ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป109

โลกคือขันธ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๔๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๑ /๒ ( File Tape 109 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

โลกคือขันธ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติแสดงธรรมะ

ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง ไม่ได้ตรัสแสดงบัญญัติธรรมะในที่อื่น

ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่โรหิตัสสะเทพบุตร ว่าเราบัญญัติโลก

บัญญัติโลกสมุทัยเหตุให้เกิดโลก โลกนิโรธความดับโลก

โลกนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้

และพระองค์ได้ทรงถึงที่สุดโลกแล้ว จึงทรงสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

 

โดยที่โรหิตัสสะเทวะบุตรได้เกิดขึ้นในชาติภพคราวหนึ่ง เป็นผู้ที่มีฤทธิมาก

สามารถเหาะไปได้รวดเร็วมาก จึงต้องการที่จะพบที่สุดโลกว่าอยู่ที่ไหน

เพราะเมื่อยืนอยู่บนพื้นพิภพคือโลกนี้ ก็เห็นพื้นพิภพนี้กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็น่าจะมีที่สุด

จึงได้เหาะไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะหาที่สุดของพื้นพิภพคือโลกนี้

แต่ก็หาไม่พบ ต้องสิ้นชีวิตเสียก่อน

ฉะนั้นเมื่อมาเกิดเป็นเทพบุตร จึงได้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า

ว่าได้ทรงพบที่สุดโลกแล้วหรือยัง และที่สุดโลกนั้นอยู่ที่ไหน

พระองค์จึงตรัสตอบว่าที่สุดโลกนั้นได้ทรงบรรลุถึงแล้ว

แต่ว่าไม่อาจที่จะถึงด้วยการไปทางกายได้

ดังที่โรหิตะเทพบุตรเมื่อครั้งเกิดเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มากนั้นได้เหาะไปค้นหา

 

และก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาถึงโลกในภายใน

ว่าได้ทรงบัญญัติโลกในภายใน ดังที่ได้แสดงแล้วนั้น คือภายในกาย มีสัญญามีใจนี้เอง

และก็ได้ทรงบัญญัติทั้งเหตุเกิดโลก ทั้งความดับโลก

ทั้งทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก เพราะฉะนั้น ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ นี้

และได้ทรงปฏิบัติถึงความดับโลกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงถึงที่สุดโลก

ถ้ายังปฏิบัติให้ถึงความดับโลกมิได้ ก็ยังไม่ถึงที่สุดโลก ต้องเกิดต่อไป

 

เพราะฉะนั้นโลกที่ทรงบัญญัติดั่งกล่าวนี้โดยตรง จึงเป็นขันธ์โลก โลกคือขันธ์ ที่ตรัสไว้เป็น ๕

รูปขันธ์กองรูป คือสิ่งที่แข้นแข็งอันมีอยู่ในกายนี้ สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหลอันมีอยู่ในกายนี้

สิ่งที่อบอุ่นอันมีอยู่ในกายนี้ สิ่งที่พัดไหวอันมีอยู่ในกายนี้ ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

อันรวมกันเข้าเป็นก้อนรูปกายอันนี้ ที่ทุกคนมีอยู่นี้เองเป็นรูปขันธ์ กองรูป

 

เวทนาขันธ์กองเวทนาก็คือ ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์

เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ ที่ทุกคนมีอยู่นี้เอง

สัญญาขันธ์กองสัญญา คือความจำได้หมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส

จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะคือเรื่องราวทางใจ ที่ใจคิดนึก ดำริ หมกมุ่นถึงทุกอย่าง

ความจำได้หมายรู้นี้รวมเป็นสัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร ก็คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิด

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และเรื่องราวที่ใจคิดนึกรู้ต่างๆ

ปรุงคิดหรือคิดปรุง ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆบ้าง รวมเข้าก็เป็นสังขารขันธ์กองสังขาร

ซึ่งคำว่าสังขารในขันธ์ ๕ นี้หมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดทางจิตใจ

 

วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

คือความรู้ทางตาในเมื่อตากับรูปประจวบกัน ที่เราเรียกว่าเห็น

ความรู้ทางหูเมื่อหูกับเสียงประจวบกัน ที่เราเรียกว่าได้ยิน

ความรู้ทางจมูกในเมื่อจมูกกับกลิ่นได้ประจวบกัน ที่เราเรียกว่าทราบกลิ่น หรือดม

ความรู้ทางลิ้นในเมื่อลิ้นกับรสประจวบกัน ที่เราเรียกว่าลิ้มรส หรือทราบรส

ความรู้ทางกายในเมื่อกายและสิ่งที่ถูกต้องกายมาประจวบกัน ที่เราเรียกว่าถูกต้อง

หรือทราบสิ่งที่กายถูกต้อง

 

ความรู้ในเมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกัน ที่เราเรียกว่ารู้บ้างคิดบ้าง

ก็รวมเป็นวิญญาณขันธ์กองวิญญาณ คือความรู้ทางอายตนะ

เมื่ออายตนะภายในและภายนอกที่คู่กัน มาประจวบกันดังกล่าว

นี้ก็คือโลก ขันธ์โลก โลกคือขันธ์ ย่อเข้าก็เป็นนามรูป

รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นนาม

 

และที่เรียกว่ารูปนั้นก็เพราะเป็นสิ่งที่ย่อยยับไปได้ สลายไปได้

ที่เรียกว่านามนั้น ก็เพราะเป็นสิ่งที่น้อมไป คือน้อมไปรู้ดังกล่าว

หากจะถามว่าเป็นความน้อมไปรู้ของใคร หรือของอะไร ที่เป็นนามนั้น

ก็ตอบว่าของจิตนี้เอง คือทุกคนที่ดำรงชีวิตอยู่นี้มีกายและจิตประกอบกันอยู่

จึงเป็นกายที่มีชีวิต ในเมื่อดับจิต จิตพรากออกไปเสียแล้ว กายนี้ก็สิ้นชีวิตกลายเป็นศพ

เพราะฉะนั้น ความมีชีวิตดำรงอยู่ ก็เพราะมีกายและจิตประกอบกันอยู่

 

และกายนี้เองที่เป็นรูปกาย

ก็ประกอบด้วยธาตุทั้งหลายดังกล่าว และมีจิตเข้าประกอบจึงรู้อะไรได้

เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตรู้ รู้อะไรได้

เป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง

เพราะฉะนั้นจิตนี้เองจึงเป็นธรรมชาติอันสำคัญ อันมีอยู่ในทุกๆคน

ท่านเปรียบร่างกายเหมือนอย่างเรือ จิตเหมือนอย่างคนพายเรือ

อีกอย่างหนึ่งร่างกายเหมือนอย่างบ่าวหรือคนรับใช้ จิตเหมือนอย่างนายคือผู้ใช้

 

เพราะฉะนั้นจิตจึงมีความสำคัญมาก

จนถึงพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหมวดธรรมะที่มี ๑ ข้อ จิตก็เป็นธรรมชาติที่มี ๑ ข้อ

หรือเป็นหนึ่งอยู่ในทุกๆคน และก็ตรัสสอนเอาไว้ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง

และได้ตรัสว่าเมื่อถูกอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา ก็ทำให้จิตนี้เศร้าหมองไป

( เริ่ม ๑๔๑/๒ ) แต่ว่าเมื่อปฏิบัติในจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ก็จะวิมุติ

คือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามานั้นได้ และจิตก็ปภัสสรคือผุดผ่อง

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในจิตตภาวนาอบรมจิต จึงเป็นไปดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้นี้

และที่จิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้นั้น ก็น้อมไปได้ทางอายตนะที่มีอยู่ที่กาย

เพื่อรู้ทางอายตนะนั้นเอง ซึ่งมีเป็นปรกติธรรมดา เพราะว่าจิตนี้เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้

 

ข้อที่ว่าเป็นวิญญาณธาตุนี้ ก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้

ว่าบุรุษนี้ อันหมายถึงว่าบุคคลชายหญิงทุกคนนี้มีธาตุ ๖ ประกอบกันอยู่

คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ได้แก่สิ่งที่แข้นแข็ง

อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหล เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น เร่าร้อน

วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่สิ่งที่พัดไหว ตลอดถึงลมหายใจเข้าออก

อากาสธาตุ ธาตุอากาศ คือช่องว่าง อันได้แก่ช่องว่างทั้งหลายบรรดาที่มีอยู่ในร่างกายอันนี้

และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ คือธรรมชาติที่รู้อะไรๆได้ ก็คือจิตนี้เอง

 

เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นธาตุรู้นี้ จึงน้อมไปรู้รูปทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น

โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย และเรื่องราวอะไรทั้งหลายทางมโนคือใจคือมโนอันเป็นข้อที่ ๖ นี้

อาจจะแสดงเป็นนามธรรมก็ได้ อาจจะแสดงเป็นรูปธรรมก็ได้

เมื่อเป็นรูปธรรมแล้ว ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาซึ่งมีความรู้ถึงวิทยาในปัจจุบัน

จึงได้ชี้เอามันสมองว่าเป็นตัวมโนที่เป็นรูปธรรม

เพราะว่า จะต้องผ่านมันสมอง จึงจะบังเกิดเป็นความรู้ความคิดต่างๆขึ้นได้

และที่เรียกว่ารู้รูปทางตา รู้เสียงทางหูเป็นต้นนั้น

ตามวิทยาปัจจุบันก็แสดงว่ารูปเสียงเป็นต้นที่ผ่านจักขุประสาท โสตประสาทแล้ว

ก็ต้องผ่านเข้าไปถึงมันสมองในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้รูปคือเห็นรูป

ในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้เสียงคือได้ยินเสียง

 

คือลำพังประสาททั้ง ๕

จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท แต่อย่างเดียว

ไม่อาจที่จะให้รู้รูปรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะได้ ต้องผ่านเข้าไปถึงมันสมอง

ในส่วนที่มีหน้าที่ให้รู้รูปรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะ จึงจะสำเร็จเป็นความรู้ขึ้นได้

ที่เราเรียกว่าเห็นรูปได้ยินเสียงทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ

และอันนี้เองคือตัวมโนที่เป็นรูปธรรม

 

จิตออกรู้อายตนะภายนอกทั้งหลาย ต้องอาศัยกายที่เป็นรูปธรรม

คือตาอันได้แก่จักขุประสาทเป็นต้น ประกอบด้วยมโนที่เป็นรูปธรรมคือมันสมอง

จึงจะเป็นรู้ขึ้นได้ ที่เรียกว่าเห็นรูปได้ยินเสียงทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ

และก็สามารถที่จะอาศัยมโนที่เป็นรูปธรรมนี้คิดนึกดำริหมกมุ่นถึงเรื่องต่างๆได้

 

อาการที่จิตยังไม่น้อมไปไหน จะอยู่นิ่งเรียกกันว่าภวังคจิต

ภวังคะแปลว่าองค์ของภพ จะเรียกว่าเป็นองค์ของภพชาติก็ได้

เพราะว่าที่เป็นภพเป็นชาติขึ้นนั้น ก็ต้องอาศัยกายและจิตอันนี้เอง

และในกายและจิตทั้งสองนี้ จิตเป็นสิ่งสำคัญ เป็นที่ตั้งของภพชาติ

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าตัวภวังคะคือองค์ของภพนี้เป็นที่ตั้งของจิต

จิตอยู่ที่ภวังคะคือองค์ของภพชาติอันนี้

และเมื่อจิตอยู่เฉยๆยังไม่น้อมออกรู้ก็เรียกว่าภวังคะจิต

ถ้าจะเปรียบเหมือนว่าเป็นคนอยู่ในบ้านๆหนึ่ง

ซึ่งมีประตูชั้นนอก ๕ ประตู มีประตูชั้นใน ๑ ประตู

คือเป็นห้องที่มีฝาสองชั้น ฝาชั้นในมีประตูเดียว ฝาชั้นนอกมีห้าประตู

เมื่อบุคคลซึ่งอยู่ภายในห้องโดยปรกติธรรมดา ไม่ออกไปข้างไหน ไม่มีอะไรมาเรียก

ก็พักเฉยอยู่ในห้องนั้น เรียกว่าเป็นภวังคะจิต

 

คราวนี้ เมื่อมีใครมาเคาะประตู เช่นว่า เมื่อมีเสียงมากระทบกับหู

ก็เท่ากับว่าเสียงนั้นเองมาเคาะประตู คือมาเคาะโสตประสาท

และผ่านเข้าไปที่มโนซึ่งเป็นรูปธรรมชั้นในอันได้แก่สมอง ก็ไปกระทบถึงจิต

จิตก็ออกรับ คือออกไปทางมโน ซึ่งเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นประตูชั้นในนั้น

แล้วก็ออกไปทางประตูที่ถูกเคาะ คือทางหู ก็รู้เสียงได้ยินเสียง

อาการที่จิตน้อมออกไปดั่งนี้ ไปได้ยินเสียงขึ้นทีแรกก็เป็นวิญญาณก่อน เรียกว่าโสตวิญญาณ

 

และเมื่อเสียงกับโสตทวารคือประตูหู

และโสตวิญญาณที่เป็นตัวได้ยินเสียงนั้น รวมตัวกันเข้ามากระทบถึงจิตแรงขึ้น

ความรู้ของจิตคือที่น้อมไปรู้นั้นก็แรงขึ้น เป็นสัมผัสคือความกระทบ ก็เป็นความรู้กระทบ

เมื่อเป็นความรู้กระทบซึ่งเป็นสัมผัสดังนี้ ก็เป็นความรู้ที่แรงขึ้นอีก

เป็นรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข อันเรียกว่าเวทนา

และเมื่อเป็นเวทนา ก็เป็นสัญญาคือจำได้หมายรู้

จำสุข จำทุกข์ จำกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งจำรูปเสียงเป็นต้นที่มากระทบเป็นสัมผัส

อันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์เป็นสุขเป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุขได้ เป็นสัญญา ก็เป็นรู้จำ

เมื่อเป็นรู้จำแล้ว ก็เป็นรู้ปรุงอันเรียกว่าสังขาร อันได้แก่เอาสิ่งที่รู้ทีแรก

สิ่งที่สัมผัส สิ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นมาปรุงคิดหรือคิดปรุง

ก็เป็นสังขารคือรู้ รู้ปรุง ปรุงคิด ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

และเมื่อถึงขั้นนี้ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น จิตก็กลับเข้ามาสู่ห้องในใหม่ อันเรียกว่าภวังคะจิต

และเมื่อมีใครมาเคาะประตูอีกทางไหน ก็ออกไปทางนั้น น้อมออกไปทางนั้น

ก็เป็นวิญญาญ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร

แล้วก็กลับเข้ามาสู่ห้องในอีกเรียกว่าภวังคะจิต ท่านแสดงไว้ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น อาการที่จิตออกรับรู้สิ่งทั้งหลายภายนอกดังกล่าวนั้นจึงเป็นห้วงๆ

ได้ยินอะไรทีหนึ่งก็ออกไปรับรู้ทีหนึ่ง แล้วก็เข้ามาสู่ภวังค์ทีหนึ่ง

มีใครมาเคาะประตูอีกก็ออกไปรับรู้คราวหนึ่ง แล้วเข้าภวังค์คราวหนึ่ง เป็นอยู่ดั่งนี้

แต่ว่ามีความสืบเนื่อง คือสิ่งที่จิตออกรับรู้นั้นเรียกว่าอารมณ์

คือเรื่องที่จิตรู้ เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

เมื่อเป็นอารมณ์แล้ว เมื่อจิตยึด ยึดทั้งหมด หรือยึดบางส่วน

ก็ทำให้เกิดอาสวะ คือความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิต

ตั้งต้นเป็นอุปกิเลสคือสิ่งที่จรเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมอง

ทำให้จิตปรุงที่เรียกว่าสังขาร เรื่องที่จิตยึดและปรุงนั้นต่อเนื่องกันไป

จึงได้สืบต่อเป็นวิญญาณ เป็นสัมผัสเป็นเวทนาเป็นต้น

สืบเนื่องกันไปในเรื่องนั้น ไม่จบ

 

ยินดียินร้ายที่มีขึ้นก็เพราะมีอวิชชาคือความไม่รู้ อันเป็นตัวความหลง

ก็มาเป็นอาสวะที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้น

เพราะจิตนี้แม้จะเป็นธาตุรู้ ก็ยังเป็นธาตุรู้ที่อ่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้จริง

จึงยังยึดยังติด ยินดียินร้าย หลง แล้วก็ปรุงต่อเนื่องกันไป

ทุกคนจึงได้เก็บเรื่องทั้งหลายมาคิดปรุงหรือปรุงคิด รักบ้างชังบ้างหลงบ้างไปต่างๆ

ก็เพิ่มความเศร้าหมองขึ้นในจิตอีกมาก

 

เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่น้อมไปดั่งนี้ น้อมไปตามธรรมชาติธรรมดาทางอายตนะก่อน

และเมื่อน้อมไปในทางที่ติดยึดในสิ่งที่น้อมออกไปรู้ ยินดียินร้ายหลงอยู่

สิ่งเหล่านี้ก็ไหลเข้ามานอนจมหมักหมมอยู่ในจิต เป็นตัวอุปกิเลส

ตั้งต้นแต่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตหมักหมมจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้น้อมจิตมาในทางดี

เพราะสามารถจะน้อมมาได้ น้อมจิตมาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา

ดั่งที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เป็นการน้อมจิตมาในทางดี

แต่เมื่อน้อมจิตมาทางดีดั่งนี้ สิ่งดีที่จิตน้อมมานี้เอง คือศีลสมาธิปัญญา

หรือการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ไหลเข้ามาเป็นบารมี

คือเป็นความดีที่สั่งสมเพิ่มพูนอยู่ในจิตเช่นเดียวกัน

 

ฉะนั้น ในจิตของทุกคนนี้จึงมีอาสวะอนุสัยอยู่ส่วนหนึ่ง บารมีอยู่ส่วนหนึ่ง

และเมื่ออาสวะอนุสัยมากบารมีก็น้อย เมื่อบารมีมากอาสวะอนุสัยก็น้อยลง

จนกระทั่งบารมีคือศีลสมาธิปัญญา หรือสติปัฏฐานที่อบรมนี้ ได้มากจนเต็มเปี่ยมแล้ว

เรียกว่าเป็นบารมีอยู่เปี่ยมจิต อาสวะอนุสัยก็สิ้นไปจากจิต คืออาสวะอนุสัยไม่อาจจะอยู่ได้

ก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์นี้ก็เป็นจิตที่มีสันติ และจิตที่มีสันตินี้เองเรียกว่านิพพาน

เป็นความดับแห่งทุกข์ทั้งปวง นั้นคือสันติ คือความสงบของใจ

ความสงบแห่งใจเรียกว่านิพพานดั่งนี้

 

นิพพานเป็นธรรมอันเอกในพระพุทธศาสนา สุดยอดในพระพุทธศาสนา

และจิตก็เป็นเอก สุดยอดในธรรมชาติของกายใจ ของคนเรานี้

เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งที่สุดยอดคือจิตกับนิพพานมาพบกัน ด้วยการที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนา

หรือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ในสติปัฏฐานเป็นต้นไปโดยลำดับ

จนเป็นบารมีที่เข้าครอบงำอาสวะอนุสัยในจิต

เหมือนกับการที่ได้ชำระล้างตะกอนสิ่งสกปรกในจิตให้หมดสิ้นไป

จิตบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองได้หมดสิ้น ก็เป็นความดับทุกข์ อยู่ตรงนี้

แล้วก็เป็นสันติของใจคือนิพพาน จิตกับนิพพานจึงบวกกัน เป็นอันว่าการปฏิบัติได้บรรลุถึงที่สุด

ในเมื่อจิตกับนิพพานมาพบกัน เรียกว่าบรรลุนิพพาน

ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติให้พบกับความบริสุทธิ์ คือการชำระเครื่องเศร้าหมอง

และความดับทุกข์ และสันติแห่งใจได้โดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด

ให้ธรรมอันเอกคือจิตและธรรมอันเอกคือนิพพานพบกันอย่างสมบูรณ์

ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติธรรมะถึงที่สุด

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

หลักปฏิบัติในไตรสิกขา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีมาก

ม้วนที่ ๑๔๒/๑ ต่อ ๑๔๒ /๒ ( File Tape 130 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

หลักปฏิบัติในไตรสิกขา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ

ข้อหลักโดยย่อก็คือไตรสิกขา อันได้แก่ศีลสมาธิปัญญา

โดยปรกตินั้นทั้ง ๓ ข้อนี้จะต้องมีอยู่ในบุคคลทุกๆคน ในการกระทำอะไรทุกๆอย่าง

เพราะว่าศีลนั้นคือความสำรวม ความสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ

สมาธินั้นคือความตั้งจิตมั่น ปัญญานั้นคือความรู้รอบคอบ

ทั้ง ๓ นี้ต้องมีในการงานทุกอย่าง หรือในกรรมทุกอย่างที่ทุกๆคนกระทำ

ไม่ว่าจะเป็นทางดี หรือว่าทางชั่วไม่ดี

 

ในทางดีนั้นเช่นในการเล่าเรียนศึกษา ในการประกอบการงานทุกอย่างอันเป็นกิจที่พึงทำ

ก็จะต้องมีความสำรวมกายวาจาใจ เพื่อศึกษาเล่าเรียน เพื่อทำกิจที่ควรทำนั้น

ต้องมีความตั้งใจจะทำ ตั้งใจอยู่ในกิจที่พึงทำนั้น และจะต้องมีความรู้ในการทำกิจที่พึงทำนั้น

จึงสำเร็จเป็นการเรียนการศึกษา เป็นการงานที่พึงกระทำได้

แม้ในการทำความชั่ว เช่น จะทำโจรกรรม ก็จะต้องมีความสำรวมกายวาจาใจ

ในการที่จะกระทำ จะต้องมีความตั้งใจมั่นในการที่กระทำ

จะต้องมีปัญญาคือความรู้ว่าจะทำอย่างไรในโจรกรรมนั้น

 

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญานี้

คือลักษณะที่เป็นความสำรวม ลักษณะที่เป็นความตั้งใจ

และลักษณะที่เป็นความรู้ จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดาของทุกคน

และมีอยู่เป็นกลางๆ จะทำดีก็นำไปใช้ จะทำชั่วก็นำไปใช้

 

แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงธรรมะสั่งสอน

เป็นการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดาของคนนี้เอง ให้เป็นไปในทางที่ดีงาม

คือให้ใช้ความสำรวมกายวาจาใจ เพื่อเว้นจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

จึงทรงบัญญัติพระวินัยเป็นข้อสำหรับปฏิบัติทำการสำรวมระวังนั้น

ดังเช่นทรงบัญญัติพระวินัยไว้ ๕ ข้อ อันเรียกว่าสิกขาบทอันหนึ่งๆ

ก็คือพระวินัยบัญญัติมาตราหนึ่งๆ เทียบกับกฏหมาย

เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เว้นจากความประพฤติผิดในกาม

เว้นจากพูดเท็จหลอกลวง เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท

เป็นบัญญัติ ๕ ข้อ นี้คือวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้สำหรับให้ปฏิบัติ

และเมื่อปฏิบัติในพระวินัย ๕ ข้อนี้ ก็เรียกว่าปฏิบัติในศีล ๕

มีความสำรวมกายวาจาใจเพื่อปฏิบัติในวินัย ๕ ข้อนี้ ก็เป็นศีล ๕

 

และตรัสสอนให้ตั้งจิตไว้มั่นคง

ในฐานที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อน้อมจิตไปในทางที่ดี

ก็ทรงแสดงคำสอนเกี่ยวแก่สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ

เช่น ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ เอาจำเพาะที่ตามองเห็น

คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้รู้จักธรรมชาติธรรมดาของสิ่งเหล่านี้

ว่าอันที่จริงนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สะอาด เป็นสิ่งที่ไม่งดงามอยู่โดยธรรมชาติธรรมดา

จึงต้องมีการชำระให้สะอาด มีการตกแต่งให้งดงามกันอยู่เสมอ

แต่แม้เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะชำระให้สะอาด หรือจะตบแต่งกันให้งดงามเรื่อยไปได้

ความไม่สะอาดจะต้องปรากฏอยู่ทุกวันทุกเวลา และความไม่งดงามก็ปรากฏอยู่ทุกวันทุกเวลา

ให้พิจารณาเพื่อเป็นอุบายสำหรับระงับใจจากกิเลสกองราคะ

คือความติดใจยินดีนิยมชมชื่นอยู่ในสิ่งเหล่านี้

 

และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอนกรรมฐาน สำหรับระงับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจ

คือกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่บังเกิดขึ้นในใจ สำหรับข้ออื่นอีก

ได้ตรัสสอนให้เจริญเมตตาเพื่อสงบโทสะพยาบาท

สอนให้ทำอาโลกะสัญญาคือความสำคัญหมายว่าสว่าง

กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันก็สว่างอยู่ กลางคืนก็ให้สว่าง

แปลว่าทำสัญญาอยู่ในใจถึงความสว่าง ให้สว่างอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

เป็นเครื่องสงบถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

 

และตรัสสอนให้ทำกรรมฐานที่รวมใจเข้ามาเป็นหนึ่ง

คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว เช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

รวมใจเข้ามากำหนดดูลมหายใจของตนเอง ที่หายใจเข้า หายใจออกอยู่

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตรวมอยู่ รู้อยู่ที่ลมหายใจเพียงจุดเดียว

เป็นเครื่องสงบรำงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

 

และตรัสสอนให้เจริญธาตุกรรมฐาน คือแยกธาตุกายนี้

ที่เป็นก้อนกายของทุกๆคนเอง ว่าประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเป็นธาตุ ๔

หรือว่าธาตุ ๕ เติมอากาสคือช่องว่าง เรียกว่าอากาสธาตุ

โดยพิจารณาแยกโดยสรุปว่า ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน

ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลอันมีอยู่ในกายนี้ ก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ

ส่วนที่อบอุ่นส่วนที่ร้อนอันมีอยู่ในกายนี้ ก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ

ส่วนที่พัดไหวอันมีอยู่ในกายนี้ ก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม

ส่วนที่เป็นช่องว่างตางๆอันมีอยู่ในกายนี้ ก็เป็นอากาสธาตุ ธาตุอากาศ

โดยมากนั้นตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้เป็นธาตุ ๔ คือดินน้ำไฟลม

แต่ในบางแห่งจึงทรงเติมอากาสธาตุคือช่องว่าง

 

เพราะว่าช่องว่างนั้น เมื่อเป็นช่องว่าง

ก็ไม่มีอะไรกำหนดอยู่ในความว่าง กำหนดได้แต่ขอบเขตของความว่าง

แต่ว่าสำหรับธาตุดินน้ำไฟลมทั้ง ๔ ข้างต้นนั้น เป็นวัตถุที่กำหนดได้

แต่แม้เช่นนั้น ภายในร่างกายอันนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ที่เป็นวัตถุนั้น

ก็ไม่ใช่เป็นแท่งทึบ แต่มีช่องว่างที่โปร่งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย ทั่วทุกขุมขน

ช่องว่างดังกล่าวนี้เรียกว่าอากาสธาตุคือช่องว่าง ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก

 

นักวิชาการในปัจจุบันนี้ยังมีแสดงว่า

ร่างกายของคนเรานี้ หรือของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม

ที่ดูใหญ่โตดังที่ปรากฏอยู่ นับตั้งแต่เริ่มคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา

หรือแม้ว่าก่อเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดาแล้วก็ตาม เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

มีช่องว่างอยู่มาก ช่องว่างในระหว่างธาตุดินน้ำไฟลมนี้เอง

ถ้าจะยุบช่องว่าง คือนำเอาธาตุดินน้ำไฟลมที่มีอยู่นี้ มาอัดให้รวมเป็นก้อนจริงๆ

โดยปราศจากช่องว่างทั้งหมดแล้ว ร่างกายอันนี้จะเล็กลงเหลือนิดเดียวเท่านั้น และเล็กมาก

เพราะฉะนั้น ที่ดูโตใหญ่อยู่ตั้งแต่เป็นเด็กมา จนถึงเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่นี้

จึงโตใหญ่ด้วยช่องว่าง อาจจะเปรียบได้กับลูกโป่งที่เมื่อเป่าลมเข้าไปแล้ว ก็ทำให้ลูกโป่งโต

มีช่องว่างอยู่ในลูกโป่งนั้นมาก แต่เมื่อนำเอาลมออกก็จะแฟบเหลือเล็กนิดเดียว

 

เพราะฉะนั้น แม้ว่าช่องว่างอันเป็นอากาสธาตุในร่างกายนี้

จะไม่มีอะไรกำหนดในตัวช่องว่างเอง แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่

และอาจกำหนดได้ด้วยขอบเขตของช่องว่าง เป็นต้นว่านิ้วมือของตนเรามี ๕ นิ้ว

ที่เป็นห้านิ้วได้ก็เพราะมีช่องว่างอยู่ในระหว่างนิ้วทั้งห้านี้ จึงแยกเป็นห้านิ้วได้

ถ้าไม่มีช่องว่างอยู่ในระหว่างทั้งห้านิ้วนี้ ห้านิ้วก็จะติดเป็นพืดอันเดียวกัน ไม่เป็นห้านิ้ว

เพราะฉะนั้น จึงอาจกำหนดได้ที่ขอบเขตของช่องว่างแต่ละแห่งในร่างกายอันนี้

ที่ทำให้ส่วนของร่างกายอันนี้ที่เป็นธาตุดินน้ำไฟลมนั้นแยกจากกัน

เช่นช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อจะตรัสอย่างละเอียด จึงได้ตรัสเติมธาตุที่ ๕ คืออากาสธาตุ

คือช่องว่างขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

 

ตรัสสอนให้พิจารณาแยกกายนี้ออกเป็นธาตุ คือแยกธาตุกายนี้ออกไปดังนี้

เป็นเครื่องทำลายสงบรำงับวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัย

เพราะว่าความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายนั้น บังเกิดขึ้นเนื่องมาจากมีตัวเราของเรา

จึงมีความสงสัยในตัวเราของเราว่าในอดีตเป็นมาอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบันเป็นอย่างไร ต่างๆ

 

และตัวเราของเรานี้ก็เป็นตัวความยึดถือ

ที่บังเกิดขึ้นจากก้อนกายอันนี้ ยึดถือในก้อนกายอันนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา

ดังเช่นว่าก้อนกายทั้งหมดนี้ เมื่อยังไม่แยกว่าเป็นอาการส่วนไหน ก็รวมเรียกว่าเป็นตัวเรา

ดั่งที่เรียกว่าอัตภาพ ความเป็นอัตตาตัวเรา แต่เมื่อแยกเป็นส่วนๆออกไป ก็เป็นของเรา

เช่นว่าตาของเรา หูของเรา จมูกของเรา ดั่งนี้เป็นต้น รวมเข้ามาก็เป็นตัวเรา

และเมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ ก็มีความยึดถือในบุคคลอื่นเป็นตัวเขาเป็นของเขา เช่นเดียวกัน

ดั่งนี้เรียกว่าอัตตสัญญาความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา ซึ่งมีอยู่ในทุกๆคน

เพราะฉะนั้นจึงได้มีวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

อันเกี่ยวกับตัวเราของเรา ตัวเขาของเขา ดังที่กล่าวมานี้

แต่เมื่อมาพิจารณาทำกรรมฐาน ข้อธาตุกรรมฐาน คือแยกธาตุออกไป

อันหมายความว่ากระจายก้อนกายอันนี้ออกไป ว่าอันที่จริงนั้นก้อนกายอันนี้

อันเป็นที่ยึดถือดังกล่าวนั้นไม่มี ( เริ่ม ๑๔๒/๒ ) มีแต่เป็นธาตุ

ดังส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เป็นธาตุน้ำ ดั่งนี้เป็นต้น เท่านั้น

พิจารณาไปจนธาตุสัญญาความสำคัญหมายว่าธาตุบังเกิดขึ้น

อัตตสัญญาความสำคัญหมายว่าตัวเราของเราก็จะหายไป

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงสงบความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆอันเกี่ยวแก่ตัวเราของเราเสียได้

เพราะเมื่อไม่มีตัวเราของเราอันเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว

ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆก็ไม่มีที่ตั้ง ก็ต้องหายไป

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ยกเอาธาตุกรรมฐานดังกล่าวนี้มาเป็นข้อปฏิบัติ

สำหรับที่จะกำจัดวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

สงบวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัย เหล่านี้เป็นกรรมฐาน

แต่กรรมฐานที่ตรัสสอนนี้เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ตั้งจิตอยู่ในฐานของกุศลทั้งหลาย

ระงับดับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสที่เป็นตัวนิวรณ์ทั้งหลาย

และสงบตัวนิวรณ์ทั้งหลายเสียด้วย

 

เป็นการตรัสสอนให้ปฏิบัติพัฒนาความตั้งใจมั่น

ที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้ให้เป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิชอบขึ้นมา

และเมื่อได้ใจที่สงบดั่งนี้แล้ว ก็น้อมจิตที่ใจสงบนี้ไปเพื่อรู้เพื่อให้เกิดปัญญา

จึงได้ตรัสสอนให้อบรมปัญญาต่อไป โดยให้น้อมจิตที่สงบนี้มากำหนดดูนามรูปอันนี้

หรือว่ากำหนดรูปกายออกเป็นธาตุดังที่กล่าวนั้น

 

แต่ว่าการกำหนดธาตุดังที่กล่าวนั้นเพียงแต่กำหนดรูปกายแยกออกเป็นธาตุ

แม้ว่าจะเป็นทางปัญญาเหมือนกัน แต่ก็เป็นปัญญาในขั้นสงบวิจิกิจฉา

เพื่อให้ใจสงบวิจิกิจฉา ยังไม่ถึงกับจะทำให้สงบความยึดมั่นถือมั่นที่ยิ่งๆขึ้นไปได้

เพราะว่าคนเรานี้ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ยิ่งๆขึ้นไปอีกมาก

หรือว่ามีแน่น ฝังแน่นอยู่ในจิตใจส่วนลึก เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้จริง

จึงมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีอุปาทานคือความยึดถือ

มีกรรมคือการงานที่กระทำต่างๆ อันเนื่องมาจากความยึดถือนั้น

 

เพราะฉะนั้น จึงมีความยึดถือในตัวเราของเราทั้งทางร่างกาย ทั้งทางใจ

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญาที่ได้มาจากจิตใจที่สงบนี้

มากำหนดพิจารณาแยกกายใจนี้ออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นรูปขันธ์กองรูป

เวทนาขันธ์กองเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญาขันธ์กองสัญญาคือความรู้จำหมาย จำรูปจำเสียงเป็นต้นต่างๆ

สังขารขันธ์กองสังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆไปตามความจำ

ปรุงดีก็มี ปรุงไม่ดีก็มี ปรุงเป็นกลางๆก็มี คือใจนี้เองปรุงเป็นสังขาร

 

และเมื่อตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน

ลิ้นกับรสประจวบกัน กายและสิ่งที่กายถูกต้องประจวบกัน

มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องรางที่ใจคิดมาประจวบกัน ก็เกิดความรู้ขึ้น เรียกว่าวิญญาณ

วิญญาณในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าเป็นวิญญาณชนิดที่เรียกว่า

ตายแล้ววิญญาณไปเกิด หรือวิญญาณตายแล้วท่องเที่ยว

ไม่ใช่หมายถึงวิญญาณอย่างนั้น

 

แต่หมายถึงเพียงความรู้ในเมื่อตากับรูปเป็นต้นมาประจวบกันเท่านั้น

ดังที่เราเรียกว่าเห็น เห็นรูป ได้ยินเสียง ทราบกลิ่นทราบรส

ทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง และรู้คิดเรื่องทางใจ

เหล่านี้เรียกว่าวิญญาณคือเป็นตัวรู้ทั้งหมด เห็นรูปก็คือรู้รูป ได้ยินเสียงก็คือรู้เสียง

ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ ก็คือรู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะ

คิดเรื่องราวทางใจก็คือรู้ รู้เรื่องที่คิดนั้น เป็นตัวรู้ทั้งนั้นเรียกว่าวิญญาณ

ตรัสสอนให้แยกออกว่ากายใจของคนเรานี้ แยกออกได้เป็น ๕ ดั่งนี้

และเมื่อรวมเข้ามาแล้วกายก็เป็นรูปกาย ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ หรือธาตุ ๕ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นก็คือใจ กายและใจนี้ประกอบกันอยู่ดั่งนี้

ย่อเข้าเป็นกายและใจ กายก็เรียกว่ารูป ใจก็เรียกว่านาม ดังที่เรียกสั้นว่านามรูป

ก็คือรูปนามนั้นเองแต่ว่ากลับกันเสียเป็นนามรูป ซึ่งเป็นคำเรียก

ตรัสสอนให้ใช้ปัญญามาพิจารณาดูที่กายใจของตัวนี้ทุกๆคน

 

และกำหนดให้รู้จักว่า นี่เป็นรูป นี่เป็นนาม

คือเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ

ตามที่ปรากฏเกิดขึ้นในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านอยู่ทุกวันทุกเวลา

เพราะคนเรานั้นต่างมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายและมีใจอยู่ด้วยกัน

จึงรับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและสิ่งที่ใจคิดอยู่ด้วยกันตลอดเวลา

และเมื่อรับแล้วก็เป็นวิญญาณ ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร

แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก

 

กำหนดดูให้รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร

ย่อเข้าก็อะไรเป็นรูปอะไรเป็นกาย อะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม

และก็กำหนดดูให้รู้จักว่ารูปนามที่เป็นไปอยู่นี้เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ

แต่ว่าเป็นสิ่งที่ละเอียด ในเมื่อกำหนดดูเทียบเคียงแล้วจึงจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ

แต่ว่าเป็นเกิดดับที่มีสันตติคือความติดต่อ คือมีความต่อเนื่อง

เช่นหายใจเข้าเรียกได้ว่าเกิด หายใจออกเรียกได้ว่าดับ

เป็นการที่สมมติเรียกเอาอย่างง่ายๆก่อน

 

แต่ว่าเมื่อหายใจออกแล้วก็มีหายใจเข้าอีกติดต่อกันไป เกิดดับอยู่ทุกขณะจริง

แต่ว่ามีติดต่อ มีเกิดต่อไปแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดต่อไป เป็นไปอยู่ดั่งนี้

จึงทำให้มองไม่เห็นความเกิดดับ มองเห็นแต่ความต่อเนื่องเป็นอันเดียวกัน

เหมือนอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เกิดดับ

เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ใช้ปัญญามองให้เห็นความเกิดดับของนามรูป

 

ดั่งนี้เรียกว่าเป็นการเริ่มปฏิบัติทางวิปัสสนา

ที่เรียกกันว่าวิปัสสนาธุระ หรือวิปัสสนากรรมฐาน หรือทำวิปัสสนา

ต้องการให้เห็นเกิดเห็นดับดั่งนี้ ไม่ใช่ไปเห็นอะไรๆอื่น

ต้องการให้เห็นนามรูป ให้เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ

และเมื่อเกิดปัญญาเห็นได้เมื่อแว๊บหนึ่งก็ชื่อว่าเป็นการดี

จะเป็นเครื่องทำลายความยึดถือว่าตัวเราของเรา ทำให้จิตใจสบายปลอดโปร่ง

มีพลังใจเข้มแข็งไม่หวาดกลัวต่อพยาธิภัยมรณะภัยหรืออะไรอื่น

เพราะเห็นความเกิดดับแล้วแม้ชั่วแว๊บหนึ่ง ใจก็จะหายโรคใจทันที คือหายโรคใจ

หายจากความยึดถือเกี่ยวเกาะพัวพันอยู่กับกายใจนี้

และจะทำให้โรคกายที่เป็นไปอยู่นั้นผ่อนคลายในวิสัยที่พึงเป็นไปได้ด้วย

เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอน

ให้พัฒนาความสำรวม ความตั้งใจ และความรู้ที่ทุกคนมีอยู่

ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาดั่งนี้

เพื่อผลคือความพ้นของใจจากความยึดถือเกี่ยวเกาะ และความทุกข์ทั้งหลาย

ฉะนั้นไตรสิกขานี้จึงเป็นข้อที่พึงปฏิบัติอยูเป็นประจำ และทำให้เพิ่มพูนขึ้นอยู่เสมอ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats