ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป114

อายตนะ สัญโญชน์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สัญโญชน์ ๓

ความยินดียินร้าย ๔

สติกำหนดดูสัญโญชน์ ๕

ต้นทางของสัญโญชน์ ๖

จิตผูกเพราะเวทนา ๗

สติที่เป็นตัวสติปัฏฐาน ๘

ข้อที่เรียกว่าเกิดดับ ๘

สันตติความสืบเนื่อง ๙

สติกำหนดรู้ ๒ ประการ ๑๐

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๔๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๔๙/๑ ( File Tape 114 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อายตนะ สัญโญชน์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระมหากรุณาจำแนกแจกธรรมสั่งสอน

เราทั้งหลายจึงสามารถได้ทราบสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นต้น

ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางจิตอันสำคัญที่พระองค์ได้ทรงจำแนกไว้

ดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับในหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต หมวดธรรม

ซึ่งแสดงย่อยออกไปในหมวดธรรมนี้ เริ่มแต่ตรัสสอนให้รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕

ตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ และจากขันธ์ ๕ ก็ตรัสสอนให้รู้จักอายตนะ

ซึ่งจะได้อธิบายในวันนี้

 

อายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อ มี ๒ อย่าง

คืออายตนะที่ต่อภายใน กับอายตนะที่ต่อภายนอก

ที่เรียกว่าอายตนะอันแปลว่าที่ต่อนั้น ก็เพราะทั้งภายในทั้งภายนอกนี้มาต่อกันเข้า

คือมาประจวบกับเข้า ไม่ใช่ต่อกับอะไรอื่น ก็ต่อกันระหว่างภายนอกและภายในนี้เอง

ภายในนั้นก็ได้แก่จักขุคือตา โสตะคือหู ฆานะคือจมูก ชิวหาคือลิ้น กายะก็คือกาย มโนก็คือใจ

ส่วนอายตนะที่ต่อภายนอกนั้นก็ได้แก่รูปะคือรูป สัททะคือเสียง คันธะคือกลิ่น ระสะคือรส

โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ธรรมะคือเรื่องราว

 

ต้องกำหนดเอาไว้ว่าคำว่าธรรมะนี้มีใช้ได้หลายอย่าง

แต่ธรรมะในที่นี้ไม่ใช่ธรรมะคือคำสั่งสอน หรือธรรมะคือคุณธรรมเป็นต้นอย่างอื่น

แต่ว่าเป็นเรื่องราว เพราะว่าไม่ใช่เป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ

แต่เป็นเรื่องราวของรูปของเสียงของกลิ่นของรสของโผฏฐัพพะนั้นอีกทีหนึ่ง

 

สัญโญชน์

 

อายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ เป็นสิ่งที่คู่กัน

ตาก็คู่กับรูป หูก็คู่กับเสียง จมูกก็คู่กับกลิ่น ลิ้นก็คู่กับรส

กายก็คู่กับโผฏฐัพพะ และมโนคือใจก็คู่กับธรรมะคือเรื่องราว

และพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ รู้จักตา รู้จักรูป และให้รู้จักว่าอาศัยตาและรูป

บังเกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น ความผูกหรือความผูกพัน

อาศัยหูกับเสียง ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น

อาศัยจมูกกับกลิ่น ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น

อาศัยลิ้นกับรส ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น

อาศัยกายกับสิ่งที่กายถูกต้อง ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น

อาศัยมโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น

 

และตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์จะบังเกิดขึ้นได้ด้วยประการไร

ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะดับไปด้วยประการไร

ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่ดับไปคือละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกได้ด้วยประการไร

โดยตรัสสอนให้รู้จักเหตุที่จะทำให้สัญโญชน์เกิด เหตุที่จะทำให้สัญโญชน์ดับคือละไปได้

เหตุที่จะทำให้สัญโญชน์ที่ดับคือละไปได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีก

 

ความยินดียินร้าย

 

ในข้อนี้ก็ควรทำความเข้าใจไปตามที่ตรัสสอนไว้นี้ก่อนว่า

โดยปรกตินั้นทุกๆคน เมื่อตากับรูปมาประจวบกัน คือว่าเห็นรูปอะไรทางตา

ก็จะเกิดสัญโญชน์คือความผูกพันใจ คือจิตจะผูกพันอยู่กับสิ่งที่ตาเห็นนั้น

ผูกพันอยู่กับรูปที่ตาเห็นนั้น ด้วยอำนาจของความรักบ้าง ความชังบ้าง

หรือว่าด้วยอำนาจของความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง หรือว่าเติมด้วยความหลงบ้าง

แต่ว่าในสติปัฏฐานนี้มักจะตรัสเพียงยินดียินร้าย คือชอบหรือชัง

เพราะว่าย่อมมีความหลงหนุนอยู่ทั้งสองอย่าง คือว่าหลงชอบหลงชัง

จึงไม่แยกเอาความหลงไว้อีกกองหนึ่ง เอารวมเข้าด้วยกัน

เอารวมเข้าด้วยกัน

 

( เริ่ม ๑๔๙/๑ ) ความผูกพันนี้ท่านแสดงเอาไว้ว่าเป็นตัวฉันทราคะ

คือความติดด้วยอำนาจความพอใจ คือยกเอาแต่สิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่พอใจ

อันเป็นกามคุณารมณ์เป็นที่ตั้งไว้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อจะกล่าวให้หมด

ก็กล่าวถึงความชัง หรือความยินร้ายไว้ด้วย เป็นความยินดีความยินร้าย

แต่มักแสดงอธิบายสัญโญชน์คือความผูกพันนี้ไว้เป็นความยินดี

แต่ก็หมายคลุมถึงความยินร้ายด้วย

 

เพราะเมื่อมีความยินดีก็ย่อมมีความยินร้าย

เมื่อมีความชอบก็ย่อมมีความชังคู่กัน คือจิตใจไม่เป็นกลาง

เมื่อมีจิตใจเป็นกลาง ก็จะไม่มีทั้งยินดีไม่มีทั้งยินร้าย ไม่มีทั้งชอบไม่มีทั้งชัง

ไม่มีทั้งรักไม่มีทั้งเกลียด จิตใจเป็นกลางๆ

แต่ปรกตินั้นจะเกิดสัญโญชน์คือความผูกพัน ปรากฏเป็นฉันทราคะ

ความติดด้วยอำนาจความพอใจ ด้วยอำนาจแห่งความติดใจยินดี

หรือเรียกสั้นว่าความยินดีหรือความชอบอยู่เป็นปรกติ

อาศัยหูกับเสียงก็เกิดสัญโญชน์ขึ้นดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

สติกำหนดดูสัญโญชน์

 

เพราะฉะนั้น จึงให้มีสติคอยกำหนดดู

ในขณะที่ตากับรูปประจวบกัน คือเห็นอะไร หูกับเสียงประจวบกัน คือได้ยินอะไร

ก็ย่อมจะพบว่าจิตนี้ยึดอยู่ในสิ่งที่เห็นที่ได้ยินนั้นเป็นต้น และก็ยินดีก็ยินร้าย

แต่บางอย่างถ้าเป็นสิ่งที่เป็นพื้นเป็นธรรมดาสามัญ จิตก็ไม่ยึดเป็นสัญโญชน์คือผูกใจ

ถ้าหากว่าจิตจะมีสัญโญชน์คือผูกใจไปทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว

จะต้องมีเรื่องกลุ้มใจอยู่ในจิตใจมากมายอยู่ในวันหนึ่งๆ

 

เพราะในวันหนึ่งๆนี้ ทุกๆคนเห็นอะไรได้ยินอะไร

ได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร ได้คิดเรื่องอะไร นับไม่ถ้วน

แต่ว่ามีเป็นอันมากที่เห็นแล้วได้ยินแล้วเป็นต้นก็ผ่านไปๆ ไม่ได้เก็บเอามาเป็นอารมณ์ในจิตใจ

แต่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ จึงจะเกิดความติดใจ

หรือแม้ว่าไม่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ เรียกว่าเป็นสิ่งที่มากระทบกระทั่ง

ก็เกิดความกระทบกระทั่งจิต เกิดความไม่ชอบ เกิดความยินร้าย

ซึ่งวันหนึ่งๆก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

 

ก็เพราะจิตนี้เองยึดเป็นสัญโญชน์ขึ้นในจิต คือว่าผูกขึ้นในจิต

และเมื่อผูกขึ้นในจิตนี้ ถ้าผูกๆไว้น้อยก็จางไปเร็ว ถ้าผูกไว้มากก็จางไปยาก

จะตั้งอยู่ในจิตใจ เป็นความผูกอยู่ในจิตใจนาน เรียกว่าหลายชั่วโมง

หลายคืนหลายวัน หลายเดือนหลายปี ดั่งนี้ก็มี

สุดแต่ว่าสัญโญชน์ที่จิตผูกเอาไว้นี้จะผูกไว้มากเพียงไร

 

และแม้สิ่งที่จิตไม่ได้ผูกเอาไว้ในทางชอบหรือในทางชังดังกล่าว

เป็นสิ่งที่ประสบไปก็ผ่านๆไปๆ อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นกลางๆ

คือเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้ยินดี ไม่พอที่จะให้ยินร้าย ก็ผ่านไปๆ

แต่เรียกว่าผ่านไปโดยไม่รู้ ความผ่านไปโดยไม่รู้นี้จึงเรียกว่าเป็นโมหะคือความหลง

เรื่องที่เป็นกลางๆดั่งกล่าวนี่แหละ ที่ท่านว่าเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง

เพราะผ่านไปๆโดยไม่รู้

 

ต้นทางของสัญโญชน์

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำความรู้จักสัญโญชน์

ตรัสสอนให้ทำความรู้จักต้นทางของสัญโญชน์ คืออายตนะภายในอายตนะภายนอก

ที่มาประสบ มาประจวบกันนั้น เป็นต้นทางแห่งสัญโญชน์คือความผูก คือใจผูก

และตรัสสอนให้มีสติกำหนดดูให้รู้จัก ให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป

และให้รู้จักความผูกที่อาศัยตาและรูปนั้น โดยความผูกนั้นมาจากตาและรูปนั้น

และในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน

 

และในการที่พิจารณาให้รู้จักตาและรูป กับรู้จักตัวความผูกนั้น

ย่อมสัมพันธ์ไปถึงสติปัฏฐานที่ตรัสมาโดยลำดับ หรือที่ปฏิบัติมาโดยลำดับด้วย

ก็เพราะว่า อันอายตนะภายใน อายตนะภายนอกนั้น ก็อยู่ที่กายนี้เอง

คืออยู่ในหมวดกายที่ตรัสสอนมาให้ตั้งสติกำหนดตั้งแต่เบื้องต้น

และก็อาศัยเวทนาที่ตรัสมาในหมวดเวทนา อาศัยจิตที่ตรัสมาในหมวดจิต

และอาศัยนิวรณ์ที่ตรัสมาในหมวดนิวรณ์ อาศัยขันธ์ ๕ ที่ตรัสมาในหมวดขันธ์ ๕

คือต้องมีกายมีเวทนามีจิต จึงจะมีตากับรูปที่มาประจวบกัน

ทำให้เกิดสัญโญชน์คือความผูก

เพราะว่า อันอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย

อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นกายโดยตรง

ส่วนข้อ ๖ นั้น แม้ไม่ใช่กายโดยตรง เนื่องอยู่กับจิต

คือมโนใจกับธรรมะคือเรื่องราวเนื่องอยู่กับจิต

แต่ก็เป็นส่วนที่สัมพันธ์อยู่กับกาย อยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับกาย

เพราะฉะนั้น อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันเป็นส่วนกายนี้จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ได้

และเมื่อมีเวทนามีจิตประกอบอยู่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่ได้จึงจะเกิดสัญโญชน์คือความผูก

และความผูกนั้นก็มาที่จิต คือผูกอยู่ที่จิต คือจิตผูกนั้นเอง

 

จิตผูกเพราะเวทนา

 

และการที่จิตจะผูกนั้น

ก็เพราะเมื่ออายตนะภายนอกภายในมาประจวบกัน จะต้องเกิดเวทนา

อันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๒ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

และเวทนานี้บังเกิดที่ไหน ก็บังเกิดขึ้นที่กายบ้างที่จิตบ้าง แต่โดยตรงนั้นบังเกิดขึ้นที่จิต

แม้ว่าจะบังเกิดขึ้นที่กายก็เนื่องจากจิต จิตจะต้องรับด้วยจึงจะเป็นเวทนา

คือจิตนี้เองเป็นผู้เสวยเวทนา เป็นผู้กินเวทนา กินสุข กินทุกข์ กินกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็จิตนี้เอง ก็กินเวทนาสุขทุกข์ไม่ทุกข์ไม่สุขที่เป็นกลางๆ

ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน คืออาศัยตากับรูปมาประจวบกัน

หูกับเสียงมาประจวบกันเป็นต้น ก็เป็นเวทนาขึ้นมา ก็โดยที่จิตนี้เองเป็นผู้กิน

เป็นผู้เสวยสุขทุกข์หรือเป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุข

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน

จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูก ผูกใจผูกจิต อยู่ในเวทนาที่กินนั้น

เมื่อกินสุขเข้าไปก็ชอบใจ กินทุกข์เข้าไปก็ไม่ชอบใจ

กินที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขเข้าไปก็เฉยๆ แต่ความจริงก็กินเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่กิน

แต่ว่าเฉยๆก็เหมือนอย่างไม่ได้กิน ก็กินไม่ทุกข์ไม่สุขเหมือนกัน

 

สติที่เป็นตัวสติปัฏฐาน

 

เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ปฏิบัติให้เป็นสติปัฏฐานขึ้นในกายในเวทนาในจิตในธรรม

จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูก ผูกใจยินดี ผูกใจยินร้าย นี่เป็นตัวสัญโญชน์

หากว่าหัดปฏิบัติทำจิตให้เป็นสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนด

กำหนดให้รู้จักกาย ให้รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักนิวรณ์ ขันธ์ มาโดยลำดับแล้ว

สติที่เป็นตัวสติปัฏฐานนี้จะทำหน้าที่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือรู้จักหน้าตาของสิ่งเหล่านี้

รู้ทั้งภายในรู้ทั้งภายนอกของสิ่งเหล่านี้

 

เหมือนอย่างว่าเรารู้จักต้นไม้ ก็รู้จักทั้งภายนอกทั้งภายในของต้นไม้

เช่นรู้ว่าต้นสักภายนอกก็มีเปลือกภายในก็มีแก่น ต้นกล้วยมีแต่กาบแก่นไม่มี

ทั้งภายนอกทั้งภายใน คือว่ารู้จักสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งภายนอกทั้งภายในของสิ่งเหล่านี้

และอีกอย่างหนึ่งนั้นเมื่อรู้จักดั่งนี้แล้ว ตั้งสติกำหนดดู ตามดูกายเวทนาจิตธรรมข้อที่ผ่านมา

ก็จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งนั้น

อย่างกาย ตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก เวทนาสุขทุกข์ จิตที่มีอาการเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

นิวรณ์ที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์ที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ล้วนแต่มีเกิดมีดับ เป็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีดับไปเป็นธรรมดา

 

ข้อที่เรียกว่าเกิดดับ

 

เพราะฉะนั้น การรู้จักอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่มาประจวบกันนั้น

จึงไม่ใช่รู้จักแต่เพียงว่านี่ลูกตา นี่เป็นรูปที่ตาเห็นเท่านั้น

แต่ว่ารู้จักว่าทั้งตาทั้งรูปนี้เป็นกาย หรือเป็นรูป ที่มีเกิดขึ้น มีดับไปเป็นธรรมดา

ตาเองรูปเองก็ดับไป เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา การเห็นก็เกิดขึ้นดับไปเหมือนกัน

เพราะว่า เราพูดกันว่าตาเห็น แต่อันที่จริงนั้นวิญญาณเห็น หรือว่าจิตนี้เห็น

เห็นด้วยวิญญาณ คือเมื่อตารูปประจวบกันเกิดความรู้ขึ้นคือเห็น

ก็คือจิตนี้เองเป็นผู้รู้ คือเป็นผู้เห็น เห็นด้วยจิต สิ่งที่เห็นกับเครื่องเห็น คือรูปกับตานั้น

ทำหน้าที่เห็นทีหนึ่งก็เสร็จไปทีหนึ่ง อย่างเช่นทีแรกเห็นต้นไม้ต้นนี้

การเห็นต้นไม้ต้นนี้เกิดขึ้นดับไป ก็เห็นอีกต้นหนึ่ง ก็เกิดขึ้นดับไป

แล้วเห็นอีกต้นหนึ่งก็เกิดขึ้นดับไป สิ่งที่เห็นร้อยอย่าง เห็นกันคนละวาระทั้งนั้น

เพราะว่าจิตนี้จะรับอารมณ์ได้ทีละหนึ่งเท่านั้น จะรับอารมณ์ทีหนึ่งหลายอย่างไม่ได้

แต่เพราะเร็วมากจนเราไม่สามารถจะแยกได้

 

เหมือนอย่างว่าเมื่อดูภาพยนต์ เห็นภาพในจอภาพยนต์นั้นเป็นคนเดิน

แต่ถ้าไปดูฟีลม์ของภาพยนต์แล้วก็จะเห็นว่า มีรูปเล็กๆๆๆของอาการที่คนเดินนั้น

มากมายมาต่อกันเข้า เดินไปก้าวหนึ่งภาพก็เป็นภาพเล็กๆมากมายมาต่อกัน

เป็นแต่ละภาพทั้งนั้น แต่เมื่อมาฉายเข้าก็เห็นเนื่องกันเป็นอันเดียว เป็นกิริยาเดิน

ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน แต่อันที่จริงนั้นขาดเป็นท่อนๆท่อนๆท่อนๆทั้งนั้น

จิตที่เห็นรูปก็เหมือนกัน ก็ขาดเป็นเรื่องๆเรื่องๆเรื่องๆไป

แต่เพราะเร็วมากจึงรู้สึกว่าเห็นเป็นอันเดียวกัน

 

สันตติความสืบเนื่อง

 

การที่ขาดเป็นท่อนๆนั้นก็คือเกิดดับ เกิดดับ

เกิดดับอยู่ในระหว่างทั้งหมด แต่ว่ามีสันตติคือความสืบต่อ

จึงได้รู้สึกว่าติดต่อเป็นเรื่องเป็นราว และอายตนะของคนนั้นมีถึง ๖ ทาง

เพราะฉะนั้นจิตรับอารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง

ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ชั่วเวลาเวลาหนึ่งนาทีมากมายนับไม่ถ้วน

จิตนี้จึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ นาทีหนึ่งนับไม่ถูกว่าเท่าไหร่

แต่ว่าแต่ละเรื่องแต่ละราวนั้น ล้วนแต่เกิดดับๆในระหว่างทั้งนั้น ความจริงเป็นอยู่ดั่งนี้

แต่ว่าเมื่อไม่มีสติปัฏฐาน คือไม่มีสติพร้อมทั้งญาณที่จะมองเห็นเกิดดับ

จึงได้มีความยึดถือเป็นสัญโญชน์ แต่เมื่อเห็นเกิดดับแล้วจะไม่ยึดถือ

เพราะว่าไม่รู้จะไปยึดอะไร สิ่งที่จะยึดนั้นล้วนแต่เกิดดับๆทันที ไม่มีที่จะตั้งอยู่ให้ยึด

ความยึดเกิดขึ้นไม่ทัน ความชอบความชังทั้งหมดก็เกิดขึ้นไม่ทันทั้งนั้น

เพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับๆไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่

 

สติกำหนดรู้ ๒ ประการ

 

เพราะฉะนั้น สติสถานที่ต้องการนั้น จึงต้องการเป็นสติปัฏฐานที่ให้รู้จัก

สิ่งที่สติกำหนดนั้น หน้าตาของสิ่งนั้น ทั้งภายนอกทั้งภายในของสิ่งนั้น

เหมือนอย่างเห็นต้นไม้ก็เห็นตลอดจนถึงแก่นข้างใน

เช่นต้นกล้วยก็รู้ตลอดหมด ว่าข้างในก็ไม่มีแก่น เป็นกาบไปทั้งหมด

ถ้าเป็นต้นไม้แก่นก็มีแก่นอยู่ข้างใน ข้างนอกก็มีเปลือก คือมองแล้วก็มองทะลุตลอด

ทั้งข้างนอกข้างในของสิ่งนั้น ( เริ่ม ๑๔๙/๒ ) นี่อันหนึ่ง

แล้วก็เห็นเกิดดับของสิ่งนั้นอีกอันหนึ่ง

 

การปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น จึงได้ทั้งด้านที่เรียกว่าสติหรือสมาธิ

สติเพื่อสมาธิ ทั้งสติเพื่อปัญญา

สติเพื่อสมาธิก็คือรู้จักหน้าตาของสิ่งนั้นถี่ถ้วน สติเพื่อปัญญาก็รู้จักเกิดดับ

เมื่อรู้จักเกิดดับดั่งนี้แล้วสัญโญชน์ก็ไม่เกิด ผูกไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะผูกอะไร

เพราะว่าสิ่งที่จะผูกนั้นเกิดดับหมด ต่อเมื่อไม่เห็นเกิดดับแต่เห็นว่าตั้งอยู่ นั่นแหละจึงจะผูก

ผูกในสิ่งที่ตั้งอยู่นั้น ยินดีบ้างยินร้ายบ้างไปต่างๆ ดั่งนี้ไม่เป็นสติปัฏฐาน

ต่อเมื่อเห็นเกิดดับ แล้วจิตไม่ผูกไม่เกิดสัญโญชน์ขึ้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน

ต้องหัดให้เป็นสติปัฏฐานดั่งนี้แต่ข้อกายมา ทุกข้อ แล้วก็กำหนดให้ได้ในปัจจุบัน

ดั่งที่ตรัสแสดงในข้ออายตนะนี้ดังที่กล่าวมา จึงจะเป็นสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบ แล้วฟังสวดสืบต่อไป

๑๐

สัมมัปปธาน ๔ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๒

โพธิปักขิยธรรม ๔

สัมมัปปธาน ความเพียรที่พึงกระทำก่อน ๔

อุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๖

กาย จิต ๖

บารมี อาสวะ ๗

ธรรมปฏิบัติเสริมสร้างบารมี ๘

ธรรมะในจิต ๙

ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์ ๑๐

นิวรณ์เมื่อเกิดขึ้นรู้ได้ที่จิต ๑๑

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๔๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๐/๑ ( File Tape 114 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมัปปธาน ๔ (๑)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นพึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ แห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

อันประกอบด้วยธรรมะหลายหมวด

 

ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน

 

เริ่มต้นด้วยหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ได้แสดงมาโดยลำดับโดยสังเขป

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นหมวดหลักแห่งการปฏิบัติอบรมจิตใจ

ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางสมาธิ และทางปัญญา

 

อันประกอบด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูกาย พิจารณากาย

ซึ่งตรัสจำแนกไว้ในมหาสติปัฏฐาน

เริ่มตั้งแต่หมวดกำหนดลมหายใจเข้าออก อันเรียกว่าอานาปานสติ

กำหนดดูอิริยาบถทั้ง ๔ อันเรียกว่าหมวดอิริยาบถ

ตั้งสติกำหนดดูอิริยาบถที่จำแนกออกให้ละเอียดออกไปอีก

อันเรียกว่าสัมปชัญญะปัพพะ หมวดสัมปชัญญะความรู้ตัว

ตั้งสติกำหนดดูกายว่าเป็นของไม่สะอาด

ตั้งสติกำหนดดูธาตุ จำแนกออกไปเป็นธาตุ ๔

ตามกำหนดดูป่าช้าทั้ง ๙

 

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนา สุขทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ทั้งที่มีอามิส คืออิงกิเลสอิงวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด

ทั้งที่เป็นนิรามิส คือไม่มีทั้งกิเลสและทั้งวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดูจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ

มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ

ที่หดหู่หรือฟุ้งซ่าน ที่จิตเป็นสมาธิคือกว้างขวาง หรือที่ไม่กว้างขวาง

จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า หรือที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า

จิตที่มีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ จิตที่วิมุติหลุดพ้นหรือไม่วิมุติหลุดพ้น

 

ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะคือเรื่องในจิต

ตั้งต้นแต่หมวดนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้กำหนดดูให้รู้ว่ามีอยู่ก็รู้มีอยู่ ไม่มีก็รู้ไม่มี

เกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

ดับคือละไปได้ไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น

 

ตรัสสอนให้กำหนดดูขันธ์ ๕ ว่าแต่ละข้อเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้

ตรัสสอนให้กำหนดดูอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ที่คู่กัน

ตรัสสอนให้กำหนดดูสังโญชน์คือความที่ใจผูกยินดียินร้ายอยู่ในอารมณ์

คือเรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องที่ใจคิดใจรู้

ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกนี้ประจวบกัน และให้รู้ว่าสังโญชน์มีก็ให้รู้ว่ามี

ไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี สังโญชน์จะเกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

ละได้ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

ละหรือดับไปได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น

 

โพธิปักขิยธรรม

 

ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาถึงหมวดหลังนี้

ซึ่งในมหาสติปัฏฐานยังมีอีก ๒ หมวด คือหมวดโพชฌงค์ และหมวดมรรคมีองค์ ๘

แต่ว่า ๒ หมวดนี้ได้รวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้แล้ว

เป็นหมวดสุดท้าย และรองสุดท้าย

 

เพราะว่าในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมเอาหมวดธรรมต่างๆ ที่ได้ตรัสแสดงไว้มารวมเข้าเป็นหมวดใหญ่

ตรัสว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้

ก็คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕

โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็น ๗ หมวด โพชฌงค์ไปเป็นหมวดที่ ๖

มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดที่ ๗ อันเป็นหมวดสุดท้าย

เพราะฉะนั้น เมื่อได้อธิบายสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักมหาสติปัฏฐาน มาถึงหมวดอายตนะแล้ว

จึงเว้นโพชฌงค์และมรรคไว้ ต่อเป็นหมวดที่ ๖ ที่ ๗ ของโพธิปักขิยธรรม

จึงแสดงหมวดที่ ๒ ของโพธิปักขิยธรรมคือสัมมัปปธานทั้ง ๔

 

สัมมัปปธาน ความเพียรที่พึงกระทำก่อน

 

สัมมัปปธาน แปลกันเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ

สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลมิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมแต่ให้เจริญบริบูรณ์

 

อันคำว่า ปธานะ แปลกันง่ายๆ เข้าใจง่ายๆว่าเพียร สัมมัป คือสัมมาก็แปลว่าชอบ

คำว่าปธานะนี้ก็แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ข้างหน้า คือตั้งไว้ข้างหน้า

อันหมายความว่าเป็นความเพียรที่พึงกระทำก่อน ไม่ใช่กระทำในภายหลัง

และคำว่าปธานะนี้ก็มาใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นประธาน

เช่นพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่เป็นหลักสำคัญในอุโบสถ หรือในโบสถ์ ก็เรียกว่าพระประธาน

พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในหมู่สงฆ์ ก็เรียกว่าประทับอยู่เป็นประธานแห่งสงฆ์

บุคคลที่นั่งอยู่ข้างหน้าเป็นประธานของการประชุม ก็เรียกว่าประธานที่ประชุม

ก็ตรงตามศัพท์ว่าดำรงอยู่ข้างหน้า หรือตั้งไว้ข้างหน้า

 

และความเพียรที่มาเรียกว่าปธานนี้ จึงมีความหมายว่า

เป็นความเพียรที่พึงตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า พึงกระทำก่อน

เพราะว่าทุกคนนั้นย่อมมีสิ่งที่พึงทำหลายอย่าง

ผู้ที่มีธุระมาก ก็ต้องมีความเพียรที่จะต้องกระทำมาก แต่ในบรรดาธุระที่กระทำนั้น

จะทำเรื่องใดเป็นที่ ๑ เรื่องใดเป็นที่ ๒ เรื่องใดเป็นที่ ๓

หรือว่าในเวลาใดในเวลาหนึ่ง จะพึงทำเรื่องใดในเวลานั้น

และเมื่อได้กำหนดไว้ดั่งนี้ ถ้ากำหนดไว้ว่าเป็นเรื่องที่พึงทำที่ ๑ ที่ ๒

เรื่องที่พึงทำเป็นที่ ๑ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่เป็นประธาน

ความเพียรที่พึงกระทำในเรื่องนั้นก็เรียกว่า ปธาน

หรือว่าถ้ากำหนดเวลา ว่าในเวลาใดจะทำเรื่องใด ถึงเวลานั้นก็ทำเรื่องนั้น

เรื่องนั้นก็เป็นประธานของเรื่องทั้งหลายในเวลานั้น

คือจะต้องทำในเวลานั้น และความเพียรที่กระทำก็เรียกว่า ปธาน

ดั่งเช่นในเวลานี้เป็นเวลาที่ท่านผู้มุ่งปฏิบัติธรรม

กำหนดไว้ว่าจะมาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรม ในเวลานี้เรื่องการปฏิบัติธรรม

เรื่องการฟังธรรมปฏิบัติธรรมจึงเป็นประธาน เรื่องอื่นก็งดไว้ก่อน

และความเพียรที่พึงทำก็เรียกว่าเป็นประธาน

 

อุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

 

และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้

ก็ต้องอาศัยความเพียรปฏิบัติ เป็นประธานในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร

สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือมีสัมปชัญญะความรู้ตัว สติมา มีสติ

วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสีย

อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน นี้ก็คือมี สัมมัปปธานะ ความเพียรชอบนั้นเอง

ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ อย่างที่ได้จำแนกไว้ข้างต้น

 

กาย จิต

 

และการตั้งสติกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว

สำหรับในข้อที่เป็นกายเอง และเป็นเวทนาเอง ก็รวมอยู่ในขันธ์ ๕

กายก็เท่ากับรูป เวทนาก็เป็นเวทนา

อันบุคคลผู้เกิดมาก็มีขันธ์ ๕ อันตั้งต้นด้วยรูปเวทนานี้เป็นภพเป็นชาติ

เป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

 

ตัวรูปตัวเวทนาเองนั้นเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ

ไม่พยากรณ์คือไม่กล่าวว่าเป็นดีหรือเป็นชั่ว เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ

ที่ทุกคนก็ได้มาตั้งแต่กำเนิด เป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ที่เป็นวิบาก

คือผลของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม

ฉะนั้น ตัวกายตัวเวทนาเองจึงไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ

ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นสิ่งกลางๆ

 

บารมี อาสวะ

 

และมาถึงจิต จิตนี้เองที่เป็นตัววิญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็เป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งมีอยู่

เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นสิ่งที่อาศัยกับกายนี้ ดั่งที่เรียกว่ากายจิต

และจิตนี้เองที่เป็นที่บังเกิดขึ้น เป็นที่เก็บไว้แห่งกุศลธรรม และอกุศลธรรมทั้งหลาย

แห่งบุญและบาปทั้งหลาย แห่งบารมีและอาสวะทั้งหลาย

ถ้าเก็บดีก็เป็นบารมี เก็บชั่วก็เป็นอาสวะ

 

และสิ่งที่เก็บไว้นี้ที่เป็นส่วนละเอียด

ก็เก็บไว้ในจิตส่วนลึก เหมือนอย่างตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม

ดูที่ปากตุ่ม น้ำข้างบนก็ใสสะอาด แต่ที่ก้นตุ่มนั้นยังมีตะกอน

( เริ่ม ๑๕๐/๑ ) ถ้าเป็นส่วนดีก็เรียกว่าบารมี คือทำดีๆไว้ ก็เก็บไว้ๆ

ทำชั่วก็เก็บไว้ๆเป็นอาสวะ อาสวะแปลว่านอนจมหรือหมักหมม

อันนับว่าเป็นความดีความชั่วอย่างละเอียด ดังที่เรียกว่าเป็นนิสัยเป็นอุปนิสัย

มีนิสัยดีก็แสดงออกมาดี มีนิสัยไม่ดีก็แสดงออกมาไม่ดี

นิสัยนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นที่อาศัยของทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่ว ที่แสดงออก

 

และเมื่อมีอารมณ์คือเรื่องเข้ามา

ก็มากวนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่มนี้ให้ฟุ้งขึ้นมาปรากฏอยู่ในจิต

เช่นว่ามีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะเป็นต้น

และเมื่อสิ่งที่ฟุ้งขึ้นมาจนจิตรู้ได้ดังกล่าวแล้ว

เมื่อแรงออกมาอีกก็เป็นอย่างหยาบ ก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม

ถ้าเป็นส่วนดีที่เป็นบารมีปรากฏขึ้นมา ก็นำให้เกิดเจตนากรรมคือความจงใจ

ทำทานบ้าง สมาทานศีลบ้าง เจริญภาวนาบ้าง

ถ้าเป็นส่วนชั่วที่เป็นอาสวะปรากฏหยาบขึ้นมา ก็ก่อเจตนาคือความจงใจให้กระทำ

กรรมที่เป็นอกุศลเป็นบาปทุจริตต่างๆ เช่นให้ฆ่าเขาบ้าง ให้ลักของเขาบ้าง เป็นต้น

 

ธรรมปฏิบัติเสริมสร้างบารมี

 

จิตนี้จึงเป็นธรรมชาติอันสำคัญซึ่งทุกคนมีอยู่ด้วยกัน

และก็ประกอบด้วยส่วนดีและส่วนชั่วเป็นพื้นสันดาน ส่วนดีก็เป็นบารมี ส่วนก็เป็นอาสวะ

และก็อาสวะนั้นก็เปรียบด้วยตะกอนนอนก้นตุ่ม ที่ฟุ้งขึ้นมาก็ทำให้จิตที่เคยใส

ก็เป็นกลับกลายเป็นจิตขุ่น จนถึงกลับกลายเป็นจิตร้าย

ในเมื่ออาสวะที่ฟุ้งขึ้นมาอันเป็นส่วนกิเลสนั้นแรงขึ้น จนถึงก่อกรรมที่ไม่ดีต่างๆ

 

อาสวะท่านเปรียบดั่งนั้น ส่วนบารมีนั้นไม่ได้เปรียบไว้ตะกอนนอนก้นตุ่ม

เพราะเป็นฝ่ายดี แต่ก็มีนอนจมสั่งสมอยู่เป็นฝ่ายดี

และก็เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็กระตุ้นเตือนให้บารมีนี้ปรากฏขึ้นมาได้

และเมื่อแรงขึ้นก็ให้ทำดี เพิ่มเติมความดีเข้าในจิต

อาสวะที่เป็นส่วนชั่วเมื่อฟุ้งขึ้นมา ทำชั่วก็เพิ่มเติมอาสวะให้มากขึ้นในจิต

แต่ว่าบารมีนั้นเป็นฝ่ายที่กำจัดอาสวะ เป็นฝ่ายที่ชำระล้างอาสวะในจิต

เมื่อทำดีเป็นบารมีตั้งอยู่ใจจิต จิตเก็บดีเอาไว้ ก็ชำระอาสวะที่เป็นส่วนชั่ว

คือที่เป็นตะกอนนี้ให้ลดน้อยลงไป บารมีก็มากขึ้นทุกที จนถึงเมื่อบำเพ็ญบารมีได้เต็มที่

คือทำดีได้เต็มที่แล้ว กำจัดตะกอนก้นตุ่มคืออาสวะให้หมดสิ้นไปได้

ก็เหลือแต่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งแต่หน้าตุ่มลงไปจนถึงก้นตุ่มตลอดหมด

 

ดั่งนี้ก็เสร็จกิจอันเรียกว่าเป็นพระอรหันต์

เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ตลอดถึงกันหมด ทั้งส่วนตื้น ทั้งส่วนลึก

แต่ในขณะที่ยังมีอาสวะเป็นตะกอนก้นตุ่มอยู่ ก็ต้องทำความดี เพื่อชำระอาสวะ

ที่เป็นตะกอนก้นตุ่มนี้ให้สิ้นไปโดยลำดับ ต้องเพิ่มเติมความดีอยู่เรื่อยๆไป

การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติความดีดังกล่าว

 

ธรรมะในจิต

 

และการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นตรัสสอนให้ตั้งสติ กำหนดดูกาย กำหนดดูเวทนา

และกำหนดดูจิต และกำหนดดูธรรมะในจิตซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน

และธรรมะในจิตนั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นกุศล ทั้งส่วนที่เป็นอกุศล

ทั้งส่วนที่เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ

 

และธรรมะที่มีอยู่ในจิตนี้เองเป็นข้อสำคัญ

ที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติธรรม หรือไม่ปฏิบัติธรรม

ถ้าหากว่าเป็นนิวรณ์ เป็นสัญโญชน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์

ไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอันดับแรก ก็เป็นอกุศลธรรมที่เป็นข้อสำคัญ

ที่จะทำให้ไม่ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตและธรรมเอง เพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์

แต่ว่าจะชักนำให้ปฏิบัติเป็นบาปเป็นอกุศลต่างๆ ให้ข้องติดอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเอานิวรณ์ไว้ นี่เป็นข้อแรก

 

และนิวรณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นเอง ไม่ใช่ที่ไหน

แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์นั้น ก็เกิดขึ้นโดยอาศัยทางเกิด

คือทางอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ที่มาประจวบกัน

เมื่อเป็นสัญโญชน์คือความผูกพันยินดียินร้ายขึ้น

ก็นำให้ติดพันอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ในกามในภพทั้งหลาย

ถ้าหากว่าไม่เป็นสัญโญชน์คือผูกใจให้ยินดียินร้าย ก็นำให้ปฏิบัติเสาะแสวงหาพรหมจรรย์

คือความประพฤติอันประเสริฐ อันเรียกว่าปฏิบัติธรรม

ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์

 

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสขันธ์ ๕

และตรัสหมวดอายตนะภายในภายนอกสืบต่อกันไป

เพราะเหตุที่อันความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์ หรือความดับไปของนิวรณ์นั้น

ก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ ดับไปที่ขันธ์ ๕ อันเริ่มด้วยกายเวทนา หรือรูปเวทนา

และเมื่อมีรูปมีเวทนาแล้ว ก็มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ

โดยที่ความประจวบกันของอายตนะดังกล่าวนั้น นำให้เกิดอารมณ์แก่จิตใจ

อันเป็นธาตุรู้ที่สำคัญ และจิตใจนี้เองเป็นตัวที่ข้องติดอันเรียกว่าสัญโญชน์

ไม่ใช่อื่นคือจิตใจนี้เอง

 

ความสำคัญจึงอยู่ที่จิตใจ และสัญโญชน์ อันอาศัยอายตนะ

และก็เกิดทางขันธ์ ๕ นั้นเอง ตัวขันธ์ ๕ นั้นเองนั้นเป็นวิบากขันธ์ซึ่งไม่ดีไม่ชั่วอะไร

แต่เป็นกลางๆ แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของทั้งดีทั้งชั่วนั้นก็ต้องอาศัยขันธ์ ๕

เหมือนอย่างเช่นว่ามือของเราทุกคนนี้ก็เป็นรูปขันธ์ เมื่อจิตประกอบด้วยกุศลธรรม

ก็ใช้มือนี้เองทำบุญต่างๆ เช่นว่าใช้มือนี้ตักข้าวใส่บาตร

ใช้มือนี้ทำกิจการที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือต่างๆ ตัวมือเองนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

แต่บุคคลผู้ทำก็ใช้มือทำบุญ บุคคลผู้ทำก็เป็นบุญ

และบุคคลผู้ทำนั้นเมื่อพูดให้ลึกซึ้งเข้าไปก็คือจิตนี้เอง จิตเป็นบุญเมื่อใช้มือทำบุญ

 

แต่เมื่อจิตประกอบด้วยสัญโญชน์

อันเป็นเหตุทำให้จิตใจนี้ร้าย ก็ใช้มือนี้อีก ก็ใช้มือนี้เองทำร้าย

เช่นว่าถือมีดถือไม้ประหัตประหารทำร้ายผู้อื่น

ตัวมือเองที่ถือมีดถือไม้ทำร้ายนี้ก็ไม่เป็นบุญเป็นบาป

แต่บุคคลผู้ที่ใช้มีดใช้มือนี้ประหัตประหารผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น นั่นเองเป็นบาป

โดยตรงก็คือจิตนี่เองเป็นบาป

๑๐

นิวรณ์เมื่อเกิดขึ้นรู้ได้ที่จิต

 

เมื่อเกิดขึ้นทุกคนก็รู้ ว่านิวรณ์ข้อนี้บังเกิดขึ้น

กามฉันท์เกิดขึ้นก็รู้ พยาบาทเกิดขึ้นก็รู้ อีก ๓ ข้อเป็นตัวโมหะบังเกิดขึ้นก็รู้

บุคคลย่อมรู้ได้ที่จิตนี้เอง และอาการที่รู้นั้นก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เองเป็นทางรู้

และขันธ์ ๕ นั้นก็ต้องอาศัยอายตนะภายในภายนอกนี้เองเป็นทาง

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าทวารทั้ง ๖ ประตูทั้ง ๖

ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ

เปิดรับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย

จิตก็รับเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง

แล้วก็เกิดผูกพันขึ้นมาก็เป็นสัญโญชน์ ผูกพันยินดี ผูกพันยินร้าย ก็เป็นสัญโญชน์

เมื่อผูกขึ้นดั่งนี้แล้วจึงเป็นตัวนิวรณ์ คือเป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง

เป็นโมหะคือความหลง คืออีก ๓ ข้อข้างหลังนั้นบ้าง

 

เพราะฉะนั้นตัวผูกนี้จึงเป็นตัวสำคัญอันเรียกว่าสัญโญชน์

แต่จิตไม่ผูก จิตปล่อย เช่นเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็เป็นอารมณ์

เมื่อเกิดขึ้นจิตรู้ว่านี่รูป แล้วจิตก็ปล่อย ไม่ยินดียินร้ายในรูปนั้น ก็ไม่เป็นสัญโญชน์

เมื่อไม่เป็นสัญโญชน์ นิวรณ์ก็ไม่เกิด

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสแสดงหมวดนิวรณ์

หมวดขันธ์ ๕ แล้วก็หมวดอายตนะ เพื่อให้กำหนดรู้จัก เป็นตัวสติที่รู้จัก

รู้จักแล้วก็ปฏิบัติในการที่จะดับสัญโญชน์ดับนิวรณ์

โดยอาศัยใช้สติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม ให้เห็นเกิดให้เห็นดับ

ซึ่งจะต้องใช้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ในการปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป ..ไม่มีสวดหรือ

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats