ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป115

สัมมัปปธาน ๔ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สติปัฏฐาน ๔ อาศัยสัมมัปธาน ๔ ๓

นิวรณ์เครื่องกั้นสมาธิ ๔

เหตุที่ต้องตั้งความเพียร ๕

ปัจจุบันธรรม สัญโญชน์ ๖

สติรักษาทวาร ๖ ๗

จิตปาละ ทวารปาละ ๘

สัญโญชน์ต้นทางของนิวรณ์ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๐/๒ ( File Tape 115 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมัปปธาน ๔ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงอธิบายสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งได้เริ่มปรารภไว้แล้ว

สัมมัปปธานนั้นแปลเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ

และก็มีความหมายของการใช้คำว่า ปธานะ หรือ ปธาน

ว่าตั้งความเพียรเข้าไว้ในเบื้องหน้า คือในอันดับหนึ่ง

เหมือนอย่างประธานในที่ประชุม เป็นที่หนึ่งในที่ประชุม

 

ความเพียรที่จะเป็นปธานนั้น จึงเป็นความเพียรที่พึงเริ่มทำในทันที ไม่ผัดเพี้ยน

และก็มีความหมายถึงด้วยว่า ตามกำหนดที่ได้ตั้งใจไว้

เช่นในขณะนี้ก็ได้ตั้งใจไว้ว่า จะมาทำความเพียรฟังและปฏิบัติธรรม

เมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็ต้องถือว่าเวลานี้ เป็นเวลาที่จะต้องมาฟังธรรม

และปฏิบัติธรรมเป็นที่หนึ่ง จึงได้มากันได้

ถ้าหากว่าไม่ได้ถือว่าเป็นที่หนึ่งที่จะต้องทำในเวลานี้

ก็จะมีเรื่องอื่นที่จะทำเข้ามาแทรกแซง ดึงไปให้ทำในเรื่องนั้นๆ

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่ามาฟังธรรมและปฏิบัติธรรมในเวลานี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า ปธานะ หรือ ปธาน ตั้งความเพียรที่จะทำไว้ทันที

ซึ่งเมื่อกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๔ สังวรปธาน เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไว้ และเพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้นจนบริบูรณ์

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ทุกข้อว่าให้ ตั้งฉันทะ คือทำฉันทะความพอใจให้เกิด

ทำความเริ่ม คือเริ่มทำความเพียร ยังความเพียรให้ตั้งขึ้น

ตั้งจิต คือเอาจิตใจตั้งให้แน่วแน่เพื่อจะทำเพียร ตั้งความเพียรไว้ข้างหน้า

คือเริ่มทำ และทำติดต่อกันไปจนบรรลุถึงผลที่ต้องการ

 

สติปัฏฐาน ๔ อาศัยสัมมัปธาน ๔

 

สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ตรัสแสดงไว้ในหมวดโพธิปักขิยธรรม

ธรรมะที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เป็นหมวดที่ ๒ คือต่อจากสติปัฏฐาน

อันได้แก่สติปัฏฐาน ๔ แล้วก็ตรัสสัมมัปปธาน ๔ ต่อกันไป

หากจะแสดงให้เนื่องกันก็พึงแสดงได้ว่าตั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นหลัก

และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ก็จะต้องอาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้

คือตั้งความเพียรชอบนี้ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

 

ยกตัวอย่างดังข้อที่ ๑ สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น

ก็คือในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ยกตัวอย่างในปัพพะคือข้อที่ ๑

ในหมวดที่ ๑ คือหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็คือตั้งจิตให้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก

ในการนี้ก็ต้องมีสังวรปธาน คือระวังนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น

เพราะถ้านิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็จะดึงจิตให้ตกจากสติปัฏฐานน้อมไปตามนิวรณ์

( เริ่ม ๑๕๐/๒ ) เช่นในขณะที่กำลังตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น

กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามผุดขึ้นมา ก็ดึงจิตออกไปสู่อารมณ์คือรูปเสียงเป็นต้น

ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ จิตก็วิ่งตามนิวรณ์ไป ทิ้งสติปัฏฐาน

 

นิวรณ์เครื่องกั้นสมาธิ

 

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสติระวังมิให้บาปที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น

คือไม่ให้นิวรณ์ที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น และหากว่านิวรณ์บังเกิดขึ้นดึงจิตให้ไป

ก็ต้องมีปหานปธานเพียรละนิวรณ์นั้นเสีย มีสติรู้ว่าเป็นตัวนิวรณ์

ให้รู้จักว่ากามฉันท์นี้เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

ไม่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก แต่ให้ไปกำหนดอยู่ที่รูปบ้างเสียงบ้าง

ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นจิตไว้ทำให้ไม่ได้สมาธิ

ละเสียด้วยปัญญาคือความรู้ ว่าเป็นตัวนิวรณ์ ไม่ใช่เป็นตัวที่น่ายินดีพอใจอะไร

ก็นำกลับ นำจิตกลับมาตั้งไว้ที่ลมหายใจเข้าออกกำหนดไปใหม่

 

และเมื่อกำหนดนั้น การกำหนดทีแรก และการกำหนดต่อไป

ก็ต้องอาศัยตัวสติ และอาศัยตัวปัญญาคู่กันไป

ถ้าสติยังอ่อน ปัญญายังอ่อน ก็จะต้องถูกนิวรณ์ดึงไปบ่อยๆ

เพราะฉะนั้นจึงต้องเพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

คือเพียรทำตัวสตินี้ให้มั่นคงขึ้น เพียรทำปัญญาคือตัวความรู้ให้บังเกิดขึ้นและมั่นคงขึ้น

และเมื่อทำสติทำปัญญาให้บังเกิดขึ้นได้แล้ว ก็ต้องเพียรรักษาสติ

และปัญญาที่บังเกิดขึ้นนี้ ให้ตั้งอยู่ ไม่ให้เสื่อมไป

 

ถ้าสติตกไป ปัญญาตกไป นิวรณ์ก็เข้ามาดึงเอาจิตไป

หากว่าสติยังตั้งอยู่ ปัญญายังตั้งอยู่ การกำหนดลมหายใจเข้าออก

ซึ่งเป็นตัวกรรมฐานก็ยังตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาเอาไว้

แล้วก็เพิ่มพูนให้สติให้ปัญญาซึ่งเป็นตัวกุศลธรรมนี้มากขึ้น

 

ในทีแรกนั้นนิวรณ์ยังมีกำลังมากกว่า

เพราะว่าจิตนั้นยังมีตัว นันทิ คือความเพลิดเพลิน ราคะ คือความติดอยู่ในตัวนิวรณ์

ในตัวนิวรณ์อันหมายถึงว่า ในอารมณ์อันเป็นที่ๆตั้งของนิวรณ์ทั้งหลาย

อันเรียกว่า กามคุณารมณ์ อารมณ์คือกามคุณ และในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย จิตจึงน้อมออกไปบ่อยๆ

 

เหตุที่ต้องตั้งความเพียร

 

เพราะสติ เพราะและปัญญาที่กำหนดยังมีพลังน้อยกว่า

จึงต้องมีปธานะคือความเพียร ที่จะทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

ทำสติที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ อันเป็นข้อที่ ๔

เพียรรักษากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว และเพิ่มเติมให้มากขึ้นจนบริบูรณ์

และเมื่อสติปัญญามีพลังตั้งอยู่ในจิตมั่นคงขึ้นกว่าพลังของนิวรณ์แล้ว

ก็จะไม่ไป ก็จะไม่ตก ก็จะกำหนดอยู่ในลมหายใจเข้าออก

จนสำเร็จเป็นอานาปานสติได้

 

ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน เมื่ออาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ ดั่งกล่าวมานี้แล้ว

จะทำกรรมฐานข้อไหนก็สำเร็จได้ จะเป็นหมวดกายคตาสติ จะทำปัพพะไหนก็สำเร็จได้

จะทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้ จะทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้

จะทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้ จะทำธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สำเร็จได้

 

เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานทุกข้อจึงได้แสดงถึง อุปการะธรรม ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน

ว่า อาตาปี มีความเพียร ตามศัพท์ก็มีความเพียรแผดเผา ก็คือแผดเผากิเลส

สัมปชาโน มีความรู้ตัวพร้อม สติมา มีสติ

วินัยโลเก อภิฌชา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย ดั่งนี้

นี้ก็คือมี สัมมัปปธานะ ความเพียรชอบทั้ง ๔ ข้อนี้เอง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสปธานะคือความเพียรชอบทั้ง ๔ นี้ไว้

สืบต่อจากข้อสติปัฏฐาน

 

ปัจจุบันธรรม สัญโญชน์

 

และมิใช่แต่เพียงนิวรณ์เท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในข้อว่าด้วยนิวรณ์

ในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ยังมีข้อที่เนื่องกันกับนิวรณ์ที่ตรัสแสดงไว้

ในข้อที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ และในข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ ในข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ นี้เอง

ก็ได้มีแสดงถึงว่า เมื่ออายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกประจวบกัน

คืออาศัยอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ คู่นี้ เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ หรือว่าใจผูก

 

จึงมาถึงปัจจุบันธรรมที่ทุกคนมีสื่อของความรู้แห่งจิต

อันได้แก่อายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๖ คู่นี้ คือตากับรูปประจวบกัน

หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน ลิ้นกับรสประจวบกัน

กายและสิ่งที่กายถูกต้อง อันเรียกว่าโผฏฐัพพะประจวบกัน

มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวของรูปเป็นต้น เช่นที่ประสบพบผ่านมาแล้วประจวบกัน

ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ หรือว่าใจผูก

 

อันได้แก่จิตนี้เอง เมื่อมีความรู้ทางอายตนะเหล่านี้

โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่อาศัยตา อารมณ์คือเสียงที่อาศัยหู

อารมณ์คือกลิ่นที่อาศัยจมูก (อารมณ์คือลิ้นที่อาศัยรส) อารมณ์คือรสที่อาศัยลิ้น

อารมณ์คือกายที่อาศัยโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

อารมณ์คือธรรมะเรื่องราวของรูปเป็นต้นที่อาศัยมโนคือใจ

จึงได้มีความผูกอยู่ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ และในธรรมะคือเรื่องราวนั้น

เมื่อใจผูกอยู่ดั่งนี้ จึงเกิดความยินดีในอารมณ์เหล่านี้อันเป็นที่ตั้งของความยินดี

เกิดความยินร้ายในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของความยินร้าย

เกิดความหลงคือไม่รู้ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง

เป็นราคะเป็นโทสะเป็นโมหะขึ้น หรือเป็นอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้าย

พร้อมทั้งโมหะคือความหลงขึ้น นี้เองคือนิวรณ์

 

นิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น กามฉันท์ ก็เป็นราคะความติดใจยินดี พยาบาท ก็เป็นโทสะความยินร้าย

ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มคือถีนมิทธะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจคืออุทธัจจะกุกกุจจะ

และความสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจคือวิจิกิจฉา ทั้ง ๓ นี้ก็เป็นโมหะคือความหลง

แต่พระอาจารย์ท่านแยกเอากุกกุจจะคือความรำคาญใจไปเป็นโทสะ

แต่ส่วนใหญ่นั้นมักจะพูดรวมกันในกองโมหะคือความหลง

 

สติรักษาทวาร ๖

 

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติทำสัมมัปปธานคือความเพียร ๔

เพื่อไม่ให้นิวรณ์เกิด และเพื่อละนิวรณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำสติปัญญาให้บังเกิด

เพื่อรักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้นไว้ และเพิ่มเติมให้มากขึ้น

จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ในเรื่องของสัญโญชน์ดังกล่าวนี้ด้วย อันเป็นต้นทางของนิวรณ์

คือจะต้องมีสติคือความระลึกได้ เป็นเหมือนอย่างนายทวารบาญ คือผู้รักษาประตู

มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาจักขุทวารคือประตูตา โสตะทวารคือประตูหู

ฆานะทวารคือประตูจมูก ชิวหาทวารคือประตูลิ้น กายทวารคือประตูกาย

และมโนทวารคือประตูใจ มีสติเป็นนายทวารบาญรักษาประตูทั้ง ๖ นี้

 

แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปเข้าแล้ว ก็คือมีสติรักษาจิตนี้เอง

จิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้

เมื่อมีสติพร้อมทั้งปัญญาคือความรู้รักษาจิต รักษาทวารทั่ง ๖ นี้

ก็จะรักษามิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น จะเป็นเหตุละสัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว

จะทำให้สติปัญญานี้บังเกิดขึ้นเป็นนายทวารบาญที่เข้มแข็ง

และจะรักษาสติปัญญานี้ไว้ได้ เพิ่มพูนให้มากขึ้น

 

ดั่งนี้ต้องอาศัยสติและปัญญาที่เป็นปัจจุบันธรรมควบคุมทวารทั้ง ๖

หรือควบคุมจิตอยู่เป็นปัจจุบันธรรม จึงต้องอาศัย สังวรปธาน

เพียรระวังมิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้นในขณะที่อายตนะทั้ง ๖ คู่นี้ประจวบกัน

เช่นตาเห็นอะไรก็ต้องมีความเพียรระวัง มิให้เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในสิ่งที่เห็นนั้น

ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกันก็คือ ระวังก็คือสตินั่นเอง เพียรทำสติพร้อมทั้งปัญญาเป็นเครื่องระวัง

และหากสัญโญชน์ความผูกใจบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเพียรละ

ก็ต้อง คือเพียรทำสติทำปัญญาละเสีย

 

จิตปาละ ทวารปาละ

 

หากสติและปัญญานั้นยังไม่บังเกิดขึ้น

ก็ต้องเพียรทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น เพื่อระวังรักษา และเพื่อละ

และก็รักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้ตกไป ไม่ให้เสื่อมไป และเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นเมื่อมีสติและปัญญาตั้งอยู่ในจิตเป็น จิตปาละ คือรักษาจิต

เป็น ทวารปาละ คือนายทวารบาญรักษาประตูทั้ง ๖ ก็จะเป็นเครื่องระวัง

มิให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น จะเป็นเครื่องละสัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว

จะเป็นเครื่องทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น จะเป็นเครื่องรักษาสติปัญญาที่บังเกิดขึ้น

และให้เจริญมากขึ้นจนสมบูรณ์ ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้พูดถึงสมาธิ

แต่ก็ต้องหมายถึงว่าจะต้องมีสมาธิประกอบกันไปกับสติและปัญญา

รวมความว่าต้องมีทั้ง สติ สมาธิ และปัญญา จึงจะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานข้อนั้นๆ

สัญโญชน์ต้นทางของนิวรณ์

 

เพราะฉะนั้นสัญโญชน์นี้เองเป็นต้นทางของนิวรณ์

จึงต้องมีสติมีปัญญาที่จะคอยรักษาจิตเป็นจิตปาละ จิตบาล หรือ จิตปาละ

เป็นทวารบาญหรือ ทวารปาละ รักษาจิตรักษาทวาร ไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น

เกิดขึ้นก็ละเสีย แล้วก็ทำสติปัญญาให้บังเกิดขึ้น รักษาสติปัญญาไว้ให้คงอยู่ไม่ให้ตก

และเพิ่มพูนให้มากขึ้น คือพยายามทำสติปัญญาให้มากขึ้น

รักษาไว้ไม่ให้ตก และพยายามทำให้มากขึ้น

 

และเมื่อได้ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ ใช้สัมมัปธานทั้ง ๔ ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ สัญโญชน์ก็จะไม่เกิด

คือความผูกใจหรือใจผูกก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะละได้

และจะทำให้สติ พร้อมทั้งสมาธิและปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น

และเป็นอันว่าเมื่อตัดสัญโญชน์ได้ อันเป็นต้นทางนี้ได้แล้ว นิวรณ์ก็จะไม่เกิด

เพราะฉะนั้นในการแก้นิวรณ์นั้น จึงต้องแก้ที่สัญโญชน์คือความผูกใจหรือใจผูก

ตั้งแต่ระมัดระวังไม่ให้ใจผูกกับอะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง

เกิดขึ้นก็ละเสียให้ได้

 

และทำสติทำปัญญาที่เป็นเครื่องระวัง

เป็นเครื่องละนี้ให้เกิดขึ้น รักษาไว้ และให้มากขึ้น

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้

อันเป็นหมวดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ สืบต่อจากหมวดสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

อิทธิบาท ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ทางแห่งความสำเร็จ ๓

ปธานะสังขาระ ๔

อิทธิบาทเป็นเหตุให้สัมมัปปธานสำเร็จได้ ๕

สมาธิในสัมมัปปธาน ๖

ความเนื่องกันของธรรมปฏิบัติ ๗

ผลหลายอย่างในการปฏิบัติ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๑/๑ ( File Tape 115 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อิทธิบาท ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย

ได้ทรงเป็นพระภควาที่เราแปลทับศัพท์มาเป็นไทยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ซึ่งมีความหมายประการหนึ่งว่าผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน

ดังที่ได้ทรงจำแนกธรรมะออกเป็นหมวดธรรมต่างๆ

และที่ตรัสรวมเข้าเป็นหมวดโพธิปักขิยธรรม ซึ่งกำลังแสดงอยู่นี้

ได้แสดงมาแล้วในหมวดที่ ๑ คือสติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ คือสัมมัปปธาน ๔

วันนี้จะแสดงหมวดที่ ๓ คือ อิทธิบาท ๔

 

คำว่า อิทธิบาท นั้น อิทธิเราแปลกันเป็นไทยอย่างหนึ่งว่าฤทธิ์

ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธศาสนาเช่น อภิญญา ๖ ( เริ่ม ๑๕๑/๑ ) วิชชา ๘

ซึ่งมีข้อ อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้

ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นเอตะทัคคะ

คือเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มาก

 

ทางแห่งความสำเร็จ

 

อีกอย่างหนึ่งคำว่า อิทธิ แปลว่าความสำเร็จ

ความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ ขั้นหนึ่งๆก็เป็นอิทธิอย่างหนึ่ง

จนถึงเป็นความสำเร็จอย่างสูง คือสำเร็จความรู้ธรรมเห็นธรรม อันเป็นภูมิอริยชน

จนถึงความตรัสรู้อันเป็นความรู้สูงสุดในพุทธศาสนา ก็เป็นอิทธิคือความสำเร็จ

คำว่า บาท นั้นแปลตามศัพท์ว่า เหตุที่ให้บรรลุถึง เหตุที่ให้ถึง

อันได้แก่ปฏิปทาคือทางปฏิบัติ หรือมรรคคือทาง บาท แห่งอิทธิ

ก็คือเหตุที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ หรือบรรลุถึงฤทธิ์

ทางปฏิบัติมรรคาคือทางแห่งฤทธิ์ หรือแห่งความสำเร็จ

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอิทธิบาทไว้ ๔ ประการ

คืออิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ

ที่มีฉันทะคือความพอใจยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑

อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ

ที่มีวิริยะคือความเพียรยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑

อิทธิบาทอันประกอบด้วยความประกอบความเพียร ที่มีจิตตะความเอาใจใส่ (ท่านพูดซ้ำ)

อันประกอบด้วยความเพียรด้วยสมาธิที่มีจิตตะความเอาใจใส่ยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑

อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ

ที่มีวิมังสาความใคร่ครวญไตร่ตรองยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑

เป็นอิทธิบาท ๔ ประการ

 

เพราะฉะนั้น อิทธิบาททั้ง ๔ ที่มาพูดย่อๆว่า ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ

วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ วิมังสา ความไตร่ตรองพิจารณา

จึงเป็นการกล่าวอย่างย่อๆ

 

ปธานะสังขาระ

 

แต่เมื่อกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง ก็เป็นไปดั่งที่ได้ยกมาแสดงในเบื้องต้นนั้น

คืออิทธิบาทนั้นมิใช่มีความสั้นๆเพียง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

แต่ว่าจะเป็นอิทธิบาทได้ต้องประกอบด้วย ความประกอบความเพียร

มาจากคำบาลีว่า ปธานะสังขาระ หรือ ปธานสังขาร

 

คำว่า ปธานะ ก็คือสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ นั้น

สังขาระ คือสังขาร ก็ได้แก่สังขารคือความปรุงแต่ง

ในที่นี้ใช้แปลว่าความประกอบ เพราะความประกอบนั้นก็คือปรุงแต่งนั้นเอง

อย่างเช่น ประกอบไม้ให้เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นบ้านเป็นเรือน

ก็คือเอาของหลายๆอย่างมาประกอบกันเข้า ก็มีความหมายตรงกับคำว่าความปรุงแต่ง

ซึ่งมีความหมายว่าต้องมีหลายอย่างมาประกอบกันเข้า

อย่างปรุงอาหารก็ต้องมีของหลายอย่าง มาต้มมาแกงปรุงเป็นอาหารขึ้น

เพราะฉะนั้น คำว่าความประกอบหรือความปรุงแต่ง จึงมีความหมายเป็นอันเดียวกัน

และออกมาจากคำเดียวกันว่า สังขาร หรือ สังขาระ ความปรุงแต่งหรือความประกอบ

ปธานสังขาร ก็คือประกอบความเพียร อันได้แก่สัมมัปปธาน ๔ ที่แสดงแล้ว

 

เพราะฉะนั้น คำว่าอิทธิบาทนั้นจึงรวมสัมมัปปธาน ๔ เข้ามาด้วย

แต่ว่ามีขยายความออกไปว่า ความประกอบปธานะคือความเพียรนั้น

ประกอบด้วยสมาธิที่มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยังให้บังเกิดขึ้น

ก็คือธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ อันได้แก่ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ยังให้เกิดสมาธิขึ้น

คือความตั้งใจมั่น ไม่กลับกลอกคลอนแคลน

สมาธิคือความตั้งใจมั่นนี้ที่ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้นให้บังเกิดขึ้น

ก็ทำให้เกิดความประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น

เพราะฉะนั้นฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา จึงเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่

อันจะนำให้เกิดสมาธิความตั้งใจมั่นเพื่อประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง๔ นั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นปฏิปทาความปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ

เป็นมรรคคือมรรคา คือทางแห่งอิทธิความสำเร็จ หรือแห่งฤทธิ์ทั้งหลาย

 

อิทธิบาทเป็นเหตุให้สัมมัปปธานสำเร็จได้

 

ในหมวดสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็ได้มีเริ่มตรัสท้าวมาถึงอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ด้วยแล้ว

คือดังที่ตรัสไว้ว่า ยังฉันทะคือความพอใจให้เกิดขึ้น

พยายามเริ่มความเพียร ประคองจิตตั้งความเพียรขึ้นมา

ในการระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ในการละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

ในการยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ในการรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

และปฏิบัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์

 

เพราะฉะนั้น ครั้นตรัสสัมมัปปธาน ๔ และมีท้าวมาถึงอิทธิบาท

อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นด้วยแล้ว

จึงมาตรัสถึงหมวดอิทธิบาท ๔ นี้ และก็ได้ตรัสว่าประกอบด้วย

ความประกอบปธานะทั้ง ๔ นั้น ที่ตรัสว่า ปธานะสังขาระ ความประกอบความเพียร

ด้วยสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาให้บังเกิดขึ้น

 

เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงความให้เนื่องกันแล้วจึงกล่าวได้ว่า

อิทธิบาทดังที่ตรัสไว้นี้เองเป็นเหตุให้ประกอบปธานะ คือสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นสำเร็จขึ้นได้

และความต้องการของอิทธิบาทในที่นี้ก็คือว่า เป็นเหตุให้ประกอบความเพียร

อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นได้สำเร็จ

โดยอาศัยฉันทะสมาธิ วิริยะสมาธิ จิตตะสมาธิ วิมังสาสมาธิ

คือสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสายังให้บังเกิดขึ้น

 

สมาธิในสัมมัปปธาน

 

และเมื่อกล่าวจำเพาะสมาธิก็กล่าวได้ว่า

ในการประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้น

จะต้องมีสมาธิ คือความตั้งใจมั่นเพื่อที่จะประกอบความเพียร

เพื่อประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น

ถ้าขาดสมาธิเสียแล้วความประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้

เพราะว่าจิตใจนี้ไม่ตั้งเพื่อที่จะทำให้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น

คือจิตนี้ไม่ตั้งมั่นในอันที่จะระมัดระวัง อันเรียกว่า สังวรปธาน

ในอันที่จะละ อันเรียกว่า ปหานปธาน

ในอันที่จะปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้น อันเรียกว่า ภาวนาปธาน

ในอันที่จะรักษากุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์

จึงต้องมีสมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร

สมาธิในที่นี้จึงมีความหมายว่าความตั้งจิตมั่นที่จะประกอบความเพียรทั้ง ๔ ข้อนั้น

ไม่เปลี่ยนจิตเป็นอย่างอื่น

 

เพราะฉะนั้น จึงไม่หมายถึงการที่มานั่งปฏิบัติ

ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่เรียกว่าทำสมาธิกันทั่วๆไป

แต่หมายเอาถึงความที่ตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร

เมื่อมีความตั้งจิตมั่นดั่งนี้แล้ว การประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔

ซึ่งตรัสเรียกในหมวดอิทธิบาทนี้ว่า ปธานสังขาร ปรุงแต่งความเพียร

หรือประกอบความเพียร จึงจะบังเกิดขึ้นได้

แต่ว่าสมาธินั้นก็จำต้องอาศัยความมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาทั้ง ๔ ข้อนี้

มาทำให้บังเกิดเป็นสมาธิขึ้น

ถ้าขาดทั้ง ๔ ข้อนี้ สมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียรก็ไม่บังเกิด

 

ความเนื่องกันของธรรมปฏิบัติ

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้จึงมีความสำคัญ

อันจะเป็นอุปการะแก่ความประกอบความเพียรทั้ง ๔

หากว่าจะกล่าวให้เนื่องกันมาจากสติปัฏฐาน ก็กล่าวได้ว่า

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นข้อธรรมที่เป็นที่ตั้งของความปฏิบัติตั้งสติ

เป็นหลักในการปฏิบัติธรรมทางจิต หรือว่าจิตภาวนา

เป็นข้อปฏิบัติทางจิตภาวนาที่เป็นตัวหลัก หลักสำคัญ

แต่ว่าจะต้องอาศัยอุปการะธรรมคือสัมมัปปธาน ๔ มาเป็นเครื่องอุปการะ

ให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น เป็นไป และก้าวหน้า

จนกระทั่งสำเร็จเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ขึ้นได้

 

และสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้เล่า ก็ต้องมีอิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นอุปการะ

ถ้าขาดสัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐานก็มีไม่ได้ จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ช่วย

ถ้าขาดอิทธิบาททั้ง ๔ สัมมัปปธานทั้ง ๔ ก็มีไม่ได้ จะต้องมีอิทธิบาท ๔ ช่วย

คือจะต้องมีฉันทะคือความพอใจในความประกอบความเพียร

รักที่จะประกอบความเพียร ไม่เกลียดความประกอบความเพียร

ไม่รังเกียจความประกอบความเพียร ไม่เฉยๆต่อความประกอบความเพียร

ต้องมีความพอใจความรักที่จะประกอบความเพียร ข้อ ๑

 

ต้องมีวิริยะคือความเพียร คือความกล้าที่จะประกอบความเพียร

วิริยะนั้นแปลว่าความกล้า และวิริยะคือความกล้านี้ก็ตรงกันข้ามกับความไม่กล้า

คือความย่อหย่อน อันหมายถึงความเกียจคร้าน จะต้องมีความไม่เกียจคร้าน

ความขยันลุกขึ้นประกอบความเพียร ก็คือมีจิตใจที่กล้าที่แข็ง

ในอันที่จะประกอบกระทำความเพียรนั้นเอง ข้อ ๑

 

ต้องมีจิตตะคือมีจิต จิตที่ตั้งคือเอาใจใส่ดูแล จิตใจไม่ทอดทิ้งแต่จิตใจตั้งดูแล

ถ้าขาดจิตใจตั้งดูแล จิตใจทอดทิ้งแล้ว ก็เกิดความประกอบความเพียรขึ้นไม่ได้

หรือเกิดขึ้นได้ก็ย่อหย่อน เพราะเมื่อไม่มีจิตเข้าประกอบก็เป็นไปไม่ได้

ต้องมีจิตเข้าประกอบ จิตต้องตั้งมั่น แน่วแน่ และดูแล ข้อ ๑

 

ต้องมีวิมังสาคือจิตที่ตั้งมั่นนั้นจะต้องดูแล

ก็คือต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ( เริ่ม ๑๕๑/๒ ) ให้รู้จักทางและมิใช่ทาง

ให้รู้จักการปฏิบัติที่ตั้งขึ้นได้ หรือไม่ตั้งขึ้นได้ ที่ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ด้วยเหตุอะไร

จะต้องรู้ ในการปฏิบัติประกอบความเพียรของตน โดยเหตุโดยผล โดยถูกทางโดยผิดทาง

อะไรที่เป็นเหตุให้ย่อหย่อนเป็นเหตุให้ผิดทาง ก็ต้องรู้

อะไรที่เป็นเหตุให้ความประกอบความเพียรตั้งอยู่และก้าวหน้า เมื่อถูกทางก็ให้รู้

เพื่อว่าความประกอบความเพียรนั้นจะได้ดำเนินขึ้นได้ และเป็นไปโดยถูกต้องไม่ผิดทาง

 

ผลหลายอย่างในการปฏิบัติ

 

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้สำคัญทั้งนั้น

เพราะในการประกอบความเพียรนั้น จะต้องประสบกับผลที่บังเกิดขึ้นหลายอย่าง

เป็นผลของกิเลสอันปฏิปักษ์ต่อสัมมัปปธาน คือความประกอบความเพียรที่ชอบก็มี

เป็นผลของตัวความเพียรก็มี ซึ่งให้ผลปรากฏเป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี

และบังเกิดความประสบการณ์ในการปฏิบัติ ซึ่งมีเป็นขั้นตอน

อาจจะเห็นนั่นเห็นนี่ในภายนอกก็มี จะต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา

ว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นในระหว่างปฏิบัตินั้น บางอย่างก็เป็นอุปกิเลส

คือเป็นเครื่องเศร้าหมองของปฏิปทาที่ปฏิบัติไปสู่ความตรัสรู้

ถ้าหากว่าขาดปัญญาที่รู้จักก็ไปสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

บางทีก็ไปเกิดความกลัวเมื่อไปพบนิมิตที่น่ากลัว

บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเมื่อได้ประสบกับปีติสุขต่างๆที่บังเกิดขึ้น

 

ดังที่มีเล่าถึงว่าท่านที่ปฏิบัติธรรมในป่าบางท่าน

เมื่อท่านปฏิบัติไปได้รับความรู้และความสุข จิตใจปลอดโปร่งสะอาด

ถึงกับร้องขึ้นว่าเราสำเร็จแล้วดังนี้ก็มี และต่อมาเมื่อถึงวันรุ่งขึ้นจึงรู้สึกว่ายังไม่สำเร็จ

เพราะในขณะที่จิตบริสุทธิ์สะอาดนั้นรู้สึกเหมือนไม่มีกิเลส แต่เมื่อพ้นจากการปฏิบัตินั้นแล้ว

จิตกลับสู่ภาวะปรกติรับอารมณ์ทั้งหลาย จึงรู้ว่ายังมียินดียินร้าย ยังไม่สำเร็จ อย่างนี้ก็มี

จึงต้องมีวิมังสาความใคร่ครวญพิจารณานี้ อันเป็นข้อสำคัญ และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว

ก็ทำให้ได้สมาธิคือความตั้งใจมั่น ในอันที่จะประกอบความเพียร

ความประกอบความเพียรจึงบังเกิดขึ้นได้

 

ดั่งนี้แหละจึงกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิบาท

ซึ่งมีฉันทะเป็นใหญ่เรียกว่าฉันทาธิบดี มีวิริยะเป็นใหญ่เรียกว่ามีวิริยาธิบดี

มีจิตตะเป็นใหญ่เรียกว่ามีจิตตาธิบดี มีวิมังสาเป็นใหญ่เรียกวิมังสาธิบดี

ก็จะนำให้ได้สมาธิในการประกอบความเพียร แล้วก็ทำให้ประกอบความเพียร

ซึ่งเป็นสัมมัปปธานะ นำให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นสำเร็จอิทธิ

คือความสำเร็จในการปฏิบัติดังกล่าว

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats