ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป151

การพิจารณาภายในภายนอก

เกิดดับ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วิธีตั้งสติพิจารณา ๖ ประการ ๓

ข้อพิจารณาภายในภายนอก ๓

พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก ๔

ภายในภายนอกในภาวนา ๕

ภายในภายนอกรวมอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ๖

สมาธิเพื่อปัญญาเห็นทั้งเกิดทั้งดับ ๖

อุปการธรรม ๔ ประการ ๗

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๔/๑ ( File Tape 151 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การพิจารณาภายในภายนอก

เกิดดับ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา

ได้ทรงสอนวิธีปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือให้ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น

กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

ที่มีบทว่า ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็มีความหมายว่า

ให้ตั้งสติพิจารณากายในกาย หรือที่กายนั้นเอง ไม่ใช่ที่อื่น

เช่นที่เวทนา ที่จิต หรือที่ธรรม

 

ในข้อเวทนาก็เช่นเดียวกัน ตั้งสติพิจารณาเวทนา

ก็ในเวทนา หรือที่เวทนา ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในจิต ในธรรม

ข้อจิตก็เช่นเดียวกัน ให้ตั้งสติพิจารณาจิตในจิต หรือที่จิต

ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในเวทนา หรือในธรรม

แม้ข้อธรรมก็เช่นเดียวกัน ให้ตั้งสติพิจารณาธรรมในธรรม หรือที่ธรรม

ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในเวทนา หรือในจิต

เป็นคำจำกัดความให้ชัดเจน

 

วิธีตั้งสติพิจารณา ๖ ประการ

 

อนึ่ง ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายในกายในภายใน

พิจารณากายในกายในภายนอก พิจารณากายในกายในทั้งภายในทั้งภายนอก

พิจารณาในกายว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา พิจารณาในกายว่ามีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา

พิจารณากายในกายว่ามีทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา

แม้ในข้อเวทนา ข้อจิต และข้อธรรม ก็เช่นเดียวกัน คือให้ตั้งสติพิจารณาในทุกๆข้อ

ในภายใน ในภายนอก ในทั้งภายใน ทั้งภายนอก

ตั้งสติพิจารณาในทุกข้อว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา

มีทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้

เป็น ๖ ประการด้วยกัน เป็นวิธีตั้งสติพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔

 

ข้อพิจารณาภายในภายนอก

 

จึงจะอธิบายทั้ง ๖ ข้อนี้ไปโดยลำดับ

ข้อว่าในภายใน ก็คือในกายที่เป็นภายใน ท่านอธิบายว่าคือกายตนเอง

ในภายนอกก็คือในภายนอกจากกายตนเอง คือกายผู้อื่น

นี้เป็นอธิบายอย่างชนิดที่เห็นได้ง่าย

 

แต่ก็อาจพิจารณาในทางปฏิบัติได้อีกว่า

ในภายในนั้นก็คือในจิตใจ ในภายนอกนั้นก็คือในอารมณ์ที่เป็นภายนอก

ดังเช่นข้อตั้งสติกำหนดพิจารณาลมหายใจเข้าออก การกำหนดตัวลมเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุ

อันมากระทบที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน โดยสัมผัสเรียกว่าเป็นภายนอก

ส่วนการกำหนดอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกภายในจิตใจ

ซึ่งน้อมอารมณ์ภายนอกหรืออาการภายนอกที่เป็นวาโยธาตุนั้น

เข้ามาเป็นอารมณ์ภายในของจิตใจ ดั่งนี้ก็เป็นภายใน

 

พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก

 

ในการปฏิบัตินั้นท่านให้กำหนดพิจารณาในภายใน

ให้กำหนดพิจารณาในภายนอก เป็น ๒ ให้กำหนดพิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก เป็น ๓

การที่ได้มีข้อที่ ๓ ไว้อีก คือทั้งภายในทั้งภายนอกก็เป็นการแสดงว่า ต้องมีทั้ง ๒ อย่าง

จะมีแต่ภายในไม่มีภายนอก หรือว่ามีแต่ภายนอกไม่มีภายใน ดั่งนี้ไม่ได้

ต้องมีทั้ง ๒ อย่างคู่กัน แล้วก็ต้องรู้จักว่า นี่เป็นภายใน นี่เป็นภายนอก

 

อนึ่ง การกำหนดทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็มีความหมายว่าต้องให้พร้อมกันไปด้วย

กล่าวคือ ยกตัวอย่างการกำหนดลมหายใจเข้าออก

ที่วาโยธาตุอันมากระทบที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน นี่เป็นภายนอก

นำเข้ามาเป็นอารมณ์ของจิตใจในภายในพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน คือกำหนดให้ถึงจิตใจ

ไม่ใช่ว่ากำหนดภายนอกคือลมหายใจที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

แต่จิตใจคิดไปอีกเรื่องหนึ่ง แทรกเข้ามา ดั่งนี้ก็ไม่เป็นสติปัฏฐาน

จะต้องคิดถึงลมหายใจเข้าออก ให้ลมหายใจเข้าออกมาเป็นอารมณ์ของจิตใจอยู่ในภายใน

พร้อมกันไปกับลมหายใจเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุในภายนอก

ให้กำหนดภายนอกถึงภายใน ภายในถึงภายนอก

เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดให้รู้จักว่านี่เป็นภายนอก นี่เป็นภายใน

หรือนี่เป็นภายใน นี่เป็นภายนอกแล้ว ก็ต้องกำหนดให้รู้จักทั้งภายในทั้งภายนอกพร้อมกันไป

เพราะฉะนั้น จึงต้องมี ๓ ข้อด้วยกัน คือตั้งสติกำหนดภายใน ตั้งสติกำหนดภายนอก

ตั้งสติกำหนดทั้งภายในทั้งภายนอก

ภายในภายนอกในภาวนา

 

อนึ่ง อาจอธิบายภายในภายนอกได้ด้วยภาวนา

คือการอบรมสมาธิ อันมี ๓ คือ บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม

อุปจาระภาวนา ภาวนาในอุปจาร อัปปนาภาวนา ภาวนาในความแนบแน่น

 

บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม

นั้นก็คือการเริ่มปฏิบัติ ซึ่งต้องมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

คือมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจซึ่งเป็นวาโยธาตุดังกล่าว เข้าก็รู้ ออกก็รู้

ซึ่งเป็นการเริ่มปฏิบัติในทีแรก ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุ

ซึ่งในเบื้องต้นนี้อาจจะต้องใช้วิธีนับลมหายใจช่วย เช่นหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑

ไปจนถึง ๕ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๖ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๗ เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๘

เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๙ เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๑๐ แล้วกลับใหม่ ๑-๕

หรือจะใช้วิธีนับอย่างอื่นเช่น ๑-๑๐ ทีเดียว หรือเกินกว่า ๑๐

เป็นการช่วยค้ำจุนจิต หรือสติให้ตั้งมั่น

หรือว่าใช้วิธีพุทโธ (เริ่ม ๑๙๔/๑ ) หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ซ้ำไปซ้ำมา

ดั่งนี้ เป็นบริกัมมภาวนา

 

อย่างนี้นับว่าเป็นภายนอก ตั้งสติกำหนดกายในกาย ในภายนอก

เมื่อเริ่มได้สมาธิขึ้น สมาธิตั้งมั่นขึ้นบ้าง แต่ยังไม่แนบแน่น

การภาวนาคือการปฏิบัติในระยะนี้ก็เป็นอุปจารภาวนา

สติที่กำหนดลมหายใจเข้าออกก็เป็นภายในมากขึ้น คือเข้ามาถึงจิตใจในภายใน

เริ่มได้สมาธิ คือลมหายใจมาเป็นอารมณ์แห่งสมาธิอยู่ในจิต

จิตไม่คิดไปถึงเรื่องอื่น แต่ยังไม่แนบแน่น ก็เป็นอุปจาระภาวนา

การปฏิบัติจนถึงขั้นจิตแนบแน่นเป็นสมาธิตั้งมั่น

แนบแน่นอยู่ในภายใน ก็เป็นอัปปนาภาวนา ดั่งนี้ ก็เป็นภายใน

ภายในภายนอกรวมอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ

 

เพราะฉะนั้น คำว่าภายในภายนอก หรือว่าภายนอกภายในนั้น

จึงรวมอยู่ที่ผู้ปฏิบัตินี้เอง แต่เมื่อการปฏิบัติทำสติปัฏฐานสมบูรณ์ขึ้น จนถึงขั้นรู้เกิด รู้ดับ

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็รู้คลุมไปได้หมดทั้งกายเวทนาจิตธรรมของตนเอง ทั้งกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่น

เพราะฉะนั้น แม้จะอธิบายว่ากายผู้อื่นเป็นภายนอก กายตนเองเป็นภายใน

หรือเวทนาจิตธรรมผู้อื่นเป็นภายนอก เวทนาจิตธรรมตนเองเป็นภายใน

ดั่งนี้ก็ได้เหมือนกัน นี้เป็น ๓ ข้อ

 

สมาธิเพื่อปัญญาเห็นทั้งเกิดทั้งดับ

 

อีก ๓ข้อ การปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น มุ่งสติเพื่อสมาธิด้วย มุ่งสติเพื่อปัญญาด้วย

เพราะฉะนั้น แม้เมื่อได้สติเพื่อสมาธิ ภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก

ก็ดำเนินสติเพื่อปัญญา ตั้งสติพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง

ว่ามีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง ว่ามีทั้งเกิดเสื่อมดับไปเป็นธรรมดาอีกข้อหนึ่ง

อีก ๓ ข้อ นี้เป็นสติเพื่อปัญญา หรือเพื่อญาณความหยั่งรู้

 

ตั้งสติเพื่อปัญญาดั่งนี้ ก็ต้องมี ๓ เหมือนกัน คือ รู้ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง

รู้ว่าดับเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง และรู้ว่าทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดาอีกข้อหนึ่ง

ซึ่งเป็นการสติเพื่อปัญญาที่แยกดูเกิด และก็ดูดับ

ถ้ามีเพียง ๒ ข้อเท่านี้ ก็อาจจะเห็นแต่เกิดไม่เห็นดับ หรือเห็นดับไม่เห็นเกิด

ต้องการให้เห็นทั้งเกิดทั้งดับคู่กันไป จึงต้องมีข้อ ๓ ให้รู้ทั้งเกิดทั้งดับ คู่กันไป

เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน จึงมี ๖ ประการด้วยกัน

 

อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

ก็หรือว่า สติเข้าตั้งอยู่จำเพาะหน้า ว่ากายมีอยู่ในข้อกาย เวทนามีอยู่ในข้อเวทนา

จิตมีอยู่ในข้อจิต ธรรมะมีอยู่ในข้อธรรม เพื่อเพียงเพื่อรู้ เพียงเพื่อตั้งสติ

ฉะนั้นสติจึงไม่หลงลืม ญาณความหยั่งรู้ก็ไม่หลงใหล

สติย่อมตั้งกำหนด ญาณย่อมตั้งรู้ ว่ากายมีอยู่ เวทนาจิตธรรมมีอยู่

ถ้ากายเวทนาจิตธรรมหายไปเมื่อใด สติก็หลงลืมเมื่อนั้น ญาณก็หลงใหลไปเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิบัตินั้น จะต้องประคองสติให้ตั้งมั่น ประคองญาณคือความหยั่งรู้

ให้ตั้งกำหนดอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรม ทั้งภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก

ไม่ให้หลงลืม ไม่ให้หลงใหลไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาศัย คือไม่ติดไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลก

ก็คือในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นั้นเอง

นี้เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน

 

อุปการธรรม ๔ ประการ

 

และก็ต้องอาศัยอุปการะธรรม ๔ ประการ

คือ อาตาปี ต้องมีความเพียรปฏิบัติไม่ย่อหย่อนเกียจคร้าน

สัมปชาโน มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวความรู้พร้อม

สติมา มีสติความระลึกได้ความระลึกรู้ที่กำหนด

วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลก

คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่ปฏิบัตินั้น

 

ฉะนั้น เมื่อประกอบด้วยอุปการะธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

และปฏิบัติอยู่ตามทางปฏิบัติทั้ง ๖ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว

จึงจะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานภาวนา

คือการอบรมปฏิบัติตั้งสติ ให้สติตั้งขึ้นเป็นสติปัฏฐาน

ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กายวิเวกในขั้นศีล ๒

จิตตวิเวกในขั้นสมาธิ ๓

อุปธิวิเวกในขั้นปัญญา ๓

จิตเที่ยวไปในอารมณ์ ๔

นิวรณ์เกี่ยวกับวิตกโดยตรง ๔

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก ๕

เครื่องนำอารมณ์ที่ดีมาสู่จิตใจ ๖

อุปนิสสัย วาสนา บารมี ๖

อาสวะ อนุสัย ๗

ทำไมจะต้องปฏิบัติกรรมฐาน ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๔/๒ ( File Tape 151 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมจิต

ในเบื้องต้นขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

การปฏิบัติกรรมฐานนั้น จะต้องประกอบด้วยกายวิเวกความสงบสงัดทางกาย

จิตตวิเวกความสงบสงัดจิตใจ และอุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลส

กายวิเวกความสงบสงัดทางกายนั้น ก็หมายถึงจะต้องปลีกกายออกไปสู่ที่สงบสงัด

ดังเช่นที่ตรัสสอนเอาไว้ในต้นสติปัฏฐาน ว่าไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือว่าเรือนว่าง

แม้ว่าการมาสู่สถานที่นี้ อันเป็นที่ที่จัดไว้สำหรับปฏิบัติทางกรรมฐาน

อันเป็นที่วิเวกคือสงบสงัด ก็ชื่อว่าเป็นการปลีกมาสู่ที่สงบสงัดได้

 

กายวิเวกในขั้นศีล

 

และอีกอย่างหนึ่งกายวิเวกนั้นก็หมายถึงศีล เช่นศีล ๕

เมื่อตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติผิดศีล ๕ ก็เป็นการปลีกกรรมทางกายทางวาจา

ให้สงบสงัดจากภัยเวรทั้งหลาย ศีลจึงเป็นเป็นกายวิเวก

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะหาป่าไม่ได้ ไม่สะดวกที่จะไปอยู่โคนไม้หรือเรือนว่างอย่างอื่น

ก็ให้ทำกายนี้แหละให้สงบสงัดจากภัยเวรด้วยศีล

และทำกายนี้แหละให้ประกอบด้วยความสำรวมระวัง คือสำรวมกายสำรวมวาจา

ดั่งที่ ทุกๆคนพากันนั่งอยู่อย่างสงบสงัด ดั่งในบัดนี้ ก็ชื่อว่าทำกายวิเวกความสงบสงัดทางกาย

และเมื่อได้กายวิเวกดั่งนี้ ก็เป็นที่ตั้งของจิตตวิเวกคือความสงบจิตใจ

 

จิตตวิเวกในขั้นสมาธิ

 

อันจิตตวิเวกคือสงบทางจิตใจนี้ ก็คือสงบจิตใจจากนิวรณ์ทั้งหลาย

ซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา

ก็ได้แก่ทำจิตให้สงบสงัดจากกามฉันท์ ความยินดีพอใจในกามทั้งหลาย

คือในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งหลาย

ไม่ส่งใจไปในกามเหล่านี้ และก็สงบจากกิเลสกามคือตัวความใคร่

ความปรารถนาของจิตใจโดยตรง ทำจิตใจให้สงบ

 

และนอกจากสงบสงัดจากกามฉันท์แล้ว ก็สงบสงัดจากพยาบาท คือความกระทบกระทั่ง

ขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคือง มุ่งปองร้าย สงบสงัดจากถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

สงบสงัดจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ สงบสงัดจากความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลาย

เมื่อจิตใจได้ความสงบสงัดดั่งนี้ ก็เป็นจิตตวิเวก

 

อุปธิวิเวกในขั้นปัญญา

 

อุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลสนั้น เมื่อกล่าวโดยส่วนรวม ก็คือสงบสงัดจากโลภโกรธหลง

หรือราคะความติดใจยินดี โทสะความขัดเคืองประทุษร้ายใจตัวเอง โมหะความหลง

สงบสงัดจากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ ดิ้นรนทะยานอยากไปในกามบ้าง

ในภพความเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ในวิภพความไม่เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง

สงบสงัดจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น โดยตรงก็คือความยึดมั่นถือมั่นในนามรูปนี้

ว่าเป็นตัวเราของเรา

 

ความสงบสงัดจากกิเลสดังกล่าวนี้ต้องใช้ปัญญาเป็นข้อสำคัญ

ส่วนความสงบสงัดจิตใจที่เป็นจิตตวิเวกนั้น ใช้สมาธิเป็นข้อสำคัญ

ความสงบสงัดทางกายที่เป็นกายวิเวกนั้น ต้องใช้ศีลเป็นข้อสำคัญ

รวมความว่า ต้องปฏิบัติให้มีศีล ให้มีสมาธิ และให้มีปัญญาที่เป็นภาคพื้น

อันจะเป็นเครื่องรองรับ สั่งสม การปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาที่ยิ่งขึ้นไป

 

จิตเที่ยวไปในอารมณ์

 

ในการปฏิบัติทั้งปวงนี้ ต้องอาศัยจิตใจ กับอารมณ์ เป็นหลักสำคัญ

จิตใจนั้นก็คือธาตุรู้ ที่รู้อะไรๆได้ ไม่มีสรีระสัณฐาน ดังที่ทุกคนก็มีอยู่ด้วยกัน

อารมณ์นั้นก็คือเรื่อง เรื่องที่จิตใจคิด เรื่องที่จิตใจรู้ เรื่องที่จิตใจครุ่นคิดถึง

เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ และอาการที่จิตคิดนั้นเรียกว่าวิตกความตรึก

หรือว่าเรียกคู่กันว่า วิตกความตรึก วิจารความตรอง

วิตกคือความตรึกพร้อมทั้งวิจารคือความตรองนี้ เป็นที่เที่ยวไปของใจ

จิตใจนี้เที่ยวไปด้วยวิตกคือความตรึกนึกคิดดังกล่าวนี้นั้นเอง

 

นิวรณ์เกี่ยวกับวิตกโดยตรง

 

เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงได้มีสอน ให้มีสติที่จะตั้งกำหนดดูให้รู้จักวิตก

คือความตรึกตรองของจิตใจ จะเป็นกามฉันท์ขึ้นมา ก็ต้องอาศัยวิตก

ถ้าไม่มีวิตกคือความตรึกนึกคิดเสียเพียงอย่างเดียว กามฉันท์ก็ไม่เกิด

จะเป็นพยาบาทขึ้นมาก็ต้องมีวิตก คือความตรึกนึกคิด

ถ้าไม่มีความตรึกนึกคิด พยาบาทก็ไม่เกิด

จะมีถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มขึ้นมา

ก็ทำให้วิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั่นเอง

คือถ้าไม่วิตกนึกคิดเพราะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็กลายเป็นถีนมิทธะ

ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ทำให้ความตรึกนึกคิดนี้ขาดช่วงเป็นระยะๆ

ตามแต่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้นจะเกิดขึ้นเพียงไร

( เริ่ม ๑๙๔/๒ ) จะมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็เพราะมีวิตกคือความตรึกนึกคิด

ถ้าไม่ตรึกนึกคิดเสีย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็ไม่เกิด

จะมีวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ก็เพราะมีวิตกคือความตรึกนึกคิด

ถ้าหากว่าไม่ตรึกนึกคิด วิจิกิจฉาคือความสงสัยก็ไม่เกิดขึ้น

 

เพราะฉะนั้น บรรดานิวรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ๔ ข้อ เว้นแต่ข้อถีนมิทธะ

เนื่องด้วยวิตกนึกคิดโดยตรง เพราะจิตวิตกคือตรึกนึกคิด จึงบังเกิดนิวรณ์ทั้ง ๔ ข้อเหล่านั้น

แต่ว่าถ้าขาดวิตกนึกคิดเพราะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็เป็นนิวรณ์อีกข้อหนึ่งเหมือนกัน

ก็ตกว่าโดยปรกตินั้น คนเราจะต้องเที่ยวไปกับวิตกคือความตรึกนึกคิด เว้นแต่เมื่อหลับ

เมื่อตื่นอยู่ดั่งนี้ ก็ต้องมีความวิตกนึกคิด

 

ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก

 

วิธีปฏิบัติกับความวิตกนึกคิดนั้น

ก็คือต้องมีสติ พร้อมกับทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

ถ้าวิตกนึกคิดไปในทางของนิวรณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นกิเลส

ก็เป็นความตรึกนึกคิดที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิตก

แต่ถ้าเป็นไปในกรรมฐาน เป็นไปในเมตตากรุณา เป็นไปในกุศลกิริยา

คือการทำบุญทั้งหลาย ก็เป็นวิตกนึกคิดที่ดี เป็นกุศลวิตก

 

เพราะฉะนั้น ในทางกรรมฐาน จึงต้องมีการปฏิบัติกับตัววิตก

คือความตรึกนึกคิดนี้เอง เป็นข้อสำคัญ นำอารมณ์เข้ามาสู่จิตใจ

จิตใจท่องเที่ยวไปในอารมณ์ ก็ด้วยความวิตกนึกคิด

และอารมณ์นี้ก็มี ๒ อย่าง คืออารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของกิเลส เช่นนิวรณ์ทั้งปวง

หรือรวมเป็นโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะ

และอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นอารมณ์ของกรรมฐานทั้งหลาย

หรือเป็นอารมณ์ของบุญกิริยาทั้งหลาย

 

เครื่องนำอารมณ์ที่ดีมาสู่จิตใจ

 

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีสติ และสติที่จะทำให้จิตใจได้อารมณ์ที่ดี

ได้วิตกคือความตรึกนึกคิดที่ดี ก็คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้นั่นเอง

แต่ว่าแม้กรรมฐานข้ออื่นๆนอกจากสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ ก็ใช้ได้

ทำให้จิตได้อารมณ์ที่ดี เป็นที่ตั้งของใจ

 

และเมื่อปฏิบัติตามหลักที่ตรัสแสดงไว้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ แม้บทใดบทหนึ่ง

ก็เป็นเครื่องนำอารมณ์ที่ดีมาสู่จิตใจ นำจิตใจให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ดี

ทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้บังเกิดขึ้นแก่จิตใจในทางที่ดี

สติปัฏฐานจึงเป็นข้อสำคัญที่จะเป็นเครื่องนำให้เกิดอารมณ์ที่ดี

เกิดวิตกคือความตรึกนึกคิดที่ดี และก็นำให้ได้กายวิเวก คือความสงบสงัดทางกาย

จิตตวิเวกความสงบสงัดทางจิตใจ อุปธิวิเวกความสงบสงัดกิเลสทางปัญญา

ก็เป็นอันว่าเป็นเครื่องสนับสนุนให้ได้ศีล ให้ได้สมาธิ ให้ได้ปัญญา

เพิ่มพูนสั่งสมศีลสมาธิปัญญาที่มีเป็นพื้นอยู่แล้ว

 

อุปนิสสัย วาสนา บารมี

 

พื้นนี้สำคัญมากเรียกว่า นิสสัย หรืออุปนิสสัย วาสนา บารมี

ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่แปลว่าผู้มีใจสูง

ก็คือเป็นผู้ที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา เป็นพื้นอยู่ด้วยกันแล้ว

หรือว่ายกขึ้นมาเพียงข้อเดียวว่าปัญญา มนุษย์ที่แปลว่ามีจิตใจสูง ก็คือมีความรู้สูง

คือมีปัญญาสูงนั้นเอง และก็ไม่ใช่เพียงปัญญาอย่างเดียว ย่อมมีศีลมีสมาธิติดมาด้วย

เพราะปัญญาเป็นพื้น นี้เป็นพื้นส่วนที่ดี

 

อาสวะ อนุสัย

 

นอกจากนี้ยังมีพื้นส่วนที่ชั่ว ที่เรียกว่าอาสวะอนุสัย

อาสวะก็คือหมักดอง อนุสัยก็คือนอนจม ก็คือกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่

นอนจมอยู่ในจิตสันดาน แสดงออกมาก็เป็นราคะโทสะโมหะ ดั่งที่ปรากฏ

หรือเป็นนิวรณ์ดั่งที่ปรากฏ

 

เพราะฉะนั้น คนเราทุกๆคน

จึงทั้งพื้นที่เป็นส่วนดี ที่เป็นส่วนของศีลของสมาธิของปัญญา

มีพื้นทั้งที่เป็นส่วนชั่วคืออาสวะอนุสัยทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น คนเราโดยปรกติในบางคราว เมื่อพื้นส่วนดีนำก็ทำดี

ในเมื่อพื้นส่วนชั่วนำก็ทำชั่ว

 

ทำไมจะต้องปฏิบัติกรรมฐาน

 

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติในกรรมฐาน

เพื่อที่จะให้พื้นที่เป็นส่วนดีนี้ปรากฏขึ้นมา

นำให้เพิ่มพูน กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก สงัดกาย สงัดจิต สงัดกิเลส

และเพิ่มพูนบุญกิริยา อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง ด้วยภาวนาบ้าง

คือให้เพิ่มพูน ศีล สมาธิ ปัญญา

พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นในโลก

ก็เพราะพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลาย ได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘

อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญาเหล่านี้นี่แหละ พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งความเพียร

ปฏิบัติสั่งสมส่วนที่ดีที่เป็นวาสนาบารมีดังกล่าวแล้ว จนบริบูรณ์

ที่บริบูรณ์นั้นก็คือกำจัดอาสวะอนุสัยได้หมดสิ้น

ถ้ายังกำจัดอาสวะอนุสัยไม่หมดสิ้น ก็ยังไม่บริบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ก็ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า

ตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน

 

และบัดนี้พระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็ยังมีอยู่

ดั่งเช่นสติปัฏฐานที่สวดกันอยู่นี้ ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ ก็ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงสมควรที่จะได้มีสติ และมีญาณคือความหยั่งรู้

ตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน พิจารณาให้เกิดสติให้เกิดปัญญา

ดึงใจให้ใฝ่ปฏิบัติสั่งสมศีลสมาธิปัญญา หรือวิเวกทั้ง ๓ นั้น ให้มากยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

และคอยป้องกันไม่ให้อาสวะอนุสัยฟุ้งขึ้นมา อันจะนำให้ประกอบอกุศลกรรม

กรรมที่ชั่วผิดต่างๆ ทางกายทางวาจาทางใจ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

อันสรุปเข้าได้ก็ในโอวาททั้ง ๓ ข้อ คือเว้นจาก คือไม่กระทำบาปอกุศลทั้งหลาย

อุปสมบทคือเข้าถึงทำกุศลบุญทั้งหลายให้ถึงพร้อม และชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

ให้ปฏิบัติอยู่ดั่งนี้เป็นประจำ ย่อมจะนำให้เกิดความสวัสดี แก่ชีวิตของตนเองยิ่งๆขึ้นไป

ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats