ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป152

กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ ๑

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กุศลวิตก อกุศลวิตก ๓

จิตย่อมน้อมไปตามวิตกวิจาร ๔

โทษของอกุศลวิตก ๕

ข้อปฏิบัติทางจิตสำหรับทุกคน ๕

จิตที่เป็นกามาพจร ๖

เหตุที่ต้องปฏิบัติทำสติปัญญา ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๕/๑ ( File Tape 152 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ ๑

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเล่าถึงพระองค์เอง

ในขณะที่ได้ทรงประกอบความเพียรเพื่อความตรัสรู้

ที่ตรัสว่าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติอบรมจิต

ด้วยวิธีที่ได้ทรงดำริว่า จักทรงทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้เป็น ๒ ส่วน

คือจะทรงทำวิตกนึกคิดที่เป็น กามวิตก ตรึกนึกคิดไปในกาม

พยาบาทวิตก ตรึกนึกคิดไปในพยาบาท

วิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในวิหิงสาความเบียดเบียน ให้เป็นส่วน ๑

 

จักทรงทำวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็น

เนกขัมมวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม

อัพพยาบาทวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาท

อวิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน ให้เป็นส่วน ๑

กุศลวิตก อกุศลวิตก

 

อันความตรึกนึกคิดทั้ง ๒ ส่วนนี้

กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เป็นอกุศลวิตก ตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล

ส่วน เนกขัมมวิตก อัพพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก เป็นกุศลวิตก ตรึกนึกคิดที่เป็นกุศล

เมื่อทรงดำริดั่งนี้แล้ว เมื่ออกุศลวิตก วิตกที่เป็นอกุศลข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น

คือเมื่อกามวิตกบังเกิดขึ้น ก็ทรงพิจารณาว่า

 

บัดนี้กามวิตกได้บังเกิดขึ้น ก็กามวิตกนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง

เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์

เมื่อทรงพิจารณาอยู่ดั่งนี้ว่า ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง กามวิตกก็ดับไป

หรือเมื่อทรงพิจารณาว่า ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง กามวิตกก็ดับไป

หรือเมื่อทรงพิจารณาว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง กามวิตกก็ดับไป

หรือเมื่อทรงพิจารณาว่า เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น

ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ กามวิตกก็ดับไป

 

อนึ่ง เมื่อพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปเพื่อปองร้ายผู้อื่นบังเกิดขึ้น

ก็ทรงพิจารณาเช่นเดียวกัน ว่าเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนบ้าง

เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง

เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์

เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง พยาบาทวิตกก็ดับไป

 

อนึ่ง เมื่อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่นบังเกิดขึ้น

ก็ทรงพิจารณาเช่นเดียวกัน ว่าบัดนี้วิหิงสาวิตกบังเกิดขึ้นแล้ว

ก็วิหิงสาวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง

เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์

เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง วิหิงสาวิตกก็ดับไป

 

จิตย่อมน้อมไปตามวิตกวิจาร

 

อนึ่ง ได้ตรัสไว้ทุกข้อว่า

เมื่อวิตกคือตรึกวิจารคือตรอง ถึงกามวิตก ก็ย่อมละเนกขัมมวิตก

ความตรึกนึกคิดที่ออกจากกาม ที่ตรงกันข้าม แต่ย่อมวิตกนึกคิดถึงกามวิตก

หรือเมื่อวิตกคือตรึกวิจารคือตรอง ถึงพยาบาทวิตก

คือตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนผู้อื่นมาก ก็ละอัพพยาบาทวิตก

ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน อันตรงกันข้าม

แต่ย่อมตรึกนึกคิดถึงพยาบาทวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาทปองร้ายผู้อื่น

หรือเมื่อวิตกคือตรึกวิจารคือตรองถึงวิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนมาก

ก็ย่อมละอวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียนอันตรงกันข้าม

( เริ่ม ๑๙๕/๑ ) แต่ว่าตรึกนึกคิดถึงวิหิงสาวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน

และได้ทรงแสดงสภาพของจิตใจไว้ว่า เมื่อวิตกคือตรึก วิจารคือตรอง ถึงข้อใดมาก

ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปโดยประการนั้นๆ คือถึงสิ่งนั้นมาก

อันสรุปว่า ตรึกตรองไปถึงสิ่งใด โดยประการใดๆมาก

ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปในสิ่งนั้น โดยประการนั้นๆมาก ดั่งนี้

 

และได้ตรัสไว้ว่า เหมือนอย่างว่านายโคบาลคือคนเลี้ยงโค

เมื่อต้อนโคไปเลี้ยงในทุ่งนาในเดือนสุดท้ายของฤดูฝน ซึ่งท้องนาเต็มไปด้วยต้นข้าว

สะพรั่งไปด้วยข้าวกล้า ก็ต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปรามโคไม่ให้แวะเวียนเข้าไปในนาข้าว

ไปกินข้าวของชาวนา แต่ว่าให้เดินผ่านไปเพื่อกินหญ้าในทุ่งหญ้า ฉันใด

 

พระองค์ก็ฉันนั้น ได้ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย

เหมือนอย่างนายโคบาลที่เห็นโทษของการที่โคจะไปกินข้าวของชาวนา

ว่าอาจจะต้องถูกประหาร ถูกจองจำ ต้องพบกับความเสื่อมเสีย หรือคำครหานินทา

จึงได้ต้องคอยดูแลไม่ให้ฝูงโคแวะเวียนเข้าไปกินข้าวของชาวนาในนาข้าว

 

โทษของอกุศลวิตก

 

พระองค์ก็เช่นเดียวกันได้ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย และโดยเฉพาะที่ตรัสไว้

ก็คือของอกุศลวิตกทั้งหลาย คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก

ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง

เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองบ้าง เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น

ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์

 

เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ อกุศลวิตกทั้งหลาย

จะเป็นข้อกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี ก็ดับไป

ก็ชื่อว่าได้ทรงละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย

เป็นวิธีพิจารณาทางปัญญา เพื่อเป็นการรักษาจิตใจมิให้น้อมไปในอกุศลวิตกทั้งหลาย

ด้วยสติคือความระลึกได้ ด้วยปัญญาคือความรู้

 

ข้อปฏิบัติทางจิตสำหรับทุกคน

 

เพราะฉะนั้น พระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ เล่าถึงข้อปฏิบัติของพระองค์เอง

แม้เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันได้ทรงบอกวิธีปฏิบัติทางจิตของทุกๆคนนั้นเอง

ที่ทุกคนไม่ควรจะปล่อยให้จิตของตนตรึกตรองไปในอกุศลวิตกทั้งหลาย

จะเป็นกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี

 

และการที่ได้ตรัสอุปมาไว้ด้วยนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค นำโคไปเลี้ยงนั้น

และเมื่อนำไปยังไม่ถึงทุ่งหญ้า ต้องผ่านนาของชาวบ้านซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้า

โคนั้นก็ย่อมจะชอบกินข้าวกล้า จึงมักที่จะแวะเวียนเข้าไปเพื่อจะกินข้าวกล้า

นายโคบาลก็ต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปราม ไม่ให้แวะเวียนไปกินข้าวกล้าของชาวนา

แต่ให้เดินผ่านไปเพื่อให้ถึงทุ่งหญ้า เพื่อจะได้ไปกินหญ้าในทุ่งหญ้านั้น

 

จิตที่เป็นกามาพจร

 

จิตนี้ก็เช่นเดียวกัน จิตที่เป็นกามาพจร

คือที่เที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม ยังพอใจในกาม

เพราะฉะนั้น จึงมักจะพอใจที่จะคิดถึงกามคุณารมณ์ทั้งหลาย

ทั้งเมื่อประสบพบผ่านรูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น อันเป็นที่ตั้งของกาม

ก็ย่อมจะผูกพัน ติดใจ คิดใคร่ปรารถนา เป็นกามวิตกไปในรูปเสียงเป็นต้นนั้น

โคย่อมกินข้าวกล้า จิตที่เป็นกามาพจรก็พอใจในกามเช่นเดียวกัน

 

และเมื่อปล่อยใจให้เที่ยวไปในกาม

ก็ย่อมจะพบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะพยาบาท

ที่มีคู่กันกับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะ ความใคร่ความติดใจยินดีเช่นเดียวกัน

จิตจึงจะต้องน้อมไปในพยาบาทวิตกบ้าง ในวิหิงสาวิตกบ้าง เป็นครั้งคราว

เป็นอันว่าจิตของสามัญชนซึ่งเป็นกามาพจรเช่นนี้ ก็จะต้องน้อมไปในกามวิตกบ้าง

พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย

 

เหตุที่ต้องปฏิบัติทำสติปัญญา

 

เพราะฉะนั้นจึงต้องทำสติคือความระลึกได้ และปัญญาคือความหยั่งรู้ถึงโทษ

ให้เป็นเหมือนอย่างนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค ที่จะต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปรามจิตของตน

และนายโคบาลนั้นใช้ปฏักบ้าง ใช้มือบ้าง ใช้ก้อนดินก้อนหินบ้าง เป็นต้น

เป็นเป็นเครื่องมือในการที่จะห้ามปรามโคไม่ให้ไปกินข้าว

 

ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ต้องใช้สติใช้ปัญญานี้เองเป็นเครื่องห้ามปรามจิต

ด้วยการพิจารณา ด้วยสติ ด้วยปัญญา ให้รู้โทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย

และเมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อได้สติได้ปัญญาขึ้นแล้ว อกุศลวิตกก็จะดับไป

ชื่อว่าเป็นผู้ละอกุศลวิตก คือกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

กุศลวิตก ๓

จิตย่อมน้อมไปในข้อวิตกวิจาร ๔

พระพุทธเจ้าทรงได้ฌานด้วยวิธีนี้ ๕

นันทิราคะ อวิชชา มิจฉามรรค ๕

ทางของพระพุทธเจ้า ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๙๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๙๕/๒ ( File Tape 152 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงพระสูตรที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้

ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ทรงประกอบความเพียรเพื่อความตรัสรู้ ได้ทรงพระดำริว่า

จะทรงปฏิบัติทางจิต ด้วยวิธีทำวิตกคือความตรึกนึกคิดของจิตให้เป็น ๒ ส่วน

จะทรงทำอกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลไว้ส่วนหนึ่ง

ทรงทำกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลไว้อีกส่วนหนึ่ง

และได้ตรัสเล่าถึงวิธีทำอกุศลวิตก คือกามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม

พยาบาทวิตกความตรึกนึกคิดไปในพยาบาทคือความมุ่งร้าย

วิหิงสาวิตกคือความตรึกนึกคิดไปในความเบียดเบียน ไว้ส่วนหนึ่ง ดั่งที่ได้แสดงแล้ว

 

ต่อจากนั้นได้ตรัสถึงวิธีที่ทรงทำกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศล

คือ เนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม

อัพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาทมุ่งร้าย

อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในความไม่เบียดเบียน อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความว่า

 

กุศลวิตก

 

เมื่อ เนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดไปในเนกขัมมะความออกจากกามบังเกิดขึ้น

ก็ทรงพิจารณารู้ว่าบัดนี้เนกขัมมวิตกเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็เนกขัมมวิตกนั้น

ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่น

ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นไปเพื่อดับปัญญา ไม่เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น

และเป็นไปเพื่อความดับทุกข์

 

เมื่อทรงพิจารณารู้ดั่งนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง เนกขัมมวิตกก็ย่อมตั้งอยู่

หากจะทรงตรึกนึกคิดในเนกขัมมวิตกตลอดวันตลอดคืน หรือว่าตลอดวัน

หรือว่าทั้งวันทั้งคืน ก็ย่อมจะทรงวิตกนึกคิดไปได้ โดยที่ไม่มีภัยไม่มีโทษอะไร

 

อนึ่ง เมื่อ อัพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาท

หรือ อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน บังเกิดขึ้น

ก็ทรงพิจารณารู้ว่าบัดนี้อัพยาบาทวิตกเกิดขึ้นแล้วแก่เรา

หรือบัดนี้อวิหิงสาวิตกบังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ทั้งสองนี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตน

ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นไปไม่เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย

ไม่เป็นไปเพื่อดับปัญญา ไม่เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น แต่ว่าเป็นไปเพื่อความดับทุกข์

เมื่อทรงพิจารณารู้ดั่งนี้ อัพยายาทวิตก หรืออวิหิงสาวิตก ก็ตั้งอยู่

แม้จะทรงตรึกนึกคิดไปในวิตกทั้งสองนี้ตลอดคืนตลอดวัน ตลอดทั้งคืนทั้งวัน

ก็จะทรงวิตกนึกคิดไปได้ โดยที่ไม่มีภัย ไม่มีอันตรายอะไร

 

อนึ่ง ได้ตรัสชี้แจงว่า เมื่อทรงตรึกนึกคิดไปในกุศลวิตกทั้งหลาย

จะเป็นข้อเนกขัมมวิตกก็ดี จะเป็นข้ออัพยาบาทวิตกก็ดี จะเป็นข้ออวิหิงสาวิตกก็ดี

มาก ก็จะละอกุศลวิตกที่ตรงกันข้าม คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก

แต่ว่าจะตรึกนึกคิดไปในกุศลวิตก คือเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตกโดยมาก

 

จิตย่อมน้อมไปในข้อวิตกวิจาร

 

ก็เพราะว่า เมื่อตรึกที่เรียกว่าวิตก เมื่อตรองที่เรียกว่าวิจาร ไปในข้อใดมาก

ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปในข้อนั้น โดยประการนั้นๆมาก

ความน้อมไปของใจดังกล่าวนี้เป็นสภาพของจิตใจ ซึ่งมีวิตกมีวิจาร

คือความตรึกตรองเป็นเครื่องนำ คือเมื่อตรึกตรองไปในทางใด โดยประการใดมาก

ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปในทางนั้น โดยประการนั้นๆมาก

 

แต่ว่าแม้จะเป็นกุศลวิตก ( เริ่ม ๑๙๕/๒ ) คือความตรึกนึกคิดที่เป็นส่วนกุศล

ถ้าหากว่าตรึกนึกคิดไปนานเกินไป กายก็ย่อมเหน็ดเหนื่อยลำบาก

จิตก็ย่อมกระสับกระส่าย จิตก็จะห่างไกล เพราะว่าจะถอนออกจากสมาธิ

เพราะฉะนั้น เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ จึงได้ทรงหยุดวิตกคือความตรึกนึกคิด

ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน จึงทรงได้สมาธิความตั้งจิตมั่นอยู่ในภายใน

เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงปฏิบัติในทางสงบรำงับความตรึกนึกคิดไปต่างๆ

แม้เป็นกุศลวิตก ให้จิตตั้งสงบอยู่ในภายใน

 

ถ้าจะเปรียบกับร่างกายก็เปรียบได้กับว่า เมื่อเดินก็ดี วิ่งก็ดี ไปแม้ในทางที่ดี

แต่ว่าเมื่อเดินมากเกินไป วิ่งมากเกินไป กายก็เหน็ดเหนื่อย จิตใจก็กระสับกระส่าย

จึงหยุดเดินหยุดวิ่งลงนั่งพัก เมื่อกายได้นั่งพักก็หายเหน็ดเหนื่อยลำบาก

จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้วิตกคือตรึกนึกคิด แม้ในกุศลวิตกมากเกินไป ก็เหน็ดเหนื่อยลำบาก

จิตก็กระสับกระส่าย เพิกถอนออกจากสมาธิ ไกลสมาธิ

เพราะฉะนั้น จึงต้องหยุดตรึกนึกคิดไปต่างๆ ทำจิตให้ตั้งสงบอยู่ในภายใน

กำหนดดูอยู่ที่จิต ก็จิตมีอยู่หรือว่า ธรรมะทั้งหลายมีอยู่

ได้ตรัสอุปมา เหมือนอย่างนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค

ที่ต้อนฝูงโคไปเลี้ยงในที่ชายบ้าน อันไม่มีต้นข้าวในนาในปลายแห่งฤดูร้อน

นายโคบาลก็ปล่อยโคให้กินหญ้าโดยไม่ต้องควบคุมห้ามปรามเฆี่ยนตี

เพราะว่าในนาไม่มีข้าวกล้าที่โคจะแวะเวียนไปกิน

เพราะฉะนั้น นายโคบาลจึงปล่อยโคให้กินหญ้าอยู่ตามลำพังได้

ส่วนตนเองก็นั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ หรือว่านั่งอยู่ในที่แจ้ง เพียงแต่มองดูว่าโคอยู่ที่นั่น เท่านั้น

 

จิตนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตนี้สงบจากความตรึกนึกคิด ตั้งสงบอยู่ในภายใน

ก็กำหนดดูธรรมในจิตอยู่ในภายใน หรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมาธิในจิตอยู่ในภายใน

ว่านั่นมีอยู่ คือธรรมะนั่น หรืออารมณ์นั้น มีอยู่ ดั่งนี้

และเมื่อจิตตั้งสงบอยู่ดั่งนี้ จิตก็ย่อมจะได้สมาธิคือความตั้งจิตมั่น

 

พระพุทธเจ้าทรงได้ฌานด้วยวิธีนี้

 

พระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิบัติวิธีนี้ ตามที่ตรัสเล่า จึงได้ฌาน

อันเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น และทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้เพื่อรู้

ก็ทรงได้วิชชา ๓ โดยลำดับ จิตของพระองค์จึงได้วิชชาความรู้แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง

ได้วิมุติคือความหลุดพ้นจากอาสวะทั้ง ๓ คือจาก กามาสวะ ภวาสวะ อวิชาสวะ

ก็ได้ทรงทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่จะพึงกระทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกไม่มี ก็คือได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

 

นันทิราคะ อวิชชา มิจฉามรรค

 

และพระองค์ก็ได้ตรัสข้ออุปมาอุปมัยสาธกธรรมไว้ด้วยว่า เหมือนอย่างว่าป่าใหญ่

ซึ่งเป็นที่ลุ่ม มีน้ำ มีเปือกตม มีฝูงเนื้อฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่าใหญ่นั้น

ก็ได้มีบุรุษผู้มุ่งร้ายหมายทำลายฝูงเนื้อ ปิดทางที่ดี เปิดทางที่ไม่ดี

และเมื่อฝูงเนื้อออกจากป่าโดยทางที่ไม่ดี ก็ถูกบุรุษผู้มุ่งร้ายนั้นทำลาย

ทำให้ฝูงเนื้อเป็นอันตราย ลดน้อยลงไปโดยลำดับ

แต่ก็ได้มีบุรุษผู้มุ่งดีได้ปิดทางที่ไม่ดี เปิดทางที่ดีให้แก่ฝูงเนื้อ

ฝูงเนื้อก็ออกมาในทางที่ดีไม่มีอันตราย ฝูงเนื้อก็เติบโตขึ้นโดยลำดับ

 

นี้เป็นข้ออุปมา แล้วก็ทรงสาธกด้วยข้ออุปมัยต่อไปว่า

อันป่าใหญ่อันเป็นที่ลุ่มมีน้ำมีเปือกตมนั้น ก็เป็นชื่อของกามทั้งหลาย

ฝูงเนื้อนั้นก็ได้แก่หมู่สัตว์โลก บุรุษผู้มุ่งร้ายนั้นก็ได้แก่มาร

ซึ่งได้ใช้เนื้อต่อตัวผู้คือ นันทิราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความเพลิดเพลิน

เนื้อต่อตัวเมีย อันได้แก่ อวิชชา คือความไม่รู้ ล่อฝูงเนื้อให้ออกมาในทางที่ไม่ดี

และทางที่ไม่ดีนั้นก็ได้แก่ มิจฉามรรค คือทางที่ผิด

อันได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด

มิจฉาวาจา เจรจาผิด มิจฉากัมมันตะ การงานผิด มิจฉาอาชีวะ อาชีพผิด

มิจฉาวายามะ เพียรผิด มิจฉาสติ ระลึกผิด มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด

 

ทางของพระพุทธเจ้า

 

ส่วนบุรุษผู้มุ่งดีนั้นก็ได้แก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ได้ทรงทำลายเนื้อต่อตัวผู้ คือนันทิราคะความติดใจด้วยอำนาจแห่งความยินดี

เนื้อต่อตัวเมียคืออวิชชาคือความไม่รู้ ทรงเปิดทางที่ดีให้หมู่เนื้อเดิน

ทางที่ดีนั้นก็ได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะอาชีพชอบ

สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นชอบ

หมู่เนื้อคือสัตว์โลกก็ได้ความสวัสดี ได้ดำเนินในทางที่ดี

ก็ได้ประสบ มนุษยสมบัติบ้าง ทิพยสมบัติบ้าง นิพพานสมบัติบ้าง

ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ ไม่ตกไปสู่คติที่ชั่ว

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสไว้ว่า

กิจที่พระศาสดาพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย อันเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล พระองค์ได้ทรงทำแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเตือนว่า ท่านทั้งหลายจงส้องเสพป่า ส้องเสพเรือนว่าง

โดยตรัสชี้ว่า นั่นคือป่า นั่นคือเรือนว่าง ท่านทั้งหลายจงหมั่นแสวงหาที่สงบสงัด

คือป่าหรือเรือนว่าง และจงเพ่ง คือปฏิบัติเพ่งจิตด้วยสมาธิ คือให้จิตตั้งมั่น

เพ่งอารมณ์ของสมาธิ และจงเพ่งด้วยปัญญา คือเพ่งพินิจพิจารณา เพื่อวิปัสสนาปัญญา

จงเป็นผู้ไม่ประมาทคือไม่เลินเล่อเผลอเพลิน มัวเมา ปราศจากสติ

เกียจคร้านไม่ประกอบการปฏิบัติ แต่ให้หมั่นขยัน มีสติรอบคอบ รักษาจิตใจพร้อมทั้งกาย

ส่งตนไปในทางปฏิบัติธรรมะ ด้วยวิธีเพ่ง ด้วยสมาธิ และเพ่งด้วยปัญญา

เพื่อให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats