ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป111

โพธิปักขิยธรรม

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สติปัฏฐาน ๔ หลักปฏิบัติอันสำคัญ ๓

ความหมายของสติปัฏฐาน ๔

สติต่างจากสัญญา ๕

มิจฉาสติ สัมมาสติ ๖

จิตที่เป็นกามาพจร ๗

เอกายโนมรรคโค ๗

สติปัฏฐานหมายถึงอนุปัสสนา ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๔ /๒ - ๑๔๕/๑ ( File Tape 111 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

โพธิปักขิยธรรม

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ในพรรษากาลนี้การอบรมจิตตภาวนาได้เริ่มในวันนี้

ก็จะได้เริ่มแสดงนำด้วยโพธิปักขิยธรรม คือธรรมะที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้

ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงรวมหมวดธรรมหลายหมวดเข้าในโพธิปักขิยธรรมนี้

ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มธรรมะหมวดใหญ่ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันนำไปสู่โพธิคือความตรัสรู้

อันหมายถึงเป็นยอดความรู้ เป็นความรู้จบ เป็นความรู้ทั้งหมด

 

พระพุทธเจ้าทรงได้ปฏิบัติมาในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้

จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

เพราะได้ทรงค้นหาทางแห่งความตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพบทางนั้นด้วยพระองค์เอง

ทรงปฏิบัติในทางนั้นจนได้ตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง

โดยที่มิได้ทรงฟังคำสอนในทางปฏิบัติจนถึงได้ตรัสรู้ จากครูอาจารย์อื่นใดทั้งสิ้น

ทรงเป็นผู้พบทางด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติดำเนินไปด้วยพระองค์เอง

และตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง อันเป็นสัมมาหรือ สัมมัตตะ คือถูกชอบทุกประการ

และก็ได้ทรงแสดงหมวดธรรมต่างๆ ข้อธรรมต่างๆสั่งสอนแก่เวไนยบุคคล

คือบุคคลที่ควรแนะนำนั้นๆ ตามควรแก่อัธยาศัยภูมิชั้นที่จะรับได้

ฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงจึงมีปริยายคือทางที่แสดงเป็นอันมาก

ตามความเหมาะสมแก่ผู้ฟังซึ่งจะรับได้ ในสถานที่ และในเวลาต่างๆกัน

ในบุคคลต่างๆกัน

 

แต่เมื่อประมวลเข้าแล้วก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติดำเนินไปสู่ทางอันเดียวกัน

อันเป็นไปเพื่อโพธิคือความตรัสรู้ อันเป็นยอดปัญญา

และสิ่งที่ตรัสรู้อันเป็นยอดปัญญานี้ ก็รวมเข้าในคำว่าพระธรรมนั้นเอง

ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริง ซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุกๆคน มีอยู่ในทุกๆสิ่งในโลกทั้งสิ้นไม่มียกเว้น

และเป็นสัจจะธรรมที่นำให้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้ จึงได้ทรงนำมาแสดงสั่งสอน

เท่าที่จะเป็นวิสัยของเวไนยบุคคล คือบุคคลผู้ที่ควรแนะนำ จะพึงรู้ตามได้

และได้รับผลของการปฏิบัติได้

 

สติปัฏฐาน ๔ หลักปฏิบัติอันสำคัญ

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ทรงแสดงจึงมีปริยายเป็นอันมากดังกล่าว

แต่ว่าก็สามารถสรุปได้รวมเข้าได้เป็นหมวดๆ และหลายหมวดก็รวมเข้าได้

ดังที่ทรงรวมเข้าในหมวดใหญ่ อันเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้

อันเป็นโพธิซึ่งเป็นยอดปัญญาดังกล่าวนั้น และหมวดต้นแห่งโพธิปักขิยธรรมนี้

ก็คือสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการแสดงอบรมในที่นี้มาโดยลำดับทุกปี

เพราะว่าเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญ ซึ่งเมื่อปฏิบัติตั้งต้นในหมวดสติปัฏฐานนี้

ก็จะนำต่อขึ้นไปสู่หมวดธรรมะอื่น

หรือว่ากล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในการปฏิบัติสติปัฏฐานให้สมบูรณ์ได้

ก็จะต้องมีหมวดธรรมะอื่นมาอุปการะ ส่งขึ้นไปโดยลำดับ

จนถึงโพธิความตรัสรู้ หรือความรู้ที่เป็นยอดปัญญานั้น

 

ความหมายของสติปัฏฐาน

 

ในการแสดงนั้นก็ต้องอาศัยทับศัพท์ธรรมะซึ่งเป็นพระบาลี

ผู้ที่ไม่ศึกษาก็ย่อมจะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้จักศัพท์ธรรมะ

และให้รู้จักความหมายของศัพท์ธรรมะแม้โดยย่อก่อน

คำว่าสติปัฏฐานนั้นแปลว่าตั้งสติก็ได้ ความทำสติให้ปรากฏขึ้นก็ได้

หรือความปรากฏแห่งสติก็ได้ อันเป็นส่วนเหตุที่เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติตั้งสติขึ้น

หรือทำสติให้ปรากฏขึ้นในจิตใจของตนเอง และเมื่อกระทำได้สำเร็จ

ปฏิบัติได้สำเร็จ ก็จะปรากฏเป็นความมีสติตั้งขึ้น หรือว่าความมีสติปรากฏขึ้น

( เริ่ม ๑๔๔/๒ ) ฉะนั้น จึงแปลคำอย่างรวบรัดได้โดยเหตุว่าตั้งสติ หรือทำสติให้ปรากฏ

ความปรากฏของสติ และโดยผลก็คือสติตั้ง หรือสติปรากฏ

 

อันสตินั้นก็เป็นคำที่เรามาใช้กันในภาษาไทย

เป็นที่รู้จักและเข้าใจกันตามสมควร ดังที่กล่าวว่ามีสติ หรือให้มีสติ

ซึ่งทุกคนเมื่อได้ยินคำนี้ก็ย่อมจะเข้าใจว่าให้มีความ รู้สึก สำนึก ระลึกได้ในตนเอง

มีความรู้ขึ้นในตนเอง อันเป็นเครื่องรักษาตนที่จะไม่ให้กระทำผิดพลาด

เพราะความผิดพลาดต่างๆนั้นมักเกิดจากความขาดสติที่รักษาตนเอง

เมื่อมีสติรักษาตนเอง จะทำจะพูดจะคิดอะไร ก็จะมีความผิดพลาดน้อย

 

และสตินี้ท่านบัญญัติคำแปลไว้ให้ว่าความระลึกได้

อันหมายความว่านึกได้ คิดได้ ซึ่งเป็นความระลึกความคิดได้ในปัจจุบัน

ในการที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิด หรือในการทำการพูดการคิดของตน

ถ้าหากว่าระลึกไม่ได้ คิดไม่ได้ ก็จะเป็นเหตุให้การทำการพูดการคิดของตนนั้นไม่ถูกต้อง

เมื่อมีสติอยู่กับตน รู้อยู่ว่าตนจะพูดหรือพูด ตนจะทำหรือทำ ตนจะคิดหรือคิด

รักษาตนอยู่แล้ว ก็จะไม่เกิดความผิดพลาดดังกล่าว

 

แม้ในเรื่องธรรมดาทั่วๆไปก็ต้องมีสติ

คนที่เดินโดยไม่มีสติกำกับตนอยู่ มักจะสดุดหรือหกล้ม

หรือจะต้องเป็นอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเมื่อเดินไปในถนนไม่มีสติกำหนดอยู่

จะเป็นอันตรายเพราะรถซึ่งวิ่งไปวิ่งมา หรือจะเป็นอันตรายอย่างอื่นได้

ฉะนั้น สติจึงขาดไม่ได้ ต้องมีรักษาตน อันตนต้องจำปรารถนาในทุกเวลา

ในทุกกิจการที่จะทำ หรือกำลังทำ คนทั้งหลายก็ย่อมมีความเข้าใจดั่งนี้อยู่ด้วยกัน

 

สติต่างจากสัญญา

 

และแม้การระลึกถึงการทำคำที่พูดแม้นานได้ คือระลึกย้อนหลังไปได้นานๆ

ว่าเราได้พูดอะไร ได้ทำอะไร ดั่งนี้ก็เป็นลักษณะของสติ มีลักษณะเป็นความจำ

และเมื่อหมั่นระลึกถึงอยู่ในสิ่งที่ต้องการจะจำ ก็ทำให้ไม่ลืม แต่ไม่หมั่นระลึกถึงอยู่ก็จะลืม

และแม้สิ่งที่ลืมไปแล้วนั้น ถ้าหากว่าทำสติให้ดีในปัจจุบันนี้ ความจำเก่าก็อาจจะผุดขึ้นมาได้

ระลึกได้เหมือนกัน สติจึงต่างกับสัญญาคือความจำหมาย

 

อันสัญญาคือความจำหมาย หรือความจำได้หมายรู้นั้น

เป็นความจำที่บังเกิดขึ้นในเรื่องหนึ่งๆ แล้วก็ลืมไป

เพราะฉะนั้น ทุกๆคนจึงลืมในการที่ทำคำที่พูดของตนแม้นานไปแล้วเป็นอันมาก

แม้ในวันหนึ่งๆนี้ก็ลืมไปแล้วเป็นอันมาก

ความจำที่เป็นตัวสัญญานั้นมักจะบังเกิดขึ้นประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็หายไป

เช่นว่าอ่านหนังสือหนึ่งบันทัดสองบันทัด หรือหนึ่งหน้า

เมื่ออ่านไปก็จำได้ในชั่วขณะที่อ่านแต่ละวรรค แต่ละคำ แต่ละบันทัด

เมื่ออ่านไปถึงบันทัดที่สองที่สาม บันทัดที่หนึ่งก็ลืมไป มักจะเป็นดั่งนี้

เพราะฉะนั้นจึงต้องอ่านบ่อยๆ และต้องหมั่นระลึกถึงบ่อยๆ

จึงจะเกิดเป็นความจำที่ตั้งอยู่ติดอยู่

 

ภาษาที่พูดนี้ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นถ้อยคำที่หัดพูดกันมา

ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบันทุกวัน เพราะฉะนั้นจึงจำได้

ถ้าหากว่าทิ้งไว้นานๆ ไม่พูดก็ลืม แม้เป็นภาษาไทยเอง

เพราะฉะนั้นที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็เพราะมีความระลึกได้

เช่นใครที่กำลังพูด หรือแม้ที่กำลังพูดอยู่นี้ ก็ต้องระลึกได้ถึงถ้อยคำที่จะพูด

ถึงธรรมะที่จะพูด ถ้าระลึกไม่ได้ ก็เป็นอันว่าพูดไม่ได้ พูดไม่ถูก

เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากซึ่งทุกคนจะขาดเสียมิได้

 

มิจฉาสติ สัมมาสติ

 

แต่สติความระลึกได้นี้ บางอย่างระลึกได้

ก่อให้เกิดกิเลสเป็นความโลภบ้าง หรือเป็นราคะความติดใจยินดีบ้าง

เป็นโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง เป็นโมหะความหลงบ้าง

คือเป็นความระลึกที่นำกิเลสให้เกิดขึ้น ความระลึกดั่งนี้เป็นมิจฉาสติคือระลึกผิด

ลืมเสียก็ดี จะไม่กิเลสขึ้นในใจ แต่เมื่อยังตั้งปรากฏอยู่ในใจ

และเตือนใจให้ระลึกถึง ก็ก่อกิเลสดังกล่าว จึงเป็นมิจฉาสติ

 

ส่วนความระลึกได้ที่เป็นไปเพื่อดับราคะหรือโลภะดับโทสะดับโมหะ

โดยระลึกถึงธรรมะอันเป็นเครื่องดับกิเลส ดังระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เช่นระลึกถึงสติปัฏฐาน ดั่งนี้ก็เป็นสัมมาสติ ความระลึกชอบ

เพราะฉะนั้น สติที่เป็นความระลึกนี้ จึงต้องการสัมมาสติคือความระลึกชอบ

ความระลึกที่เป็นสติปัฏฐานจึงเป็นสัมมาสติ และเมื่อเป็นสัมมาสติก็ตรงกันข้ามกับมิจฉาสติ

จิตที่เป็นกามาพจร

 

แต่ว่าจิตนี้เมื่อเป็นจิตที่กามาพจร ที่เป็นกามาพจร

คือท่องเที่ยวไปในกาม หยั่งลงในกาม เพลิดเพลินอยู่ในกาม

ย่อมมีอารมณ์ของกามติดอยู่ในใจ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส

เป็นโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ตลอดจนถึงเป็นเรื่องที่ใจคิดนึกที่ทุกคนได้มีอยู่ในวันหนึ่งๆ

ตั้งแต่ตื่นนอนเช้าจนถึงหลับไป ก็มีอยู่เป็นอันมาก อันเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

และจิตใจนี้ก็มีนันทิคือความเพลิดเพลินอยู่ ชอบอยู่ พอใจอยู่ในอารมณ์คือเรื่อง

อันที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น จึงได้ดึงใจให้ระลึกถึง ให้คิดถึง

นึกถึงอารมณ์คือเรื่องดังกล่าวนั้นอยู่เสมอ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงบังเกิดกิเลสขึ้นในใจอยู่เสมอดังกล่าว

ตลอดจนถึงเกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆในอารมณ์คือเรื่องเหล่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงได้บังเกิดความทุกข์ร้อนต่างๆ ตลอดจนถึงเกิดความประพฤติทางกาย

ทางวาจา ทางใจ ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุจริตต่างๆ

อันทำให้เป็นการปฏิบัติออกนอกทางพระพุทธศาสนา ไม่ปฏิบัติเข้าทางพระพุทธศาสนา

ดังที่เป็นไปอยู่ในโลก ก่อให้เกิดความทุกข์ร้อนขึ้นในโลก ตั้งแต่ในตนเองและในผู้อื่น

ตั้งแต่กลุ่มน้อยจนถึงกลุ่มใหญ่ ดังที่ปรากฏ

 

เอกายโนมรรคโค

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนให้ปฏิบัติตั้งสติคือความระลึกได้นี้ไว้โดยชอบ

คือให้เป็นสัมมาสติคือความระลึกชอบ ได้แก่ตรัสสอนไว้ถึงสติปัฏฐานทั้งหมด

ที่ตรัสสอนให้ตั้งสตินี้ว่าเป็น เอกายโนมรรคโค คือเป็นทางไปอันเดียว

เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศก

และความปริเทวะคือความแห้งใจ ความรัญจวนคร่ำครวญใจทั้งหลาย

เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุ อันเป็นธรรมะที่ชอบ

เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน คือความดับกิเลสและกองทุกข์ ดั่งนี้

ก็คือตรัสสอนให้มีสติตามดูตามรู้ตามเห็นกาย อันเรียกว่า กายานุปัสสนา

มีสติตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา อันเรียกว่า เวทนานุปัสสนา

มีสติตามรู้ ตามดูตามรู้ตามเห็นจิต อันเรียกว่า จิตตานุปัสสนา

มีสติตามดูตามรู้ตามเห็นธรรมะคือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต อันเรียกว่า ธรรมานุปัสสนา

 

สติปัฏฐานหมายถึงอนุปัสสนา

 

เพราะฉะนั้นสติในสติปัฏฐานนี้จึงหมายถึงอนุปัสสนา

คือความตามดูตามรู้ตามเห็นกายนี้ คือกายที่ทุกคนมีอยู่นี้ของตนเอง

เวทนานี้ จิตนี้ ธรรมะคือเรื่องในจิตนี้ ในตนเองที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน

กายเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร ก็อยู่ในความตามดูตามรู้ตามเห็น

จิต เวทนา จิต และธรรมะคือเรื่องในจิตที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันของตนเป็นอย่างไร

ก็อยู่ในความตามดูตามรู้ตามเห็นของตน คือน้อมจิตเข้ามากำหนดดูตน หรือดูที่ตน

ก็จะพบกาย พบเวทนา พบจิต พบธรรมะในตน ว่าเป็นไปอยู่อย่างไร

 

และโดยเฉพาะได้ตรัสสอนให้นำจิตนี้เข้ามากำหนดดูข้อกายก่อน

เพราะกายนี้เป็นของหยาบ กำหนดดูง่าย และเมื่อนำจิตเข้ามากำหนดดูแล้ว

ก็จะพบว่ากายนี้หายใจเข้าอยู่หายใจออกอยู่ตลอดเวลา

กายนี้มีอิริยาบถทั้ง ๔ คือเดินยืนนั่งนอน ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา

กายนี้มีอิริยาบถปลีกย่อยของอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ คือก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง

แลเหลียว คู้แขนหรือขาออก เหยียดแขนหรือขาออก คู้แขนหรือขาเข้ามา

นุ่งห่ม กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม และถ่ายหนักเบาอยู่

 

และกายนี้ประกอบด้วยอาการ ๓๑,๓๒ คือ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน

ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น อัฏฐิกระดูก อิฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ

ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังสายรัดไส้

อุทริยังอาหารใหม่ กรีสังอาหารเก่า และมัตถเกมัตถลุงคังขมองในขมองศรีษะ

ปิตตังน้ำดี เสมหังน้ำเสลด ปุพโพน้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตังน้ำเลือด เสโทน้ำเหงื่อ

เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย สิงฆานิกาน้ำมูก ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร

ซึ่งเป็นของไม่สะอาด แต่ก็เป็นอวัยวะต่างๆในร่างกายนี้ ซึ่งเรียกว่าอาการ

คือปฏิบัติหน้าที่ของตนๆไป ตามหน้าที่

 

และกายนี้เมื่อย่นย่อลงแล้วก็เป็นธาตุ ๔ คือสิ่งที่แข้นแข็งก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน

สิ่งที่เอิบอาบเหลวไหลก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ

สิ่งที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม และในที่อื่นได้ตรัสแสดงเพิ่มเข้ามาอีก ๑

คืออากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง

เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ตลอดจนถึงกายที่กล่าวมาข้างต้นยังทำงานอยู่ ยังคุมกันอยู่

ยังสามัคคีพร้อมเพรียงกันอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ชีวิตนี้ก็ดำรงอยู่

 

แต่เมื่อส่วนสิ่งเหล่านี้แตกแยกทำลาย ลมหายใจเข้าออกก็ดับ

อิริยาบถทั้ง ๔ ก็ผลัดเปลี่ยนไม่ได้ อิริยาบถเล็กน้อยก็ผลัดเปลี่ยนไม่ได้

และบรรดาอาการทั้งหลายก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หยุดการปฏิบัติหน้าที่

ธาตุทั้ง ๔ ก็แตกสลายไม่รวมกัน กายนี้ก็กลายเป็นศพที่เขาจะต้องนำไปเผาฝัง

แต่ถ้าหากว่าไม่เผาฝัง นำไปทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบเหมือนอย่างในครั้งโบราณ

เมื่อดับลมไปแล้ววันหนึ่งสองวันสามวัน ก็จะขึ้นพอง มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด

และจะมีสัตว์ทั้งหลายมากัดกิน มาจิกกิน จนถึงเหลือแต่ร่างกระดูก

( เริ่ม ๑๔๕/๑ ) คือยังมีเลือดมีเนื้อ ต่อไปก็จะไม่เหลือเลือดเหลือเนื้อ

แต่ว่าโครงร่างยังคุมกันเพราะมีเส้นเอ็นคุมอยู่ ต่อไปเมื่อเส้นเอ็นที่คุมอยู่นี้สลายไป

โครงร่างที่เป็นกระดูกนั้นก็จะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง

ก็กลายเป็นกระดูกที่มีสีขาว และเมื่อล่วงปีก็จะเป็นกระดูกที่กองๆ

จากนั้นกระดูกนั้นก็จะผุเปื่อยละเอียดกลายเป็นดินไปโดยสิ้นเชิง

 

ตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ว่าเป็นไปดั่งนี้

กายในภายในก็เป็นดั่งนี้ ในภายนอกก็เป็นดั่งนี้ ทั้งภายในภายนอกก็เป็นดั่งนี้

เพื่อให้มีสติรู้ตามเป็นจริง จะทำให้ได้มองเห็นธรรมดา

คือความเกิดขึ้นและความดับไปของกาย และทั้งความเกิดขึ้นทั้งความดับไปของกาย

และสติที่ให้ตั้งกำหนดตามดูอยู่นี้ เมื่อสติกำหนดตามดูอยู่ที่กาย ก็ย่อมจะรู้ว่ากายมีอยู่

แต่ก็มีอยู่ดังที่เป็นไปอยู่นี้ และการตั้งสติที่จะให้รู้อยู่ว่าเป็นไปดั่งนี้

ก็เพื่อที่ว่าให้เป็นที่ตั้งสติ ให้เป็นอนุปัสสนาคือตามดูตามรู้ตามเห็น

และให้เป็นวิปัสสนาคือให้รู้แจ้ง ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ

เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

เป็นอุบายที่จะดับความยินดีความยินร้ายอะไรๆในโลกได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป

 

*

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนา ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ ๓

เวทนา ความรู้ ความรู้สึก ๔

ข้อว่ากำหนดเวทนา ๕

ข้อกำหนดเวทนาในขั้นละเอียด

อามิส นิรามิส ๖

เคหะสิตะ อาศัยเรือน ๖

เนกขัมมะ ออกจากเรือน ๗

เนกขัมมะสิตะ ๘

อามิส ที่ตั้งของราคะโทสะโมหะ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๔๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๕ /๒ ( File Tape 111 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน

เวทนา ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

วันนี้จะแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานการตั้งสติ หรือความตั้งสติตามดูเวทนา หรือพิจารณาเวทนา

อันเวทนานั้นได้แก่ สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขที่เรียกว่าอุเบกขา

ทุกคนนั้นย่อมมีเวทนาดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้นที่กายและใจอยู่เป็นประจำ ในเมื่อยังมีความรู้สึกอยู่เมื่อหมดความรู้สึกเช่นในเวลาที่สลบ ดั่งที่เรียกว่าถึงวิสัญญีภาพ หรือว่าถูกฉีดยาให้สลบ

เวทนาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏ ไม่เกิด หรือแม้ว่าไม่ถึงสลบร่างกายชา

ก็ไม่รู้สึกเวทนาที่ร่างกายที่ชานั้น เช่นถูกฉีดยาชาที่ตรงไหนของร่างกาย ส่วนนั้นเมื่อชาแล้ว

ก็ไม่รู้สึกเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

หรือคนที่สิ้นชีวิตแล้วร่างกายก็ไม่มีเวทนา ดับเวทนา นำไปเผาไปฝังก็ไม่รู้สึกเจ็บ

แม้ในขณะที่เป็นอยู่เมื่อถึงวิสัญญีภาพคือสลบ เพราะเหตุอุบัติเหตุก็ตาม

หรือเพราะฉีดยาก็ตาม ก็เช่นเดียวกัน หรือเมื่อถูกฉีดยาให้ชาในส่วนใดของร่างกาย

ก็ไม่รู้สึกเวทนาอย่างใดเช่นเดียวกัน แต่เมื่อกายและใจยังเป็นปรกติอยู่ดั่งนี้ย่อมมีเวทนา

คือสุขทุกข์หรือกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขดังกล่าวนี้ตลอดเวลา

 

เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ

 

เพราะฉะนั้นเวทนานี้จึงเป็นธรรมดา เพราะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของกายและใจนี้

เมื่อมีกายก็ย่อมมีส่วนประกอบต่างๆของกาย ดังที่ได้แสดงแล้วในหมวดกายานุปัสสนา

และเวทนานี้ก็ย่อมมีอยู่ที่กายนั้นเอง และที่ใจ ทั้งสองอย่าง เป็นเวทนาทางกาย

เป็นเวทนาทางใจ คือเป็นสุขทุกข์ทางกาย เป็นสุขทุกข์ทางใจ

และก็เป็นกลางๆที่เรียกว่าอุเบกขา ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขทางกายทางใจ

และที่แบ่งเป็น ๒ ดั่งนี้ ที่ว่าเป็นเวทนาทางกายนั้น ก็ต้องมีใจเข้ารับเวทนานั้น

และแม้เป็นเวทนาทางใจ ก็เนื่องถึงกายด้วยเช่นเดียวกัน

แต่ว่าที่แยกเป็น ๒ นั้น ก็เพราะว่าที่ตั้งที่เกิดของเวทนานั้นอยู่ที่กาย

หรือมาจากกายก็ได้ มาจากใจก็ได้

 

ที่มาจากกายนั้นก็เช่นว่า ร่างกายนี้ได้สัมผัสกับอากาศเย็นร้อน

หรือเหตุของสุขทุกข์ภายนอกต่างๆ ก็เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เช่นว่าเมื่อร่างกายนี้ต้องพบกับความร้อนที่ร้อนมาก ก็เป็นทุกข์

เมื่อมีความร้อนพอประมาณที่ร่างกายจำต้องการ ก็เป็นกลางๆ หรือว่าเป็นสุข

ได้รับความเย็น เย็นโดยปรกติที่ร่างกายต้องการก็เป็นสุข เย็นมากไปก็เป็นทุกข์

ถ้าเป็นเย็นกลางๆ ก็เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข คือไม่รู้สึกสบาย หรือไม่รู้สึกไม่สบาย

เป็นกลางๆ เป็นความรู้สึกเป็นกลางๆ

 

ส่วนทางใจนั้นก็เกี่ยวกับเรื่องที่ประสบพบผ่าน ทางตา คือรูปต่างๆที่ตาเห็น

ทางเสียง เสียงต่างๆที่หูได้ยิน ทางจมูก กลิ่นต่างๆที่จมูกได้ทราบ

รสต่างๆที่ลิ้นได้ทราบ และเรื่องต่างๆที่ใจได้คิดได้นึกถึง

เหล่านี้ ก็ทำให้เกิดสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ตามแต่เรื่องที่ประสบนั้นจะเป็นอย่างไร ก็เป็นสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ที่เกิดขึ้นทางใจก่อน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เนื่องถึงกายด้วย

ส่วนที่เกิดขึ้นทางกายนั้นแม้ว่าจะเกิดขึ้นทางกายเช่นดังที่กล่าวมาข้างต้น

แต่ใจนี้ก็เข้ารับด้วย คือเป็นทุกข์เป็นสุขหรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขไปตามกายด้วย

แม้เกิดขึ้นทางใจ กายนี้ก็รับด้วยเช่นเดียวกัน

 

เวทนา ความรู้ ความรู้สึก

 

เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวรวมเข้ามาแล้ว

อันตัวเวทนาคือสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขนี้

จึงรวมอยู่ที่ความรู้สึก อันเป็นความรู้อย่างหนึ่ง

คำว่าเวทนานั้นก็แปลว่ารู้ บางทีก็แปลกันว่าเสวย อย่างที่เรียกว่าเสวยเวทนา

เสวยนั้นไทยเรามาใช้เป็นราชาศัพท์ที่หมายถึงบริโภค และมาใช้สำหรับเวทนา

ว่าเสวยเวทนาเป็นสุข เสวยเวทนาเป็นทุกข์ หรือเสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเป็นกลางๆ

และคำว่าเสวยนี้แปลตรงๆก็คือว่ากินนั้นเอง หรือบริโภค

และเมื่อแปลตามศัพท์ของเวทนาก็แปลว่ารู้ หรือให้รู้ เป็นความรู้อย่างหนึ่ง

ถ้าหากว่าไม่มีความรู้คือไม่มีความรู้สึกแล้ว เวทนาใดๆก็ไม่เกิดขึ้น

แต่ว่าไม่ใช่เป็นความรู้ที่เป็นศิลปวิทยาที่พูดกัน แต่เป็นความรู้อย่างหนึ่งของจิตที่เป็นธาตุรู้

รู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่มีชีวิต

 

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสสอน

ให้ตั้งสติกำหนดดูให้รู้ให้เห็นกายที่เป็นไปอยู่ ในหมวดกายานุปัสสนาแล้ว

จึงได้ตรัสให้ตั้งสติกำหนดละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป ก็คือเวทนา

เพราะแม้ว่าในขณะที่กำหนดกายนั้น พิจารณากายนั้น ก็มิใช่ว่าจะไม่มีเวทนาอยู่ในกาย

มีเวทนาบังเกิดขึ้นในกายนั้นด้วยตลอดเวลา

แต่ว่าเวทนานั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดกว่ากาย จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดกายก่อน

เพราะกำหนดได้ง่าย ครั้นกำหนดกายได้ความรู้จากสติที่กำหนดนั้นในกาย

ใจรวมเข้ามากำหนดกายตามที่ทรงสอน เวทนาก็ย่อมจะปรากฏชัดขึ้น

 

ข้อว่ากำหนดเวทนา

 

เพราะเวทนานั้นแม้เป็นความรู้อย่างหนึ่งดังกล่าว

แต่ก็เป็นความรู้ที่บังเกิดขึ้นที่กายด้วยที่ใจด้วย มิใช่ว่าบังเกิดขึ้นที่ใจอย่างเดียว

บังเกิดขึ้นที่กายด้วยที่ใจด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีความสัมพันธ์กับกายที่กำหนดได้สะดวก

จึงได้ตรัสอนให้กำหนดในเวทนาดังกล่าวนี้ถัดจากกาย มากำหนดดูสุขทุกข์

หรือความเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข อันบังเกิดขึ้นที่กายและใจนี้ ดังที่ตรัสสอนไว้ทั่วไปก่อนว่า

เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ว่าเราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ว่าเราเสวยทุกขเวทนา

เมื่อเสวยเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขคือเป็นกลางๆ เป็นอุเบกขา

ก็รู้ว่าเราเสวยเวทนาที่เป็นกลางๆ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ

 

เวทนาดังที่กล่าวนี้ ดังที่ได้กล่าวว่าเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา

ที่บังเกิดขึ้นแก่ทุกคนนั้น ก็คือบังเกิดขึ้นแก่ทุกบุคคลที่ยังดำรงชีวิตอยู่

ที่ยังมีความรู้สึกอยู่ ไม่สลบไสลเป็นต้นดังกล่าว ทั้งที่เป็นบุถุชน ทั้งที่เป็นพระอริยชน

แม้เป็นพระอรหันต์ร่างกายก็มีเวทนาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

แต่ว่าสำหรับบุถุชนนั้นเมื่อเสวยเวทนาก็ย่อมยึด

แต่พระอริยบุคคลเมื่อเสวยเวทนาย่อมไม่ยึด แต่เมื่อยังเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด

ก็ยังยึดอยู่บ้างแต่ว่าน้อยกว่าบุถุชน เมื่อเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสย่อมไม่ยึดทั้งหมด

เวทนาที่บังเกิดขึ้นก็ดับไป บังเกิดขึ้นก็ดับไป ทั้งแก่บุถุชน ทั้งแก่อริยบุคคล

ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ข้อกำหนดเวทนาในขั้นละเอียด

 

เพราะฉะนั้น ครั้นทรงแสดงเวทนาทั่วๆไป อันบังเกิดขึ้นได้แก่บุคคลที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ดั่งนี้แล้ว เช่นเดียวกับร่างกาย

เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ต้องหายใจเข้าหายใจออก ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์

ครั้นตรัสเป็นกลางๆดั่งนี้แล้ว จึงได้ตรัสจำแนกต่อไปว่า ให้ตั้งสติกำหนดให้รู้ว่า

เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นสุขมีอามิสก็ให้รู้ เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์มีอามิสก็ให้รู้

เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขมีอามิสก็ให้รู้

เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นสุขไม่มีอามิสก็ให้รู้ เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์ไม่มีอามิสก็ให้รู้

เมื่อเราเสวยเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขไม่มีอามิสก็ให้รู้

 

อามิส นิรามิส

 

จึงมาถึงเวทนาที่แบ่งได้เป็น ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายที่มีอามิสอันเรียกว่าสามิส หรือฝ่ายที่ไม่มีอามิสอันเรียกว่านิรามิส

ฝ่ายที่เป็นสามิสคือมีอามิสนั้น อามิสหมายถึงกามคุณ

หรือหมายถึง เคหะสิตะ ที่แปลว่าอาศัยเรือน ( เริ่ม ๑๔๕/๒ ) ก็คือกามคุณนั้นเอง

กามคุณนั้นท่านแสดงไว้ ๕ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่ดึงใจให้ดำริ ให้คิดถึงหมกมุ่นถึง นอนเนื่องถึง

สำหรับหมู่ชนที่ยังหยั่งลงในกาม หรือข้องติดอยู่ในกาม

 

เคหะสิตะ อาศัยเรือน

 

ส่วนที่ว่าอาศัยเรือนนั้นก็มีความเช่นเดียวกัน

เพราะว่าบ้านเรือนนั้นย่อมเป็นที่ตั้งของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านี้

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย และเป็นที่ต้องการของผู้ครองเรือนทั้งหลาย

จึงเรียกว่า เคหะสิตะ อาศัยเรือนก็คือกามคุณนั้นเอง

 

เนกขัมมะ ออกจากเรือน

 

ต่อเมื่อออกจากกามคุณ ออกจากการอาศัยเรือน เรียกว่า เนกขัมมะ ที่แปลว่าการออก

เนกขัมมะที่แปลว่าการออกนี้ ออกด้วยกายอย่างหนึ่ง ออกด้วยใจอย่างหนึ่ง

ออกด้วยกายก็ได้ผู้ที่ออกบวชทั้งหลาย ต้องออกจากบ้านเรือน

มาอยู่ในที่ๆไม่เป็นบ้านเรือน เช่นป่า โคนไม้ หรือวัด

 

ส่วนออกด้วยใจนั้นคือใจออกจากความข้องติดอยู่ในกามคุณ

ด้วยสมาธิ หรือด้วยปัญญา เช่นในขณะที่ทำสมาธิจิต ทำกรรมฐาน

ดังเช่นกำหนดพิจารณากาย กำหนดพิจารณาเวทนา เป็นสติปัฏฐานดังกล่าวนี้

จิตก็ออกจากกามคุณอันเป็นเรื่องของบ้านเรือน มาตั้งอยู่ในเรื่องของธรรมะซึ่งเป็นธรรมดา

ดังกำหนดพิจารณากาย กำหนดพิจารณาเวทนา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เป็นการออกด้วยสมาธิ

 

ออกด้วยปัญญานั้นก็คือในขณะที่พิจารณาทางปัญญาให้เห็นความเกิดความดับ

ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือของสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย จิตใจก็ไม่ยึดในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ก็เป็นการออกทางใจ

ซึ่งการออกทางใจนี้แม้ผู้ที่ครองบ้านครองเรือน ก็ปฏิบัติได้ในบ้านในเรือนในขณะที่ปฏิบัติธรรม

คือปฏิบัติในกรรมฐาน ทั้งในส่วนที่เป็นสมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจคือสมาธิ

และวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญาเห็นเกิดดับ

 

ในขณะที่ปฏิบัติในกรรมฐานนี้จึงเป็นเนกขัมมะ

แต่เมื่อออกจากกรรมฐานจิตก็กลับไปอาศัยเรือน หรืออาศัยกามคุณตามเดิม

แม้เช่นนั้นก็เป็นการดี เพราะเป็นการหัดให้จิตออกได้ชั่วระยะเวลาเป็นครั้งเป็นคราว

เป็นเครื่องดับความทุกข์ต่างๆ ทำให้จิตปลอดโปร่งแจ่มใส เป็นสุข

และแม้การออกทางกายคือออกบวช ก็ต้องออกทางจิตใจ คือจะต้องปฏิบัติธรรม

ทำสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ทำปัญญาให้เห็นเกิดดับของสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย

เป็นวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะเป็นการออกทางจิตใจด้วย

 

ถ้าออกทางกายอย่างเดียวจิตใจไม่ออกแล้ว

ถึงจะอยู่วัดบ้านก็ตาม วัดป่าก็ตาม ที่ไหนก็ตาม ก็ยังมีความเดือดร้อนทั้งนั้น

เพราะจิตจะไม่บริสุทธิ์ ก็ทำให้ศีลไม่บริสุทธิ์ ต่อเมื่อจิตบริสุทธิ์จึงจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้

เพราะฉะนั้นผู้ที่บวชที่ออกทางกายแล้ว ก็ต้องปฏิบัติออกทางใจด้วย

จึงจะเป็นเนกขัมมะ

 

และการออกนี้ก็มิใช่ว่าออกจากอะไร

ก็คือจิตใจหยุดติดถึง หยุดหมกมุ่นถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง

ตลอดจนถึงเรื่องที่คิดนึกต่างๆอันเป็นกาม คือที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายอย่างชาวบ้าน

และปฏิบัติทางปัญญาให้เห็นเกิดดับของสิ่งเหล่านั้น หรือรวมเรียกว่าของสังขาร

คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นสมาธิเป็นปัญญา ดั่งนี้แหละคือเนกขัมมะการออก

ออกทั้งใจเป็นสิ่งสำคัญ เป็นข้อที่พึงปฏิบัติทั้งบรรพชิต ทั้งฆราวาส คฤหัสถ์

และโดยเฉพาะบรรพชิตนั้นจะต้องปฏิบัติให้ออกทางใจอยู่ตลอด ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

จึงจะเป็นการออกที่สมบูรณ์คือเป็นเนกขัมมะ หรือเป็นการบวชที่สมบูรณ์ นี้คือเนกขัมมะ

 

เนกขัมมะสิตะ

 

ถ้าหากว่าจิตเป็นเนกขัมมะดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่เป็นสมาธิที่เป็นปัญญา เป็นจิตที่บริสุทธิ์

ถ้าจิตไม่ออก จิตยังคิดกังวลพัวพันถึงกาม รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย จิตก็ยังเป็นเคหะสิตะ แปลว่าอาศัยเรือน อาศัยบ้านเรือน

แต่เมื่อเป็นจิตออกจึงจะเรียกว่า เนกขัมมะสิตะ จิตที่อาศัยเนกขัมมะ

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงเวทนาต่อไปอีกว่า

เมื่อเสวยเวทนาที่เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม

อันเป็นสามิสมีอามิส ก็คือเป็นเวทนาที่ประกอบไปด้วยกามคุณ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน อาศัยบ้านเรือน

ก็ให้รู้ว่าบัดนี้เรากำลังเสวยเวทนาเป็นอย่างนี้

 

แต่เมื่อมาเสวยเวทนาที่ตรงกันข้าม

จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม

ที่เป็นนิรามิสไม่มีอามิส คือไม่ประกอบด้วยกาม ไม่อาศัยเรือน

แต่อาศัยเนกขัมมะคือการออก ก็ให้รู้

 

อามิส ที่ตั้งของราคะโทสะโมหะ

 

อามิสนั้นมักจะแปลกันว่าเครื่องล่อ หรือเครื่องทำให้ติดใจ

ได้ทั้งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ อันเป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี

ได้ทั้งที่ไม่เป็นที่ตั้งของความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

อันเป็นที่ตั้งของโทสะ คือความโกรธแค้นขัดเคือง

ได้ทั้งที่เป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง คือความที่ไม่ได้กำหนดให้รู้จัก

ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ

 

โดยเฉพาะได้ตรัสชี้ว่า สุข นั้นนำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี

ทุกข์ นั้นนำให้เกิดโทสะคือความโกรธแค้นขัดเคือง

มิใช่ทุกข์มิใช่สุข เป็นกลางๆนั้น เป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง

ก็เพราะว่าบุคคลเมื่อประสบเวทนาชนิดที่นำให้เป็นสุขปรากฏ ก็เกิดราคะในสุข

นำให้เกิดทุกข์ปรากฏก็ทำให้เกิดโทสะ หรือความชังในทุกข์

เมื่อเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆดังกล่าว ไม่ทำให้สุขปรากฏ ไม่ทำให้ทุกข์ปรากฏ

ก็เหมือนไม่มีเวทนา เพราะไม่ได้กำหนดให้รู้ว่านี่ก็เวทนาเหมือนกัน

แต่เป็นเวทนาที่เป็นกลางไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข คือไม่พอจะให้เป็นสุข ไม่พอจะให้เป็นทุกข์

แต่เมื่อพอจะให้เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ พอจะให้เป็นสุขก็เป็นสุข

แต่เมื่อไม่พอจะให้เป็นทั้งสุขทั้งทุกข์ จึงเป็นกลางๆ

 

ทุกๆคนนั้น วันหนึ่งๆก็ต้องพบเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่เป็นอันมากด้วยกัน

และโดยเฉพาะพบเวทนาที่เป็นกลางๆก็เป็นอันมาก

ดังที่ได้เห็นรูปอะไรด้วยตา วันหนึ่งๆก็มากมายร้อยแปดพันเก้า

แต่บางอย่างก็สะกิดใจให้ชอบ บางอย่างก็สะกิดใจให้ชัง

แต่ที่เห็นแล้วเฉยๆก็มีมาก ผ่านไปๆไม่สนใจ เพราะไม่พอจะให้ชอบ ไม่พอจะให้ชัง

แต่ว่าก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่าได้เห็นนั่นได้เห็นนี่ แม้ที่เฉยๆนั้น แต่ไม่สนใจก็ผ่านไปๆ

 

ความไม่สนใจนั่นแหละเป็นตัวโมหะคือความหลง

ควรจะต้องสนใจว่าแม้สิ่งที่ผ่านไปๆ หรือเฉยๆนั้น ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ เช่นเดียวกับเวทนาที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้นก็ไม่ปล่อยให้ผ่านไป จับพิจารณาว่าเป็นเวทนาเหมือนกัน ซึ่งต้องเกิดต้องดับ

แต่โดยมากไม่เป็นเช่นนั้น ปล่อยให้ผ่านไปๆเหมือนไม่เป็นเวทนา

 

ท่านจึงกล่าวว่าเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง

คือปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ เมื่อไม่สนใจก็ไม่รู้จัก ความไม่รู้จักนี่แหละเป็นตัวหลง

จึงต้องการจะให้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักทั้งหมด ความที่มาตั้งสติกำหนดเวทนา

ดังที่ตรัสสอนไว้นี้ เป็นการปฏิบัติในข้อเวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน

ตั้งสติกำหนดตามดูตามรู้ตามเห็น หรือพิจารณาเวทนา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats