ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป113

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

อาหารของถีนมิทธะ ๓

อนาหารของถีนมิทธะ ๓

ลักษณะของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ๔

อาการที่แก้ง่วง ๕

อุทธัจจะกุกกุจจะ ๕

อาหารและอนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ ๖

อาหารและอนาหารของวิจิกิจฉา ๖

ข้อปฏิบัติในการตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์ ๘

กรรมฐานป้องกันและดับนิวรณ์ ๙

ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดนิวรณ์ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๗/๒ ( File Tape 113 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงสติปัฏฐานมาถึงธรรมานุปัสสนา ตั้งจิตกำหนดธรรม

ที่กำลังแสดงก็คืออกุศลธรรม ได้แก่นิวรณ์อันบังเกิดขึ้นในจิต

ที่ได้เปรียบเหมือนอย่างว่า จิตเหมือนอย่างน้ำ

เมื่อกำหนดดูจิตที่เป็นจิตตานุปัสสนา อันที่จริงก็เป็นการกำหนดดูธรรมะในจิตด้วย

แต่มุ่งเพ่งดูที่จิตเป็นที่ตั้ง ยังไม่เพ่งดูที่สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตเป็นที่ตั้ง

ครั้นเมื่อเพ่งดูจิต แล้วก็เพ่งดูสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต เหมือนอย่างว่าเพ่งดูน้ำในแม่น้ำ

เมื่อน้ำนั้นใสก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ เช่นเห็นปลาที่ว่ายไปว่ายมา

หรือเห็นก้อนหินท่อนไม้เป็นต้น

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์

อันเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตของสามัญชนทั่วไป ทั้ง ๕ ข้อ

ข้อใดบังเกิดขึ้นในจิตก็ให้รู้ข้อนั้น

และทั้ง ๕ ข้อนั้นได้แสดงข้อ ๑ คือกามฉันทะ ข้อ ๒ คือพยาบาท มาแล้ว

จะแสดงข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ ข้อที่ ๕ ต่อไป

 

อาหารของถีนมิทธะ

 

ข้อที่ ๓ คือถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้เป็นอาการของกายและใจ ที่ถูกความง่วงครอบงำ

อันทำให้ไม่มีกำลัง ทำให้เคลิบเคลิ้ม งุนงง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงสิ่งที่เป็นอาหารของถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มไว้

คือ อรติ ความไม่ยินดี คือไม่ชอบชื่น ไม่ร่าเริง ไม่ชอบใจ

ตันทิ ความเกียจคร้าน คืออาการที่รู้สึกเหนื่อยหน่าย ไม่เกิดความขมักเขม้น

วิชัมปริกา ความบิดกายแชเชือน ความเมาอาหาร ดังเมื่อบริโภคอาหารอิ่มก็มักจะง่วง

และความที่จิตใจย่อหย่อนท้อแท้

เหล่านี้ เป็นอาหารแห่งความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มอันเรียกว่าถีนมิทธะ

คือเป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

 

อนาหารของถีนมิทธะ

 

ส่วนสิ่งที่มิใช่เป็นอาหารของถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ที่ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งก็คือ อารัมภธาตุ ได้แก่ความเพียร

คือความที่มีใจกล้าหาญ ตรงกันข้ามกับความท้อแท้

เริ่มจับทำ หรือว่าเริ่มคิดอ่าน ไม่ปล่อยใจให้อยู่กับความง่วงงุนนั้น

แต่ยกใจขึ้นจับทำจับคิด เรียกว่าอารัมภธาตุ

 

นิคมธาตุ คือเมื่อเริ่มยกจิตขึ้นจับทำจับคิดแล้ว ก็ดำเนินต่อไป

มิใช่ว่าปล่อยจิตให้ตกไปสู่ความง่วง ความเคลิบเคลิ้ม ความท้อแท้ต่อไปอีก

ยกจิตขึ้นจับทำจับคิดต่อไปให้ได้ ( เริ่ม ๑๔๗/๒ ) และ ปรักมธาตุ เป็นข้อ ๓

ก็คือความยกจิต จับทำจับคิดขึ้นต่อไปดังกล่าวนั้น

ให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ ไม่ให้ถอยหลัง

 

ลักษณะของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

 

เพราะว่าจิตใจนี้ เมื่อมีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และพยายามยกจิตขึ้น

ที่จะทำที่จะคิดต่อไป แต่ก็ไม่ดำเนินไปได้ จิตตกไปสู่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มอีก

บางทีต่อไปได้หน่อยหนึ่งก็ตกอีก ต้องถอยหลังไปสู่ที่เก่า

ดังเช่น เมื่อกำหนดจิตสวดมนต์ เป็นการทำบริกรรมภาวนาในการสวดมนต์

ถ้าไม่นั่งตัวตรงดำรงจิตให้มั่น แต่ว่านั่งพิง ก็มักจะเกิดอาการเคลิ้ม หลับปุบขึ้น

ปรากฏเป็นความลืมว่าสวดไปถึงไหน ต้องย้อนหลังไปกลับสวดใหม่

หรือต้องนั่งนึกอยู่ครู่หนึ่งจึงจะระลึกนึกได้ว่าสวดถึงที่นั่นที่นี่

แล้วก็เผลอไผลไป ลืมไป นั่นคือความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อันทำให้จะสวดบทพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ ก็ไม่จบ

สวดไปได้หน่อยหนึ่งก็งีบไป ลืมไป จำไม่ได้ว่าสวดถึงไหน

ต้องตั้งต้นใหม่ แล้วก็งีบไปอีกเป็นดั่งนี้

 

บทหนึ่งควรจะสวดเพียงหนึ่งนาทีสองนาทีก็จบ

แต่เมื่อมีอาการง่วงงุนเคลิบเคลิ้มดั่งนี้

ก็ต้องใช้เวลาสวดอยู่เป็นสิบกว่านาที เพราะจะต้องกลับตั้งต้นใหม่ๆ

ฉะนั้นก็ต้องนั่งตัวตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า และก็ยกจิตขึ้นเริ่มสวดในใจ

แล้วก็ต้องสวดต่อไป ตอนที่เริ่มนั้นเรียกว่า อารัมภธาตุ

ตอนที่สวดต่อไปนั้นเรียกว่า นิคมธาตุ และต่อไปให้ก้าวหน้าไปจนจบ

ระวังจิตไม่ให้งีบหลับในระหว่าง ดั่งนี้เรียก ปรักมธาตุ

อาการที่แก้ง่วง

 

หากว่าถ้านั่งก็ยังแก้ง่วงไม่ได้ ก็ต้องเดิน

ด้วยวิธีผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

และด้วยอาการที่แก้ง่วงตามที่ตรัสสอนไว้ เช่นเอาน้ำลูบหน้า แหงนดูดาว เป็นต้น

จนถึงเมื่อแก้ไม่ไหวจริงๆก็ต้องให้นอน ต้องให้หลับ

เพราะความหลับนั้นเป็นความจำเป็นในการพักผ่อนร่างกายอย่างหนึ่ง

ในเมื่อควรจะนอนควรจะพัก ก็ต้องนอนต้องพัก แต่ในเวลาที่ไม่ควรจะนอนควรจะพัก

ก็ต้องปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติทางกรรมฐานตามกำหนด

 

แต่เมื่อได้มีอารัมภธาตุ เริ่มนิคมธาตุ ดำเนินปรักมธาตุ

ก้าวหน้าไปดั่งนี้แล้ว จึงจะแก้ง่วงได้ แต่การเริ่มเป็นต้นดั่งนั้นจะต้องเป็นธาตุ

ที่แปลว่า ธา-ตุ ความตั้งอยู่ความดำรงอยู่ เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะ

ก็แปลว่าดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ทรงอยู่ คือต้องให้ความเริ่มนั้นตั้งอยู่ได้ ไม่ตกวูบไป

ให้ความดำเนินนั้นตั้งอยู่ได้ ไม่ตกวูบไป ให้ความก้าวหน้านั้นตั้งอยู่ได้ ไม่ตกวูบไป

จึงจะเรียกว่าเป็น อารัมภธาตุ นิคมธาตุ ปรักมธาตุ ที่เป็นตัวที่ตั้งอยู่ได้ไม่ตกวูบไป

เมื่อทำให้ความริเริ่ม ความดำเนิน และความก้าวไปข้างหน้าเป็นธาตุ

คือเป็นความที่ตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้แล้ว ก็แก้ถีนมิทธะได้

เพราะว่าทั้ง ๓ นี้ไม่เป็นอาหารของถีนมิทธะ ไม่เป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะ

แต่ว่าทำให้ถีนมิทธะไม่เกิด และทำถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วให้สงบไปได้

 

อุทธัจจะกุกกุจจะ

 

ข้อที่ ๔ อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คืออาการที่จิตฟุ้งออกไป

หรือว่ารำคาญ หยุกหยิก มีอาการที่ตรงกันข้ามกับง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

คือไม่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม แต่ว่าฟุ้งออกไป หรือจุกจิกใจ ไม่สงบ

อาหารและอนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ

 

อาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ ก็คือธรรมะ

อันได้แก่สิ่งที่ทำใจให้ไม่สงบต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก เป็นอารมณ์ที่ดึงใจให้ฟุ้งออกไป

บางทีตัวปีติความอิ่มใจ สุขความสบาย ก็ทำให้ใจฟุ้งออกไปได้

หรือว่าบางทีความที่มีความคับใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่รู้สึกเป็นสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็ทำให้รำคาญ อันมีอาการที่ทำให้จิตนี้ไม่สงบ เพราะความรำคาญ

บาทีก็อาจเป็นชนวนให้เกิดความหงุดหงิด ความกระทบกระทั่ง ความโกรธได้

สิ่งที่ทำให้ใจไม่สงบเป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ส่วนสิ่งที่มิใช่อาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่ทำใจให้สงบได้

อันสิ่งที่ทำใจให้สงบได้นั้น ก็ดังเช่นการกำหนดจิตในกรรมฐานเป็นที่รวมใจ

เช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือแม้สิ่งอื่นที่ทำใจให้สงบ

 

อาหารและอนาหารของวิจิกิจฉา

 

ข้อ ๕ วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน

สิ่งที่เป็นอาหารของความสงสัยลังเลใจไม่แน่นอนนั้น

ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยต่างๆ ดังเช่น ความสงสัยในตนเอง

ว่าในอดีตตนเองเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร

หรือแม้ความสงสัยอย่างอื่นที่ไม่ควรจะมาตั้งความสงสัย

ในขณะที่ต้องการจะทำสมาธิ ก็มาตั้งข้อสงสัยขึ้นในเวลาที่ทำสมาธิ

เหล่านี้เป็นอาหารของวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

 

ส่วนสิ่งที่มิใช่เป็นอาหารของความเคลือบแคลงสงสัยนั้น

ได้แก่ธรรมที่เป็นกุศล ที่มิใช่กุศล ธรรมที่มีโทษ และที่ไม่มีโทษ

ธรรมที่เลวและธรรมที่ประณีต ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยสีดำสีขาว

ทั้งหมดนี้ก็หมายถึงทุกๆสิ่งที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลเป็นต้น

 

อันหมายความว่าเมื่อจิตกำหนดรู้แน่ลงไปแล้ว

ว่าอันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นอกุศล ก็ไม่สงสัยในเรื่องนี้

เมื่อจิตกำหนดรู้แน่ลงไปแล้ว ว่าสิ่งนี้มีโทษ สิ่งนี้ไม่มีโทษ ก็หมดความสงสัยในเรื่องนี้

เมื่อจิตกำหนดรู้ลงไปแล้วว่านี้เป็นข้อที่เลว นี้เป็นข้อที่ประณีต จิตก็ไม่สงสัยในเรื่องนี้

หรือว่าจิตกำหนดรู้ลงไปแน่แล้วว่า สิ่งนี้เทียบได้กับสีดำ ก็คืออกุศลทั้งหลาย

สิ่งนี้เทียบได้กับสีขาว ก็คือกุศลทั้งหลาย ก็ไม่สงสัยในเรื่องนี้

 

เพราะฉะนั้น เมื่อจะทำสมาธิ ก็ต้องไม่สงสัยในเรื่องเหล่านี้

คือต้องทำความกำหนดให้รู้ลงไปเสียก่อน ว่าข้อนี้เป็นกุศล ข้อนี้เป็นอกุศล เป็นต้น

และเมื่อกำหนดรู้แน่ลงไปในเรื่องใดแล้ว ก็ย่อมจะไม่สงสัยในเรื่องนั้น

แต่ว่าไม่ใช่มาคิดว่าเป็นกุศลหรืออกุศลในขณะที่ทำสมาธิ ซึ่งเป็นตัวความสงสัย

 

หมายความว่าให้พิจารณาให้รู้จักไว้ก่อน

และเมื่อรู้จักไว้ก่อนแล้ว ความสงสัยในเรื่องที่รู้จักนั้นก็ไม่เกิดขึ้น

ส่วนในเรื่องที่ไม่รู้จักก็ไม่ตั้งขึ้นเป็นข้อสงสัยในขณะที่ต้องการจะทำสมาธิ

แปลว่าต้องพักไว้ก่อน เมื่อเสร็จจากการทำสมาธิแล้ว ต้องการจะศึกษาให้รู้จัก

ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเป็นต้น จึงตรึกตรองพิจารณาทางปัญญาต่อไป

แต่ในขณะที่จิตสงบก็ไม่ยกขึ้นมาเป็นปัญหา

เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งที่เป็นปัญหาทั้งหลายนั้น กำหนดให้รู้จักมาก่อนแล้ว

และไม่ยกขึ้นเป็นปัญหาในขณะที่กำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ ความสงสัยก็ไม่เกิด

 

และอีกประการหนึ่งสิ่งที่เป็นอาหารสำคัญของทั้ง ๓ ข้อที่กล่าวมาในวันนี้

และ ๒ ข้อที่กล่าวมาแล้ว ทั้ง ๕ ข้อก็คือ อโยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ

แต่ว่า โยนิโสมนสิการ การทำใจไว้โดยแยบคาย

ไม่ใช่เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ คือไม่เป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์

และหากนิวรณ์บังเกิดขึ้นก็ดับได้ทุกข้อ

เรียกว่าเป็นอาหารของนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อคือ อโยนิโสมนสิการ

และไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อคือ โยนิโสมนสิกา

เป็นตัวเหตุที่เป็นสามัญคือทั่วไปที่จะทำให้นิวรณ์เกิด และที่ไม่ทำให้นิวรณ์เกิด

ทุกข้อประกอบอยู่ด้วยกับอาหาร และมิใช่อาหาร

เฉพาะข้อๆที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

ข้อปฏิบัติในการตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์ไว้ว่า

นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ข้อใดข้อหนึ่งมีอยู่ในจิต ก็ให้รู้ว่ามีอยู่ ไม่มีอยู่ในจิตก็ให้รู้ว่าไม่มีอยู่

นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ที่ยังไม่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด ก็ให้รู้เหตุอันนั้น

ในข้อนี้ก็คือให้รู้จักอาหารของนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อดังกล่าวแล้วนั้นเอง

ว่าเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น

 

การดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะพึงมีได้ด้วยประการใด

ก็ให้รู้ประการนั้น ก็คือว่าให้รู้จักสิ่งที่มิใช่อาหารของนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น

ว่าเป็นตัวเหตุที่จะดับนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ ที่จะละนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วได้

และนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น

ก็คือให้รู้ว่า เมื่อไม่ให้อาหารแก่นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นอีก

นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นที่ละไปแล้วก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

แต่ถ้ายังให้อาหารแก่นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นก็เกิดอีกได้

เพราะฉะนั้นนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น แม้ที่ละไปแล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกได้ต่อไป

ก็ต้องไม่ให้อาหารแก่นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นอีกต่อไป

กรรมฐานป้องกันและดับนิวรณ์

 

อนึ่ง ได้มีการแสดงกรรมฐานที่สำหรับใช้ปฏิบัติป้องกันและดับนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น

ในข้อกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือด้วยกิเลสกามให้ใช้ กายคตาสติ สติที่ไปในกาย พิจารณาว่าเป็นสิ่งไม่สะอาด ไม่งดงาม

เมื่ออสุภสัญญาคือความกำหนดหมายว่าไม่สะอาดไม่งดงามบังเกิดขึ้น (เริ่ม ๑๔๘/๑) ในจิตได้ กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไปได้

 

พยาบาทความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง ก็ให้ใช้กรรมฐานข้อเจริญ เมตตา

เมื่อเมตตาตั้งขึ้นในจิตได้ก็จะดับพยาบาทได้ จะป้องกันไม่ให้พยาบาทบังเกิดขึ้นได้

ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ท่านสอนให้ทำ อาโลกะสัญญา คือความสำคัญหมายในความสว่าง

ให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน โดยความสว่าง

และเมื่อใจสว่างถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด เกิดขึ้นแล้วก็จะหายได้

หรือว่าเจริญ พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

อันจะทำให้จิตใจมีความแช่มชื่นเบิกบาน มีศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส

ฉะนั้นเมื่อจิตแช่มชื่นเบิกบาน ศรัทธาเลื่อมใส

 

ความฟุ้งซ่านรำคาญใจอันเรียกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะ

ท่านสอนให้เจริญกรรมฐานที่รวมจิตเข้ามาเป็นหนึ่งคือ อานาปานสติ

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ตั้งสติกำหนดลมหายใจ

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ให้จิตที่เป็นตัวรู้นี้มารวมอยู่ที่ลมหายใจ

ความเคลือบแคลงสงสัยนั้นท่านสอนให้เจริญ ธาตุกรรมฐาน คือกำหนดพิจารณากายนี้

อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา คือเป็นก้อนที่เป็นตัวเราของเรา

จึงพิจารณาแยกออกไปว่าไม่เป็นก้อนที่เป็นตัวเราของเรา แต่เป็นธาตุดินน้ำไฟลมทั้ง ๔

หรือเติมอากาสธาตุ ธาตุอากาศเป็นที่ ๕ เป็นสักแต่ว่าธาตุไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

และเมื่อ อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเราในก้อนกายนี้สงบไป

มาเป็น ธาตุสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุ ที่มารวมกันเข้า

ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความสงสัยก็จะสงบ

 

เพราะว่าความสงสัยที่เป็นส่วนใหญ่บังเกิดมาจากตัวเราของเรา

หรือสิ่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา เพราะเมื่อมีความยึดถือดั่งนั้น ก็ย่อมจะสงสัยอยู่เสมอว่า

ในอดีตตัวเราของเราเป็นอย่างไร ในอนาคตตัวเราของเราเป็นอย่างไร ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ความสงสัยทั้งปวงนั้นจึงมีมูลมาจากตัวเราของเรานี่แหละ เป็นที่ตั้งอันสำคัญที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อสงบตัวเราของเราลงได้ คือว่าดับอัตตสัญญาลงได้

บังเกิดเป็นธาตุสัญญา ความสำคัญว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุขึ้นมา

ความสงสัยเหล่านี้ก็สงบลงไป

 

ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดนิวรณ์

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่าเมื่อเจริญกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง

ที่ต้องการจะปฏิบัติในข้อนั้นติดต่อกันไป

หากว่านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็ให้ปฏิบัติดับนิวรณ์ที่บังเกิดนั้นเสียก่อน

และเมื่อดับได้แล้ว จึงกลับไปจับปฏิบัติในกรรมฐานที่ต้องการจะปฏิบัตินั้นต่อไป

ดั่งนี้ก็ทำให้การปฏิบัติในกรรมฐานที่ต้องการนั้นเจริญก้าวหน้าได้

ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติทำความสงบ ทำสมาธิต่อไป

 

*

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๓)

ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สติกำหนดขันธ์ ๕ ๓

มหาภูตรูป อุปาทายรูป ๓

ความเกิดดับของรูป เวทนา ๔

ความเกิดดับของสัญญา ๕

ความเกิดดับของสังขาร ๕

ความเกิดดับของวิญญาณ ๖

ความเกิดดับของนามรูป ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๘/๒ ( File Tape 113 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (๓)

ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอน

ดังที่ทรงจำแนกสติปัฏฐานที่ตั้งของสติ ๔ ประการ คือกายเวทนาจิตธธรม

ทรงจำแนกแจกกายสำหรับตั้งสติกำหนดพิจารณา อันเป็นส่วนหยาบก่อน

แล้วจึงทรงจำแนกแจกเวทนาที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ

แล้วทรงจำแนกแจกจิตที่มีอาการต่างๆ อันเป็นส่วนละเอียดยิ่งขึ้น

แล้วทรงจำแนกแจกธรรมคือภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิต ซึ่งทำให้จิตมีอาการเป็นต่างๆ

และทำให้เกิดเวทนาตลอดถึงกาย ทั้งทำให้กายประกอบกรรมต่างๆ

 

ทั้งหมดนี้ย่อมเนื่องมาจากธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

จิตจะเป็นอย่างไรก็อาศัยธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

เวทนาส่วนหนึ่งก็อาศัยธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

กรรมที่บุคคลประกอบกระทำทางกายพร้อมทั้งวาจา ก็บังเกิดขึ้นจากธรรมะในจิต

และธรรมะในจิตนี้ ข้อที่มีเป็นพื้นในจิตของสามัญชนทั้งปวง

ที่ทำให้จิตเป็นกามาพจร หยั่งลงในกาม ก็คือกามฉันท์ทั้ง ๕

 

จึงได้ตรัสจำแนกกามฉันท์ทั้ง ๕

พร้อมทั้งเหตุที่ทำให้กามฉันท์เกิดขึ้น และเหตุที่ทำให้กามฉันท์ดับ

กับเหตุที่ทำให้นิวรณ์ข้ออื่นเกิดขึ้น เหตุที่ทำให้นิวรณ์ข้ออื่นดับ

และเมื่อได้ปฏิบัติในสติปัฏฐานมาโดยลำดับ จนถึงมาปฏิบัติในข้อนิวรณ์ที่ตรัสสอนนี้

ทำให้กามฉันท์ดับลงได้ จิตก็บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว สามารถที่จะกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ได้

 

สติกำหนดขันธ์ ๕

 

จึงได้ตรัสสอนให้ตั้งจิตกำหนด คือทำสตินั้นเองกำหนดขันธ์ ๕ ซึ่งทุกๆคนมีอยู่

ว่าอย่างนี้เป็นรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้

อย่างนี้เป็นเวทนา ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้

อย่างนี้เป็นสัญญา ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้

อย่างนี้เป็นสังขาร ความเกิดขึ้นของสังขารอย่างนี้ ความดับไปของสังขารอย่างนี้

อย่างนี้เป็นวิญญาณ ความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปของวิญญาณอย่างนี้

คือตรัสสอนให้จำแนกแจกก้อนกายอันนี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

ออกไปเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 

มหาภูตรูป อุปาทายรูป

 

และได้ตรัสอธิบายไว้ในที่อื่นกล่าวโดยสรุป รูปที่ทุกคนมีอยู่นี้แบ่งออกเป็น ๒

คือ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ เป็นที่รวมสำคัญ

อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งอันเรียกว่าธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลอันเรียกว่าธาตุน้ำ

ส่วนที่อบอุ่นอันเรียกว่าธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวอันเรียกว่าธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป

และ อุปาทายรูป รูปอาศัย ซึ่งมีแสดงไว้มาก เป็นต้นว่าประสาททั้ง ๕

คือประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย

และวิสัยคืออารมณ์ของประสาททั้ง ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้อง เป็นต้น

ก็ให้ตั้งสติกำหนดดูเข้ามาให้รู้จักมหาภูตรูปและอุปาทายรูปทั้ง ๒ นี้

ว่าอย่างนี้คือรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้

 

ความเกิดดับของรูป เวทนา

 

ก็ตรัสสอนไว้ในที่อื่นว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม

เป็นเหตุเกิดของรูป กับอาหารเป็นเหตุเกิดของรูป

คือรูปเกิดจากอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม และอาหาร

และรูปนี้เมื่อเกิดขึ้น ก็ดับไปเป็นธรรมดา ดังที่มีแสดงไว้ให้กำหนดในหมวดกาย

เมื่อกายอันเป็นส่วนรูปยังประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็ยังดำรงชีวิตอยู่

เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ร่างกายอันเป็นส่วนรูปนี้ก็กลายเป็นศพ ก็เป็นความดับ

และความเกิดของรูปนั้น ก็เริ่มเกิดก่อขึ้นตั้งแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา

เติบใหญ่ขึ้นแตกเป็นปัญจสาขากิ่งทั้ง ๕ มีอายตนะบริบูรณ์คลอดออกมา

รูปกายนี้ก็เป็นเด็กเล็ก แล้วก็เติบโตขึ้นด้วยอำนาจของความชราที่เปลี่ยนแปลงไป

และอาพาธป่วยไข้จนถึงดับ คือแตกสลายในที่สุด ก็เป็นความดับ

อันเป็นความเกิดความดับที่พิจารณาเห็นได้ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตา

ส่วนเกิดดับของรูปที่เป็นอย่างละเอียดนั้นมีอยู่ทุกขณะ อันจะพึงเห็นได้ด้วยปัญญา

ก็ให้รู้ว่าอย่างนี้เป็นรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้

 

มาถึงเวทนา ก็เป็นความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ดังที่ตรัสแสดงไว้ในหมวดเวทนาแล้ว และความเกิดความดับของเวทนานั้น

ก็เนื่องมาจากอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมเหมือนกัน และอาศัยสัมผัสในปัจจุบัน

จึงทำให้ทุกคนมีสุขมีทุกข์มีเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข กลับไปกลับมากันอยู่ทุกเวลา

สุดแต่สัมผัส เมื่อสัมผัสเกิดเวทนาก็เกิด เมื่อสัมผัสดับเวทนาก็ดับ

จนถึงเมื่อกายแตกสลายในที่สุดชีวิต เวทนาก็ดับหมด ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักเวทนา

ว่าอย่างนี้เวทนา ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้

 

ความเกิดดับของสัญญา

 

สัญญาที่เป็นความรู้จำ ที่ทุกคนมีความจำ จำนั่นจำนี่ต่างๆได้

สรุปเข้าก็เป็นจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ และจำเรื่องราวที่ใจคิดใจรู้

นี้เป็นสัญญาคือความจำ และสัญญาคือความจำนี้ก็เกิดจากอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม

ด้วยกันกับรูปเวทนา และอาศัยสัมผัสในปัจจุบัน เมื่อสัมผัสเกิด เวทนาเกิด สัญญาก็เกิดตาม

เมื่อสัมผัสดับ เวทนาก็ดับ สัญญาก็ดับตาม

 

( เริ่ม ๑๔๘/๒ ) และเมื่อกายนี้แตกสลายในที่สุดก็ดับหมด

และสัญญานี้ก็มีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน ดังความจำที่เป็นสัญญา

จำได้แล้วก็ลืม บางอย่างก็ลืมง่าย บางอย่างก็ลืมยาก บางอย่างถ้าไม่ทบทวนทิ้งไว้ไม่นานก็ลืม

เป็นความเกิดความเสื่อมดับของสัญญาซึ่งเป็นธรรมดา เมื่อทบทวนไว้ก็ดำรงอยู่นาน

ทบทวนอยู่เสมอก็ดำรงอยู่ได้เสมอ เป็นธรรมดา ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักว่า อย่างนี้เป็นสัญญา

ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้

 

ความเกิดดับของสังขาร

 

สังขารความคิดปรุงหรือความปรุงคิด

ปรุงคิดไปในเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องโผฏฐัพพะ

และเรื่องที่ใจคิดใจรู้บ้าง ตามสัญญาคือความจำ

เพราะจะคิดปรุงหรือปรุงคิดได้ก็ต้องจำได้ จะเอาเรื่องที่จำไม่ได้มาคิดมาปรุงก็ไม่ได้

และความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนั้น ก็เป็นไปในทางดีบ้าง เป็นไปในทางไม่ดีบ้าง

เป็นไปในทางที่เป็นกลางๆบ้าง คือเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง

เป็นอัพยากฤตคือไม่พยากรณ์ว่ากุศลหรืออกุศล คือเป็นกลางๆบ้าง

 

ความเกิดขึ้นของสัญญานั้น ก็เริ่มมาจากอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม

เช่นเดียวกับรูปเวทนาสัญญา และก็อาศัยสัมผัส เพราะเมื่อสัมผัสก็เกิดเวทนา

เมื่อมีเวทนาก็มีสัญญา เมื่อสัญญาก็มีสังขาร สืบต่อกัน

และก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป และเกิดขึ้นดับไปดั่งนี้เรื่อยไป

จนถึงกายแตกสลายในที่สุดก็ดับหมด

 

ความเกิดดับของวิญญาณ

 

วิญญาณความรู้ที่เรียกว่าเห็นรูป ความรู้ที่เรียกว่าได้ยินเสียง

ความรู้ที่เรียกว่าทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ ความรู้ที่เรียกว่าคิดหรือรู้เรื่องราว

ในเมื่อตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งถูกต้อง

มโนคือใจและเรื่องราว มาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณ และวิญญาณนี้ก็เกิดเนื่องมาจาก

อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมเช่นเดียวกับอีก ๔ ข้อข้างต้น และเกิดขึ้นในปัจจุบัน

จากการที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันดังกล่าว ก็เป็นวิญญาณ

เมื่ออายตนะทั้ง ๒ มาประจวบกันในเรื่องอันใด ก็เป็นวิญญาณในเรื่องอันนั้น

แล้วก็ดับไปพร้อมกับเรื่องนั้น

 

อายตนะคู่อื่นประจวบกันในเรื่องอื่น ก็เป็นวิญญาณในเรื่องอื่นนั้น แล้วก็ดับไป

เกิดดับเป็นเรื่องๆไป จนกายแตกสลายก็ดับในที่สุดพร้อมกันหมด

ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักวิญญาณว่าเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของวิญญาณ

ก็เกิดขึ้นจากอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม เช่นเดียวกับ ๔ ข้อข้างต้นดังกล่าว

และความดับไปของวิญญาณก็เป็นอย่างนี้

ก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในเมื่ออายตนะภายนอกภายในมาประจวบกันในเรื่องใด

เมื่อเรื่องนั้นผ่านไปก็ดับไป

 

ความเกิดดับของนามรูป

 

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณทั้ง ๔ นี้เป็นนามธรรม หรือย่อเข้าเป็นนาม

รูปเป็นรูปธรรม ย่อเข้าก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น จึงรวมเข้าเป็นรูปนาม

แต่มักเรียกสลับกันว่านามรูป เอานามไว้ข้างต้นรูปไว้ข้างหลัง

ทุกคนมีนามรูปอยู่ด้วยกันดั่งนี้ และนามรูปต่างก็ทำงาน ต่างก็เกิดดับอยู่ทุกขณะ

แต่มีสันตติคือความสืบต่อตลอดเวลาที่ชีวิตยังดำรงอยู่

จนเมื่อร่างกายแตกสลายก็ดับไปด้วยกันทั้งหมดทั้งรูปทั้งนาม

ที่เรียกว่ามรณะคือความตายอันมีในที่สุดของชีวิต

 

ความเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาตั้งแต่เป็นกลละ

มีคันธัพพะคือสัตว์ที่มาบังเกิดเข้าอาศัย ก็เริ่มเป็นปฏิสนธิวิญญาณ

จนถึงในที่สุดสิ่งที่มารวมกันเป็นก้อนกายมีใจครองนี้ก็แตกสลาย ก็เป็นความดับในที่สุด

แต่ว่าในระหว่างๆนั้น ทั้งนามรูปนี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่เกิดดับๆอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย

อยู่เสมอไปทุกอารมณ์ อันเป็นอย่างละเอียด และความเกิดดับทุกอารมณ์นั้น

ก็พึงเข้าใจคำว่าอารมณ์ อันได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง

 

และจิตนี้เมื่ออายตนะภายนอกภายในประจวบกัน

จิตนี้ก็น้อมออกไปรู้สิ่งที่มากระทบนั้น เช่นเมื่อตากับรูปมาประจวบกัน

จิตก็น้อมออกรู้รูป เรียกว่ารู้เรื่องรูป แม้ข้ออื่นก็เหมือนกัน

และความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้นี้เองเรียกว่านามที่แปลว่าน้อม น้อมไป น้อมไปรู้

และเมื่อจิตน้อมออกไปรู้เรื่องรูปที่ตาเห็น

ความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้นี้ ทีแรกก็เป็นวิญญาณขึ้นก่อน คือเห็นรูป

และอายตนะภายในคือตา อายตนะภายนอกคือรูป กับวิญญาณที่เห็นรูปนั้น

มารวมกันก็เป็นสัมผัส แปลว่ากระทบ กระทบอะไร ก็กระทบจิตนั้นเอง

สัมผัสจิต จึงเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร

 

แล้วในขณะที่คิดปรุงปรุงคิดที่เป็นสังขารนั้น ก็เป็นวิญญาณคือรู้ไปด้วย

ตัวเรื่องที่คิดที่ปรุงนั้นก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร สืบต่อไปอีก

จึงสุดสิ้นในเรื่องรูปที่ตาเห็นนั้น วิญญาณสัมผัสเวทนาสัญญาสังขารก็ดับหมดไปในเรื่องนั้น

วิญญาณไปเห็นเรื่องอื่นก็ตั้งต้นใหม่ในเรื่องนั้น แล้วก็ดับไป

เห็นเรื่องอื่นก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อีก ๕ ทางที่เหลือก็เหมือนกัน

 

จึงเกิดดับอยู่ในเรื่องทั้งหลายทุกเรื่อง

นี้เป็นนามธรรมะที่เป็นปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เกิดดับไปอยู่ทุกเรื่อง

ให้ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในหมวดขันธ์ ๕ นื้

อันเป็นหมวดสำคัญ เป็นไปทางปัญญา อันสืบจากสติ

หรือเป็นวิปัสสนา อันสืบจากสติ สืบจากสมาธิ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats