ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป112

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๖/๑ ( File Tape 112 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน

ตั้งสติระลึกกำหนดดูเข้ามาที่กาย เวทนา จิต และธรรมคือเรื่องในจิต

อันรวมเป็นอัตภาพตัวเราของเรา อันเป็นที่ยึดถือนี้เอง

ให้รู้สภาพคือความเป็นไปตามปัจจัย ตามเหตุผลของกายเวทนาจิตธรรมเอง

และให้รู้ภาวะคือความเป็นความมีในปัจจุบัน ของกายเวทนาจิตธรรมนี้

ซึ่งรวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน คือก้อนกายและใจ หรือกายกับจิตนี้

และข้อกายข้อเวทนาได้แสดงไปแล้ว จะแสดงข้อจิตอันเป็นข้อที่ ๓ คือจิตตานุปัสสนา

สติที่ตามดูตามรู้ตามเห็นจิตใจของตนเอง ว่าเป็นไปอย่างไรในปัจจุบัน

 

ในข้อกายนั้นตรัสไว้เป็นข้อแรก เพราะเป็นวัตถุตั้งสติกำหนดได้ง่าย

เมื่อกำหนดข้อกายชัดเจนดีแล้ว ก็จะพบเวทนาง่ายขึ้น

เพราะเวทนานั้น ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์

ก็มีอยู่ที่กายและใจนี้เอง หรือที่กายและจิตนี้ เพราะฉะนั้น จึงกำหนดรู้ได้ไม่ยาก

และเมื่อกำหนดข้อเวทนาได้ชัดขึ้น ก็ตรัสสอนให้กำหนดดูจิตใจ

หรือใจจิตของตนว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

 

ดังที่ตรัสสอนไว้ว่า จิตมีราคะคือความติดใจยินดีก็ให้รู้

จิตปราศจากราคะความติดใจยินดีก็ให้รู้ จิตมีโทสะความหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้น

จนถึงมุ่งร้ายหมายทำลายใครอะไร ก็ให้รู้ จิตปราศจากโทสะ ก็ให้รู้

จิตมีหลงคือมีความเคลือบแคลงสงสัย มีความฟุ้งซ่านซัดส่าย

มีความไม่รู้ มีความถือเอาผิด ก็ให้รู้ จิตปราศจากโมหะความหลงก็ให้รู้

จิตหดหู่ก็ให้รู้ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้

 

จิตถึงความเป็นใหญ่ คือจิตที่มีสมาธิเป็นอุปจาระ

คือเฉียดๆจะตั้งมั่นเป็นอัปปนา ตั้งมั่นแนบแน่นก็ให้รู้ จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่ก็ให้รู้

จิตมีความยิ่ง คือความที่จิตยังอยู่ในภูมิต่ำ เช่นภูมิที่เป็นกามาวจรเที่ยวไปในกาม

หรือภูมิจิตที่เป็นสามัญชน ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป

และก็ได้ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปบ้างแล้ว หรือยังไม่มีการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปกว่าจิตสามัญ ก็ให้รู้

จิตที่ไม่มีจิตอื่นที่เป็นระดับเดียวกันจะยิ่งขึ้นไปกว่า เช่นเมื่อจิตอยู่ในภูมิสามัญ

ก็ปฏิบัติทำสมาธิให้จิตมีสมาธิตั้งมั่น แม้ว่ายังไม่แนบแน่น ก็ใกล้ๆจะแนบแน่น ก็ให้รู้

( เริ่ม ๑๔๖/๑ ) บัดนี้จิตนี้ไม่มีจิตที่เป็นสามัญยิ่งไปกว่าแล้ว คือสูงขึ้นมา

และเมื่อจิตสูงขึ้นไปอีกก็รู้ และก็รู้ว่าไม่มีจิตที่ต่ำกว่า จะยิ่งขึ้นไปกว่า

คือให้รู้เป็นลำดับขึ้นไป ให้รู้จิตของตนว่ายิ่งไม่ยิ่งอย่างไร

 

จิตที่มีสมาธิตั้งมั่นก็ให้รู้ จิตไม่มีสมาธิตั้งมั่นก็ให้รู้

จิตวิมุติหลุดพ้น คือพ้นจากราคะโทสะโมหะ ด้วยการพ้นชั่วคราว

ในขณะที่มาปฏิบัติธรรม จิตก็พ้นจากราคะโทสะโมหะชั่วคราวที่ปฏิบัติ

หรือว่าจิตปฏิบัติจนได้สมาธิที่ดีขึ้น ก็พ้นจากราคะโทสะโมหะ ด้วยอำนาจของสมาธินั้น

ดั่งนี้ก็ให้รู้ และก็ต้องให้รู้ด้วยว่ายังเป็นวิมุติคือความหลุดพ้นชั่วคราว

หรือว่าจิตไม่วิมุติหลุดพ้น เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติคุณธรรมอะไรให้มีประจำใจ

สำหรับที่จะดับกิเลสได้ ดังจิตสามัญทั่วไปยังหวั่นไหวอยู่ด้วยอารมณ์

และโลภโกรธหลงทั้งหลาย ก็ให้รู้ ดั่งนี้

 

คือปฏิบัติกำหนดตรงเข้ามาดูจิตนี้เอง อันเป็นศูนย์รวมสำคัญ

ของความดีความชั่วทั้งหลาย ของความมีกิเลส และความไม่มีกิเลสทั้งหลาย

แม้การสร้างสติกำหนดในข้อกาย ในข้อเวทนา ก็ต้องอาศัยจิต

คือจิตที่ตั้งกำหนดดูกาย จิตที่ตั้งกำหนดดูเวทนา

ถ้าจิตไม่ตั้งกำหนดก็ย่อมจะไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่รู้กาย ไม่รู้เวทนา

และแม้ตัวจิตเองถ้าไม่ตั้งสติกำหนด ก็ย่อมจะไม่รู้จักจิตของตัวเอง

แม้ว่าจิตจะมีราคะหรือว่าปราศจากราคะ จิตจะมีโทสะหรือปราศจากโทสะ

จิตจะมีโมหะหรือปราศจากโมหะ ก็ไม่รู้จักจิตของตน

 

ภาวะคือความเป็นของจิตที่เป็นไปอยู่ ก็เป็นไปอยู่

ซึ่งบางคราวก็มีราคะ บางคราวก็ปราศจากราคะเป็นต้น เป็นปรกติ

แต่บุคคลเมื่อไม่มีสติกำหนดก็ไม่รู้จักจิตของตน เพราะสติที่กำหนดนี้เหมือนอย่างกระจก

หน้าของตัวเองนั้น ถ้าไม่มีกระจกเงาส่องก็มองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร หูตาจมูกก็มีอยู่

หู ตา จมูก เช่นจะหลับตาจะลืมตา จมูกจะเป็นอย่างไร หูจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จัก

 

ต่อเมื่อได้มีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เตือนให้ใช้สติความกำหนดรู้

และปัญญาคือความรู้จักมาเป็นกระจกส่องดูจิตใจของตนเองจึงจะรู้จัก

เหมือนอย่างเอากระจกส่องดูก็จะเห็นหน้าของตนเองว่าเป็นอย่างไร

ในเวลาที่เกิดราคะความติดใจยินดีหน้าตาของตนเป็นอย่างไร ก็จะรู้เมื่อเอากระจกส่องดู

เมื่อเกิดโทสะโกรธแค้นขัดเคืองหน้าของตัวจะเป็นอย่างไร ส่องกระจกดูก็ให้รู้

เมื่อเกิดความหลงใหลเอากระจกส่องดูก็จะรู้หน้าของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

ฉันใดก็ดี เมื่อมีสติกับปัญญามาเป็นกระจกส่องดูจิตของตนเอง

ก็ย่อมจะรู้จักจิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร

 

จิตมีราคะดังที่กล่าวแล้วก็จะรู้จักจิตของตนเอง

ว่ามีอาการที่ติดใจ ที่ยินดี ที่พอใจ อยากได้ ใคร่จะได้

ในบุคคลในวัตถุนั้นๆ มีอาการที่ดิ้นรนไม่สงบเพื่อที่จะได้

จิตปราศจากราคะเมื่อมีสติกำหนดดูก็จะรู้จักว่าจิตจะสงบ

ไม่ดิ้นรนไปเพื่อจะได้อะไร เพื่อจะติดใจยินดีในอะไร

เป็นจิตที่ว่างจากราคะ

 

จิตมีโทสะเมื่อกำหนดดูเข้ามาที่จิตของตน

ก็จะรู้จักว่าจิตของตนนี้กำลังเดือด กำลังพล่าน มุ่งร้ายไปที่บุคคลนั้นๆที่ตนโกรธ

เขาไม่ดีอย่างนั้น เขาไม่ดีอย่างนี้ เขาทำร้ายเราอย่างนั้น ทำร้ายเราอย่างนี้

เขาด่าเราอย่างนั้น ด่าเราอย่างนี้ เป็นต้น ก็จะมองเห็นจิตของตนเองว่าเดือดพล่าน

และมีความดิ้นรนไปในทางร้ายต่างๆต่อบุคคลที่โกรธ

เมื่อจิตปราศจากโทสะก็จะรู้ว่าจิตนี้สงบ ว่างจากความคิดร้ายอย่างนั้น

ความมุ่งร้ายอย่างนั้น

 

จิตมีโมหะเมื่อมาตรวจกำหนดดูแล้วก็จะรู้จักว่า

จิตที่มีโมหะนั้นเป็นจิตที่มึนซึม เป็นจิตที่ไม่สว่าง เป็นจิตที่ติดสยบ

ดังที่เรียกว่าหลงไหลอยู่ในบุคลลหรือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เป็นจิตที่งุนงง เคลิบเคลิ้ม ง่วงงุน หลับไหล ซึม

ไม่กระปรี้กระเปร่าที่จะประกอบการงานทั้งปวง

ดูไปทางไหนก็ตันไปหมด เป็นลักษณะของจิตที่มีโมหะทั้งนั้น

จิตที่ปราศจากโมหะ กำหนดดูจิตเช่นนี้ก็จะรู้ว่าเป็นจิตที่สว่างแจ่มใส

ไม่มืดมัว โปร่ง คิดอ่านอะไรก็คล่องแคล่ว มีปัญหาอะไรก็แก้ได้ถูกต้อง

ไม่ติดสยบอยู่ในอะไร เป็นจิตที่ว่างจากโมหะ

 

จิตที่หดหู่เมื่อกำหนดดูเข้ามาก็รู้ว่าจิตหดหู่

คือเป็นจิตที่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม หรือไม่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มก็หมดกำลังใจ อัดอั้นตันใจ

เหมือนอย่างถูกขังอยู่ในอะไรหาทางออกไม่ได้ เป็นจิตที่คับแคบดังกล่าว ไม่กว้างขวางสดใส

จิตที่ไม่หดหู่ก็ให้รู้ คือเป็นจิตที่ไม่อัดอั้นตันใจ เป็นจิตที่โปร่งสบายแจ่มใสกว้างขวาง

ไม่เหมือนถูกขังอยู่ในที่แคบ เป็นจิตที่เกษม

 

จิตที่ถึงความเป็นใหญ่คือจิตที่ได้สมาธิตั้งแต่ในเบื้องต้น

อันจิตที่ไม่ได้สมาธินั้น ย่อมเป็นจิตที่เหมือนอย่างถูกขังอยู่ด้วยนิวรณ์ต่างๆ

ด้วยกามฉันท์บ้าง ด้วยพยาบาทบ้าง ด้วยถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง

ด้วยอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง ด้วยวิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยบ้าง

เป็นจิตที่ไม่มีอิสระแก่ตัวเอง ถูกบรรดานิวรณ์เหล่านี้ยึดเอาไว้ จึงกว้างขวางไปไหนไม่ได้

เป็นจิตที่คับแคบ เป็นจิตเล็ก ไม่ใหญ่

 

แต่ว่าจิตที่ไม่ถูกนิวรณ์ดังกล่าวควบคุมจำขังเอาไว้ เพราะได้สมาธิ

สงบกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้ตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็เป็นจิตที่เริ่มกว้างขวาง

ดังเช่นเมื่อแสดง เมื่อปฏิบัติเจริญเมตตาภาวนา อบรมเมตตาจิตแผ่จิตออกไป

ให้ผู้นั้นผู้นี้โดยเจาะจง หรือว่าโดยไม่เจาะจงคือสัตว์ทั้งปวงมีความสุข

ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องขวา

และทิศในระหว่างของทั้งสี่ทิศนั้น เป็นแปดทิศ ในทิศเบื้องล่างทิศเบื้องบน

ให้มีความสุขปราศจากทุกข์ รักษาตนให้สวัสดีด้วยกันทั้งหมด

 

จิตใจจะไปกว้างขวางตามขอบเขตของเมตตาภาวนาที่ปฏิบัตินั้น

ถ้าเมตตาภาวนาที่ปฏิบัตินั้นแผ่ไปทั่วโลก ก็จะกว้างขวางไปทั่วโลก

ดังที่ตรัสสอนไว้ว่าให้เจริญจิตที่มีเมตตาแผ่ไปในโลกทั้งสิ้น จิตก็จะกว้างขวางไปทั่วโลก

โดยปราศจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายมีโทสะเป็นต้น คือปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕

 

จิตที่กว้างขวางไปทั่วโลกนี้คือจิตที่ถึงความกว้างขวาง

แต่ว่าจิตที่ไม่ได้ทำสมาธิดังนี้เป็นจิตที่ยังประกอบด้วยกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

คือด้วยนิวรณ์ทั้งหลายอยู่ ย่อมเป็นจิตที่ไม่กว้างขวางดั่งนี้

เป็นจิตที่คับแคบถูกควบคุมอยู่ด้วยกิเลสดังกล่าว จึงเรียกว่าเป็นจิตที่เล็ก

เป็นจิตที่คับแคบ เป็นจิตที่ไม่กว้างขวาง ก็ให้รู้

 

จิตที่ตั้งมั่นคือปฏิบัติสมาธิทำจิตให้ตั้งมั่นในกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อจิตตั้งมั่นก็ให้รู้

จิตไม่ตั้งมั่นยังว่อกแว่กกระสับกระส่ายทุรนทุราย ก็ให้รู้

ซึ่งในการปฏิบัติทำสมาธินี้จะต้องมีสติกำหนดรู้ พร้อมทั้งปัญญา หรือญาณ

คือหยั่งรู้ในการปฏิบัติกรรมฐาน คือยกขึ้นปฏิบัติ เช่นปฏิบัติกำหนดในกาย ในเวทนา

หรือในจิตนี้ก็ตาม ต้องยกจิตขึ้นตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ

คือเมื่อพิจารณากาย เช่นหมวดอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็ตั้งจิตกำหนดดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

เมื่อจิตตั้งอยู่ก็ย่อมรู้ หมายความว่าเมื่อสติตั้งอยู่ก็ย่อมรู้

เพราะจิตที่ตั้งอยู่ก็คือสติตั้งอยู่นั้นเอง

 

ถ้าหากว่าจิตไม่ตั้งอยู่คือสติไม่ตั้ง ที่เรียกว่าสติเลื่อนลอยไป ก็ไม่รู้

ในข้อจิต ในข้อเวทนาในข้อจิตนี้ก็เหมือนกัน

เมื่อสติตั้งกำหนดอยู่ก็ย่อมรู้จิตที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร

เช่นกำลังทำสมาธิก็ดูสมาธิที่กำลังทำนี้ว่าจิตตั้งอยู่หรือไม่ ก็ย่อมรู้ จิตไม่ตั้งก็ย่อมรู้

 

นี่แหละคือตัวสติและปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

และเมื่อจิตไม่ตั้งก็ต้องมีสตินี่แหละนำจิตเข้ามาตั้งไว้อันเรียกว่าวิตก

และมีสตินี้เองคอยประคองจิตให้ตั้งอยู่เป็นวิจาร

จิตตกไปก็มีสตินำเข้ามาตั้งไว้ใหม่ ประคองไว้ใหม่

จิตตกออกไปอีกก็มีสตินำเข้ามาตั้งไว้ใหม่ ประคองไว้ใหม่

ต้องมีความเพียรปฏิบัติดั่งนี้อยู่ โดยไม่ทิ้งความเพียร ไม่ทิ้งสติ ไม่ทิ้งสัมปชัญญะความรู้ตัว

ซึ่งเป็นลักษณะของปัญญาหรือญาณดังที่กล่าวมาแล้ว

 

และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ไม่ปล่อย นานเข้า จิตก็จะเชื่องเข้า

จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายออกไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลายในภายนอก

ก็จะสงบเข้า เชื่องเข้า มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

และเมื่อจิตเริ่มตั้งตัวได้ในอารมณ์ของสมาธิ ก็จะเริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ

ก่อนจะได้ปีติได้สุขในสมาธินั้น จิตนี้เคยได้สุข ได้ปีติได้สุขจากกามคุณารมณ์

ทั้งหลายในภายนอก เพลิดเพลินอยู่ แต่ไม่ได้ปีติได้สุขในสมาธิ

เมื่อจับมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ ก็ร้อน ไม่เพลิน ก็หนีออกไป

หนีออกไปสู่ที่เพลิดเพลินที่มีปีติได้สุข มีปีติมีสุข

แต่ครั้นเมื่อมาได้ปีติได้สุขจากสมาธิขึ้นแล้ว จิตก็จะเริ่มอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

เพราะว่าสบาย อยู่แล้วจิตสบาย มีความอิ่มใจ มีปีติ มีความสบายกายมีความสบายใจ

 

เพราะฉะนั้นปีติสุขนี้เองจึงเป็นสิ่งสำคัญ พยายามทำสมาธิให้ได้ปีติได้สุขแล้วจิตจะอยู่

จะไม่ไปเพราะว่าสบาย แต่เมื่อจิตยังไปนั้นก็เพราะว่าจิตยังไม่ได้ปีติได้สุขในสมาธิ

แต่ว่าเคยได้ปีติได้สุขในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย จึงออกไปหาสิ่งที่ตัวเองได้เคยเสวยปีติเสวยสุข เพราะจิตเองนั้นชอบปีติชอบสุข เคยได้ปีติได้สุขจากกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

แม้จะมีความทุกข์โศกเพราะกามคุณารมณ์ในบางครั้งบางคราว

แต่ก็ได้ปีติได้สุขในกามคุณารมณ์บางครั้งบางคราว สลับผลัดเปลี่ยนกันไป

ครั้นจับเข้ามาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิแล้ว ยังไม่ได้ปีติได้สุขดั่งนั้น

ถ้ายิ่งไม่เคยปฏิบัติด้วยแล้วก็ยิ่งจะไม่ชอบ เพราะยังไม่เคยได้สุขได้ปีติจากสมาธิ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่าปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ

วางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นลงไป เพื่อจะลงน้ำ ฉันใด

จิตที่จับมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิก็ฉันนั้น ก็จะดิ้นลงไปสู่น้ำคือกามคุณารมณ์

เพราะว่าจิตนี้เคยอยู่กับกามคุณารมณ์ เพลิดเพลินอยู่กับกามคุณารมณ์ทั้งหลายในโลก

เมื่อจับมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิจึงไม่สบาย ก็ดิ้นรนไปหาที่สบายของตัวเอง

แต่เมื่อมีสติพร้อมทั้งสัมปชัญญะ คือความกำหนด ระลึกกำหนด และความรู้ตัว

พร้อมทั้งปัญญาหรือญาณดังกล่าวนั้น คอยดึงจิตเข้ามาสู่อารมณ์ของสมาธิ อันเรียกว่าวิตก

คอยประคองเอาไว้ไม่ให้หลุดไป อยู่เนืองๆอย่างไม่เบื่อหน่าย อย่างไม่ยอมละทิ้งแล้ว

เมื่อจิตเริ่มสงบจากความดิ้นรนดังกล่าว ก็จะเริ่มได้ปีติในสมาธิ ได้สุขในสมาธิ

จิตก็จะอยู่ตัว คือตั้งอยู่ได้นานเข้า จนถึงใกล้จะแนบแน่น จนถึงแนบแน่น

คืออยู่ได้นานตามกำหนดเวลาที่ต้องการ อย่างสงบจริงๆจิตไม่ว่อกแว่กออกไปไหน

ที่เรียกว่า เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว มียอดเป็นอันเดียว

มียอดคือมีอารมณ์เป็นอันเดียว ( เริ่ม ๑๔๖/๒ ) เป็นจิตที่เป็นตัวสมาธิ

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องให้มีสติไปรู้จิตอยู่เสมอ ปฏิบัติสมาธิไปก็มีสติที่รู้จิตอยู่เสมอ

ว่าปฏิบัติสมาธิ มีอาการเป็นอย่างไร ยังไม่ตั้งมั่น และตั้งมั่นขึ้นอย่างไร

จนถึงตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ให้รู้ ไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ ก็ปฏิบัติให้ตั้งมั่นขึ้นโดยลำดับ

และเมื่อดั่งนี้แล้วก็จะได้ผล คือจิตจะวิมุติหลุดพ้นในเมื่อจิตได้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

หลุดพ้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย คือจากนิวรณ์ทั้งหลายนั้นเอง

ในขณะที่จิตตั้งมั่น ก็ได้วิมุติคือความหลุดพ้น จิตไม่วิมุติก็ให้รู้ คือว่าจิตนั้นออกจากสมาธิ

หรือเลิกทำสมาธิ กิเลสก็กลับเข้ามาใหม่ จิตจึงยังอยู่กับกิเลสไม่พ้นจากกิเลส

กิเลสก็เข้ามาครอบงำ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้รู้ คือจิตที่ยังไม่วิมุติไม่หลุดพ้น

 

แต่ในการปฏิบัตินั้นก็ต้องปฏิบัติตั้งแต่ในขั้นต้นดั่งนี้ไป

คือเริ่มทำสมาธิจิตยังไม่ตั้งมั่น ก็มี อาตาปี คือมีความเพียรเผากิเลส

คือความเพียรที่จะระงับนิวรณ์ไม่ให้ดึงจิตไป

สัมปชาโน มีความรู้ตัวอันเป็นทางปัญญา และโดยเฉพาะก็คือว่ารู้ตัว ว่าตัวเป็นอย่างไร

สติมา มีสติ คือมีสติกำหนด

วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดอภิชฌาคือความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสีย

เมื่อมีคุณธรรมสำหรับปฏิบัติดังกล่าวมานี้เป็นอุปการะ

ก็จะทำให้จิตที่ไม่เป็นสมาธิคือไม่ตั้งมั่นนั้น มาเป็นสมาธิคือตั้งมั่นขึ้นโดยลำดับ

และจิตที่ไม่วิมุติคือหลุดพ้น ก็จะหลุดพ้นไปโดยลำดับ

 

แต่ในเบื้องต้นก็ต้องเป็นที่เรียกว่า ตทังควิมุติ

คือความหลุดพ้นด้วยองค์นั้น คือเช่นหลุดพ้นด้วยสมาธิ

ขณะที่มีสมาธิอยู่ก็หลุดพ้น ไม่มีสมาธิกิเลสก็กลับมา ก็ไม่พ้นไปใหม่

หรือว่า วิขัมภนวิมุติ หลุดพ้นด้วยการสะกดไว้ คือสะกดไว้ด้วยสมาธิ

หรือด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาให้รู้จักเกิดดับไปตามเป็นจริง

และเมื่อได้สติได้ปัญญาดั่งนี้แล้ว สติปัญญานี้ก็สะกดกิเลสเอาไว้ไม่ให้กำเริบขึ้น

และเมื่อออกจากการปฏิบัติสติปัญญาดังกล่าวนี้เลิกไป

กิเลสที่ถูกสะกดไว้ก็กลับขึ้นมาใหม่

 

ในเบื้องต้นก็ต้องปฏิบัติไปดั่งนี้

พ้นแล้วกลับไม่พ้น พ้นแล้วกลับไม่พ้น จิตตั้งมั่นแล้วกลับไม่ตั้งมั่น

และเมื่อปฏิบัติบ่อยๆเข้า จิตก็จะตั้งมั่นนานยิ่งขึ้นบ่อยเข้า

วิมุติก็จะได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น ไปจนถึงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด

จึงจะได้เป็นวิมุติที่เด็ดขาดไปโดยลำดับ จิตก็จะตั้งมั่นอยู่คงที่ตามชั้นตามภูมิที่ปฏิบัติ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

๑๐

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ธรรมะในจิต ๓

นิวรณ์ ๕ ๔

กามฉันท์ ๕

สุภนิมิต อโยนิโสมนสิการ ๖

อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ ๗

นิวรณ์ข้อพยาบาท ปฏิฆะนิมิต ๘

ผู้เจริญเมตตามีสุขก่อน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๗/๑ ( File Tape 112 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณา

ตามดูตามรู้ตามเห็นกาย เวทนา จิต ที่ได้แสดงมาโดยลำดับ

จะได้แสดงในข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม

อันการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูกาย

ซึ่งเป็นของหยาบก่อน อันจะพึงตั้งสติกำหนดดูได้ง่าย

 

และต่อจากกาย ก็ตรัสให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนา

ซึ่งบังเกิดมีอยู่ที่กายและใจอันนี้ อันเป็นข้อที่ละเอียดเข้า แต่เพราะยังเกี่ยวกับกาย

เพราะฉะนั้นแม้จะละเอียดเข้าเนื่องมาถึงจิต ก็ยังกำหนดได้ไม่ยากนัก

และต่อจากเวทนาจึงตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูจิตโดยตรง

และต่อจากจิตจึงตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะในจิต

ธรรมะในจิต

 

อันธรรมะในข้อที่ ๔ นี้ มีความหมายถึงธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นเอง

ทั้งที่เป็นส่วน กุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศลคือส่วนดี อกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นส่วนชั่ว

อัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นส่วนกลางๆ คือภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิตดังกล่าว

และได้ตรัสให้กำหนดดูส่วนอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นส่วนอกุศลก่อน

ทั้งนี้อาจจะเปรียบได้ว่า เมื่อตักน้ำมาใส่ขัน เมื่อดูน้ำก็ย่อมจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ

แต่ว่าควรจะเปรียบด้วยแหล่งน้ำที่ใหญ่กว่าขัน เช่นกำหนดดูแม่น้ำสายหนึ่ง

และในเบื้องต้นก็กำหนดดูตลิ่งของแม่น้ำ ซึ่งเที่ยบได้กับกาย

และกำหนดดูอากาศร้อนหรืออากาศเย็นซึ่งมีอยู่ในที่นั้น อัน (ฟังไม่ชัด)ด้วยเวทนา

จึงกำหนดดูน้ำเอง ก็จะเห็นน้ำในแม่น้ำ ถ้าน้ำในแม่น้ำนั้นขุ่นก็จะมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในแม่น้ำ

แต่ถ้าแม่น้ำนั้นใส ก็จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ในแม่น้ำ

 

เพราะฉะนั้นเมื่อดูน้ำที่ไหลไปอยู่ และน้ำก็ใส ก็ย่อมจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ

เช่นเป็นปลาเล็กปลาใหญ่ที่ว่ายไปว่ายมา

ตลอดจนถึงเห็นก้อนหินกรวดทรายเป็นต้นที่อยู่ภายใต้น้ำ

อันสิ่งที่เห็นในน้ำดังกล่าวนี้เทียบได้กับธรรมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดดูธรรม

คือภาวะที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต

 

เหมือนอย่างเมื่อดูที่แม่น้ำก็ย่อมจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ

แต่ว่าก็จะต้องดูน้ำก่อน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูจิตก่อน

แล้วจึงตรัสสอนให้กำหนดดูสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต ที่มีอยู่ในจิต

เหมือนอย่างกำหนดดูปลาเล็กปลาใหญ่ที่ว่ายไปว่ายมา

หรือว่าดูก้อนอิฐก้อนหินท่อนไม้เป็นต้น ที่อยู่ใต้น้ำ

เพราะฉะนั้นภาวะที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต ซึ่งเมื่อดูจิตก็ย่อมจะมองเห็น

แต่ว่าถ้าไม่กำหนดก็ย่อมจะไม่เห็นชัด

เพราะฉะนั้นเมื่อตรัสสอนให้กำหนดดูจิตแล้ว

จึงตรัสสอนให้กำหนดสิ่งที่มีอยู่ในจิต ที่เป็นไปอยู่ในจิตเป็นอันดับต่อไป

เป็นข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดูธรรมะคือภาวะที่มีอยู่ในจิต

 

นิวรณ์ ๕

 

อันธรรมะที่มีอยู่ในจิตนี้เป็นอรูปธรรม ธรรมะที่ไม่มีรูป คือเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป

แต่ว่ามีอยู่ และมีอยู่เป็นไปอยู่ในจิต เมื่อกำหนดดูจิต เห็นจิต ก็ย่อมจะเห็นภาวะที่อยู่ในจิต

ฉะนั้น ครั้นกำหนดดูจิตแล้ว จึงให้กำหนดดูภาวะที่มีอยู่ เป็นไปอยู่ในจิต

ภาวะดังกล่าวนี้สำหรับผู้ปฏิบัติทำสติปัฏฐาน ย่อมจะเป็นภาวะที่เรียกว่านิวรณ์

อันมีอยู่เป็นอันมากในจิตนี้ โดยปรกติของสามัญชนทั่วไป

เพราะฉะนั้นจึงตรัสให้กำหนดดูว่าบรรดานิวรณ์ทั้ง ๕ ที่ตรัสไปโดยลำดับ

ข้อใดเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต

 

คำว่านิวรณ์นั้นแปลว่าเครื่องกั้นจิต มิให้จิตเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว

และเมื่อกั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิ ก็เป็นอันกั้นจิตไม่ให้ได้ปัญญาที่จะรู้ที่จะเห็นตามเป็นจริง

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในกรรมฐานทั้งที่เป็นฝ่ายสมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ

และวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ที่ปฏิบัติกันอยู่

 

แต่ว่าผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่ารวมจิตได้ยาก จิตมักจะฟุ้งซ่านออกไป

จากอารมณ์ของกรรมฐานที่ตั้งกำหนด ไปสู่อารมณ์ภายนอกต่างๆ นี่แหละคือนิวรณ์

นิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นมีอยู่เป็นไปอยู่ในจิตนี้เอง คอยดึงจิตออกจากกรรมฐานที่กำหนดตั้งจิตไว้

ทำให้ไม่ได้สมาธิและไม่ได้ปัญญาต่อไป ที่บ่นกันว่าทำสมาธิไม่ได้ ก็เพราะว่านิวรณ์นี้เอง

ไม่สามารถที่จะระงับดับนิวรณ์ได้ ก็ทำสมาธิไม่ได้ จึงเรียกนิวรณ์ที่แปลว่าเครื่องกั้นดังกล่าว

และก็นับว่าเป็นกิเลสหมวดหนึ่ง กิเลสที่แปลว่าเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง

นิวรณ์ก็เป็นกิเลสหมวดหนึ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง เพราะกั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ

กามฉันท์

 

ข้อแรกก็คือกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือวัตถุที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ

หรือที่จิตใจนี้เองรักใคร่ปรารถนาพอใจ จะเป็นบุคคลก็ตาม เป็นสิ่งของก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งกามฉันท์แปลว่าความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกิเลสกาม

คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนา เป็นต้นว่าราคะความติดใจกำหนัดยินดี

โลภะความโลภอยากได้ นันทิความเพลิดเพลิน ในสิ่งที่รักใคร่พอใจทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้รักใคร่ปรารถนาพอใจนี้เอง

ที่ทำให้วัตถุที่ถูกรักใคร่ปรารถนาพอใจชื่อว่าวัตถุกาม อันแปลว่าสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

 

อันที่จริงนั้นวัตถุต่างๆ จะเป็นบุคคลก็ตาม

เป็นสิ่งของอะไรๆก็ตามทุกอย่างที่ตาแลเห็น ที่หูได้ยินเป็นต้น ก็เป็นวัตถุอยู่เฉยๆ

ถ้าบุคคลไม่มีกิเลสกาม คือไม่มีความรักใคร่ปรารถนาพอใจในสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่เป็นวัตถุกาม

แต่เมื่อบุคคลมีความรักใคร่ปรารถนาพอใจในสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงเป็นวัตถุกามขึ้น

หรือจะกล่าวว่าเมื่อบุคคลมีจิตใจรักใคร่ปรารถนาพอใจในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นวัตถุกามขึ้น

ท่านผู้ที่เป็นขีณาสวะคือสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสกาม เช่นพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านก็ยังมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายมีมนะคือใจ

ท่านก็เห็นอะไรๆทางตา ได้ยินอะไรๆทางหู ได้ทราบอะไรๆทางจมูกทางลิ้นทางกาย

และได้รู้ได้คิดอะไรทางมโนคือใจ แต่ว่าสิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยินเป็นต้นนั้น

ไม่เป็นวัตถุกามของท่าน

 

เพราะท่านไม่มีจิตใจที่รักใคร่ผูกพันอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งจึงเป็นวัตถุเฉยๆ

จะเป็นบุคคลก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นสิ่งของอะไรก็ตาม

แต่ว่าสามัญชนทั่วไปที่ยังไม่สิ้นกิเลส ยังมีกิเลสอยู่

และไม่ได้ปฏิบัติในอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อเห็นสิ่งใดเมื่อได้ยินสิ่งใด ถ้าหากว่าชอบก็มักจะมีกิเลสกามบังเกิดขึ้นในสิ่งนั้น

คือมีความรักใคร่ปรารถนาพอใจในสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงเป็นวัตถุกามขึ้นสำหรับผู้นั้น

เพราะฉะนั้นคำว่ากามฉันท์นี้จึงหมายถึงความพอใจรักใคร่ ในวัตถุที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

ด้วยกิเลสที่เป็นเหตุให้ปรารถนารักใคร่ ปรารถนาพอใจ

 

กามฉันท์จึงมีอยู่เป็นปรกติในจิตสามัญทั่วไป

และจิตสามัญทั่วไปนี้ก็มีปรกติที่ติดอยู่ในสิ่งนั้นๆด้วยอำนาจกามฉันท์

กามฉันท์จึงเป็นเหมือนอย่างว่าน้ำ อันเป็นที่อาศัยของปลาคือจิต

เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานที่ปฏิบัติ

จิตจึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพื่อจะไปอยู่กับกามคุณารมณ์

( เริ่ม ๑๔๗/๑ ) จับปลาขึ้นจากน้ำมาวางไว้บนบก ปลาก็ดิ้นที่จะลงน้ำ

เมื่อยกจิตขึ้นจากกามฉันท์ จิตก็มักจะดิ้นไปสู่กามฉันท์

 

สุภนิมิต อโยนิโสมนสิการ

 

เพราะฉะนั้น กามฉันท์นี้จึงเป็นนิวรณ์ข้อหนึ่ง

และกามฉันท์ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ด้วยว่าบังเกิดขึ้นจาก สุภนิมิต

คือความกำหนดหมายของจิตใจบุคคลนี้เองว่างดงาม น่ารักน่าชม

เมื่อจิตยึดเป็นสุภนิมิตคือเป็นเครื่องกำหนดของจิตว่างดงามน่ารักน่าชม ก็เกิดกามฉันท์ขึ้น

และเพราะประกอบด้วย อโยนิโสมนสิการ คือการที่ไม่ทำไว้ในใจ

กำหนดให้ถึงต้นกำเนิดของสุภนิมิตนั้น

 

และ โยนิโสมนสิการ นี้ท่านแปลไว้ทั่วไปว่า

ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถ้าไม่แยบคายก็ อโยนิโสมนสิการ

คำว่าโดยแยบคาย หรือโดยไม่แยบคายนี้ มาจากคำว่า โยนิโส หรือ อโยนิโส

แต่แปลตามศัพท์ว่าโดยต้นกำเนิด หรือไม่ใช่โดยต้นกำเนิด

 

เพราะฉะนั้นในข้อที่เป็นนิวรณ์ทั้งปวงนี้ ทุกข้อจึงประกอบด้วย อโยนิโสมนสิการ

แปลว่าการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โดยที่มิได้พิจารณาให้ถึงต้นกำเนิดของสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้น จึ่งได้กำหนดจิตใจของตนลงไปว่าสิ่งที่ได้เห็นได้ยินเป็นต้นนั้น

งดงามน่ารักน่าชม เพราะมิได้ทำไว้ในใจโดยพิจารณาให้ถึงต้นกำเนิด

 

ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนถึงวิธีที่จะไม่ให้อาหารแก่นิวรณ์ข้อนี้

โดยเปรียบเทียบว่านิวรณ์ข้อนี้นั้น มีอาหารก็คือสุภนิมิตดังกล่าว

กับอโยนิโสมนสิการที่ทำให้บังเกิดขึ้น และมีกำลัง

แต่ถ้าไม่ให้อาหาร โดยที่ปฏิบัติในทางที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ข้อนี้

นิวรณ์ข้อนี้ก็ดับไปได้ และไม่เกิด

 

อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ

 

ข้อพึงปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ข้อนี้ก็คือ อสุภนิมิต

กำหนดหมายจิตในสิ่งนั้นว่าไม่งดงาม ไม่น่าดูไม่น่าชม ไม่น่าติดใจ

โดยมี โยนิโสมนสิการ คือการทำไว้ในใจพิจารณาให้ถึงต้นกำเนิด

ก็จะพบว่าสิ่งนั้นที่เข้าใจว่างดงามน่ารักน่าชมนั้น ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม

ไม่น่ารักไม่น่าชม

 

ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณา กายคตาสติ สติที่ไปในกาย

เพียง ๕ ข้อที่ตามองเห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือว่าทั้ง ๓๑, ๓๒ ข้อ

ดังที่แสดงไว้ในหมวดกายคตาสติ เมื่อพิจารณาให้ถูกต้องแล้ว

ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม เป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ไม่น่ารักไม่น่าชม

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติในทางที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ข้อนี้ นิวรณ์ข้อนี้ก็จะดับ

หรือที่เกิดก็จะดับ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

 

นิวรณ์ข้อพยาบาท ปฏิฆะนิมิต

 

มาถึงข้อ ๒ ที่คู่กันก็คือพยาบาทความโกรธแค้นขัดเคือง

จนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย เมื่อบังเกิดขึ้นในจิตก็เป็นนิวรณ์กั้นจิตไม่ให้ได้สมาธิ

เพราะว่าจิตที่มีพยาบาทมีโทสะเป็นจิตที่หยาบ ที่ร้อน งุ่นง่านไม่สงบ

พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสให้ทราบถึงอาหารที่ทำให้พยาบาทเกิดขึ้นก็คือ ปฏิฆะนิมิต

ความกำหนดหมายของจิตว่ากระทบกระทั่ง อันเป็นตัวเริ่มต้นของโทสะพยาบาท

มีอาการที่เป็นความหงุดหงิด คือจิตถูกกระทบให้เป็นทุกข์ ก็เกิดความหงุดหงิด

เหมือนอย่างขีดไม้ขีดขึ้นทีแรก และเมื่อเอาไม้ขีดนี้ไปจุดนั่นจุดนี่ ก็ลุกเป็นไฟกองโตขึ้น

ก็เป็นโกธะโทสะพยาบาท ก็เผาไหม้จิตใจนี้เองให้เร่าร้อน

โดยที่มีอโยนิโสมนสิการ คือมีความกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

โดยไม่พิจารณาให้ถึงต้นเหตุ ถึงต้นกำเนิดนั้นเอง

 

และก็ได้ตรัสทางปฏิบัติสำหรับที่จะไม่เป็นอาหารของพยาบาท

ก็คือ เมตตาเจโตวิมุติ กับ โยนิโสมนสิการ คือทำจิตให้มีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข

อันจะทำให้ใจนี้พ้นจากโทสะพยาบาทได้ อาศัยโยนิโสมนสิการ

การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือพิจารณาให้เห็นต้นกำเนิด

ว่าต้นกำเนิดของพยาบาทนี้ ก็มาจากความที่กระทบกระทั่ง และส่งเสริม

เหมือนอย่างเอาไม้ขีดๆ ก็เกิดไฟขึ้นที่หัวไม้ขีด หากว่าดับเสียแค่นี้ ก็ดับได้ง่ายนิดเดียว

แต่เมื่อใช้ไฟหัวไม้ขีดนี้ไปเป็นเชื้อ ไปเป็นเชื้อเป็นชนวน ไปจี้ไปจ่อที่กองกระดาษ

กองเสื้อผ้า หรือว่าน้ำมัน ก็จะเกิดเป็นไฟที่ลุกใหญ่โต ดับยาก

 

เพราะฉะนั้น ต้นกำเนิดจึงอยู่นิดเดียวเท่านั้นที่กระทบกระทั่ง

โดยที่ได้ปล่อยให้จิตนี้มีความรู้สึกหงุดหงิดที่ถูกกระทบกระทั่งทีแรกนั้นกำเริบขึ้น

ดับเสียตั้งแต่ทีแรกแล้วโทสะพยาบาทต่างๆก็จะไม่เกิด

แต่ถ้าไปกำหนดหมายมั่นใจในความกระทบกระทั่ง ว่าเขาด่าเรา เขาทำร้ายเรา

เขาลักขะโมยของๆเรา เขานินทาเรา เป็นต้น ส่งเสริมให้ความกระทบกระทั่งนี้มากขึ้นๆแล้ว

ก็จะกลายเป็นโทสะพยาบาท เหมือนอย่างไฟที่หัวไม้ขีดนิดเดียวนั้น

ทำให้เกิดเป็นไฟลุกกองโต ถ้าดับเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว ก็ง่ายนิดเดียว

ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยจิตที่มีเมตตา ที่แผ่ออกไปให้เป็นสุข

 

โทสะนี้อาศัยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ คือที่ไม่ชอบ

เมื่อมาถูกกระทบเข้าก็รู้สึกเป็นทุกข์ ทุกข์ก็เป็นชนวนให้เกิดโทสะ

เพราะฉะนั้นก็มากำหนดดูให้รู้จักดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้จุดนิดหนึ่งนั้นดับไปได้

แต่ถ้าไปคิดส่งเสริมดั่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ว่าเขาด่าเรา เขานินทาเรา

เขาทำร้ายเราเป็นต้น ก็จะยิ่งโกรธมากเข้า มากเข้าๆ ก็ดับยาก

 

ผู้เจริญเมตตามีสุขก่อน

 

ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเมตตา เมื่อเจริญเมตตาแล้วจะทำให้จิตใจนี้มีสุข

คือเราผู้เจริญเมตตานั้นมีสุขก่อน และทำให้ผู้ที่ทำให้เราโกรธนั้น

เราจะทำให้หายโกรธด้วยเมตตานี้ได้ จะเกิดความมุ่งดีปรารถนาดีให้เขาเป็นสุขขึ้นแทน

ด้วยใช้วิธีคิดต่างๆ ว่าที่โกรธนี้ก็เพราะเราไปรับ ถ้าเราไม่รับเสียเราก็ไม่ถูกกระทบ

เหมือนอย่างรถสองคันที่วิ่งเข้ามา วิ่งมาประสานกันสวนกัน

ถ้าไม่หลีกกันก็ต้องชนกันกระทบกัน แต่ว่าคันหนึ่งหลีกเสียก็จะไม่กระทบ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราไม่มีตัวออกไปรับ เราหลีกทางเสีย เพียงเท่านี้เองความกระทบก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้น เมื่อเราหลีกทางเสียได้ดั่งนี้แล้วก็เป็นการตัดต้นไฟ จะไม่เกิดแม้แต่ไฟเท่าหัวไม้ขีด

ปฏิบัติในทางที่เราไม่เอาตัวออกรับ

 

ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยสอนพราหมณ์ผู้หนึ่งไว้ในทำนองนี้

อันนี้ต้องอาศัยที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผลให้ถูกต้อง

แล้วก็อาศัยเมตตานี้ทำให้ใจเองก็เป็นสุข

และทำให้ใครๆแม้คนที่เป็นศัตรู ก็ทำให้ระงับความรู้สึกว่าเขาเป็นศัตรูได้

และอำนาจของเมตตานี้ก็อาจจะแผ่ออกไปถึงจิตใจของเขานั้นให้กลับมาเป็นมิตรได้

 

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติในทางเมตตานี้

แล้วก็ใช้โยนิโสมนสิการกำหนดพิจารณาในใจให้ถึงต้นกำเนิด นำเอาเหตุผลมาใส่ไว้ในใจ

แล้วนำเอาเมตตามาปลูกฝังไว้ในใจ ก็จะดับนิวรณ์ข้อโทสะพยาบาทได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั่งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats