป็นธรรมะไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ดังที่แสดงมาแล้วโดยลำดับจนถึงบทสรุปของอกาลิโกที่กล่าวมา

ก็หมายถึงสัจจะธรรม และก็หมายถึงการให้ผลของธรรมะที่ปฏิบัติ

ปฏิบัติเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่จำเป็นจะต้องถึงขั้นอริยมรรคอริยผล

ที่เป็นมรรคผลสามัญคือที่สามัญชนปฏิบัติกันอยู่ก็เช่นเดียวกัน

ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทำชั่วเมื่อใดก็เป็นคนชั่วขึ้นเมื่อนั้น

ทำดีเมื่อใดก็เป็นคนดีขึ้นเมื่อนั้น อันเป็นผลที่เป็นภูมิชั้นของตนของจิตใจ

 

แต่ว่าใครจะรู้จะเห็นดั่งนี้ได้ ก็ต้องมาถึงบทว่า เอหิปัสสิโก ต้องเรียกตัวเองให้มาดู

คือมาดูที่กายที่วาจาที่ใจที่จิตของตนเอง อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่อง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาดูตนเอง ดูกายดูวาจาดูใจดูจิตตนเอง

เหมือนอย่างใช้แว่นส่อง ส่องดูหน้าตนเอง ซึ่งคำสั่งสอนของพระองค์ในข้อนี้ก็ต้องมุ่งถึงว่า

ใช้ปัญญาของตนนี่แหละพิจารณา เหมือนอย่างใช้แว่นส่องพิจารณาหน้าของตนเอง

และในการนี้ก็อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้เอง ที่เป็นสวากขาตธรรม

ธรรมะที่พระองค์ตรัสดีแล้ว เป็นเหมือนอย่างแว่นส่องพิจารณาตน ของทุกๆคน

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ได้ปัญญาความรู้ในคำสั่งสอนของพระองค์

หรือว่าได้ศรัทธาความเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ ก็นำเอาคำสั่งสอนของพระองค์นี้

มาเป็นแว่นส่องพิจารณาดูที่ตนเอง ตามที่ทรงสั่งสอน นี้แหละคือการที่เรียกตนให้มาดู

โดยใช้แว่นส่องของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนมาเป็นแว่นสำหรับส่องดูตนเอง

เหมือนอย่างใช้แว่นส่อง ส่องดูเงาหน้า หรือกระจกเงาส่องดูหน้าของตนเอง

และเมื่อนำมาส่องดั่งนี้ ก็จะได้มองเห็นตนเองว่าเป็นอย่างไร

 

( เริ่ม ๑๐๕/๒ ) ในข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระราหุล ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์เดียว

ก่อนจะเสด็จออกทรงผนวช ความย่อที่ทรงสั่งสอนก็มีแสดงไว้ว่า

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่ที่พักของพระราหุล เมื่อพระราหุลเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล

ก็ตั้งอาสนะสำหรับประทับนั่งไว้ถวาย และเตรียมน้ำล้างพระบาทไว้ถวาย

เมื่อเสด็จมาถึงพระพุทธเจ้าก็ประทับนั่งบนอาสนะ และทรงยกขันน้ำล้างพระบาท

แต่ว่าทรงเหลือน้ำในขันไว้หน่อยหนึ่ง ตรัสถามพระราหุลว่าน้ำในขันที่เหลืออยู่นั้นมากหรือน้อย

พระราหุลก็กราบทูลว่าเหลือน้อย

 

ข้อที่ตรัสสอนพระราหุล

 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้ของผู้ใดไม่มี

ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็เหลือน้อย เหมือนอย่างน้ำที่เหลือน้อยในขันล้างพระบาทนั้น

ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเทน้ำในขันที่เหลือนั้นหมด ก็ตรัสถาม และก็ตรัสสอนพระราหุลต่อไปว่า

ความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้ไม่มีแก่ผู้ใดผู้นั้น ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ไม่มีเหลือ

เหมือนอย่างน้ำที่ไม่มีเหลืออยู่ในขันน้ำนั้น ครั้นแล้วก็ทรงคว่ำขันน้ำลง ตรัสถาม

แล้วก็ตรัสสอนพระราหุลต่อไปอีกว่า ความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้ไม่มีแก่ผู้ใด

ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็เหมือนอย่างขันที่คว่ำนั้น แล้วก็ทรงหงายขันนั้นขึ้นอีก

เป็นขันที่เปล่า ว่างเปล่าไม่มีน้ำ ก็ตรัสถามพระราหุล แล้วก็ตรัสสอนต่อไปอีกว่า

ความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้ไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็เหมือนอย่างขันน้ำเปล่านั้น ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้ศึกษาว่า เราจักไม่พูดเท็จทั้งรู้

เพราะว่าผู้ใดพูดเท็จทั้งรู้ พระองค์ตรัสว่า บาปอะไรๆที่ผู้นั้นจะไม่ทำนั้นหามีไม่

ในครั้งนั้นพระอาจารย์ได้แสดงว่าพระราหุลท่านยังมีชนม์พรรษาน้อย

เรียกว่ายังอยู่ในภาวะเป็นกุมาร หรือเป็นเด็ก จึงได้ตรัสสอนไว้อย่างเข้มงวด

ให้สำรวมระวังวาจา อย่าพูดเท็จ แม้เพื่อที่จะหัวเราะกันเล่น

 

และก็ได้ตรัสถามอีกว่า แว่นส่องนั้นมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร

พระราหุลก็กราบทูลว่ามีไว้เพื่อส่องพิจารณา พระองค์จึงได้ตรัสสอนว่าก็พึงพิจารณา

พึงพิจารณากายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตน

ทั้งในเวลาก่อนทำ ก่อนพูดก่อนคิด ทั้งในเวลาที่กำลังทำกำลังพูดกำลังคิด

ทั้งในเวลาที่หลังจากที่ได้ทำได้พูดได้คิดไปแล้ว คือเมื่อใคร่ปรารถนาจะทำจะพูดจะคิดอะไร

ก็พิจารณา พิจารณาก่อนว่าการที่จะทำคำที่จะพูดเรื่องที่คิดนั้น

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือไม่ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นหรือไม่ เป็นอกุศลให้เกิดทุกข์โทษ ให้เกิดทุกข์เป็นวิบาก

หรือว่าเป็นกุศลให้เกิดสุขเป็นกำไร ให้เกิดสุขเป็นวิบาก

เหมือนอย่างเอาแว่นมาส่องดูหน้าของตน

 

และเมื่อพิจารณาๆ รู้ว่าการที่คิดจะทำ คำที่คิดจะพูด เรื่องที่คิดว่าจะคิด

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น

เป็นอกุศล ให้เกิดโทษทุกข์ มีทุกข์เป็นวิบาก ก็จงเว้นเสียไม่ทำ ไม่พูดไม่คิด

แม้ว่าอาจจะพูดจะทำจะคิดได้ ก็ไม่ทำไม่พูดไม่คิด

 

แต่ถ้าไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น

ไม่เป็นเพื่อเบียดเบียนทั้งสอง คือทั้งตนทั้งผู้อื่น

เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ก็จงทำจงพูดจงคิด

แม้ในขณะที่กำลังทำกำลังพูดกำลังคิดอยู่ ก็ให้พิจารณาๆไปเช่นเดียวกัน

ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ให้เกิดโทษทุกข์ ก็เลิกเสีย

ถ้าเป็นกุศล ให้เกิดสุขเป็นกำไร ก็ทำพูดคิดต่อไป

 

แม้ในการที่ทำแล้ว ในคำที่พูดแล้ว ในเรื่องที่คิดไปแล้ว ก็ให้พิจารณาๆ

ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ให้เกิดโทษทุกข์ หรือให้เกิดสุขเป็นกำไร

ถ้าเป็นอกุศลให้เกิดโทษทุกข์ ก็บอกก็เปิดเผยกระทำให้แจ้งในพระศาสดา

หรือในสพรหมจารีซึ่งเป็นวิญญูผู้รู้ทั้งหลาย

 

แต่ถ้าเป็นกุศลให้เกิดสุข เป็นกำไร

ก็ให้มีปีติโสมนัสในการที่ทำคำที่พูดเรื่องที่คิดอันเป็นกุศลนั้น

และก็ตั้งใจศึกษาปฏิบัติอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาๆ

ความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจของตนดั่งนี้ในกาลทั้งสาม

คือในกาลก่อนที่จะทำ ในขณะที่กำลังทำ และแม้ทำไปแล้ว อันรวมทั้งพูดคิดด้วย

เหมือนอย่างใช้กระจกเงา ครั้งก่อนเป็นแว่นส่อง แว่นส่องหน้า มองดูหน้าของตนเอง

เพื่อที่จะได้รู้ว่าหน้าของตนเองเป็นอย่างไร จะตกแต่งอย่างไรให้งดงาม

การใช้แว่นส่องคือปัญญาพิจารณาดูความประพฤติของตนเอง

ก็เพื่อที่จะได้รู้ความประพฤติของตนเองว่าเป็นอย่างไร จะได้ตบแต่งความประพฤติ

ของตนเองให้งดงาม ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นฝ่ายกุศล

ให้เกิดสุข มีสุขเป็นวิบาก

 

แว่นส่องดูตนเอง

 

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสต่อไปว่าสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย

ผู้ปฏิบัติชำระกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์ ในอดีตที่ล่วงไปแล้วก็ดี

หรือที่จักมีในอนาคตยังไม่มาถึงก็ดี ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ดี ก็ต้องใช้วิธีพิจารณาๆ

เหมือนอย่างใช้แว่นส่องดูตนเอง ดูความประพฤติของตนเอง ดังที่ตรัสสอนนั้น

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนสรุปว่า จงศึกษาว่าเราจักพิจารณาๆ

ทำพูดคิดทางกายทางวาจาทางใจ ดั่งนี้ การปฏิบัติดังกล่าวนี้แหละ คือเอหิปัสสิโกจงมาดู

คือเป็นการที่เรียกร้องตนเองนี่แหละให้มาดู ดูความประพฤติของตนเอง ดูจิตใจของตนเอง

ก่อนจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ก็ใช้แว่นส่องพิจารณาๆ

กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ก็ใช้แว่นส่องพิจารณาๆ

ทำแล้ว พูดแล้ว คิดแล้ว ก็ใช้แว่นส่องพิจารณาๆ

เพื่อที่จะได้ละส่วนชั่วที่เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้ประกอบส่วนดีที่เป็นกุศล

เป็นการชำระตน คือชำระกายวาจาใจ ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

 

การปฏิบัติที่เป็นเอหิปัสสิโก

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐานก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นเอหิปัสสิโก

ท่านจงมาดู เจ้าจงมาดู คือเป็นการเรียกตนเองให้มาดูกายดูเวทนาดูจิตดูธรรม

การที่มาดูกำหนดก็เป็นสติ ใจตั้งกำหนดก็เป็นสมาธิ รู้ก็เป็นปัญญา หรือญาณ

กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นสติ และข้อต่อๆไปก็เป็นสติ

และก็จะเป็นสมาธิ เป็นปัญญา เนื่องกันไป

ต้องมีเอหิปัสสิโกดั่งนี้จึงจะเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐานได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats