ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป119

การปฏิบัติธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

มัชฌิมาปฏิปทา ๓

ข้อปฏิบัติในการฟังธรรม ๕

กายวิเวก สีลสิกขา ๕

จิตตวิเวก จิตตสิกขา ๖

อัสมิมานะ อหังการ มมังการ ๘

อุปธิวิเวก ๙

มีศัพท์ที่อาจจะเขียนไม่ถูกหน้า ๕,๖,๘,๑๐

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๖/๑ ( File Tape 119 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะนั้นมาจากความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ทรงแสดงสั่งสอน

และธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงที่กล่าวว่ามาจากความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น

ก็เพราะว่าถ้าพระองค์ไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็จะไม่ปรากฏมาถึงเราทั้งหลายในบัดนี้

และความตรัสรู้ของพระองค์นั้นหมายความว่าได้ทรงค้นพบ

ฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นสัจจะธรรมที่มีอยู่โดยเป็น ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ

คือเป็นธาตุแท้ที่ตั้งอยู่ หรือจะเรียกว่าเป็นธรรมดาที่ตั้งอยู่

ดังที่ตรัสเอาไว้ว่า พระตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม

ธรรมะนั้นย่อมตั้งอยู่ หรือว่าธาตุนั้นย่อมตั้งอยู่

เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม

แต่เมื่อพระตถาคตได้ทรงพบคือตรัสรู้จึงทรงจำแนกเปิดเผย กระทำให้แจ้ง

เป็นอริสัจจ์ ๔ หรือโดยปริยายที่จำแนกออกเป็นหมวดธรรมต่างๆ

เราทั้งหลายเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จึงได้ทราบ

รู้จักศีล สมาธิ ปัญญา รู้จักมรรคมีองค์ ๘ หรือหมวดธรรมที่ตรัสไว้โดยปริยายอื่น

ดังเช่นเป็นโพชฌงค์ เป็นพละ เป็นอินทรีย์ อิทธิบาท สมุปธาน สติปธาน

ที่เป็นหมวดโพธิปักขิยธรรม เป็นต้น

 

มัชฌิมาปฏิปทา

 

และทางที่ทรงปฏิบัติคือมรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา

ข้อปฏิบัติเป็นหนทางกลาง ก็มีแสดงไว้แห่งหนึ่งว่าเป็นทางเก่า

ซึ่งเป็นทางที่พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย ได้ปฏิบัติดำเนินมาในทางนี้อยู่แล้ว จึงได้ตรัสรู้

และเมื่อทรงสั่งสอนพระสาวกทั้งหลายก็ได้ฟัง และก็ได้ดำเนินทางนี้อยู่แล้ว

จึงได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นธรรมดา

หรือที่เรียกว่า ธาตุ เรียกว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ดังกล่าวนั้น

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสร้างธรรมะขึ้นมาเอง แต่ว่าทรงสร้างพุทธศาสนา

หรือว่าศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอน ส่วนธรรมะที่ตรัสรู้นั้นไม่ได้ทรงสร้างขึ้นมาเอง

เป็นธาตุ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ที่มีอยู่พระองค์ได้ทรงพบคือตรัสรู้

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่เป็นสัจจะนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

หรือหากจะกล่าวถึงกาลเวลาก็ต้องกล่าวว่ามีอยู่ทุกกาลสมัย

และก็เป็นสัจจะคือความจริงเป็นอันเดียวกัน

 

ดังที่ตรัสไว้ในธรรมนิยามสูตรคือข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

ธรรมทั้งปวงคือทั้งสังขาร ทั้งวิสังขาร เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

เป็น ธรรมดา ที่มีอยู่โดยไม่กำหนดด้วยกาลเวลา เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายต่างได้มีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นมิตรผู้ดีงาม

ซึ่งประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

และธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอนนี้แม้จะทรงแสดงแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

แต่ว่าธรรมะที่ทรงแสดงนั้น ก็ไม่จำเพาะเจาะจงบุคคลนั้นเท่านั้น

แต่เป็นสัจจะคือความจริงที่ครอบโลกทั้งหมด ใช้ได้แก่บุคคลทั้งหมด สัตว์ทั้งหมด

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้

จึงเหมือนอย่างพระองค์เสด็จมาโปรด ทุกครั้งทุกคราวไป

ธรรมะที่ทรงสั่งสอนที่เราทั้งหลายได้ฟังกันมาจนถึงทุกวันนี้นั้น

จึงประกอบด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อยู่สมบูรณ์ทุกข้อทุกบท

พระพุทธคุณนั้นก็คือประกอบด้วยพระปัญญาคุณ เพราะออกมาจากพระปัญญาที่ตรัสรู้

ประกอบด้วยปริสุทธิคุณ เพราะออกมาจากความบริสุทธิ์ของพระองค์

ประกอบด้วยพระกรุณาคุณ เพราะออกมาจากพระกรุณาของพระองค์ ทุกข้อทุกบท

ฉะนั้น เมื่อได้สดับตรับฟังด้วยมี โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย

คือธรรมะมาใส่ไว้ในใจ ใส่ใจในธรรมะ และตั้งใจพิจารณาไตร่ตรองจากเหตุจากผล

ก็จะได้พบเหตุผลตามสัจจะที่เป็นความจริง หรือพบความจริงตามเหตุและผล

จนถึงธรรมะที่อยู่เหนือเหตุผล อันเป็นที่สุด

 

เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับพระองค์ได้เสด็จมาโปรดด้วยพระองค์เอง

ในทุกขณะที่ได้ฟังธรรมของพระองค์ และจะได้พบพระธรรมคุณด้วยตนเอง

ตั้งต้นแต่ด้วยความสำนึกในพระธรรมที่ทรงสั่งสอนว่า

สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว บอกไว้ดีแล้ว

และนำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง

ดังที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณ

 

ผู้ฟังธรรมะของพระองค์ผู้ทรงเป็นกัลยาณมิตรผู้สูงสุด

และมีโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือพิจารณาจับเหตุจับผล

หรือเรียกว่าพิจารณาจับเหตุผลต้นปลายให้ถูกต้อง

ย่อมจะได้พบพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณอยู่อย่างสมบูรณ์

ในธรรมะที่สดับทุกข้อทุกบท

 

ข้อปฏิบัติในการฟังธรรม

 

เพราะฉะนั้น ความที่มาตั้งใจฟังธรรม มีโยนิโสมนสิการที่ในธรรมที่ฟังนั้น

คือทำไว้ในใจ อันหมายความว่าทำธรรมะที่ฟังไว้ในใจ หรือว่าใส่ใจในธรรมะที่ฟังนั้น

ไตร่ตรองพิจารณาไป จับเหตุผลต้นปลายให้ถูกต้อง ปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าปฏิบัติในการฟังธรรม

ย่อมจะเห็นธรรม คือเห็นเหตุผลต้นปลายในธรรมะที่ฟังนั้น ย่อมจะได้วิเวกคือความสงบสงัด

อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข ดังที่ตรัสเอาไว้ว่า สุโข วิเวโก ตุทัสสะ สุตะ ธัมมัสปัสโต

ที่แปลความว่า วิเวกคือความสงบสงัดให้เกิดความสุขแห่งบุคคลผู้มีธรรมที่ได้สดับแล้ว

เห็นธรรม สันโดษยินดีในธรรม

 

และวิเวกคือความสงบสงัดนี้ แสดงโดยทั่วไป ท่านแบ่งเป็น ๓

คือ กายวิเวก ความสงบสงัดทางกาย

จิตตวิเวก ความสงบสงัดจิต อุปธิวิเวก ความสงบสงัดกิเลสที่สิงใจ

จะได้วิเวกคือความสงบสงัดทั้ง ๓ ประการนี้ ซึ่งแต่ละประการก็ให้เกิดความสุข

 

กายวิเวก สีลสิกขา

 

ประการแรกกายวิเวกสงบสงัดกาย

มีความหมายถึงสงบสงัดกายคือ กาย วาจา และเนื่องมาถึงจิต

จากภัยเวรทั้งหลาย หรือจากบาปอกุศลทุจริตทางกายวาจาพร้อมทั้งใจ

( เริ่ม ๑๕๖/๑ ) หากว่าจะแสดงโดยอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้แก่อริยมรรค ๓ ข้อ

คือปรากฏเป็นสัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

สัมมาวาจาเจรจาชอบนั้นก็คือเว้นจากพูดเท็จ

เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

หากแสดงโดยนัยยะที่ไม่ปฏิเสธ ก็คือพูดวาจาที่เป็นสัตย์จริงซึ่งมีประโยชน์

พูดวาจาที่สมัครสมานสามัคคี พูดวาจาที่เป็นคำสุภาพ วาจาซึ่งเป็นที่รัก

และพูดวาจาที่มีหลักฐานเป็นธรรมเป็นวินัย เป็นข้อที่ควรพูด

 

มรรคทั้ง ๓ ข้อนี้จัดเป็นศีล หรือสีลสิกขา ศึกษาในศีล

ย่อมปรากฏออกมาเป็นความไม่เบียดเบียน เป็นความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความสุข เพราะเมื่อไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

มีความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลาย ก็คือในกันและกันทั้งหมด

โดยไม่ให้มีการละเมิด กระทบกระทั่ง ทำลายร่างกายชีวิตทรัพย์สินเป็นต้น

ก็จะมีความสุข ทั้งผู้ประพฤติปฏิบัติเองด้วย และทั้งผู้อื่นด้วย

จึงได้ตรัสเอาไว้ว่า ธัมปยาปัชชังสุขังโลเก ปานะภูเตสุสัญโม

ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก

หรือเป็นเหตุให้เกิดสุขในโลก

 

การปฏิบัติในข้อนี้จัดว่าเป็นกายวิเวก

และผู้ที่ฟังธรรมเห็นธรรมยินดีในธรรม ย่อมได้วิเวกคือกายวิเวกเป็นข้อที่ ๑ นี้แล้ว

ยังจะได้วิเวกข้อต่อไป คือจิตตวิเวกสงบสงัดจิต

เพราะว่า เมื่อได้สดับธรรมเห็นธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ ยินดีในธรรม พอใจในธรรม

ก็ย่อมยินดีในการปฏิบัติธรรมที่เป็นวิเวกดังกล่าวนี้ขึ้นไปโดยลำดับ

 

จิตตวิเวก จิตตสิกขา

 

และจิตตวิเวกคือความสงบสงัดทางจิตนี้ ก็ได้แก่สมาธิ

คือความที่จิตสงบสงัดกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน

ได้ความที่นำจิตมาตั้งไว้ในกรรมฐาน ได้ความประคองจิตไว้ในกรรมฐาน

ได้ปีติได้สุขในกรรมฐาน และได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวในกรรมฐาน

 

และหากจะยกเอาองค์มรรค ๘ มาแสดงในข้อนี้

ก็ได้แก่องค์มรรค ๓ ข้อ คือ สัมมาวายามะ เพียรชอบ

คือเพียรระวังบาปอกุศลอธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด ขึ้นข้อ ๑

เพียรละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ข้อ ๑

เพียรทำกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ข้อ ๑

เพียรรักษากุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ และให้เจริญบริบูรณ์

เรียกว่าสัมมาวายามะเพียรชอบ เป็นข้อที่ ๑

 

สัมมาสติ สติคือระลึกชอบ ก็ได้แก่ระลึกรู้ไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

อันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ข้อ เรียกว่าสัมมาสติระลึกชอบ สติชอบ เป็นองค์มรรคที่ ๒

สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ปฏิบัติทำสมาธิกำหนดในกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้

เบื้องต้นก็มีวิตกคือนำจิตตั้งไว้ในกรรมฐาน มีวิจารความตรองคือประคองจิตไว้ในกรรมฐาน

เมื่อประคองจิตไว้ได้นาน ก็จะได้ปีติความดูดดื่มความอิ่มใจ สุขความสบายกายสบายใจ

และได้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งตั้งอยู่อาศัยสุข

และเมื่อได้จิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวได้ก็เรียกว่าได้สมาธิ อันนับว่าเป็นขั้นต้น

และเมื่อปฏิบัติต่อไปจิตก็จะตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้น ได้สมาธิที่ดียิ่งขึ้น จนถึงแนบแน่น

ก็เรียกว่า สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ เป็นข้อที่ ๓

 

ทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นจิตตวิเวก หรือว่าจิตตสิกขาศึกษาในจิต ก็คือสมาธิ

มีอาการที่เป็นวิเวกคือความสงบสงัดจากราคะคือความติดใจยินดี

อันเรียกว่า วิราคตา คือความที่ปราศจากความติดใจยินดี

ก้าวล่วงกามทั้งหลาย คือก้าวล่วงกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นไว้แล้วว่า สงบสงัดจากกามทั้งหลาย จากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เป็นเหตุให้เกิดความสุขขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ดังที่ตรัสเอาไว้ว่า สุขา วิราคตา โลเก กามณัง สมติกโม

ความสิ้นความติดใจยินดี คือก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก

และความที่ได้สดับฟังธรรมะ เห็นธรรมะด้วยโยนิโสมนสิการ ยินดีในธรรม

ย่อมจะอุดหนุนให้การปฏิบัติพบวิเวกที่ละเอียดไปกว่านั้น คือ อุปธิวิเวก

สงบสงัดจากอุปธิคือกิเลสที่สิงใจทั้งหลาย

 

อัสมิมานะ อหังการ มมังการ

 

อันกิเลสที่สิงใจนี้ ที่เป็นอย่างละเอียดเรียกว่า อัสมิมานะ

ความสำคัญหมายยึดถือว่าเรามีเราเป็น

เพราะเมื่อมีความหมายมั่นในใจ ยึดถือในใจว่าเรามีเราเป็นดั่งนี้

ก็ทำให้บังเกิด อหังการ คือสร้างตัวเราขึ้นมา เกิด มมังการ สร้างของเราขึ้นมา

มีตัวเรา มีของเรา

 

เมื่อมีตัวเรามีของเราดั่งนี้

ก็ย่อมทำให้บังเกิดความขวนขวายต่างๆ มาให้ตัวเราของเรา

และเมื่อมีความยึดถือในตัวเราของเรามาก

ก็ย่อมจะทำให้ขวนขวายแสวงหามาให้ตัวเราของเรามากขึ้น

ปรากฏเป็นตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อยากจะให้ตัวเราได้นั่นได้นี่ เป็นนั่นเป็นนี่

ให้สิ่งนั้นมาเป็นของเรา ให้สิ่งโน้นมาเป็นของเรา ไขว่คว้าต่างๆ โดยที่ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

เพราะว่าอันความอยากนั้นไม่มีอิ่มไม่มีพอ ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่า

ตัณหาไม่มีอิ่มไม่มีพอ เหมือนอย่างมหาสมุทรที่ไม่เต็มด้วยน้ำ หรือไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ

อย่างเช่นเอาเชื้อใส่ไฟมากเท่าไร ไฟก็ไหม้เชื้อกองโตขึ้นเท่านั้น ทำให้ต้องการเชื้อมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้น ตัวอัสมิมานะคือความสำคัญมั่นหมายว่าตัวเราของเรานี้จึงเป็นจุดสำคัญ

ซึ่งเป็นตัว ภวตัณหา นำให้เกิด กามตัณหา และเพิ่มพูน วิภวตัณหา

ทั้งหมดนี้บังเกิดขึ้นจากอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

จึงบังเกิดความหลงยึดถือดั่งนั้น

 

อุปธิวิเวก

 

เพราะฉะนั้น จะแก้ได้ก็ต้องแก้ด้วยปัญญา

โดยที่อบรมปัญญา กำจัดกิเลสที่สิงใจเหล่านี้ให้สิ้นไป

เพราะเมื่อปัญญาบังเกิดขึ้นเป็นวิชชาคือความรู้ ที่หยั่งรู้ถึงสัจจะคือความจริง

ว่าอันที่จริงนั้น ตัวเราของเราจริงๆนั้นไม่มี

แต่ที่มีตัวเราของเรานั้นเป็นตัวมานะคือความสำคัญมั่นหมายยึดถือเท่านั้น

จึงทำให้เกิดอหังการมมังการเป็นต้น ขึ้นอีกมากมาย

 

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยปัญญา

เมื่อปัญญาบังเกิดขึ้นเป็นวิชชา ความรู้ที่แจ่มแจ้งในสัจจะคือความจริง

อวิชชาคือความไม่รู้ก็หายไป เมื่ออวิชชาหายไป อัสมิมานะอันนี้ก็ดับ

เหมือนอย่างเมื่อความสว่างบังเกิดขึ้นความมืดก็หาย

สัจจะคือความจริงก็ย่อมปรากฏขึ้น เป็นทุกข์เป็นสมุทัยเป็นนิโรธเป็นมรรค

 

เพราะฉะนั้นจะได้วิเวกขั้นสูงคืออุปธิวิเวก คือความสงบสงัดกิเลสที่สิงใจคืออัสมิมานะ

ก็ต้องปฏิบัติทางปัญญา คือตั้งใจฟังธรรม และเห็นธรรมด้วยโยนิโสมนสิการ

ยินดีในธรรมที่ยิ่ง ปฏิบัติโยนิโสมนสิการ ใส่ใจในธรรม

คือนำธรรมะมาใส่ไว้ในจิตที่เป็นสมาธิ ที่สงบ ที่บริสุทธิ์สะอาด

ธรรมะที่ใส่เข้าไปในใจเช่นนี้ย่อมจะเป็นแสงประทีปขึ้นในใจ

ส่องให้มองเห็นธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง เป็นวิชชาขึ้น

เป็นญาณเป็นความหยั่งรู้ขึ้น เป็นจักษุคือดวงตาเห็นธรรมขึ้น เป็นความสว่างขึ้น

ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

 

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นวิชชาซึ่งเป็นแสงสว่างปรากฏ อวิชาที่เป็นตัวมืดก็หาย

แต่ทั้งนี้ก็ต้องปฏิบัติทางปัญญาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากศีลและสมาธิ

คือให้จิตนี้เองเป็นศีล จิตนี้เองเป็นสมาธิ และจิตนี้เองเป็นปัญญาขึ้นในจิต

 

หากจะแสดงโดยองค์มรรค ก็ได้แก่องค์มรรค ๒ ข้อ

คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ที่ได้แก่ญาณคือความหยั่งรู้

ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เป็นสัมมาทิฏฐิข้อที่ ๑

 

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือดำริออกจากกาม ดำริไม่เบียดเบียน

ดำริไม่พยาบาทมุ่งร้ายปองร้ายใคร ดำริไม่เบียดเบียน

เมื่อปฏิบัติให้ได้สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะดั่งนี้ ก็จะได้ปัญญาที่เป็นวิชชา

เป็นความสว่างปรากฏขึ้นในจิต ความมืดหรืออวิชชาที่เป็นตัวไม่รู้ก็หายไป

เป็นความรู้แจ้มแจ้งขึ้นมา อัสมิมานะก็หายไปเรียกว่ากำจัดอัสมิมานะได้

 

อันนี้แหละเป็นตัวสุขที่เป็นข้อที่ ๔ ถ้านับตั้งแต่วิเวกที่เป็นข้อรวม ข้อที่ ๑

หรือถ้านับจำเพาะที่เป็นศีลเป็นสมาธิปัญญาก็เป็นข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นบรมสุข

จึงได้ตรัสไว้ว่า อัสมิมานัสสะ วิริโย เอตังเว ปรมัง สุขัง

กำจัดอัสมิมานะความสำคัญมั่นหมายยึดถือว่าเรามีเราเป็นเสียได้ นี้แลเป็นบรมสุข ดั่งนี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

ฌาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

อารัมมณูปนิชฌาน ๒

องค์ฌาน ๓

อาลัยของจิต ๔

กามคุณ กามกิเลส ๔

กามสุข สมาธิสุข ๖

นิวรณ์ ๕ ๖

วิธีปฏิบัติรักษาอารมณ์ของสมาธิ ๗

วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ๘

ลักขณูปนิชฌาน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๕๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๖/๒ ( File Tape 119 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ฌาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

อันจิตตภาวนาคือการอบรมจิตนั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า ฌานคือความเพ่ง ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง

อันคำว่าฌานคือความเพ่งนั้นมี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน แปลว่าเพ่งอารมณ์

กับ ลักขณูปนิชฌาน คือเพ่งลักษณะ

 

อารัมมณูปนิชฌาน

 

ข้อแรกการเพ่งอารมณ์นั้น ก็หมายถึงอารมณ์ของกรรมฐาน ที่ทำจิตให้สงบ

( เริ่ม ๑๕๖/๒ ) อันเรียกว่าสมถกรรมฐาน ดังเช่นเพ่งลมหายใจเข้าออก

โดยถือเอาลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตตั้งไว้

อันเรียกว่าอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

หรือเพ่งกาย โดยเพ่งอาการของกาย มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

ถือเอาผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นเป็นอารมณ์

คือเป็นเรื่องที่จิตคิดตั้ง หรือเป็นเรื่องที่ตั้งจิตคิดกำหนด

หรือว่าพิจารณากายนี้แยกออกเป็นธาตุดินน้ำไฟลม กำหนดที่ธาตุ ถือเอาธาตุเป็นอารมณ์

รวมความว่าสมถกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ทุกข้อ

เป็นอารมณ์ อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์

 

องค์ฌาน

 

คือในการปฏิบัติอบรมจิตในกรรมฐานส่วนนี้

อาศัยใช้จิตเพ่งกำหนด จับตั้งอยู่ที่อารมณ์ของกรรมฐานทั้งปวง

อาการที่เพ่งดั่งนี้ก็คือสมาธิ ความตั้งใจหรือความตั้งจิตกำหนด

ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติไปตามองค์ ๕ ของปฐมฌานคือความเพ่งที่ ๑

อันได้แก่ วิตก ที่แปลว่าตรึก

แต่ในที่นี้หมายถึงความที่นำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน

หรือจะกล่าวว่านำอารมณ์ของกรรมฐานมาตั้งไว้ในจิตก็ได้

วิจาร ความตรอง ในที่นี้หมายถึงว่า ความประคองจิตไว้

ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานนั้น ไม่ให้พลัดตกไป

 

วิตกวิจารดังกล่าวนี้ต้องใช้ในการปฏิบัติในเบื้องต้น

หรือในเวลาเริ่มปฏิบัติที่เรียกว่าทำสมาธิ หรือว่าทำจิตตภาวนาเพื่อสมาธิ

และในขั้นวิตกวิจารนี้จิตยังไม่ได้สมาธิ จิตยังกระสับกระส่ายดิ้นรนกวัดแกว่ง

คือเมื่อนำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ ให้จิตจับเพ่งอารมณ์ของสมาธิ

กำหนดอารมณ์ของสมาธิ แม้จะคอยประคองจิตไว้ที่เป็นวิจาร

จิตก็มักจะดิ้นรนออกไปจากอารมณ์ของสมาธิหรือกรรมฐาน ไม่ยอมตั้งอยู่

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า เหมือนอย่างจับปลาจากน้ำอันเป็นที่อยู่ของปลา

มาวางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นเพื่อลงน้ำ อันเป็นที่อาศัยของปลา

 

อาลัยของจิต

 

จิตที่เริ่มปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เมื่อยกจิตมาตั้งไว้ในกรรมฐาน

หรือในอารมณ์ของสมาธิ หรือเรียกว่าของกรรมฐานก็ได้

จิตก็มักจะดิ้นรนไปสู่ที่อยู่ของจิตอันเรียกว่าอาลัยเหมือนกัน

คำว่าอาลัยนั้นแปลว่าที่อยู่ที่อาศัย ปลานั้นมีน้ำเป็นอาลัยคือเป็นที่อยู่ที่อาศัย

จิตสามัญนี้ก็มีกามคุณารมณ์ คืออารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นที่อยู่อาศัย

จิตชั้นนี้เรียกว่ากามาพจร ที่แปลว่าเที่ยวไปในกาม หยั่งลงในกาม

คือเรื่องที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ประกอบด้วยความปรารถนารักใคร่พอใจทั้งหลาย

หรือเรียกว่ากามคุณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกามคุณ ไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน

ถ้าอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน ก็เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน

แต่จิตโดยปรกตินั้นอยู่กับอารมณ์ที่เป็นกามคุณ

 

กามคุณ กามกิเลส

 

อันคำว่า กามคุณ นั้นหมายถึงกามที่เป็นกิเลส คือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

กับกามที่เป็นวัตถุ คือเป็นสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

กามที่เป็นกิเลสกับกามที่เป็นวัตถุนี้ ย่อมประกอบอยู่ด้วยกัน

วัตถุนั้นถ้าไม่มีกามที่เป็นกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ ก็เป็นวัตถุเฉยๆ

ต่อเมื่อมีกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ จึงเป็นวัตถุกาม

 

เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าวัตถุกามนั้น ก็เพราะว่าเป็นวัตถุที่มีกิเลส

คือตัวกามกิเลสเข้ามาเกี่ยวเกาะ กามทั้งสองนี้จึงต้องอาศัยกันไปดั่งนี้

และจิตที่เป็นชั้นกามาพจรนี้ก็อยู่กับกามคุณารมณ์โดยปรกติ หรือเป็นปรกติ

และที่เรียกว่า คุณ นั้นแปลว่ากลุ่มก้อนก็ได้ กลุ่มก้อนของกิเลสกามและวัตถุกาม

ที่ซับซ้อนกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนอย่างกลุ่มด้าย

เพราะว่ากามที่ตั้งอยู่ในจิตนั้นซับซ้อนกันอยู่มากมาย ลึกลงไปเป็นตะกอน

คือเหมือนอย่างตะกอนที่นอนจมอยู่ก้นตุ่มน้ำก็มี

ที่ฟุ้งขึ้นมาเหมือนอย่างตะกอนก้นตุ้มนั้นฟุ้งขึ้นมา ทำให้น้ำในตุ่มขุ่น

 

กิเลสที่เป็นตะกอนที่นอนอยู่ก้นจิตนั้น เมื่อถูกกระทบก็ฟุ้งขึ้นมาทำให้จิตขุ่น

ปรากฏเป็นราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ก็คือราคะโทสะโมหะนั้นเอง จึงทำให้จิตดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ

หรือว่าตัณหาคือความที่จิตดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ทำให้จิตนี้ชอบบ้าง ชังบ้าง หลงบ้าง

เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ดังกล่าว ทั้งหมดนี้เรียกว่ากามคุณ

 

อีกประการหนึ่งมีความหมายว่ากามที่เป็นส่วนให้คุณ อันทำให้จิตติด

คุณมีความหมายตรงกันข้ามกับโทษ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

กามทั้งหลายนี้มีคุณน้อย หรือว่ามี อัสสาทะ มีส่วนที่น่าพอใจน้อย

แต่ว่ามี อาทีนพ โทษมาก หรือว่ามีคุณน้อย มีโทษมากก็ได้

 

ถ้ากามไม่มีคุณเสียเลยจิตก็จะไม่ติดในกาม

เพราะกามมีคุณ หรือมีอัสสาทะส่วนที่น่าพอใจอยู่ด้วยจึงทำให้ติดจิต

มีนันทิคือความเพลิดเพลินอยู่ในกาม

เพราะฉะนั้นเมื่อจิตได้สุขอยู่ในกาม ก็ติดสุขอยู่ในกาม

อันนับว่าเป็นคุณของกาม หรือกามที่เป็นส่วนคุณ

 

แต่เมื่อทุกข์โทษปรากฏขึ้นจึงจะทำให้เกิดความหน่ายในกามได้

ถ้าทุกข์โทษยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ยังไม่ทำให้เกิดความหน่ายในกาม

แต่ว่าทุกข์โทษที่จะปรากฏขึ้นจนทำให้เกิดความหน่ายนั้น จะต้องเป็นปรากฏทางปัญญา

ถ้าปรากฏเพียงทุกขเวทนา เช่นความโศกร่ำไรรำพัน ในเมื่อต้องพลัดพราก

จากสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือบุคคลที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

เป็นทุกขเวทนา ก็ยังไม่ทำให้เกิดความหน่ายได้ง่าย

 

เพราะว่ายังมีสุขส่วนอื่นของกามทำให้จิตติดอยู่

เป็นทุกข์อยู่ในส่วนนี้ แต่ก็ยังเป็นสุขอยู่ในส่วนโน้น จิตจึงยังไม่หน่าย

และแม้ทุกขเวทนานั้นเองก็มิใช่ว่าจะตั้งอยู่อย่างนั้น เมื่อมีเกิดก็มีดับ

เช่นเดียวกับสุขเวทนามีเกิดก็มีดับ จึงผลัดกันไปผลัดกันมา สุขบ้างทุกข์บ้าง

คนจึงอยู่กันด้วยความหวังอันเป็นตัวตัณหา

คือแม้ว่าจะพบทุกข์ในวันนี้ก็คิดว่าพรุ่งนี้จะมีสุข พบทุกข์ในสิ่งนี้ก็คิดว่าจะมีสุขในสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่ายังมีเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณารมณ์

 

กามสุข สมาธิสุข

 

ฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์อันเป็นอาลัย คือที่อาศัยของจิตที่เป็นชั้นนี้

มาตั้งไว้ในอารมณ์กรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ

จิตจึงไม่ได้สุขในอารมณ์ของกรรมฐาน เมื่อไม่ได้สุขจิตอึดอัดไม่ชอบไม่เพลิน

จึงได้ดิ้นรนออกไปลงน้ำคือกามคุณารมณ์ เหมือนปลาที่ดิ้นลงน้ำดังกล่าวนั้น

ฉะนั้นจึงต้องอาศัยวิตกวิจารทั้งสองนี้ คือคอยยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ

แล้วคอยประคองเอาไว้ เมื่อตกไปก็ยกขึ้นมาใหม่ ประคองไว้ใหม่

ตกไปก็ยกขึ้นมาใหม่ประคองไว้ใหม่

 

นิวรณ์ ๕

 

ฉะนั้นการเริ่มทำสมาธินั้นจึงรู้สึกว่าเป็นการยาก

และสิ่งที่เป็นอันตรายแก่สมาธิตั้งแต่เบื้องต้นนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกออกไปเป็นนิวรณ์ ๕ นั้นเอง

คือนิวรณ์นี้เอง ก็คือว่าเป็นตัวกามคุณารมณ์เป็นข้อสำคัญ อันเป็นที่อาศัยของจิต

ที่เป็นกามาพจร ซึ่งจะต้องดึงจิตให้ตกลงไปสู่ที่อยู่ที่อาศัยดังกล่าวนี้

ซึ่งจิตก็มีความเพลิดเพลิน มีความสุขที่จะอยู่อย่างนั้น

ยังไม่ได้สุขได้ความเพลิดเพลินที่จะอยู่กับสมาธิ

 

วิธีปฏิบัติรักษาอารมณ์ของสมาธิ

 

เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แสดงวิธีที่สำหรับจะรักษาจิต

ไว้ในอารมณ์ของสมาธิไว้มากมาย เป็นการปฏิบัติเสริมวิธีปฏิบัติสมาธิ

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ตรงๆ ดังเช่นตรัสสอนในอานาปานสติ

ว่าผู้ปฏิบัติให้เข้าไปสู่ป่า หรือสู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง นั่งขัดสมาธิหรือขัดบัลลังก์

ตั้งกายตรงดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว ออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว

หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น ออกสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น เป็นต้น

คือให้มีความรู้อยู่ที่ลมหายใจ เพ่งอยู่ที่ลมหายใจ

 

พระอาจารย์จึงได้มาอธิบาย เช่นในวิสุทธิมรรคท่านก็สอน

ให้กำหนดจุดที่ลมหายใจเข้าหายใจออก ผ่านเข้าผ่านออก เป็น ๓ จุด

ริมฝีปาก อุระ และนาภีหรือท้อง หายใจเข้าลมหายใจเข้าจะมากระทบอยู่ปลายจมูก

แล้วผ่านอุระหรือทรวงอกลงไปสู่นาภี ปรากฏเป็นพอง

ออกก็จะออกจากนาภีปรากฏเป็นยุบ ผ่านอุระหรือทรวงอก และมาออกที่ปลายจมูก

เพื่อให้เป็นที่ตั้งของจิต อันจะช่วยให้จิตตั้งได้สะดวกขึ้น

 

และก็สอนให้ใช้วิธีนับ เช่นหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ ไปจนถึง ๕

แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ๑ จนถึง ๖ ดั่งนี้เป็นต้น

จนถึงนับตั้งต้น ๑ ถึง ๑๐ แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่ ๑ ถึง ๕

แต่วิธีนับนี้ก็มีอาจารย์อื่นก็สอนวิธีนับที่ต่างๆออกไป

และท่านก็สอนให้นับเร็ว หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ ไม่ใช่นับคู่

เอานับมาเป็นเครื่องช่วยที่จะให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

 

แต่เปรียบเหมือนอย่างว่า เรือที่พายผ่านไปถึงน้ำเชี่ยวต้องใช้ถ่อช่วย

ลำพังพายนั้นไม่สามารถจะนำเรือไปได้ ต้องใช้ถ่อ

ก็คือว่าจิตในที่แรกนั้น จิตในทีแรกนั้นเป็นจิตที่พล่าน ดิ้นรนพล่านอย่างน้ำเชี่ยว

เพราะฉะนั้นจะใช้พายอย่างเดียวก็ดึงไว้ไม่อยู่ จึงต้องใช้ถ่อช่วย คือการนับช่วย

แต่ว่าเมื่อถึงตอนที่น้ำไหลเป็นปรกติก็เลิกใช้ถ่อ ใช้พายต่อไป

ฉะนั้น เมื่อถึงตอนที่จิตสงบลง ประคองให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้

เช่นตั้งอยู่ในการกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ ก็เลิกใช้การนับ เพียงแต่ทำสติ

กำหนดอยู่เพียงจุดเดียว ที่ท่านสอนไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นคือให้กำหนดดูที่ปลายจมูก

( เริ่ม ๑๕๗/๑ ) ลมกระทบ อันเป็นที่ๆเกิดความสัมผัสจริง กำหนดที่ความสัมผัส

 

วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

 

ดั่งนี้จึงต้องอาศัยวิตกวิจาร เพราะว่าการนับก็ดี หรือวิธีอื่นก็ดี

ก็รวมอยู่ในวิตกคือตรึกทั้งนั้น ตรองทั้งนั้น คือตั้งจิตประคองจิตทั้งนั้น

และแบบที่ใช้พุทโธก็เช่นเดียวกัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็เป็นขั้นวิตกวิจาร

อันเป็นเครื่องช่วยให้จิตตั้ง และเมื่อจิตเริ่มตั้งได้ ก็จะเริ่มได้ปีติคือความอิ่มใจ สุขใจ

ความซาบซ่านในใจ เกิดสุขคือความสบายกายสบายใจ

 

และเมื่อได้ปีติได้สุขดั่งนี้จิตก็จะอยู่ตัว

เพราะว่าจิตได้สุข ได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้ว ก็ไม่ต้องดิ้นรนพล่านไปหากามคุณารมณ์

ในตอนที่ยังดิ้นรนพล่านออกไปนั้นก็เพราะยังไม่ได้ปีติได้สุขจากสมาธิ

เมื่อได้ปีติได้สุขจากสมาธิแล้วจิตก็จะตั้งมั่นได้สงบได้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

จิตก็เป็นเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งเป็นตัวสมาธิ

คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

 

ลักขณูปนิชฌาน

 

อันนี้ต้องอาศัยฌานคือความเพ่ง เพ่งจิตลงไปที่อารมณ์ของสมาธิ

หรือที่อารมณ์กรรมฐานดั่งที่กล่าวนั้น นี่คือฌานความเพ่ง

เพ่งเพื่อให้จิตเป็นสมาธิคือตั้งมั่น อันเป็นตัวฌานคือตัวความเพ่ง

และเมื่อได้ฌานคือความเพ่งดั่งนี้ ต้องการจะเลื่อนชั้นของการปฏิบัติเป็นวิปัสสนา

ก็นำเอาความเพ่งที่เป็นสมาธินี้มาเพ่งลักษณะ

 

อันหมายถึงไตรลักษณ์

คือลักษณะที่เป็นเครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง มีเกิดดับ

เรียกว่าอนิจจลักขณะ หรืออนิจจลักษณะ เพ่งที่ทุกข์ลักษณะหรือทุกขลักขณะ

กำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เพ่งที่อนัตตลักขณะหรืออนัตตลักษณะ เครื่องกำหนดหมายว่าอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ก็คือเพ่งที่องค์ฌาน หรือองค์ของสมาธิดังกล่าวแล้วนั้นเอง

เพ่งดู วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัตตคา

 

เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นนามรูป สิ่งที่รู้เป็นรูป รู้เป็นนาม

เพราะว่าทั้งหมดนั้นก็รวมอยู่ในความรู้ของจิต

ตัวความเพ่งเอง หรือตัวสมาธิเอง ก็อยู่ในความรู้ของจิต

และความรู้ของจิตนั้นก็แยกได้เป็น ๒ คือเป็นสิ่งที่รู้อัน ๑ ตัวความรู้อัน ๑

สิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูป ตัวความรู้ก็เป็นนาม

หรือว่าแยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ คือสิ่งที่รู้นั้นก็เป็นรูปขันธ์กองรูป

อันหมายถึงรูปที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือว่ารูปที่เป็นสิ่ง คือสิ่งที่รู้

แม้จะไม่ใช่เป็นรูปจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่รู้ อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่รู้ ก็เป็นรูปทั้งนั้น

และนามนั้นก็แยกออกไปเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นขันธ์ ๕

รวมเข้าก็เป็นสิ่งที่รู้คือรูป ความรู้คือนาม

 

ก็เพ่งดูลักษณะของรูปนามดังกล่าวมานี้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ

อันเรียกว่าไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่ตั้งอยู่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นทุกข์

และเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ จึงไม่ควรจะยึดถือเป็นตัวเราของเรา และก็พิจารณารวมเข้ามาว่า

สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

เป็นอันว่าอนิจจะทุกขะอนัตตารวมอยู่เป็นจุดเดียวกัน รวมอยู่เป็นเกิดดับ

รวมอยู่เป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่คงที่

รวมอยู่เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

 

ดั่งนี้ก็เรียกว่าเพ่งลักษณะ ลักขณูปนิชฌาน

ทำให้ได้ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงในลักษณะ อันเป็นเครื่องกำจัดความยึดถือ

ทำให้เกิดความปล่อยวาง (ตทังค)วิมุติหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

เพราะว่าเมื่อรู้ในลักษณะที่เรียกว่าตามเป็นจริงคือธรรมตามที่เป็นแล้ว

ก็ย่อมจะเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดอยู่ในสิ่งที่รู้นั้น

เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดีก็หลุดพ้นเป็นวิมุติ

นี่เป็นการปฏิบัติในทางลักขณูปนิชฌานอันเป็นทางปัญญา

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

ฌานคือความเพ่งย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีฌานคือความเพ่ง

ฌานความเพ่งและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติใกล้นิพพาน ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats