ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป108

เอกายนมรรค

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

พระคุณของพระรัตนตรัย ๒

ทางอันเอก ๔

ขณิกนิพพาน ๔

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ๕

หลักสำคัญในพุทธศาสนา ๖

พุทธะ ปัจเจกพุทธะ อนุพุทธะ ๗

พุทธานสาสนัง ๘

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ๙

กาลิโก อกาลิโก ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๐ /๑ ( File Tape 108 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เอกายนมรรค

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สติปัฏฐานนั้นเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติจิตตภาวนา

ทั้งเพื่อสมาธิ ทั้งเพื่อปัญญา และธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

ในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ก็เป็นข้อธรรมะที่เกี่ยวแก่กายเวทนาจิตธรรม

อันเป็นหัวข้อแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ และแม้จะแสดงธรรมะข้ออื่นนำ

ดังที่ได้แสดงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ นำมาโดยลำดับ

ก็นับเข้าในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้

 

พระคุณของพระรัตนตรัย

 

ในการปฏิบัติเกี่ยวแก่พระคุณของพระรัตนตรัยทั้ง ๓ นี้

ก็ต้องอาศัยสติปัฏฐานคือตั้งสติ ระลึกคุณของพระพุทธเจ้าว่ามีอย่างนี้ๆ

ระลึกถึงคุณของพระธรรมว่ามีอย่างนี้ๆ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่ามีอย่างนี้ๆ

และโดยปรกติในการแสดง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

ก็แสดงไปตามบทสวดพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ

คือ อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น

สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นต้น สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นต้น

เพราะเป็นที่รวมพระคุณแห่งรัตนะทั้งสามนี้ไว้แล้วเป็นหมวดหมู่อย่างดียิ่ง

 

การระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

ก็นับได้ว่าเป็นการปฏิบัติในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตก็ย่อมน้อมไป เวทนาก็ย่อมเป็นไป กายก็ย่อมเป็นไป

ในพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณที่ตั้งสติระลึกถึงนี้

แม้ในการแสดงธรรมะข้ออื่นทุกข้อ ก็จะต้องอาศัยสติตั้งระลึก

ตั้งแต่เบื้องต้น คือเมื่อฟังเมื่ออ่านไปตามข้อธรรมนั้นๆ

ก็นับเข้าในข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ทั้งหมด

 

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นการปฏิบัติตั้งสติระลึกถึงพระธรรมก็ได้

ซึ่งเป็นสรณะที่ ๒ ในรัตนะทั้ง ๓ และก็ย่อมเป็นไปตามพระธรรมคุณที่สวดกันนั้น

ตั้งแต่ สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวดีแล้ว เป็นต้น

เพราะพระธรรมที่ตั้งใจระลึกกำหนดฟัง กำหนดอ่าน และกำหนดปฏิบัตินั้นๆ

ก็ล้วนเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ดีแล้ว ได้ตรัสไว้ดีแล้วทั้งนั้น

และพระพุทธเจ้าเองซึ่งเป็นผู้ตรัสพระธรรมที่เป็นสวากขาตธรรมนั้น

ก็ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ตามบทพระพุทธคุณ

ก็เป็นอันได้พระพุทธคุณไปด้วยกัน

 

ฝ่ายผู้ฟังพระธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่แรก

ได้ดวงตาเห็นธรรม จนถึงทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปบางส่วน จนถึงสิ้นเชิง

อันชื่อว่าพระสงฆ์ ก็อาศัยรู้ตามปฏิบัติตามพระพุทธเจ้านั้นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ ก็ย่อมดำเนินอยู่ในทางเดียวกัน

และเมื่อปฏิบัติกันจนเข้าขั้นก็นับเข้าในพระสงฆ์สาวกคือผู้ฟังของพระพุทธเจ้า

ก็เป็นอันได้ระลึกถึงพระสังฆคุณไปด้วยกัน

 

ทางอันเอก

 

ฉะนั้น ธรรมะทั้งสิ้นที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอน

จึงเนื่องเป็นอันเดียวกัน และดำเนินไปในทางเดียวกันทั้งหมด

ดังที่ตรัสไว้ในเบื้องต้นของมหาสติปัฏฐานว่า เอกายโนมัคโค

มรรคคือทางปฏิบัติที่เป็นทางไปอันเดียว

สัตตานัง วิสุทธิยา เพื่อความบริสุทธ์ของสัตว์ทั้งหลาย

โสกะปริเทวานัง สมติกมายะ เพื่อก้าวล่วงความทุกข์ และความโทมนัส

โสกะเพื่อก้าวล่วงความโศก และความปริเทวะ คือความคร่ำครวญรำพัน

ทุกขะโทมนัสสานัง อัทธังคมายะ เพื่อดับทุกข์โทมนัส

ญายัสสะอธิกมายะ เพื่อบรรลุญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุ ธรรมะที่พึงรู้ ธรรมะที่ถูกชอบ

นิพพานนัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

 

หัวข้อที่ตรัสไว้ดั่งนี้ ย่อมเป็นไปในธรรมะทั้งหมดที่ตรัสแสดงสั่งสอน

คือเข้าทางเดียวกันทั้งหมด ไม่แตกแยกทางออกไปเป็นทางอื่น มุ่งสู่ความบริสุทธิ์

ความก้าวล่วง โสกะปริเทวะ ความดับทุกข์โทมนัส ความบรรลุญายะธรรม

ธรรมที่ถูกชอบดังกล่าว เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายด้วยกันทั้งหมด

 

ขณิกนิพพาน

 

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากการสดับฟัง จากการอ่าน

และจากการที่นำมาปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อปฏิบัติไปได้ความบริสุทธิ์ใจ

ได้ความก้าวล่วงความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ ดับทุกข์โทมนัสใจทั้งหลาย

บรรลุถึงภูมิธรรมจิตใจที่ถูกชอบ ประกอบด้วยความรู้ความเห็น และได้พบกับความดับทุกข์

ดับกิเลสในใจตัวเองลง ดังที่เรียกว่าทำให้แจ้งนิพพานแม้ชั่วครู่ชั่วขณะ

เป็นขณิกนิพพานคือนิพพานชั่วครู่ชั่วขณะดั่งนี้ก็ใช้ได้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติถูกต้อง

 

ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง

 

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนี้แม้จะมีมากมาย ก็เรียกว่ามากมายโดยปริยาย

อันหมายความว่าทางที่แสดง ที่ตรัสแสดงเพื่อให้เหมาะแก่อัธยาศัยนิสัย

ภูมิชั้นแห่งจิตใจของผู้ฟังนั้นๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระภควา

ที่แปลโดยนัยยะหนึ่งว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน

เพราะฉะนั้นปริยายคือทางที่แสดงจึงมีมากมาย ดังที่เรียกว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

แต่ว่าก็ล้วนเป็น เอกายนมรรค คือเป็นทางไปอันเดียว เข้าทางอันเดียวกันทั้งหมด

จะกล่าวว่าเข้าทางอริยมรรค อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ก็ได้

 

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในปฐมเทศนานั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงทางปฏิบัติของพระองค์ ที่ทรงเว้นจากหนทางสุดโต่ง ๒

คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนไว้ด้วยความสุขสดชื่นในกาม

และ อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบทำความลำบากทุกข์แก่ตน

ทรงดำเนินไปใน มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง

ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น

 

อันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ คือทางปฏิบัติที่มีองค์ ๘ ประการ

เป็นทางเดียวนั้นแหละแต่ว่ามีองค์ประกอบ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ (ท่านไม่ได้กล่าวถึง สัมมาวายามะเพียรชอบ)

สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ

 

( เริ่ม ๑๔๐/๑ ) จึงได้ตรัสรู้ธรรมะที่เป็นอริยสัจจะ

คือเป็นสัจจะความจริงที่อริยบุคคลพึงรู้ ที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อน

อันได้แก่ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

และก็ได้แสดงถึงญาณคือความหยั่งรู้ ความตรัสรู้ที่ทรงได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

ว่ามีเป็นอย่างไร เมื่อทรงได้ญาณคือความตรัสรู้นี้แล้วจึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์

ว่าได้ทรงตรัสรู้เองชอบ ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ดั่งนี้

 

หลักสำคัญในพุทธศาสนา

 

เป็นอันว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงไว้ตั้งแต่ปฐมเทศนานี้

เป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งต่อๆมา

ก็ทรงแสดงโดยปริยายคือทางที่บอกแก่ผู้ฟังนั้นๆ และแม้จะได้ตรัสจำแนกไว้

โดยปริยายคือทางมากมายเพียงไร ก็ย่นเข้าใน เอกายนมรรค ดังกล่าว

แต่ว่าเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติจึงได้ตรัสย่อเข้ามา มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็ตรัสเข้ามา

โดยย่อเป็นไตรสิกขา คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ที่ผู้นับถือพุทธศาสนาได้ศึกษา ฟัง จำ และปฏิบัติกันอยู่

 

ก่อนที่จะทรงแสดงถึงไตรสิกขา ก็ได้ทรงย่อไว้ก่อนแล้วในพระโอวาทปาฏิโมกข์

ที่ตรัสไว้ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ไม่นานปีจากตรัสรู้

อันพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ประกอบพิธีมาฆะบูชา ที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติบูชากันอยู่

คือย่อเข้ามาเป็น ๓ ได้แก่ สัพพะปาปัสสะ อกรณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสลัส สูปสัมปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตตะ ปริโยทะปันนัง การทำจิตของตนให้ผ่องใส

นี้คือศาสนาของพระพุทธะคือผู้รู้ทั้งหลาย ที่มีคำบาลีว่า เอตัง พุทธานสาสนัง

และคำนี้เองเป็นต้นเดิมของคำว่าพุทธศาสนา ที่เราทั้งหลายเรียกกันอยู่ทุกวันนี้

พระพุทธเจ้าเองได้ทรงนำใช้ขึ้นก่อนในพระโอวาทอันสำคัญนี้

และก็พึงสังเกตุว่าในพระโอวาทนี้ ตรัสว่า พุทธานสาสนัง สาสนัง ศาสนา

พุทธานะก็คือพุทธานัง แห่งพระพุทธะทั้งหลาย หรือว่าแห่งพระผู้รู้ทั้งหลาย

 

พุทธะ ปัจเจกพุทธะ อนุพุทธะ

 

อันหมายความว่า คำว่าพุทธะนั้น

มิได้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเพียงองค์เดียว

เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตเป็นอันมากในกัปกัลป์นั้นๆ

และแม้ว่าพระสาวกคือศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอน

และได้รู้ตาม ละกิเลสกองทุกข์ได้ตาม ก็เรียกว่าอนุพุทธะ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ตาม

และได้มีแสดงถึงพระพุทธเจ้าในสมัยว่างศาสนา ที่ท่านได้ค้นคว้าปฏิบัติธรรม

ได้พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปด้วยองค์ท่านเองไม่ได้ฟังจากใคร

แต่ว่าเมื่อตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้สอนใคร จึงไม่เกิดเป็นศาสนาของท่านขึ้น

เรียกว่าท่านไม่ตั้งศาสนาขึ้น ซึ่งเรียกว่าปัจเจกพุทธะ หรือเราเรียกกันว่าพระปัจเจกโพธิ์

คือพระผู้ตรัสรู้เพียงพระองค์เดียว คือจำเพาะพระองค์ ไม่สอนใครไม่ตั้งศาสนาขึ้น

ก็เป็นพระพุทธะอีกจำพวกหนึ่ง

 

จึงรวมพระพุทธะได้ ๓ จำพวก

พระสัมมาสัมพุทธะ คือพระพุทธะผู้ตรัสรู้เองชอบแล้ว

สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ตั้งพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้นในโลก

ดังเช่นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย

พระปัจเจกพุทธะ คือพระพุทธะผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์เดียว

ไม่สั่งสอนใคร ไม่ตั้งพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้น

พระอนุพุทธะ คือพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นจำพวกที่ ๑

ซึ่งได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วได้ตรัสรู้ตาม ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปตาม

 

พุทธานสาสนัง

 

คำว่า พุทธานสาสนัง แปลว่าศาสนาของพระพุทธะทั้งหลาย

เอาจำเพาะที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธะเท่านั้น ในอดีตก็มีมาแล้วมากมาย ในอนาคตก็จะมีอีก

แต่ในปัจจุบันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ซึ่งตั้งพุทธศาสนาขึ้น

ตั้งพุทธบริษัทขึ้น ที่เราทั้งหลายนับถือปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ

และพุทธศาสนาที่เรานับถือกันทุกวันนี้ ก็เป็นคำสอนของพระพุทธะคือพระองค์

และแม้ว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่นทั้งหมด ท่านก็ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้อย่างเดียวกัน

ได้ดำเนินมาในมัชฌิมาปฏิปทาคือมรรคมีองค์ ๘ อย่างเดียวกัน

สอนอย่างเดียวกันเป็น เอกายนมรรค ทางไปอันเอกอันเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน

 

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสว่าคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

ซึ่งเรามาใช้เรียกว่าพุทธศาสนาตามพระองค์

และในพุทธกาลนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนี้

ซึ่งท่านแสดงว่าเมื่อได้มีพระพุทธเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น

และมีศาสนามีพุทธบริษัทของพระองค์อยู่นานตราบใด ย่อมไม่มีพระพุทธะองค์อื่นขึ้น

คือไม่มีพระสัมมาสัมพุทธะ ไม่มีพระปัจเจกพุทธะองค์อื่นขึ้น ในพุทธกาลที่ยังดำรงอยู่นี้

เพราะว่ามีศาสนาของพระองค์ปรากฏอยู่ในโลกแล้ว สั่งสอนอยู่ในโลกแล้ว

 

ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

ไม่จำเป็นจะต้องไปค้นคว้าด้วยตนเอง เพราะว่ามีตำรับตำราที่จะค้นคว้าได้แล้ว

และมีพระสงฆ์ที่จะสั่งสอนได้แล้ว จึงไม่ต้องค้นคว้าเอาเอง

เพียงแต่ตั้งใจมาศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติเท่านั้น

ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นได้ ก็เป็นอนุพุทธะขึ้นได้

 

ต่อเมื่อสิ้นพุทธกาล หรือสิ้นศาสนา

ไม่มีพุทธศาสนาปรากฏอยู่ในโลก ไม่มีพุทธบริษัทปรากฏอยู่ในโลกแล้ว

เมื่อมีผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นกิเลสและกองทุกข์ ก็ต้องค้นคว้าเอาเอง

และท่านผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ได้ค้นคว้าปฏิบัติเข้าทางมาโดยลำดับแล้ว

ในที่สุดก็จะมาพบทางมีองค์ ๘ และก็จะได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้

เพราะธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงนี้เป็นของกลาง เป็นของที่มีอยู่โดยไม่มีกาลเวลา

คือไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน

 

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม

 

พระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้พระธรรมนั้นก็ด้วยได้ทรงค้นคว้าทรงปฏิบัติเข้าทางมีองค์ ๘

จึงทรงได้พระปัญญาที่ตรัสรู้ในธรรมะ อันได้แก่สัจจะที่เป็นความจริง

ซึ่งเป็นความจริงอย่างประเสริฐสุดอันเรียกว่าอริยสัจจ์

ก็ทำให้ผู้ตรัสรู้นั้นเป็นอริยบุคคล เป็นผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้

 

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตในธรรมนิยามสูตรว่า

ธาตุนั้นตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยามความกำหนดแห่งธรรม

พระพุทธเจ้าพระตถาคตทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น หรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม

ธาตุนั้นก็คงตั้งอยู่ คือได้แก่ สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงคือทั้งสังขารและทั้งวิสังขารคือไม่ใช่สังขาร

เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน แต่ว่าเมื่อพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว

ก็ได้ทรงชี้แจงแสดงเปิดเผยกระทำให้ตื้น เป็นพุทธศาสนาขึ้นดั่งนี้

กาลิโก อกาลิโก

 

เพราะฉะนั้นธรรมะ หรือว่าธาตุ ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริง

แม้ ๓ ข้อที่ทรงยกขึ้นในพระสูตรนี้ จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลเวลาเป็น อกาลิโก

อันสิ่งที่เป็น กาลิโก คือเป็นสิ่งที่มีกาลเวลานี้ จะต้องมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นยังตั้งเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

 

อย่างชีวิตสังขารของทุกๆคนเรานี้

ก็มีอดีตคือล่วงมา มีปัจจุบันคือบัดนี้ และมีอนาคตคือต่อไป

แปลว่าไม่ตั้งอยู่คงที่ หากตั้งอยู่คงที่แล้วก็ย่อมไม่มีอดีต คือล่วงไม่มี

อนาคตคือปัจจุบันไม่มี ไม่มีปัจจุบัน ไม่มีอนาคตคือต่อไป

เพราะเมื่อตั้งอยู่แล้ว ก็ต้องไม่มีกาลเวลาที่จะแบ่งออกเป็น ๓ ดังกล่าวนั้น อยู่ตลอดไป

เพราะฉะนั้นธรรมะที่เป็นสัจจะจริงแท้นั้นจึงเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

นิพพานในขั้นของศีลสมาธิปัญญา ๒

หลักปฏิบัติในจิตตภาวนา ๓

อนุปัสสนา ภายใน ภายนอก ๔

ภายในภายนอกในทางปฏิบัติ ๘

กำหนดว่ามีอยู่ ๙

ขั้นเห็นเกิดดับ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๔๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๐ /๒ ( File Tape 108 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

ด้วยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก

แต่ก็รวมเข้าเป็นเอกายนมรรค คือทางไปอันเดียว เพื่อนิพพาน

ความดับกิเลสและกองทุกข์ในที่สุด

 

นิพพานในขั้นของศีลสมาธิปัญญา

 

ผู้ปฏิบัติแม้จะเริ่มต้นปฏิบัติ ก็ชื่อว่าได้บ่ายหน้าไปสู่นิพพานคือความดับกิเลส

และกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะยังอยู่ไกลนิพพานมากเท่าไรก็ตาม

เมื่อปฏิบัติเข้าทางก็ชื่อว่าบ่ายหน้าไปสู่นิพพานด้วยกันทั้งนั้น

และก็ย่อมได้รับความดับกิเลส ดับความทุกข์ตั้งแต่เบื้องต้นมาโดยลำดับ

ดั่งเช่นเมื่อปฏิบัติในศีล ตั้งใจสำรวมระวังศีลด้วยดี

ก็เป็นการดับอกุศลเจตนา และอกุศลกรรมต่างๆได้ เรียกว่าดับกิเลสอย่างหยาบได้

ก็เรียกว่าเป็นนิพพานดับกิเลสและความทุกข์ในขั้นศีล

เมื่อปฏิบัติในสมาธิสามารถรวมใจได้ให้เป็นเอกัคคตา

คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว อันได้แก่อารมณ์ที่เป็นกรรมฐานเท่านั้น

ก็ดับกิเลสที่เป็นนิวรณ์ได้ในขณะที่จิตยังอยู่ในกรรมฐาน ก็เป็นนิพพานขั้นดับนิวรณ์

 

เมื่อปฏิบัติทางปัญญาได้ความรู้แจ้งเห็นจริงในนามรูป

ก็ดับกิเลสที่เป็นอุปาทานคือความยึดถือลงได้ ดับตัวเราของเราลงได้

ก็เป็นความที่ได้ดับกิเลสอย่างละเอียดเข้ามา ก็เป็นนิพานในขั้นดับกิเลสอย่างละเอียดเข้ามานั้น

แม้เป็นนิพพานชั่วขณะก็ชื่อว่าเป็นความดับ เป็นนิพพานเหมือนกัน

( เริ่ม ๑๔๐/๒ ) ผลของการปฏิบัติจึงมีขึ้นทันทีเมื่อมาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา

และก็เป็นการปฏิบัติเข้าทางมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าองค์ ๘ นั้นย่อเข้าก็เป็นไตรสิกขา หรือเป็นพระโอวาท ๓

 

หลักปฏิบัติในจิตตภาวนา

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐานซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติในจิตตภาวนาการอบรมจิต

ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติอันประกอบไปด้วยศีลสมาธิปัญญานั้นเอง

และก็รวมเข้าในเอกายนมรรคคือทางที่ไปเป็นอันเดียวกัน

เพื่อนิพพานดับกิเลสและกองทุกข์ดังกล่าวนั้น

เพราะว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นก็จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น

หรือว่ามีการละกายทุจริต ละวจีทุจริต ละมโนทุจริต

ตั้งอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันนี้ก็คือศีลนั้นเอง

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงมีศีลนี้เองเป็นภาคพื้นสำหรับที่จะเหยียบที่จะตั้งอยู่

ทำสมาธิ และปัญญาต่อไป

 

อนุปัสสนา ภายใน ภายนอก

 

โดยเฉพาะสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นก็เป็นหลักปฏิบัติทางสมาธิและทางปัญญาต่อเนื่องกัน

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสติที่เป็น อนุปัสสนา คือตามเห็น ตามดู ตามรู้

กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

 

ที่จะต้องมีคำกำหนดอีกคำหนึ่งว่า

ในกาย สำหรับข้อกาย ในเวทนา สำหรับข้อเวทนา

ในจิต สำหรับข้อจิต ในธรรมะ สำหรับข้อธรรมะนั้น

ก็เพราะว่าในการตามดูตามเห็นกายนั้น ก็ต้องตามดูตามรู้ตามเห็นในกายจึงจะพบกาย

ในเวทนาจึงจะพบเวทนา ในจิตจึงจะพบจิต ในธรรมจึงจะพบธรรม

แต่ถ้าตามดูตามรู้ตามเห็นกายในภายนอกจากกาย เวทนาในภายนอกจากเวทนา

จิตในภายนอกจากจิต ธรรมะในภายนอกจากธรรม ก็ย่อมจะไม่พบกายเวทนาจิตธรรม

เหมือนอย่างเมื่อต้องการจะดูของที่เก็บไว้ในกระเป๋าใบนี้ ก็ต้องดูที่กระเป๋าใบนี้

ไปดูที่กระเป๋าอื่นก็ย่อมจะไม่พบสิ่งนั้น

 

อีกอย่างหนึ่ง ก็มีความหมายที่นักปฏิบัติ

เมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้พบกายในกายที่เป็นภายใน

พบเวทนา พบจิต พบธรรมที่เป็นภายใน ในก็คือภายใน ไม่ใช่ในภายนอก

เพราะฉะนั้นจิตที่กำหนดจึงต้องกำหนดอยู่ในภายใน

ถ้ากำหนดออกไปในภายนอก ก็ไม่ชื่อว่าสติปัฏฐานในข้อนั้น

แต่เป็นการกำหนดผิดที่ และการกำหนดเช่นนั้นก็คือความฟุ้งซ่านของจิต

จิตไม่ตั้งกำหนดอยู่ในสิ่งที่ต้องการให้จิตตั้งกำหนด

 

ส่วนที่มีข้อต่อไปถึงวิธีปฏิบัติในสติปัฏฐานว่าให้มีสติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก

กำหนดดูว่ากายเวทนาจิตธรรมที่กำหนดนี้

มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดขึ้นทั้งดับไปเป็นธรรมดา

และได้ตรัสสอนไว้ด้วยว่าตั้งสติกำหนดดูว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่

แต่ว่าที่มีอยู่นี้ก็เพียงเพื่อเป็นที่ตั้งสติ แต่เมื่อตั้งสติกำหนดแล้วก็ไม่ยึด

ทั้งไม่ยึดถืออะไรๆในโลกทั้งสิ้น

 

ในวิธีปฏิบัติดังที่ตรัสสอนไว้นี้

สำหรับที่ว่าภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอกนั้น

พระอาจารย์ก็มีอธิบายในขั้นธรรมดาว่าภายในก็คือที่กายเวทนาจิตธรรมของตนเอง

ภายนอกก็คือกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่น

 

ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อปฏิบัติก็จะพบภายในภายนอกอีกอย่างหนึ่ง

คือทั้งภายในทั้งภายนอกนั้นมีอยู่ในภายในนี้ทั้งหมด ดังในบทกำกับว่า

ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

 

ซึ่งย้ำอีกทีหนึ่งว่า ความหมายที่ ๑

ก็คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายก็ต้องในกาย จะไปดูนอกกายก็ไม่เห็นกาย

กำหนดเวทนาก็ต้องในเวทนา จะไปกำหนดข้ออื่นก็ไม่ใช่เวทนา ไม่พบเวทนา

จะกำหนดจิตก็ต้องในจิต จะไปกำหนดที่อื่นก็ไม่พบจิต

ในธรรมก็ต้องในธรรม จะไปกำหนดที่อื่นก็ไม่พบธรรม

 

ตามนัยยะที่ ๑ นี้ ก็ใช้ได้กับอธิบายของอาจารย์ที่อธิบายธรรมดาว่า

กำหนดกายเวทนาจิตธรรมในภายในก็คือภายในตนเอง ในภายนอกก็คือนอกตนเองคือผู้อื่น

แม้ในความหมายธรรมดาดั่งนี้ก็มีความหมายที่เข้ากันได้กับอธิบาย

ในข้อว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา ดังกล่าวนั้น

ส่วนประการที่ ๒ นั้นมีความหมายว่า

ต้องเป็นกายเวทนาจิตธรรมในภายในนี้ทั้งหมด ก็หมายความว่าที่ตนเอง ไม่ใช่ที่คนอื่น

เพราะว่าในการปฏิบัติทำสติปัฏฐาน ที่กำหนดพิจารณาดังกล่าวนี้

ก็ต้องปฏิบัติในภายในตัวเองนี้เอง ไม่ใช่ว่าไปมุ่งดูภายนอก

คือดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ของผู้อื่นในภายนอก

เมื่อปฏิบัติไปดูในภายนอกดั่งนี้ ก็ย่อมไม่เห็นกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่น

ต่อเมื่อมากำหนดกายเวทนาจิตธรรมของตัวเอง จึงจะเห็น จึงจะพบ

เช่นไปกำหนดว่าผู้อื่น ผู้นั้นผู้นี้หายใจเข้าหายใจออก

ก็ไม่สามารถจะไปกำหนดได้ในลมหายใจของเขา

 

ข้อเวทนาก็เหมือนกัน สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

จะไปดูเวทนาของเขาก็คงไม่พบอีกเหมือนกัน

เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างไร

จิตก็เหมือนกัน เมื่อไปกำหนดก็ไม่รู้ว่าจิตของเขาเป็นอย่างไร

ธรรมะคือเรื่องในจิตก็เหมือนกัน เมื่อไปกำหนดก็ไม่รู้ว่า

เขามีธรรมะคือเรื่องในจิตเป็นกุศลเป็นอกุศลอย่างไร

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ว่าไม่สามารถปฏิบัติทำสมาธิ

ด้วยไปกำหนดกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่นได้

จะทำสมาธิได้ด้วยกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรมของตัวเอง

 

เพราะฉะนั้น ในข้อที่อธิบายต่อไป ว่าให้ตั้งสติกำหนดดู พิจารณาดู

กายเวทนาจิตธรรมภายในภายนอก ทั้งภายในภายนอก เป็นต้นดังกล่าวมานั้น

จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งทางปัญญาที่จะกล่าวต่อไป

แต่ว่าในขั้นของสติปัฏฐานที่เป็นสมาธินี้

ถ้าหากว่าจะมาใช้คำว่าภายในภายนอกก็จะต้องอธิบายอีกอย่างหนึ่ง

ว่าทั้งภายในทั้งภายนอกนี้ กำหนดดูที่ตัวเองทั้งหมด ทั้งสองอย่าง

เช่นว่าตั้งสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ภายนอกก็คือว่าลมหายใจเข้าออก

ที่มากระทบที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน คือกำหนดให้รู้อาการที่ลมกระทบ

ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบนดังกล่าว นี่เป็นภายนอก

 

คราวนี้กำหนดให้ลมหายใจเข้าออกที่เป็นภายนอกนี้เอง มาเป็นอารมณ์ของจิตในภายใน

คือกำหนดดูตัวอารมณ์ของจิต เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้าก็มาเป็นอารมณ์ของจิต

หายใจออกการหายใจออกก็มาเป็นอารมณ์ของจิต จิตตั้งกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก

อันเป็นภายนอกนั้น มาเป็นลมหายใจเข้าออกของจิต คือมาเป็นอารมณ์ของจิต

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้สมาธิ ที่เป็นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

 

ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติในการทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าวมานี้

ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ จิตคิดตั้งกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้

ถ้าหากว่าการกำหนดนี้ไม่เข้าไปเป็นอารมณ์ของจิตพร้อมกันไปในขณะเดียวกัน

คือกายหายใจเข้ากายหายใจออก แต่ว่าจิตไม่หายใจเข้าไม่หายใจออกไปพร้อมกัน

ก็เรียกว่าจิตไม่ตั้งกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเสียแล้ว จิตออกไปเที่ยวข้างนอก เที่ยวในอารมณ์อื่น หายใจเข้าหายใจออก ก็หายใจเข้าหายใจออกอย่าง..ไป จิตก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป

กายก็หายใจเข้าหายใจออกไป

 

คล้ายๆกับว่าครึ่งสมาธิครึ่งไม่ใช่สมาธิ เพราะก็คล้ายกับรู้เหมือนกันว่าหายใจเข้าหายใจออก

แต่ในขณะที่รู้นั้นจิตก็คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่อยเปื่อยไป เหมือนอย่างการสวดมนต์ ปากก็สวดไป

ก็สวดได้ แต่ว่าใจนั้นไม่สวด ใจคิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ปากก็สวดมนต์ไป

ก็สวดมนต์ไปได้ แล้วก็ไม่ผิด อาจจะผิดตามธรรมดาบ้าง แต่ที่ไม่ผิดก็มาก

ปากว่าถูกแต่ใจนั้นไม่สวด ดั่งนี้ก็ไม่ได้สมาธิในการสวดมนต์

 

การทำอานาปานสติก็เช่นนั้น

เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้หายใจออกรู้

ก็เหมือนกับรู้ดั่งนี้แหละ รู้ แล้วก็จิตก็คิดเรื่อยเปื่อยไปด้วย

คล้ายๆกับว่าจิตทำหน้าที่สองอย่าง รู้ก็รู้ แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปอีกอย่างหนึ่ง

แปลว่ามีความคิดเรื่อยเปื่อยนี้แทรกแซง เป็นความฟุ้งซ่านอยู่ภายใน

ดั่งนี้ไม่ได้สมาธิ

 

ภายในภายนอกในทางปฏิบัติ

 

ฉะนั้น เมื่อกายหายใจเข้าออก จิตก็ต้องหายใจเข้าออกไปพร้อมกับกาย คือรู้

รับเอารู้นั้นเข้ามาตั้งอยู่ที่จิต ว่าหายใจเข้า ว่าหายใจออก

หายใจที่กายนี้เป็นภายนอก หายใจที่จิตนี้เป็นภายใน

เมื่อกายกับจิตตรงกันดั่งนี้แล้ว จึงจะเป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน

เหมือนอย่างปากสวดมนต์ จิตก็กำหนดตามไปกับบทที่สวดนั้นไม่ไปไหน

แปลว่าจิตก็สวดไปพร้อมๆกับปาก ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้สมาธิในการสวดมนต์

ถ้าจิตไม่พร้อม ไม่สวดไปพร้อมๆกับปาก ปากสวด จิตคิดเรื่อยไป

ดั่งนี้ก็แปลว่าไม่ได้สมาธิในการสวดมนต์

 

การทำสมาธิก็เช่นนั้น

แม้ในการกำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม อีก ๓ ข้อก็เหมือนกัน

เวทนาจิตธรรมที่กำหนดนั้นชื่อว่าเป็นภายนอก จิตที่นำเข้ามากำหนดพร้อมกันไปเป็นภายใน

และเมื่อภายนอกกับภายในพร้อมกันดั่งนี้จึงจะได้สมาธิ เป็นสติปัฏฐานในข้อนั้นๆ

เพราะฉะนั้น คำว่าภายในภายนอกนั้นจึงอาจอธิบายได้ดั่งนี้

และในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นดั่งนี้

 

แต่ว่าในทางปัญญานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง

โดยที่สติปัฏฐานนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปทั้งด้านสมาธิ และด้านปัญญา

เพราะฉะนั้นทางด้านสมาธินั้น เมื่อว่าถึงภายในภายนอกก็ต้องอธิบายดังที่กล่าวนั้น

และในทางที่เป็นสมาธินี้ก็มีข้อหนึ่ง

ที่ตรัสกำกับไว้ในตอนท้ายว่า ให้รู้ว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่

ความรู้ว่ามีอยู่นี้เป็นข้อสำคัญ ( เริ่ม ๑๔๑/๑ ) แสดงว่าจิตนี้ตั้งกำหนดอยู่

ยกตัวอย่างอานาปานสติดังกล่าวนั้น ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

หายใจเข้าก็รู้หายใจอยู่ หายใจออกก็รู้ รู้อย่างไร ก็คือรู้ว่ามีอยู่

หายใจเข้ามีอยู่ หายใจออกมีอยู่

 

เมื่อกำหนดเวทนา เมื่อกำหนดจิต เมื่อกำหนดธรรมะในจิตก็เหมือนกัน

ก็รู้ว่าเวทนามีอยู่ สุขมีอยู่ ทุกข์มีอยู่ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขมีอยู่

จิตมีอยู่ ธรรมะคือเรื่องในจิตมีอยู่ ทั้งที่เป็นส่วนกุศลและส่วนอกุศล และส่วนที่เป็นกลางๆ

ถ้าหากว่ารู้ว่ามีอยู่ดั่งนี้ คือมีอยู่ในจิต ไม่ใช่มีอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรมอย่างเดียว

แต่มีอยู่ในจิต จิตที่กำหนด และมีอยู่เป็นปัจจุบันธรรม

 

กำหนดว่ามีอยู่

 

เพราะฉะนั้นคำว่า มีอยู่ นี้จึงเป็นข้อสำคัญในการที่จะพิจารณา

ดูการปฏิบัติของตน ดูที่จิตของตนเอง

เมื่อกำหนดในกายคือในลมหายใจเข้าออกดังกล่าวก็รู้ว่ามีอยู่

หายใจเข้ามีอยู่ หายใจออกมีอยู่ ถ้าหายไปก็แปลว่าจิตฟุ้งซ่านออกไปแล้ว

ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่านออกไปแล้วจะต้องรู้ว่ามีอยู่ๆ ทุกขณะที่หายใจเข้า ทุกขณะที่หายใจออก

จะต้องเป็นดั่งนี้

 

แต่ว่าก็ต้องระมัดการปฏิบัติดั่งนี้ ว่าต้องไม่ติด

ต้องไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกทั้งหมด ทำความปล่อยวาง คือรู้ปล่อยรู้วาง

และเมื่อรู้ว่ามีอยู่ดั่งนี้ ดูอยู่ที่รู้อยู่นั้น ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของกายของเวทนาของจิตของธรรม

ดังที่ตรัสสอนไว้ในทางปฏิบัติว่า ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายเวทนาจิตธรรม

ในภายใน ในภายนอก ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดามีดับไปเป็นธรรมดา

มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา

 

ขั้นเห็นเกิดดับ

 

แต่ในขั้นที่จะเห็นเกิดเห็นดับดังกล่าวนี้จะต้องผ่านขั้นที่ว่ามีอยู่ดังกล่าวนี้ก่อน

กายเวทนาจิตธรรมที่ปรากฏเป็นปัจจุบันธรรมนั้นไม่หายไป มีอยู่ตามที่เป็นไปในปัจจุบัน

และเมื่อเห็นสิ่งที่มีอยู่นี้ ก็จะเห็นเกิดเห็นดับควบคู่กันไป

เช่นลมหายใจที่หายใจนั้นก็มีเกิดมีดับคู่กันไป

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วสมาธิที่กำหนดก็จะเลื่อนขึ้นเป็นวิปัสสนา

ซึ่งเป็นตัวปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง และเมื่อเป็นตัวปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดั่งนี้แล้ว

จึงจะไม่ยึดถือสิ่งที่รู้ เพราะรู้ว่ามีอยู่ก็จริง แต่ว่ามีอยู่ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม

แล้วเกิดดับ ไปพร้อมกับที่มีอยู่นั้น จึงไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลก

เพราะทุกอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น

 

เมื่อถึงขั้นปัญญาดั่งนี้แล้ว ปัญญานี้เองก็จะรู้ครอบโลกไปได้ทั้งหมด

กายเวทนาจิตธรรม ภายในของตัวเอง ภายนอกของผู้อื่น

อะไรๆในโลกทั้งหมดล้วนเกิดดับทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นภายในภายนอกที่เป็นตัวเองและผู้อื่นนี้ จึงเป็นปัญญาที่รู้ครอบโลก

ทั้งตัวเองทั้งผู้อื่นก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น ดั่งนี้สติปัฏฐานก็เลื่อนขึ้นเป็นปัญญา

อนุปัสสนาก็เป็นวิปัสสนา จะเรียกว่าเป็นอนุปัสสนาสติปัฏฐาน

แล้วก็มาเป็นวิปัสสนาสติปัฏฐาน คือตัวปัญญา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำสมาธิสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats