ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป120

การปฏิบัติของผู้มีสัมมาทิฏฐิ

กิจที่พึงกระทำทุกวัน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๕๗/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๗/๒ ( File Tape 120 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติของผู้มีสัมมาทิฏฐิ

กิจที่พึงกระทำทุกวัน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ความตั้งใจนอบน้อมพระรัตนตรัย

และถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นกิจที่ควรกระทำอยู่ทุกวัน

ความสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

และความอบรมทางปัญญาให้เห็นธรรม คือสัจจะที่เป็นความจริง

ก็เป็นกิจที่พึงกระทำทุกวันเช่นเดียวกัน

 

และนอกจากนี้ยังมีกิจที่ควรทำประจำอยู่ทุกวัน

ก็คือการเจริญพรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

และการแผ่ส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้แก่มนุษย์เทพและสัตว์ทั้งหลาย

ก็ควรกระทำอยู่ทุกวัน

หัดปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาตนอยู่เสมอ

การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติของผู้มีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ

และเป็นการปฏิบัติเข้าทาง คือเข้าทางที่ถูกชอบ

 

อันความนอบน้อมพระรัตนตรัยนั้นได้มีบทสวด คือ

นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ที่ทุกคนก็ย่อมจำได้กันอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีคำแปลว่าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน อันเป็นส่วนพระกรุณาคุณ

ผู้เป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลส อันเป็นส่วนพระวิสุทธิคุณ

ได้ตรัสรู้เองชอบพระองค์นั้น อันเป็นส่วนพระปัญญาคุณ

 

เป็นอันว่าได้นมัสการพระพุทธเจ้า และได้เจริญพุทธานุสสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปพร้อมกัน พึงกระทำในเวลาตื่นนอนเช้า

และในเวลาก่อนนอนกลางคืน และควรกระทำในเวลาที่ควรกระทำทั้งหลาย

ดั่งเช่นในเวลาประกอบพิธี ก็มีการขอสรณคมน์และศีล

ก็จะต้องมีการกล่าวคำนมัสการนี้ขึ้นก่อนแด่พระพุทธเจ้า

 

และความตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะนั้น

ที่ควรกระทำอยู่เสมอก็เพราะว่า แม้ทุกคนจะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

ก็ชื่อว่าได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะอยู่แล้ว

แต่ทำไมจึงต้องว่ากันบ่อยๆว่า

พุทธังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง

ธัมมังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง

สังฆังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง

ก็เพราะว่าแม้จะเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

แต่ว่าจิตใจนั้นไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์มากนัก หรือมากตามสมควร

เมื่อเป็นดั่งนี้สรณะจึงยังไม่แนบแน่นอยู่กับใจ

หากว่าได้หมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

ก็จะนำให้ได้ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ตลอดถึงวิมุติสืบเนื่องกันไป

ในเมื่อใจของทุกคนมาตั้งอยู่กับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

 

และที่ชื่อว่าถึงนั้น ก็ต้องถึงด้วยใจ

อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญา และวิมุติคือความหลุดพ้น

ถ้าใจไปอยู่กับอารมณ์อื่น ใจก็ห่างพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

อารมณ์ต่างๆจึงล่วงล้ำเข้ามาสู่จิตใจ อันนำให้เกิดราคะหรือโลภะบ้าง

ทำให้เกิดโทสะบ้าง ทำให้เกิดโมหะบ้าง เป็นไปตามอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้นๆ

เพราะฉะนั้น อาสวะคือสิ่งที่ไหลเข้ามาจากอารมณ์เป็นกิเลส

จึงไหลเข้ามาท่วมจิตใจ ขังอยู่ในจิตใจ ดองจิตสันดาน เพิ่มเติมอยู่เสมอ

 

แต่ถ้าหากว่าได้น้อมจิตใจ มาอยู่กับสรณะคือที่พึ่งของจิตใจ

อันได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ย่อมเป็นการที่ปฏิบัติหันหน้าสู่พระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

โดยตรงก็คือว่าหันจิตใจน้อมจิตใจสู่พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

ก็เป็น พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ขึ้นทันที

และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นอันได้เริ่มถึงสรณะ คือที่พึ่งที่เป็นผู้นำ

หรือเป็นเครื่องนำจิตใจ สู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา สู่วิมุติความหลุดพ้น

 

เพราะว่าความระลึกถึงอันเป็นอนุสสตินี้

เป็นประตูแรกที่จะนำจิตใจไปสู่คุณธรรม พร้อมทั้งผลของคุณธรรมดังกล่าว

เพราะฉะนั้น สรณะนี้ที่แปลว่าที่พึ่งนั้น โดยความก็คือเป็นที่พึ่งของจิตใจ

ที่จะนำจิตใจไปดังกล่าว และเครื่องนำจิตใจดังกล่าวนั้นก็คืออนุสสติเป็นเบื้องต้น

และเมื่อเป็นศีลขึ้นก็ชื่อว่าได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ในขั้นศีล

เมื่อเป็นสมาธิก็ชื่อว่าถึงในขั้นสมาธิ เมื่อเป็นปัญญาก็ชื่อว่าถึงในขั้นปัญญา

 

เมื่อเป็นวิมุติคือความหลุดพ้น

จึงจะชื่อว่าได้ถึงองค์พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อย่างสูงสุด

และชื่อว่าได้เห็นองค์พระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเห็นธรรม ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

โยธัมมังปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม โสมังปัสสติ ผู้นั้นเห็นเรา

โยมังปัสสติ ผู้ใดเห็นเรา โสธัมมังปัสสติ ผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้

 

( เริ่ม ๑๕๗/๒ ) ทุกกาลสมัย นับตั้งแต่ในสมัยที่พระพุทธเจ้า

ยังทรงดำรงพระชนมาชีพอยู่ เมื่อสองพันห้าร้อยปีกว่ามาแล้ว

ตลอดจนถึงในสมัยปัจจุบัน และในสมัยต่อไปในอนาคต ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน

ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แม้ว่าจะใกล้ชิดเพียงใด

ถ้าจิตใจปราศจากพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จิตใจไม่ถึงสรณะคือที่พึ่ง

อันเป็นเครื่องนำให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุติขึ้นที่ตนเองดังกล่าว

ก็ชื่อว่าไม่ได้เห็นธรรมไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า แม้จะเห็นพระกายเนื้อของพระองค์

ก็ชื่อว่าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระธรรม

 

ในบัดนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะอยู่ในวัด อยู่ในโบสถ์ ได้เห็นพระพุทธรูป

เห็นพระภิกษุสงฆ์ และแม้ได้ยินเสียงแสดงธรรม แต่จิตใจมิได้รับเข้ามา

ไม่มีพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ไม่มีสรณะคือที่พึงของจิตใจ

คือจิตใจไม่ได้พึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ไม่มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ที่นำจิตใจไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติ ก็ชื่อว่าไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เห็นพระธรรม

ในอนาคตก็เหมือนกัน

 

แต่จะในครั้งไหนๆก็ตาม

ครั้งพุทธกาลก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม ในอนาคตเบื้องหน้าก็ตาม

ได้มีจิตใจเป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ

จิตใจคิดพึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

อาศัยพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึงนำจิตใจ

ไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติได้ ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าได้เห็นพระธรรม

พระพุทธเจ้าพระธรรมพร้อมทั้งพระสงฆ์ดั่งกล่าวนี้ จึงรวมอยู่ในคำว่า อมตธรรม

เป็นธรรมะที่ไม่ตาย เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย

ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย เรียกว่าเป็นอมตะคือไม่ตาย

เรียกว่าไม่แก่และเรียกว่าไม่เกิดด้วย เพราะเป็นสภาพที่มีอยู่ที่เรียกว่า สยัมภู

คือเป็นเองอย่างแท้จริง ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย

 

เพราะฉะนั้นการที่มาปฏิบัตินอบน้อมดังบท นะโม

และน้อมจิตถึงสรณะดังบทว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นั้น

จึงเป็นกิจที่ผู้ปฏิบัติธรรมะควรมีอยู่เสมอ จิตจะได้ไม่ห่างจากพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

จิตก็จะได้ถูกนำไปสู่ความเป็นศีลเป็นสมาธิ และเป็นปัญญากับทั้งวิมุติ

เพราะฉะนั้นสรณะนี้จึงเปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นพาหนะ

เช่นเป็นรถไฟ เป็นรถยนต์ หรือเป็นพาหนะอย่างอื่น

ที่เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่บนพาหนะเหล่านี้ พาหนะเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ปลายทางที่ต้องการ

คือศีลสมาธิปัญญาวิมุติดังที่กล่าวนั้น

 

ศีลนั้นปรากฏเป็นความสำรวม ปรากฏเป็นความปรกติกายวาจาใจ

ห่างไกลจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวร ทางกายทางวาจาทางใจทั้งหลาย

ใจมีความสำรวม ใจมีความปรกติ สงบ นี้เป็นศีลแท้ ปรากฏอยู่ที่จิตที่เป็นปรกติสงบ

ห่างไกลภัยเวรทั้งหลายก็หมายถึงห่างไกลกองกิเลส กองโลภ กองโกรธ กองหลง

หรือกองราคะโทสะโมหะนั้นเอง

 

สมาธินั้นคือความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

ไม่น้อมไปในทางอกุศล โดยที่สามารถสงบกองกิเลสดังกล่าว

สามารถป้องกันกองกิเลสดังกล่าว ไม่ให้มาดึงจิตใจไปในทางอกุศลกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ก็ด้วยจิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ว่อกแว่กซัดส่ายไปในอกุศลธรรมทั้งหลาย

ดั่งนี้คือลักษณะที่เรียกว่าสมาธิ

 

สมาธิจึงไม่ได้มีความหมายจำเพาะที่มานั่งหัดปฏิบัติในสติปัฏฐาน

หรือในอารมณ์ของกรรมฐานอย่างอื่นในเวลาที่กำหนด

ซึ่งเป็นการฝึกหัดให้จิตตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

แต่แม้ในเวลาปรกติ ที่จิตนี้ต้องทำการทำงาน พร้อมทั้งร่างกาย

แต่จิตที่มีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็จะไม่น้อมไปในด้านอกุศลธรรมทั้งหลาย

คือไม่ทำการงานทั้งหลายให้เป็นอกุศล

แต่จะทำการงานทั้งหลายให้เป็นกุศล คือในทางที่ดีที่ถูกต้องเท่านั้น

เมื่อเป็นคฤหัสถ์ จะประกอบอาชีพอันใดก็ตาม ซึ่งเป็นการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็ทำการงานนั้นให้เป็นกุศล ไม่ให้เป็นอกุศล ก็ชื่อว่าจิตมีสมาธิ

คือตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

 

อันนี้เป็นสมาธิที่ต้องการ ซึ่งให้มีอยู่เป็นประจำ

หากว่าเมื่อทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็ทำการงานนั้นๆพร้อมทั้งร่างกาย

หากจิตน้อมไปในอกุศลทั้งหลาย ก็ต้องห้าม

โดยที่มีสติพร้อมทั้งปัญญา คอยรักษาใจอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะชื่อว่า เป็นผู้ที่ได้สมาธิในกุศลธรรมทั้งหลาย

อันเรียกว่า ธรรมสมาธิ อยู่เป็นประจำ

 

และสามารถที่จะทำให้ได้ จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต

คือจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวในเวลาที่ต้องการได้โดยสะดวก

เช่นว่าในขณะที่ประกอบการงานทั้งหลาย จิตก็ทำการงานนั้นๆ

ประกอบพาณิชย์กรรม จิตก็ทำการงานพาณิชย์กรรม

ประกอบกสิกรรม จิตก็ทำการงานกสิกรรม ดั่งนี้เป็นต้น

แต่ว่าประกอบกระทำในทางที่เป็นกุศลคือถูกต้อง ในทางที่เป็นธรรมคือถูกต้อง

ไม่เป็นอธรรมคือไม่ถูกต้อง

 

และเมื่อถึงเวลาที่จะพัก ก็สามารถที่จะพักจิตได้

ไม่เก็บเอาเรื่องของการงานที่ทำนั้นๆมาเป็นกังวล อันทำให้จิตไม่ได้การพัก

เมื่อเวลาพักจิตก็พักได้ พักวิตกกังวลต่างๆ มาอยู่กับความสงบ

จะเป็นความสงบที่ไม่มีนิมิต คือไม่มีอารมณ์อันใดสำหรับตั้งจิต

หรือว่าสงบที่มีนิมิต มีอารมณ์อันใดสำหรับตั้งจิต

เช่นทำกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ดั่งนี้ก็สามารถทำได้เป็น จิตตสมาธิ

ต้องการจะให้หลับเมื่อใดก็ได้ จะให้ตื่นเมื่อใดก็ได้

และเมื่อถึงเวลาที่จะทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

จิตก็ทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปในทางที่ถูกต้อง เป็นกุศล เป็นธรรม

ดั่งนี้คือจิตที่มีสมาธิ

 

และปัญญานั้นก็สืบเนื่องมาจากศีลจากสมาธิ

เพราะเมื่อจิตมีศีลมีสมาธิ หรือจิตเป็นศีล จิตเป็นสมาธิ

น้อมจิตนั้นไปเพื่อรู้ ก็จะรู้จักเหตุผลตามเป็นจริง

จะรู้จักเหตุผลในการงานที่ทำ จะรู้จักเหตุผลทางกรรม คือกรรมดีกรรมชั่ว

รู้ว่านี่เป็นกรรมดี นี่เป็นกรรมชั่ว กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว

กรรมดีให้ผลเป็นสุข กรรมชั่วให้ผลเป็นทุกข์ จะรู้จักเหตุผลทางกรรม

 

ตลอดจนถึงรู้จักเหตุผลทางอริยสัจจ์

รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์

รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เมื่อบังเกิดความทุกข์ขึ้น ก็จะสามารถรู้จักว่านี่เป็นทุกข์

รู้จักว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะรู้จักว่าดับตัณหาเป็นความดับทุกข์

จะรู้จักว่าศีลสมาธิปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

จะสามารถปฏิบัติจิตให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นได้ ให้รู้จักเหตุผลดั่งนี้

และก็จะสามารถดับตัณหาอันเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ในจิตใจลงได้

หากว่าจะมีการฆ่าการทำลายล้าง ก็ฆ่าก็ทำลายล้างตัณหาในจิตใจตัวเอง

ไม่ใช่ไปว่าไปฆ่าไปทำลายล้างผู้อื่นสัตว์อื่น

 

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักว่าความดับตัณหาในใจตัวเองนี้เป็นเหตุดับทุกข์

ทุกข์ใดๆเกิดขึ้นก็จะสามารถดับได้ด้วยใจตัวเอง คือด้วยปัญญาที่รู้

อันสืบเนื่องมาจากสมาธิ และสืบเนื่องมาจากศีล

เพราะถ้าไม่มีศีลสมาธิก็มีไม่ได้ ไม่มีสมาธิปัญญาก็มีไม่ได้

และไม่มีปัญญาสมาธิก็มีไม่ได้ ไม่มีสมาธิศีลก็มีไม่ได้ ทั้งสามนี้จะต้องอาศัยกัน

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้จำเพาะในข้อสมาธิและข้อปัญญาว่า

ฌานความเพ่งคือสมาธิ ไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา

ปัญญาไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีฌานคือความเพ่ง อันได้แก่สมาธิ

ฌานคือความเพ่งคือสมาธิกับปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติใกล้นิพพาน ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้นเมื่อมารู้จักทางปฏิบัติดั่งนี้ และตั้งใจปฏิบัตินอบน้อมพระพุทธเจ้า

ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะอยู่ทุกวัน

ใจก็จะเข้าใกล้พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ อันเป็นสรณะคือที่พึ่งหรือเป็นผู้นำ

เป็นเครื่องนำตนไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติคือความหลุดพ้นโดยลำดับ

และจิตใจที่ประกอบด้วยความนอบน้อม ประกอบด้วยสรณะ ศีล สมาธิ ปัญญา

ตลอดถึงวิมุติความหลุดพ้นดั่งนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่มีความเกษมสวัสดี

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

การทำสมาธิในการฟัง

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

วจีสังขาร ๔

วิตกวิจารอันเนื่องมาจากกิเลส ๕

วิตักกสังขาร ๖

กุศลนิมิต อกุศลนิมิต ๘

หลักปฏิบัติกรรมฐานของพระพุทธเจ้า ๘

 

นี้เป็นกัณฑ์แรกที่ควรฟังก่อนฟังเทปม้วนอื่นๆของสมเด็จฯ ดีเยี่ยม

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรร์ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๕๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๘/๑ - ๑๕๘/๒ ( File Tape 120 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การทำสมาธิในการฟัง

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

การทำสมาธิในการฟังนั้น ก็คือถือเอาธรรมะที่ฟังเป็นที่ตั้งของใจ

อันประกอบด้วย วิตก คือยกจิตให้ตั้งอยู่ในธรรมะที่ฟัง

และ วิจาร คือประคองจิตให้ตั้งอยู่ในธรรมะที่ฟัง

 

อันคำว่า วิตก เรามักแปลกันในภาษาไทยว่าความตรึก

วิจาร เรามักแปลกันว่าความตรอง

ก็ถูกต้องเหมือนกัน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจในทางปฏิบัติ

ซึ่งใช้วิตกและใช้วิจารนี้ว่า ความตรึกหรือวิตกนั้น หมายถึงนำจิตหรือน้อมจิต

ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ หรือว่าของปัญญาก็ได้

ตรองหรือวิจารนั้น ก็หมายถึงประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิหรือของปัญญาก็ได้

แต่ว่าในขั้นนี้ ก็พึงหมายถึงนำจิตให้ตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ

ประคองจิตให้ตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิก่อน คือทำสมาธิในการฟัง

ก็คือว่าตั้งจิตให้ตรึกให้ตรองอยู่ในธรรมะที่ฟัง ไปตามถ้อยคำแห่งธรรมะที่แสดง

อันจะเป็นเหตุให้ฟังได้ยินธรรมะที่แสดงนี้ทุกถ้อยคำ ไม่ตกหล่น

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ให้ใจฟังพร้อมกับหูที่ฟัง หูที่ฟังนั้นก็อาศัยประสาท

เสียงที่แสดงธรรมย่อมเป็นเสียงที่มากระทบประสาทหูทุกถ้อยคำ

แต่ใจต้องตั้งฟังด้วย การได้ยินเสียงจึงจะมีขึ้น

ถ้าใจไม่ตั้งฟังด้วย ถึงแม้ว่าจะมีเสียงมากระทบโสตะประสาท

แต่ก็ไม่ได้ยิน เหมือนอย่างหูดับหรือประสาทดับ ต้องตั้งใจฟังด้วย

คือใจต้องฟังด้วย โสตะประสาทจึงจะไม่ดับ ได้ยิน

 

เพราะฉะนั้นใจจึงสำคัญมาก ต้องฟังไปพร้อมกับหู

หรือโสตะประสาท จึงจะได้ยินถ้อยคำที่แสดงธรรมทุกถ้อยคำ

เช่นเดียวกับอ่านหนังสือ ตาอ่านด้วยจักขุประสาท ใจก็ต้องอ่านไปพร้อมกับตา

จึงจะเห็นตัวอักษรทุกคำทุกอักษร ถ้าใจไม่อ่านด้วย จักขุประสาทก็ดับเหมือนอย่างตาบอด

( เริ่ม ๑๕๘/๑ ) แม้ประสาทตาจะดีก็เหมือนอย่างตาบอด ต้องใจอ่านด้วยจึงจะบังเกิดการเห็น

การเห็นตัวอักษรแห่งธรรมะนั้นทุกตัวอักษร ในเมื่อใจอ่านทุกตัวอักษร

เช่นเดียวกับใจฟังทุกถ้อยคำ จึงจะได้ยินถ้อยคำที่แสดงธรรมทุกถ้อยคำ

ใจที่ตั้งฟังดั่งนี้แหละคือ วิตก ที่เรียกว่าตรึก แล้วก็ประคองให้ใจนี้ตั้งฟังอยู่เรื่อยไป

ไม่ให้ใจแว่บออกไปไหน ดั่งนี้คือ วิจาร ที่เรียกว่าตรอง

 

เพราะฉะนั้น วิตกวิจารนี้จึงคู่กัน ต้องมีทั้งสอง ใจจึงจะตั้งฟัง หรือตั้งอ่านอยู่ได้นาน

ถ้ามีแต่เพียงวิตกอย่างเดียวไม่มีวิจาร ก็ได้แค่แว่บหนึ่งๆ ขาดๆวิ่นๆ

ต่อเมื่อมีคู่กันอยู่ใจจึงจะตั้งอยู่ที่จะฟังที่จะอ่านได้นาน ทำให้รู้เรื่องได้ตลอด

ซึ่งเป็นตัวปัญญา อันบังเกิดขึ้นจากสมาธิ คือทำสมาธิในการฟัง

อันได้แก่วิตกวิจารดังกล่าว ปัญญาในธรรมจึงจะบังเกิดขึ้น คือว่าจะรู้เรื่อง

เอาแค่รู้เรื่องก่อน ฟังก็รู้เรื่อง อ่านก็รู้เรื่อง เป็นตัวปัญญา คู่กันไป

สมาธิและปัญญานี้จึงต้องคู่กันดั่งนี้

และก็ต้องอาศัยศีลเป็นภาคพื้น คือความสำรวมกายวาจาใจ

ถ้าจะฟังก็แปลว่าต้องเงี่ยโสตคือเงี่ยหูที่จะฟัง

ต้องตั้งใจที่จะฟังเรียกว่าเงี่ยใจที่จะฟัง เงี่ยหูที่จะฟัง เงี่ยใจที่จะฟัง

ความเงี่ยหูเงี่ยใจดังกล่าวนี้จะมีได้ ก็ต้องอาศัยความสำรวมซึ่งเป็นตัวศีล

ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกๆคนเมื่อมาฟังธรรมดั่งนี้ ก็นั่งอยู่ในอาการที่สำรวม

อันเป็นความสำรวมกาย สำรวมวาจา ก็คือว่ามีความคิดอันเป็นวิตก

หรือตรึกที่เป็นวิตก วิจารตรอง นี่เป็นตัววาจาของใจ

ต้องสำรวมให้ตรึกตรองอยู่ในธรรมะที่อ่านที่ฟัง

รวมเข้าคือสำรวมใจนั้นเอง ให้ใจตั้งที่จะฟัง ตรึกตรองในธรรมจึงจะเป็นไปได้

 

วจีสังขาร

 

เพราะว่าความตรึกตรองหรือวิตกวิจารนี้ ท่านเรียกว่า วจีสังขาร ปรุงแต่งวาจา

เพราะคนจะพูดออกไปทางปาก ก็จะต้องคิดก่อน ใจต้องพูดก่อน

ก็คือตรึกตรองนี้เองจึงเป็นวาจาออกไป

เพราะฉะนั้นตรึกตรองนี้จึงเป็นเสมอวาจา ซึ่งเป็นภาษาของใจ

วาจาจริงๆที่พูดนี่เป็นๆภาษาของกาย

 

ต้องมีความสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจดั่งนี้

แปลว่าพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะอ่าน

หรือว่าอย่างเป็นนักเรียน เวลาเรียนในโรงเรียนก็ต้องนั่งโต๊ะนั่งเก้าอี้

หรือนั่งกับพื้นก็ตาม พร้อมที่จะเรียนฟังครูบรรยาย

หรือพร้อมที่จะจดข้อที่ควรจด และร่างกายพร้อม นี่แหละคือตัวศีล

จึงจะได้สมาธิได้ปัญญาดั่งที่กล่าวมานั้น

นี้เป็นการใช้กายวาจาใจไปในทางธรรมปฏิบัติ

วิตกวิจารอันเนื่องมาจากกิเลส

 

แต่แม้ในทางโลกจะเป็นในการงานที่ทำก็ดี หรือว่าในทางที่ก่อกิเลสก็ดี

ในทางที่ก่อกรรม คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ

อันเนื่องมาจากกิเลสก็ดี ก็เกิดจากวิตกวิจารดังกล่าวนี้เหมือนกัน คือว่าเมื่อมีวิตกวิจาร

หรือจะขอเรียกเพียงคำเดียวสั้นๆว่าวิตก ก็พึงหมายถึงวิจารคู่กันไปด้วย

คือวิตกไปในอกุศลวิตก ความตรึกที่เป็นอกุศลทั้งหลายในนิมิต

คือเครื่องกำหนดของจิตใจ อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย ได้แก่ฉันทะคือความพอใจ

หรือราคะคือความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้ก็ดี

โทสะความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองก็ดี โมหะคือความหลงก็ดี

 

เหล่านี้ก็อาศัยวิตกเหมือนกัน คือว่าตรึกนึกคิดไปในอารมณ์คือเรื่อง

อันเป็นที่ตั้งของอกุศลทั้งหลาย ก็คือว่าเรื่องต่างๆที่เข้ามาสู่จิตใจทางตา

คือว่ารูปทั้งหลายที่ตามองเห็นบ้าง ทางหูคือเสียงทั้งหลายที่หูได้ยินบ้าง

ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่ได้ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกายบ้าง

ทางมโนคือตัวใจ ที่ใจได้รู้ได้คิดเรื่องทั้งหลาย ทางมโนคือใจบ้าง

 

เมื่ออารมณ์คือเรื่องที่ใจคิดใจดำริใจหมกมุ่นถึงเหล่านี้

เป็นที่ตั้งของฉันทะหรือราคะโลภะ คือเป็นชนวนให้เกิดความชอบความพอใจขึ้น

จึงเกิดฉันทะคือความพอใจ ราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้

ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบกระทั่ง เป็นชนวนของความขัดใจโกรธแค้นขัดเคือง

ก็เกิดโทสะคือความโกรธแค้นขัดเคือง

เมื่อเรื่องเหล่านั้นเป็นชนวนให้เกิดโมหะคือความหลงไม่รู้จริง

ก็เกิดโมหะคือความหลงไม่รู้จริง อันเป็นเหตุให้ถือเอาผิด

 

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ก็บังเกิดจากวิตกคือความตรึกนึกคิดที่ปรุงแต่งนั้นเอง

ปรุงแต่งใจให้ชอบ ก็เป็นกิเลสกองชอบคือ ฉันทะ ราคะ โลภะ

ปรุงแต่งใจให้ชังก็เกิดกิเลสกอง โทสะ ปรุงแต่งใจให้หลงถือเอาผิดก็เกิดกิเลสกอง โมหะ

คือใจนี้เองปรุงแต่ง ความปรุงแต่งอันนี้เรียกว่า สังขาร ปรุงแต่งใจ

ปรุงแต่งใจให้วิตกคือตรึกนึกคิด ให้วิจารคือตรอง

อันได้แก่ให้แซ่วอยู่อย่างต่อเนื่องในความคิดปรุงนั้นๆ

เพราะฉะนั้น วิตกวิจาร หรือวิตกเรียกแต่เพียงคำเดียวดังกล่าวนั้น

จึงเกิดจากใจนี้เองที่คิดปรุงแต่ง อันเรียกว่าความปรุงแต่งใจ

คือใจนี้เองแต่งขึ้น ใจนี้เองปรุงขึ้น

 

วิตักกสังขาร

 

เพราะฉะนั้น เมื่อใจนี้เองปรุงแต่งขึ้นให้คิดนึกตรึกตรองไป

ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย แล้วก็บังเกิดกิเลสขึ้นมาผูกพันใจ

เกี่ยวใจไว้ไม่ให้หลุด ดั่งนี้แหละเรียกว่า วิตักกสังขาร ปรุงแต่งวิตกคือความตรึกนึกคิด

และเมื่อปรุงแต่งนึกคิดไปในทางก่อกิเลสดั่งนี้ ก็เรียกว่า อกุศลวิตักกสังขาร

แปลว่าปรุงแต่งวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล จึงได้เรียกชื่อสั้นๆว่ากามวิตกบ้าง

พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง

 

กามวิตกก็นึกคิดไปในกาม

หรือด้วยอำนาจของกาม คือความใคร่ความปรารถนาชอบใจ

อันเป็นฝ่ายกิเลสที่เป็นฉันทะเป็นราคะเป็นโลภะดังกล่าว

พยาบาทวิตกตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาท ก็เป็นฝ่ายโทสะ

วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน ก็เป็นโมหะ

หรือจะเรียกว่าโมหะวิตก เพราะมีความหมายเป็นอันเดียวกัน

เพราะความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนนั้น ไม่ใช่เป็นมีโทสะเป็นมูล

แต่มีโมหะเป็นมูล คือความตรึกนึกคิดไปในทางที่โง่เขลาไร้ปัญญา

ทำอะไรออกไปด้วยความโง่เขลาไร้ปัญญา แม้มุ่งดี

แต่การกระทำนั้นก็เป็นการเป็นไปเพื่อเบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความสุข

 

เพราะฉะนั้น ความเบียดเบียนที่คนกระทำให้กัน

ด้วยอำนาจความโง่เขลาเบาปัญญานี้มีมาก แม้ด้วยความมุ่งดีก็มีมาก

แต่ว่าคนโง่ที่มุ่งดีนั้นอาจทำอันตรายให้มาก ไม่น้อยกว่าคนที่มุ่งร้ายจริงๆ

เหมือนอย่างนิทานเรื่องที่แสดงถึงเรื่องวานรที่จะมุ่งดีต่อคนที่เป็นนาย

มีแมลงวันมาจับหน้าผาก ต้องการจะตีแมลงวัน

ก็คว้าไม้มาตีแมลงวันลงไปบนหน้าผากของคน ก็มุ่งดี

แต่ว่ากลายเป็นทำร้ายมนุษย์ที่เป็นนาย ให้เจ็บช้ำลำบากเป็นอันตราย

 

เพราะฉะนั้น แม้คนที่หวังดีต่อกัน

แต่ว่าการปฏิบัติกระทำนั้นเป็นการก่อโทษทุกข์แก่กันจึงมีมาก

ซึ่งต้องระมัดระวัง แม้ตนเองจะทำอะไรด้วยความที่มุ่งดี

ก็ต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้ทำอย่างโง่เขลา ต้องทำด้วยสติปัญญา

การกระทำนั้นจึงจะบังเกิดประโยชน์ ให้แก่ผู้ที่ตนต้องการจะช่วยเหลือ

ถ้าทำด้วยความโง่เขลาแล้ว ก็กลับเป็นการเบียดเบียน

 

เพราะฉะนั้น เหล่านี้ก็เป็นอกุศลวิตกทั้งนั้น เกิดจากความปรุงแต่ง

ใจนี้เองปรุงแต่งขึ้นมา คิดขึ้นมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น วิตกนี้จึงเกิดจากสังขารคือความปรุงแต่ง

เมื่อมาสำนึกว่าความปรุงแต่งใจของทุกคนนี้สำคัญมาก ทุกคนจึงจะควรมีสติระลึกได้

และปัญญาคือตัวรู้ แม้ไม่รู้ได้ด้วยตัวเอง ก็ให้รู้ได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เมื่อทรงสั่งสอนว่าปรุงแต่งให้เป็นกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เป็นอกุศลมีโทษ

 

เพราะฉะนั้นก็ให้มีสติตรวจดูใจของตนเอง

เมื่อใจของตนเองปรุงแต่งไปในทางอกุศลตัวไหนก็ให้รู้

ว่านี่เรากำลังคิดปรุงแต่งใจ หรือปรุงแต่งความคิดของใจ เป็นอกุศลเป็นสิ่งมีโทษ

เมื่อรู้ดั่งนี้แล้ว ก็ไม่พึงมนสิการคือทำไว้ในใจ ปรุงแต่งความคิดไปในทางที่เป็นอกุศลนั้นต่อไป

 

กุศลนิมิต อกุศลนิมิต

 

ด้วยอาศัยสมาธิ โดยที่มาทำความรู้ว่า

อันความปรุงแต่ใจให้คิดไปในทางอกุศลนั้น ก็อาศัยนิมิตคือเรื่องกำหนดของใจ

คือใจกำหนดอยู่ในนิมิตคือเครื่องกำหนดที่เป็นอกุศล หรือเป็นชนวนให้เกิดอกุศล

อกุศลคือกิเลสกองโลภะโทสะโมหะจึงบังเกิดขึ้น อันเป็นสิ่งที่มีโทษ

เมื่อรู้ดั่งนี้แล้ว ก็ไม่ไปทำใจให้ตั้งอยู่ในนิมิต อันเป็นชนวนให้เกิดอกุศลเหล่านั้น

ถอนใจมาตั้งไว้ในนิมิตคือเครื่องกำหนดที่เป็นฝ่ายกุศลอันตรงกันข้าม

คือกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

 

จะเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันเป็นแม่บทใหญ่

ของทั้งฝ่ายสมถะและฝ่ายวิปัสสนา คือกายเวทนาจิตธรรม

ดังที่ได้ฟังมาโดยลำดับนั้น หรือว่าจะเป็นบทใดบทอื่นๆที่ปลีกย่อยออกไปก็ตาม

เมื่อมีสตินำใจมาให้ตั้งอยู่ในนิมิตคือเครื่องกำหนดที่เป็นกายเวทนาจิตธรรม

เป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น ก็เรียกว่าถอนใจจากนิมิตที่เป็นฝ่ายอกุศล หรือเป็นชนวนให้เกิดอกุศล

มาตั้งไว้ในนิมิตที่เป็นชนวนให้เกิดกุศลคือกรรมฐานทั้งหลาย

ความตั้งนี่แหละคือตัวสมาธิ ก็ต้องอาศัยวิตกคือความตรึก วิจารคือความตรอง

อาศัยสังขารคือความปรุงแต่งของใจนั่นเอง แต่ให้ใจมาปรุงแต่งคิดตรึกตรองในกรรมฐานแทน

 

หลักปฏิบัติกรรมฐานของพระพุทธเจ้า

 

นี้เป็นหลักการปฏิบัติทำสมาธิทั่วไปที่ทุกคนจะต้องใช้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่า เหมือนอย่างนายช่างไม้ที่ใช้ลิ่มสลักอันใหม่

อันเป็นลิ่มสลักที่ดี ตอกลิ่มสลักอันเก่าที่ฝังอยู่ในเนื้อไม้แล้วออกไป

ให้ลิ่มสลักอันใหม่ที่ตอกเข้าไปใหม่นั้นเข้าไปแทน

เพราะว่าอันนิมิตคือเครื่องกำหนดที่เป็นชนวนให้เกิดกิเลสอกุศลต่างๆนั้น

เหมือนอย่างเป็นลิ่มสลักอันเก่าที่ตอกอยู่ในเนื้อไม้แล้ว คือว่าที่ปักเสียบอยู่ในจิตใจแล้ว

ก็ใช้ลิ่มสลักอันใหม่คือกรรมฐานตอกลงไปที่ตรงนั้น

ให้อารมณ์ของกรรมฐานนี้เข้าไปสถิตย์อยู่แทนลิ่มสลักอันเก่าที่ไม่ดีนั้น

เอาลิ่มสลักอันใหม่ที่ดีนั้นเข้าไปแทน

 

นี้เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป อันผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งหลายจะพึงปฏิบัติ

และถ้าหากว่าไม่สำเร็จก็ตรัสสอนให้พิจารณาโทษ

ว่าใจที่ปรุงแต่งไปในทางก่อกิเลสก่อกุศลนั้น ไม่ดีมีโทษ

แต่ว่าจิตใจที่ปรุงแต่งไปในทางกรรมฐานนั้นให้คุณ

จนเห็นโทษของใจที่ปรุงแต่งไปในทางอกุศล

เหมือนอย่างเห็นว่ามีทรากศพของงูบ้างสุนัขบ้างคนบ้างแขวนอยู่ที่คอ

ก็จะต้องรีบเปลื้องเอาทรากศพที่แขวนอยู่นั้นทิ้งทันที เพราะมองเห็นโทษ

จิตก็จะปรุงแต่งตรึกตรองไปในทางกรรมฐาน จิตก็จะเป็นสมาธิตั้งอยู่ในกรรมฐานได้

 

ถ้ามันยังไม่สำเร็จอีก ก็ตรัสสอนให้ไม่สนใจ ไม่นึกถึง

เหมือนอย่างว่าเห็นอะไรทางตา เมื่อไม่พอใจที่จะดูก็เมินหน้าไปเสียทางอื่น หรือว่าหลับตาเสีย

ซึ่งในการที่ไม่สนใจ ไม่ใฝ่ใจที่จะนึกถึง จะทำได้ก็ต้องอาศัยการไปนึกถึงสิ่งอื่นๆแทน

อันจะนำใจให้พ้นจากสิ่งที่ดึงใจไปนั้นได้ อันเป็นฝ่ายที่ไม่ดีนั้น

 

ถ้าหากว่าไม่สำเร็จอีกก็ตรัสสอนให้ตรวจดูสัณฐาน

คือทรวดทรงลักษณาการของใจที่ปรุงแต่งไปในทางอกุศลนั้น

( เริ่ม ๑๕๘/๒ ) ตรวจตราดูว่าทำไมจึงได้คิดอย่างนั้น เพราะอะไร

และใจที่คิดของตนอย่างนั้นเป็นไปแรงเพียงไหน แนบแน่นเพียงไหน

คือมาดูใจเองที่คิดปรุงแต่งไป มาดูตัวใจที่คิดปรุงแต่ง

เหมือนอย่างพี่เลี้ยงมองดูเด็กที่ตนเลี้ยง ซึ่งปล่อยให้ยืนเดินนั่งนอนอยู่ข้างหน้า

ตามแต่เด็กจะพอใจทำอย่างไร บางคราวเด็กก็วิ่ง บางคราวเด็กก็หยุดยืน บางคราวเด็กก็นอน

แต่ให้อยู่ในสายตา ให้มองเห็นสัณฐานคือทรวดทรงลักษณาการของจิตใจที่ปรุงแต่งนั้น

 

และเมื่อหันเข้ามากลับดูตัวใจเองดั่งนี้แล้ว ก็จะมองเห็นใจตัวเองว่ากำลังแรงมาก

ซึ่งปรากฏเป็นความชอบที่แรง โกรธที่แรง หรือว่าหลงที่แรง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ทำความคิดว่าเป็นไปแรงนักดั่งนี้ ทำให้เหน็ดเหนื่อยมาก

เพราะฉะนั้นก็ให้ช้าลงให้เบาลง อารมณ์ที่แรงนั้นก็จะเบาลง

ให้ช้าลงอีก อารมณ์ที่แรงนั้นก็จะช้าลงอีก จนถึงหยุดได้

ซึ่งเหมือนอย่างว่า กำลังวิ่งอยู่ก็นึกว่า ทำไฉนเราจึงจะค่อยๆเดิน ก็เลิกวิ่งมาค่อยๆเดิน

กำลังค่อยๆเดินอยู่ก็คิดว่า ไฉนเราจะหยุดยืน ก็หยุดยืน

หยุดยืนแล้วก็คิดว่าไฉนเราจะนั่งก็นั่งลง นั่งลงแล้วก็คิดว่าไฉนเราจะนอนก็นอนลง

ก็เป็นอันว่าหยุด หยุดวิตกได้ โดยกลับหันมาดูตัวใจของตัวเอง

ก็จะมองเห็นลักษณาการของตัวใจที่ปรุงแต่ง ที่กำลังไปแรง

เมื่อไปแรงก็รักแรง โกรธแรง หลงแรง เมื่อไปเบาเข้าก็แปลว่าคลายความแรงลง

ก็เป็นรักน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง จนถึงหยุดสงบในที่สุดได้

ถ้าหากว่าวิธีไม่สำเร็จ ก็ตรัสสอนให้ใช้วิธีที่ใช้ร่างกายเข้าช่วย

คือเอาฟันกัดฟัน เอาลิ้นดุนเพดานในปาก เมื่อทำดั่งนี้ก็จะทำให้หยุดได้ชั่วขณะหนึ่งๆ

 

หากตั้งใจปฏิบัติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนดั่งนี้แล้ว

ทุกคนจะสามารถที่จะละอกุศลวิตก ทำกุศลวิตกให้บังเกิดขึ้นแก่ตนได้

ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ถ้าหากว่าไม่ละความพยายาม จะสามารถปฏิบัติสมาธิได้

และจะเป็นผู้ที่เรียกว่ามีความชำนาญในกระบวนวิตก คือความปรุงแต่งของใจ

ที่ตรึกเป็นตัววิตกดังกล่าวนี้ ไม่ปรารถนาจะวิตกในเรื่องอันใด ก็สามารถที่จะหยุดได้

๑๐

ปรารถนาถ้าจะวิตกในเรื่องอันใด ก็สามารถที่จะทำได้

เป็นผู้ปฏิบัติที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติตัดตัณหา

ความดิ้นรนของใจไปด้วยอำนาจของโลภโกรธหลง

คลี่คลายสัญโญชน์คือความผูกใจ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats