พระพุทธศาสนาในอาเชียกลาง

คำนำของผู้เขียน

     หนังสือเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นอย่างชนิดที่เรียกว่า มีตำรับตำราค้นคว้าน้อยเต็มที เรื่องจึงยังไม่พิสดารละเอียดเท่าที่ตั้งใจเดิมไว้ ข้าพเจ้าชอบประวัติศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งข้าพเจ้าได้ค้นคว้าศึกษาอย่างสนุกเพลิดเพลินที่สุด การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งต่างๆในด้านของความเจริญและความเสื่อมในอดีต และเป็นประโยชน์ต่อการที่จะนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างและดำเนินการในอนาคต ประวัติศาสตร์เป็นดุจหนึ่งกระจกเงา ที่จะส่องมองเห็นความเป็นไปตลอดในกาลทั้งสาม แม้จะเป็นวิชาที่คนส่วนมากไม่ใคร่จะนิยมติดใจก็ตาม แต่วิชานี้ก็ได้แทรกซึมไปทั่วในวิชาการประเภทต่างๆ ซึ่งบางครั้งเราก็เรียนไปโดยไม่รู้ตัว พระพุทธศาสนาของเราอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นศาสนาที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมากมายยิ่งกว่าทุกๆศาสนาในโลก ถึงแม้ว่ากาลอายุของพระพุทธศาสนา จะไม่สูงกว่าลัทธิพระเวทของพราหมณ์ก็จริง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความละเอียดพิสดารซับซ้อนของทางประวัติศาสตร์แล้ว พระพุทธศาสนาก็นำหน้าพราหมณ์ไปลิบ การเขียนหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้อาศัยตำรับตำราตามภาษาจีนมาก และส่วนมากได้อาศัยหลักตามนิพนธ์ของพระศาสตราจารย์อูโคยเลี่ยวถี่ และศาสตราจารย์เหลียงฉีเชา ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านมหาสุวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน ป.6 นักศึกษาสภาการศึกษา ที่ได้เป็นภารธุระในการจัดพิมพ์ตรวจปรู๊ฟ กับขอขอบพระคุณท่านอคฺคมนุญโญ ภิกขุ มิตรของข้าพเจ้าที่ได้ช่วยในการคิดคำนวณเทียบศักราช ขอจารึกคุณของท่านภิกษุทั้ง 2 รูป แห่งสำนักวัดกันมาตุยารามในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าหนังสือนี้มีข้อผิดพลาด เนื่องด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของข้าพเจ้าแล้ว ท่านผู้รู้ก็กรุราให้อภัยด้วย

เสถียร โพธินันทะ

6 มกราคม 2495

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอาเชียกลาง

ตอน 1

บทนำ

      ดินแดนที่เรียกว่าอาเชียกลางนั้น ได้แก่บริเวณพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำอามูดาเรียถึงลุ่มแม่น้ำตาริม และตั้งแต่เทือกภูเขาเอลบูร์ซ, เทือกภูเขาฮินดูกูษจนถึงที่ราบสูงปาร์มีร์, ภูเขาการาโกรัมตลอด ขึ้นไปทางเหนือจนจดไซบีเรีย พูดง่ายๆก็ได้แก่มณฑลซินเกียงหรือเตอรกสตานตะวันออก, เตอรกีสตาน(บาทีเรียกว่าเตอรกสตานตะวันตก) อาฟฆานิสตานและบางส่วนของเปอร์เชียหรืออิหร่านนั่นเอง บางทีก็ยังรวมเอาบริเวณดินแดนส่วนเหนือของลุ่มแม่น้ำสินธุและบริเวณดินแดนตอนต้นเทือกเขาหิมาลัยเข้าด้วย ภายในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิประเทศเหล่านี้ บางแห่งก็เป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งกันดาร อากาศร้อนจัด ไม่มีผู้คน บางแห่งก็เป็นที่ราบอุดมไปด้วยแม่น้ำลำธาร มีไร่นามีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นเขียวชอุ่ม มีทะเลสาบที่สวยงาม อากาศอบอุ่น บางแห่งก็เต็มไปด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน มีหิมะปกคลุม ประกอบด้วยหินผาที่ชะโงกเงื้อม ตรวยโตรกและหุบเหว ไม่ใคร่มีผู้คนอาศัย เป็นที่ว้าเหว่วิเวก อากาศหนาวจัด บางแห่งก็เป็นทุ่งหญ้าโล่งๆที่เรียกกันว่าทุ่งสะเตปส์ มองดูสุดขอบฟ้า ในทุ่งนี้มีสัตว์กินหญ้าชนิดต่างๆอาศัย บางแห่งก็เป็นป่าดงอุดมไปด้วยสัตว์ร้าย มนุษยชาติที่อาศัยในแถบถิ่นเหล่านี้มีอยู่หลายพวกหลายเผ่าผสมกันแต่พอจำกัดลงได้ว่าเป็นพวกตระกูลมองโกเลีย, ตระกูลอารยัน. มนุษยชาติเหล่านี้ในอดีตเคยเป็นชาติที่รุ่งเรืองด้วยอารยธรรมมาเก่าแก่ และเราควรจะรู้ด้วยว่า ณ อาณาดินแดนอันเรียกว่าอาเชียกลางนี้ เป็นแหล่งชุมนุมถ่ายเทอารยธรรม วัฒนธรรมระหว่างยุโรปกับอาเชีย เคยเป็นเส้นทางเดินค้าขายระหว่างพวกพ่อค้าชาวยุโรปและอาเชียมาแต่สมัยโบราณ และก็เป็นที่ๆพระพุทธศาสนาเคยรุ่งโรจน์โชตนาการ เป็นแหล่งกลางของการขยายตัวของพระพุทธศาสนาที่แผ่เข้าไปในจีน นักธรรมจาริกชาวอาเชียกลางเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางเข้าไปทำงานธรรมทูต มีการแปลพระคัมภีร์ไตรปิฎก ในจีนเป็นเวลาติดต่อกันหลายศตวรรษ และในทำนองเดียวกัน นักธรรมจาริกชาวจีนที่เดินทางเข้ามาถือพระศาสนาในอินเดีย ก็มักผ่านมาดูกิจการพระพุทธศาสนาในดินแดนนี้ และพักอยู่ศึกษาพระธรรมกับภาษาสันสกฤต เพื่อตระเตรียมตนสำหรับการเข้าไปศึกษาต่อในอินเดีย แม้ในปัจจุบันพวกประชากรในอาเชียกลางเป็นอิสลามิก  แทบทั้งหมดก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์และความจริงแสดงแก่เราว่า ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะสรรเสริญนามของพระอ้าหล่า พวกเขาได้เคยสรรเสริญเคารพบูชาพระนามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วก่อน บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคต และปฏิบัติธรรมกันแพร่หลาย แม้ปัจจุบันเราจะเห็นสุเหร่าเป็นอันมากที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่โบสถ์วิหาร และพระสถูปเจดีย์ในอดีตก็ตาม สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนายังคงปรากฏ ในซากโบราณสถานเก่าๆที่ปรักหักพังอันถูกขุดค้นขึ้นมาจากใต้พื้นทราย และถูกค้นพบตามถ้ำเขาโดยพวกนักศึกษาโบราณคดี บางแห่งพวกนักศึกษาโบราณคดีได้ค้นพบพระธรรมไตรปิฎกเป็นหีบๆ และมีพระพุทธรูปเครื่องพุทธสักการะของกษัตริย์ในเพรงกาล ที่เป้นเพชรนิลจินดา ซากของวัดที่ใหญ่โตขนาดจุภิกษุนับจำรนวนพัน และบางครั้งก็ขุดพบจารึกอักษรเก่าๆที่ไม่ปรากฏว่าจะเป็นของชาติใด เพราะยังอ่านกันไม่ออก สุเหร่ากับคัมภีร์โกหร่าน ไม่อาจจะปิดบังกลบลบความจริงที่ว่าแสงสว่างของพุทธธรรม ได้เคยเจิดจ้าในอาเชียกลางนี้แต่ปางหลัง และเป็นหลักฐานยืนยันว่าบรรพชนของชาวอาเชียกลางปัจจุบันนี้ เคยเป็นสาวกของเจ้าชายบางแคว้นหิมาลัยมาก่อนที่จะมาเป็นสาวกของมัคคุเทศก์ของกองคาราวานแห่งทะเลทรายอาหรับ ภาวการณ์ดังนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาในคาบสมุทรมาลัย และหมู่เกาะชวามลายูในอาเชียอาคเนย์ ประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณวัตถุได้บ่งชัดแก่เราว่า ครั้งหนึ่งในอดีตผืนแผ่นดินเหล่านี้เคยอบอวลด้วยกลิ่นไอแห่งความสงบของพระพุทธธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเกาะชวาและสุมาตราเคยเป็นแหล่งกลางของการศึกษาพุทธธรรมที่รุ่งเรืองที่สุด อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นอาณาจักรที่บูชาพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชีวิต ในสุมาตราตลอดเวลาเกือบพันปี ชาวศรีวิชัยนั้นตั้งแต่พระราชาลงมาจนถึงราษฎร ได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปตลอดคาบสมุทรแห่งนี้ แม้ในเกาะเซเลเบส, บอร์เนียว ที่สุดจนกระทั่งถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรายังอาจพบพระพุทธรูปเก่าๆและซากพุทธเจดียสถานในป่าดงทึบ พุทธสถานอันชื่อโบโรบุโดหรือบรมพุทธะในชวาปัจจุบันนี้ อย่างน้อยก็ยังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาเคยครองใจชาวชวามาแล้วอย่างมีอิทธิพลเพียงใด แม้ภายหลังที่อาณาจักรศรีวิชัยจะเสื่อมสูญลงในพุทธศตวรรษที่ 20 ก็ยังปรากฏว่า พระพุทธศาสนายังคงมีอยู่ในคาบสมุทรแห่งนี้ จนกระทั่งถึงเวลาที่พวกอิสลามเข้าเผยแผ่ลัทธิในหมู่เกาะเหล่านี้มากเข้า และปรากฏว่ามีเจ้าครองแคว้นบางองค์ยอมสลัดทิ้งพระพุทธศาสนาเข้ารับนับถือลัทธิใหม่  ผู้นับถือก็เริ่มทำการรุกรานเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทำลายศาสนาเดิมของประชาชน โพธิรัศมีที่เคยรุ่งโรจน์อยู่ ก็ดับวูบเหมือนดาวที่หล่นจากฟ้าฉะนั้น

      การค้นคว้าเรื่องราวพระพุทธศาสนาในอาเชียกลางนี้ เราได้อาศัยจากบันทึกของนักธรรมจาริกจีนและนักประวัติศาสตร์จีนกันทิเบต อาจกล่าวได้ว่า ถ้าปราศจากบันทึกเหล่านี้แล้ว เราก็แทบจะไม่รู้อะไรเสียเลย บันทึกที่มีค่ามากเกี่ยวกับเรื่องนี้คือบันทึกของพระภิกษุฮวบเฮี้ยนและบันทึกของพระภิกษุเฮี่ยงจัง บันทึกของท่านธรรมจาริกทั้งสองรูปนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในอาเชียกลางแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่นำความสว่างแก่นักศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียด้วย บันทึกของพระภิกษุฮวบเฮี้ยนชื่อ "ฮุดก๊กกี่" (บันทึกเรื่องพุทธอาณาจักร) ท่านผู้เขียนได้ออกเดินทางไปพร้อมกับสหายหลายคนเป็นคณะจาริก เริ่มออกเดินทางจากกรุงเชียงอานในปี พ.ศ.924 กลับประเทศจีนในปี พ.ศ.957 รวมเวลา 15 ปี ได้เดินทางผ่าแว่นแคว้นต่างๆในอาเชียกลาง ข้ามที่ราบสุงปารมีร์ผ่านอาฟฆานิสตานแล้ววกเข้าอินเดีย ขากลับลงเรือมาขึ้นที่เกาะลังกา แล้วลงเรือต่อไป ผ่านมาทางคาบสมุทรมลายูไปจีน จดหมายเหตุของท่านมีแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ฉบับแปลครั้งแรกในปี พ.ศ.2379 (ค.ศ.1836) เป็นภาษาฝรั่งเศส ผู้แปลคือ Abel Remusat ให้ชื่อหนังสือเสียยาวยึด ฉบับที่สองเป็นภาษาอังกฤษ แปลโดยหมอสอนศาสนาชื่อ Samuel Beal ให้ชื่อว่า Travels of Fah-Hian and San-Yun. Buddhist. Pilgrims, fram China to India เป็นฉบับแปล ซึ่งนอกจากจะแปลเรื่องท่านฮวบเฮี้ยนแล้ว ยังแปลเรื่องของท่านฮุยเชงกับชงฮุ้นไว้ด้วย ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2412 (ค.ศ.1869) ฉบับที่สามแปลโดยมิสเตอร์ Giles ให้ชื่อว่า Record of the Buddhistic Kingdoms ตีพิมพ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี พ.ศ.2420 (ค.ศ.1877) ฉบับที่สี่ แปลโดยศาสตราจารย์ Legge ให้ชื่อหนังสือว่า  A Record of the Buddhistiv Kingdoms: Being an account of the Chinese Monk Fah-Hian of his travesl in India and Ceylon (A.D. 399-414) in search of the books of Discipline. translated and annotated with a Corean recension of the Chinese text by James Legge พิมพ์ในนามของมหาวิทยาลัยออกซฟอด ในปี พ.ศ.2429 (ค.ศ.188) ในปี พ.ศ.1061 (ค.ศ.518) พระภิกษุฮุยเซงกับทูตชื่อชงฮุ้น ได้รับสั่งพระพันปีหลวงฮู้ไทโหวแห่งราชวงศ์ปักงุ่ย ให้จาริกไปอินเดียถวายพระราชสักการะแก่พุทธปูชนียสถาน ก็ได้ทำบันทึกเอาไว้ แต่น่าเสียดายต้นฉบับสูญหายไป คงเหลือแต่ที่มีกล่าวถึงบ้างในจดหมายเหตุ เรื่องพระอารามแห่งนครลกเอี๋ยงเท่านั้น ท่านทั้ง 2 คนได้เดินทางผ่าเตอรกีสตานแล้วผ่านอาณาเขตอิหร่านเข้าแคว้นคันธาระไปพำนักที่แคว้นอุทยาน 2 ปี ในปี พ.ศ.1065 (ค.ศ.522) เดินทางกลับ จดหมายเหตุฉบับต่อมา ได้แก่จดหมายเหตุการเดินทางพระภิกษุเฮี่ยงจัง หรือพระถังซัมจั๋ง พระเฮี่ยงจังออกเดินทางจากนครเชียงอาน ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าถังไทจงมหาราช ศักราชเจ็งกวนปีที่ 3

      พ.ศ. 1172 (ค.ศ.629) เพื่อไปศึกษาอัญเชิญพระธรรมคัมภีร์ที่ขาดแคลนในเมืองจีนเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคัมภีร์โดยคาจารภูมิศาสตร์ ท่านเดินทางออกจากด่านเง็กมิงกวน ข้ามทะเลทรายมกฮ่อเอี๋ยง ผ่านเมืองอีอู๊ (ฮามิ อยู่ในซินเกียง) ผ่านแคว้นเกาเชียง (ตรูฟาน trufan) แล้วผ่านแคว้น การาชาร์ Karashar แคว้นคุจะ Kucha ข้ามเทือกภูเขาเทียนซาน ผ่านทะเลสาบอิสสิกุลแล้วผ่านเตอรกีสตาน ผ่านแคว้นต่างๆมีแคว้นสะมารกันต์เป็นต้น เข้าอาฟฆานิสตานสู่อินเดีย ท่องเที่ยวศึกษาพระธรรมวินัยและสักการะพุทธปูชนียสถานอยู่ในอินเดีย จนถึงปี พ.ศ.1188 (ค.ศ.645) จึงกลับคืนนครเชียงอาน ขากลับๆทางบกเดินทางข้ามที่ราบสูงปาร์มีร์ มาทางอาเชียกลางเหมือนกัน แต่ไม่วกเดินอ้อมอย่างขาไป ท่านได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางของท่านไว้ให้ชื่อว่า "ไต้ถังโซฮกกี่" (บันทึกเรื่องประเทศตะวันตกสมัยมหาราชวงศ์ถัง) เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างสูงล้ำ ไม่มีหนังสือใดในจำพวกเดียวกันจะเทียมเท่าได้ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักศาสนาที่เกี่ยวกับอินเดียและอาเชียกลาง ได้รับความรู้และประโยชน์จากหนังสือของท่านมาก มีฉบับแปลเป็นภาษาต่างประเทศเท่าที่รู้คือ Stanislas Julien แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 2 เล่ม เล่มแรกพิมพ์ออกในปี พ.ศ.2400 (ค.ศ.1875) เล่มแรกมีรูปแผนที่อาเชียกลาง 1 แผ่น เล่มที่สองมีรูปแผนที่อินเดียโบราณและรูปแผนที่อาเชียกลาง ส่วนฉบับภาษาอังกฤษแปลโดย Samuel Beal ให้ชื่อว่า Sicyuki Buddhist Record of the western world series พิมพ์ออกในปี พ.ศ.2428 (ค.ศ.1885) ที่ลอนดอน ในปี พ.ศ.2449 (ค.ศ.1906) ได้พิมพ์ใหม่ นอกนี้ยังมีบันทึกของพระภิกษุฮุ้ยลิบศิษย์ของท่านเฮี่ยงจัง ที่อุตสาห์บันทึกการเดินทางของพระอาจารย์ไว้ ตามที่ตนได้ยินได้ฟังมา ให้ชื่อว่า "ไต้ถังได้ซืออึงยี่ซัมจั๋งฮวยซือตึ่ง" (ประวัติท่านปิฎกธราจารย์แห่งวัดมหาการุณคุณาราม สมัยราชวงศ์ถัง) เป็นหนังสือที่ทรงค่า มีข้อความหลายแห่งที่ในบันทึกของเดิมไม่มี หรือบันทึกของเดิมมีในที่นี้ไม่มี แต่จัดว่าเป็นหนังสือเล่าถึงอัตชีวประวัติของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ที่มีคุนูปการต่อพระพุทธศาสนามากด้วยความเคารพอย่างสูง ซึ่งฉบับแปลในภาษาไทย นายเคงเหลียน สีบุญเรือง ได้แปลออกและตีพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพนายเคงเหลียนเองเมื่อปี พ.ศ.2484แปลได้อรรถรสดีถึงขนาดในภาษไทย ต้นฉบับใช้ภาษาจีนวรรณคดีโบราณที่ยากที่สุด ผู้แปลได้อาศัยฉบับอังกฤษและจีนประกอบ น่าชมเชยความวิริยะอุตสาหะของผู้แปลมาก ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส แปลโดย Stanislas Julien พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2396 ส่วนฉบับอังกฤษ แปลโดย Samuel Beal ให้ชื่อว่า Life of Hiuen Tsiang ในปี พ.ศ.1214 (ค.ศ.671) แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้ มีพระภิกษุงี่เจ๋ง (หรืออี้จิง) จาริกไปศึกษาพระธรรมวินัยในอินเดีย โดยลงเรือที่กวางตุ้งผ้านคาบสมุทรมลายูไปขึ้นที่เมืองท่าตามรลิปติที่อินเดีย กลับคืนมาตุภูมิเมื่อ พ.ศ.1237 (ค.ศ.194) ในแผ่นดินพระนางบูเช็กเทียนฮ่องเต้ นับเวลาที่อยู่นอกประเทศได้ 25 ปี ผ่านแว่นแคว้นต่างๆ กว่า30 ประเทศ ท่านได้บันทึกเรื่องราวการจาริกของท่านไว้ชื่อว่า "น่ำไฮ้เกี้ยกุยไล่ฮวบตึ่ง" เป็นหนังสือ 4 ผูก มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ในปี พ.ศ.2437 (ค.ศ.1896) โดยมหาวิทยลัยออกซฟอดชื่อยึดยาวว่า A record of the Buddhist Religion as practised in India and the malay Archipelraga ผู้แปลเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อศาสตราจารย์ตากากุสุ ผู้เป็นนักปารชณ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงขนบประเพณี และการปฏิบัติวินัยปัญญัติของประชาชนกับสังฆมณฑลในประเทศต่างๆที่ท่านงี่เจ๋งผ่านเสียมาก เกี่ยวกับเรื่องราวของอาเชียกลางแทบไม่มีพูดถึงเลยเห็นจะเป็นเพราะท่านไปทางทะเลนั่นเอง แต่กลับได้ประโยชน์ที่ทำให้รู้เรื่องราวของประเทศโบราณต่างๆในคาบสมุทรมลายู และรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในยุคนั้นได้ดีแจ่มแจ้ง พระภิกษุงี่เจ๋งยังเขียนประวิตของนักธรรมจาริกที่อยู่ในสมัยใกล้เคียงกับท่านอีกราว 50 คนเศษ ให้ชื่อว่า "คิ่วฮวบเกาเจงตึ่ง" แปลว่า "ประวัติการศึกษาธรรมของภิกษุชั้นสูง" เป็นหนังสือ 2 ผูก มีฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Edouard Chavannes พิมพ์ที่ปารีสในปี พ.ศ.2437 (ค.ศ.1894) หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ในทางทราบถึงประวัติศาสตร์ ตลอดจนภาวะของพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยนั้นและมีประโยชน์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาเชียกลางบ้าง ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 พระภิกษุฮุ้ยเที่ยวจาริกไปอินเดียหลายปี ขากลับได้ผ่านแคว้น กาษคาร์ Kashgar, แคว้น คุจะ, และแคว้น การาชาร์ กลับมาถึงเขตประเทศจีนในพ.ศ.1270 (ค.ศ.727) ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าถังเฮี่ยงจงศักราชไตหวนปีที่ 15 เดือน 11 พระภิกษุฮุ้ยเทียวได้บันทึกการจาริกของท่านไว้ให้ชื่อว่า "อวงโง่วเทียนเทียนเต็กก๊กตึ่ง" แปลว่า "ประวัติการเดินทางไปสู่อินเดียทั้ง 5 เป็นหนังสือ 3 ผูก ต้นฉบับหายสูญไปนาน เคราะห์ดีที่ได้ค้นพบฉบับที่ขาดเหลือ แต่ไม่สมบูรณ์ ในถ้ำที่มณฑลกานซู ปราชญ์ญี่ปุ่นผู้หนึ่งได้เขียนคำอรรถาธิบายไว้ ตีพิมพ์ออกแพร่หลายในบรรณโลก นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องอาเชียกลางมาก ถัดจากพระภิกษุฮุ้ยเทียวก็มีพระภิกษุง่อคง ง่อคงเดิมเมื่อยังไม่อุปสมบท ได้ติดตามทูตจีนผู้ได้รับรับสั่งจากพระเจ้าถังเฮี่ยงจงให้ไปกับคณะทูตของแคว้นกปิศะ Kapica ง่อคงได้เดินทางผ่านประเทศต่างๆในอาเชียกลาง เริ่มออกเดินทางในปี พ.ศ. 1294 (ค.ศ.751) ถึงแค้วนคันธาระในปี พ.ศ.1296 (ค.ศ. 753) ที่นี้ง่อคงเกิดเจ็บไข้ขึ้น ไม่สามารถจะเดินทางกลับไปพร้อมกับทูตได้ จึงถวายตนออกอุปสมบทเป็นภิกษุได้ฉายาว่าธรมธาตุ ระหว่างนั้นพระภิกษุง่อคงได้จาริกไปมา ระหว่างคันธาระกับแคว้นกาษมีระ ต่อมาได้เดินทางไปสู่อินเดียภาคกลางแล้วกลับประเทศจีน ในปี พ.ศ.1333 (ค.ศ.790) แผ่นดินพระเจ้าถังเต็กจงฮ่องเต้ รวมเวลาตอนกลับง่อคงมีอายุกว่า 60 ปี บันทึกรายงานการท่องเที่ยวของท่าน เราจะพบได้ในอารัมภบทของทศพลสูตร (จับลั่กเก็ง) บันทึกของง่อคงมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแคว้นกาษมีระ มีฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และฉบับพร้อมทั้งบันทึกM.A. Stein ชาวอังกฤษ

      ในสมัยราชวงศ์ซ้อง แผ่นดินพระเจ้าซ้องไทโจ๊วฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์ มีพระภิกษุกีเงี้ยบนำ บริวารราว 300 คนเดินทางไปอินเดียในปี พ.ศ.1509 (ค.ศ.966) ผ่านประเทศต่างๆในอาเชียกลาง เข้าสู่อินเดียทางแคว้นกาษมีระ แล้วท่องเที่ยวบูชาพุทธปูชนียสถานต่างๆในอินเดียไปจนถึงประเทศเนปาล กลับประเทศจีนในปี พ.ศ.1519 (ค.ศ.976) รวมเวลา 10 ปี พอดี บันทึกการเดินทางของท่านไม่ละเอียด เรื่องราวก็สั้น มีชาวฝรั่งผู้หนึ่งชื่อ Huber ได้เขียนเรื่องราวของท่านไว้ในวารสารประจำวิทยาลัยตะวันออกไกลแห่งฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2445 (ค.ศ.1902) เล่มที่ 2 ตั้งแต่หน้า 256 ถึงหน้า 259 นอกนั้นก็เป็นเรื่องอัตชีวประวัติของพระเถระต่างๆของจีนสมัยโบราณ ที่เรียกว่า "เกาเจ็งตึ่ง" ซึ่งบางท่านก็เป็นชาวอินเดีย บางท่านก็เป็นชาวอาเชียกลางที่เดินทางมาทำงานธรรมทูตในประเทศจีน

      ส่วนการค้นคว้าของคนปัจจุบันนั้น ก็มีทั้งนักโบราณคดี , นักประวัติศาสตร์ชาวยุโรปหลายชาติ อาทิ ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน,รัสเซีย และชาวตะวันออกมี อินเดีย ,ญี่ปุ่น, จีน ซึ่งได้ไปทำการขุดค้นกันหลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เมื่อขุดพบหลักฐานอะไรก็ทำรายงานหรือเรียบเรียงเป็นเรื่องราวเสนอต่อบรรณโลก เราจึงได้ทราบเรื่องราวอะไรๆอีกมากขึ้น

ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างจีนกับอาเชียกลาง

      ได้กล่าวแล้วว่า การที่จีนได้เปิดการติดต่อกับอาเชียกลางนั้น สิ่งที่มีประโยชน์ต่อจีนอย่างใหญ่หลวงก็คือรัศมีของพระพุทธศาสนาได้ฉายแผ่เข้าไปถึงเมืองจีน โดยพระสงฆ์ของชาวอาเชียกลางนำเข้าไป มีคนเป็นจำนวนมากที่เข้าใจว่า จีนได้รับพระพุทธศาสนาโดยตรงจากอินเดีย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกแต่เพียงครึ่งเดียว จากผลของการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ เราทราบได้ว่า พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในจีนครั้งแรกมาจากอาเชียกลาง แม้ในประวัติที่คนส่วนมากทราบกันว่าพระเจ้าฮั่นเม่งเต้ทรงสุบินเห็นพระพุทธรูปทองคำ แล้วโปรดให้ราชทูตเดินทางไปอินเดียอัญเชิญพระพุทธศาสนามานั้น ท่านศาสตราจารย์เหลียงฉีเชาได้กล่าวว่าความจริงหาใช่อินเดียไม่ ราชทูตจีนมาถึงประเทศบากเตรีย และได้รับพระพุทธศาสนาจากบากเตรียนี้เอง ท่านกล่าวว่าบางทีอย่างมากก็เพียงแค่แคว้นคันธาระหรือกาษมีระส่วนหนึ่งเท่านั้น ศาสตราจารย์เหลียงฉีเชาได้แบ่งยุคการรับพระพุทธศาสนาของจีนจากต่างประเทศไว้เป็น 3 ยุค คือ

     1 ยุคตังฮั่นถึงสมัยสามก๊ก ระยะเวลานี้ส่วนมากจีนได้รับพระพุทธศาสนาที่แพร่จากอาเชียกลาง เช่น จากบากเตรีย,ปาร์เธีย,ดังกือหรือซอกเดียน

      2 ยุคตังจิ้นและไซจิ้น ระยะนี้เป็นพระพุทธศาสนาที่แพร่จากกาษมีระ,คุจะ,คันธาระ

      3 ยุคซุยและยุคถัง ระยะนี้เป็นพระพุทธศาสนาที่แพร่มาจากอินเดียภาคใต้ภาคกลางโดยตรง และจากประเทศในทะเลใต้

       การแบ่งยุคตามลักษณะนี้ ศาสตราจารย์เหลี่ยงฉีเชาถือเอาชาติภูมิธรรมทูตที่เข้าไปทำงานในเมืองจีนเป็นหลักเกณฑ์ เช่นในยุคแรกธรรมทูตส่วนมากมาจากประเทศต่างๆ ในอาเชียกลางที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมีอยู่ราว 12 คน อาทิเช่นพระภิกษุอันสิเกาชาวปารเธีย เป็นต้น ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวกับการงานของท่านจะกล่าวในบทที่กล่าวถึงประเทศเหล่านี้ เมื่อมาถึงยุคที่ 2 ธรรมทูตที่สำคัญท่านกุมารชีพซึ่งเป็นชาวประเทศคุจะ เกียรติคุณของท่านกุมารชีพโด่งดังจนได้รับยกย่องว่าเป็น "ติปิฎกธราจารย์" เป็นที่นับถือของพวกชาติภาคต่างๆในอาเชียกลางยิ่งนัก จนพระเจ้าฮู้เกียนซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อชาติฮั่นพวกหนึ่งปกครองจีนเหนือทราบกิตติศัพท์เข้า ก็อยากจะเป็นเจ้าของช้างเผือกเสียเอง ประกอบกับถือเป็นโอกาสแผ่กฤษดาภินิหารด้วย จึงกรีธาทัพจำนวน 7 หมื่นคนอ้างว่าจะมารับท่านกุมารชีพไปเมืองจีน บุกเข้าอาเชียกลางทัพจีนตีได้ประเทศเชียซือ อูชี คุจะ ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกับพระเจ้าอนิรุทธ์ของพม่า ที่อ้างว่าต้องการพระไตรปิฎก แล้วยกทัพเข้าตีมอญ และอ้างว่าต้องการพระสารีริกธาตุมาไว้บูชา แล้วยกทัพเข้าตีไทยน่านเจ้า หรือแบบพระเจ้าบุเรงนอง ที่อ้างว่าต้องการช้างเผือกไทย แล้วยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาฉะนั้น เป็นอันสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาที่แพร่หลายเข้าไปในจีนนั้น สมัยต้นๆล้วนเป็นการกระทำของท่านธรรมทูตชาวอาเชียกลางเป็นส่วนมาก แล้วต่อมาก็เป็นชาวอินเดียชาวอินโดจีนและลังกา

ที่มาของพระพุทธศาสนาในอาเชียกลาง

     มีเหตุผลยืนยันได้ว่า มูลเหตุที่พระพุทธศาสนาจะได้เป็นศาสนาประจำใจของพี่น้องชาติต่างๆในอาเชียกลางนั้น เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งธรรมทูตหลายคณะออกจาริกแพร่พุทธธรรมไปแทบทุกสารทิศ และในจำนวนคณะธรรมทูตเหล่านั้น มีอยู่คณะหนึ่งซึ่งมีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้า ได้เดินทางเข้าไปในแคว้นกาษมีระกับคันธาระ กับอีกคณะหนึ่งอันมีพระมหารักขิตเถระเป็นหัวหน้า เดินทางเข้าไปในโยนกโลก คำว่าโยนกหรือยวนะนั้น หมายถึงดินแดนต่างๆที่อยู่แถบเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกกรีก (ซึ่งพวกแม่ทัพนายกองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตั้งตัวเป็นราชาปกครองอยู่) และเป็นคำเรียกพวกกรีกด้วย พูดง่ายๆก็คือพวกรีกที่อยุ่แถวอาฟฆานิสตาน เปอร์เซียและอาเชียกลาง นับว่าเป็นฝรั่งชาติแรกในโลกที่เริ่มรู้จักพระพุทธศาสนา ผลงานธรรมทูตของท่านมหารักขิต ก็คือพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้าไปในอาเชียกลางภาคตะวันตกจนเลยเข้าไปถึงอาฟริกาและยุโรป ส่วนผลงานของท่านมัชฌันติกะนั้นอยู่ข้างพิสดาร คือปรากฏว่าท่านไปแสดงธรรมโปรดพวกนาค ก่อนจะทำให้พวกนาคเลื่อมใส ต้องใช้อิทธิปาฏิหาริย์ปราบพยศของพญาอาฬรนาคราชเสียก่อน แล้วจึงใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์เทศนาอาสีวิสูปมสูตร จนพวกนาคตลอดจนพวกยักษ์คนธรรพ์อื่นๆ อีกเกิดความเลื่อมใสตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ บ้างก็ออกบรรพชาอุปสมบท พระพุทธศาสนาจึงตั้งหลักอยู่ในกาษมีระกับคันธาระนับแต่กาลบัดนั้น ในที่นี้พวกนาคกับพวกยักษ์คนธรรพ์เหล่านี้ อย่าเข้าใจว่าเป็นเทพนิยายเสียหมด ความจริงเป็นพวกชนเผ่าป่าเข้าหรือเผ่าอื่นที่ไม่ใช่อารยันๆ จึงเรียกเหยียดว่า ยักษ์นาคไปตามเรื่อง เข้าใจว่าจะมีพวกผิวเหลืองอยู่เสียด้วยซ้ำ พระพุทธศาสนาในแคว้นทั้งสองนี้ตกยุคพวกง้วยสีเข้ามาครอบครอง ก็รุ่งเรืองแพร่หลายออกไปในอาเชียกลางมากขึ้น โดยเฉพาะทางภาคอาเชียตะวันออก พระเจ้ากนิษกมหาราชของพวกง้วยสี ก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทำพระองค์แบบพระเจ้าอโศกมหาราช คงได้ส่งธรรมทูตออกแพร่พุทธธรรมไปในแดนดินต่างๆ และเข้าไปถึงเมืองจีน ฉะนั้นในพุทธศตวรรษที่ 7 จึงปรากฏว่า มีธรรมทูตเดินทางจากบากเตรีย, ปาร์เธีย,ดังกือ มาแพร่พุทธธรรมทางอาเชียตะวันออกกันไม่ขาด ในพุทธศตวรรษที่ 9 กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาในซินเกียง, เตอรกีสตาน, อาฟฆานิสตาน และภาคเหนือของเปอร์เซียบรรลุถึงยุครุ่งโรจน์ที่สุด พุทธวิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนพระสถูปเจดีย์ มีอยู่ที่วทุกหนแห่งในดินแดนอันไพศาลนี้เข้าลักษณะคำพรรณนาถึงความเจริญของพระพุทธศาสนาของนายนรินทร์ธิเบศว่า "เรืองๆไตรรัตน์พ้น พันแสง" และ "เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด" ทุกประการ พระพุทธศาสนาที่นับถือกันในอาเชียกลางนี้ มีทั้งฝ่ายนิกายมหายานและฝ่ายนิกายสาวกยานหรือเถรวาท

      ทั้งสองนิกายนั้น ฝ่ายหลังมีอิทธิพลมากกว่า เพราะได้อาศัยแคว้นกาษมีระซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายนี้เป็นกำลัง และพระเจ้ากนิษกมหาราชเอง ก็ทรงเสื่อมใสในนิกายนี้ แต่ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจว่านิกายสาวกยานที่นับถือกันในแคว้นกาษมีระและในอาเชียกลางนั้นเป็นแบบเดียวกับที่พวกเราชาวไทย, พม่า ,ลังกา นับถือกัน ความจริงเป็นอีกนิกายหนึ่งต่างหากที่แยกออกไปจากนิกายสาวกยาน เรียกว่า "นิกายสรวาสติวาท" ในภาษาสันสกฤตหรือสัพพัตถิกวาทในภาษาบาลี แต่ก็คงยอมรวมตัวอยู่ในฝ่ายสาวกยาน ไม่ออกไปประกาศตั้งตัวใหม่อย่างพวกมหายาน เรื่องราวของนิกายนี้มีอย่างไร ก็โปรดดูในหนังสือว่าด้วยเรื่องประวัติปรัชญาของมหายานที่ผู้เขียนแต่งเถิด และพระพุทธศาสนาในนิกายนี้ได้ไปแพร่หลายอยู่ในจีนพักหนึ่ง ถ้าจะให้กำหนดว่าประเทศไหนนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายไหนแล้ว ก็กำหนดได้อย่างหยาบๆว่า ประเทศโขตานและจือฮะ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญมาก (นิกายอื่นก็มีแต่เจริญน้อย) แคว้นกาษมีระและคันธาระและแคว้นเล็กๆทางตะวันออก พระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานนิกายสรวาสติวาทเจริญมาก ที่ว่ากำหนดได้อย่างหยาบๆนั้น ก็เพราะในประเทศหนึ่งๆมีพระพุทธศาสนาอยู่ด้วยทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายมหายานเป็นฝ่ายเข้ามาทีหลัง และเมื่อมหายานแพร่เข้ามาแล้ว รัศมีของฝ่ายสาวกยานก็อับแสงลง แล้วมหายานก็รุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ เป็นดังนี้แทบทุกประเทศ

สายการคมนาคมระหว่างจีน - อาเชียกลาง

      สายคมนาคมระหว่างจีนและอาเชียกลางนั้น นับแต่เบื้องบุราณกาลมีอยู่สองสายด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันพวกพ่อค้ากองคาราวานก็ยังนิยมใช้กันอยู่ ทางคมนาคมสองสายนี้แบ่งเป็นถนนสายเหนือกับถนนสายใต้ อยู่ภายในมณฑลซินเกียงในปัจจุบัน ถนนทั้งสองสายเป็นที่นิยมใช้เดินกันในยุคบุราณกาลครั้งกระโน้น และบัดนี้ปรากฏว่า มีกองคาราวานไปมาค้าขายกันอยู่เสมอถนนสายใต้ได้ยินว่ามีผู้นิยมใช้น้อยกว่าถนนสายเหนือ ถ้าตั้งต้นออกเดินทางจากเมืองตุ้นฮวง(มณฑลกานซู) แล้วผ่านอาณาจักรเสี่ยงเสียง(Lop-Nor) แล้วเดินไปตามแนวเทือกภูเขานานชาน ผ่านอาณาจักรโขตาน แล้วเดินวกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็จะถึงอาณาจักรยารกานต์ ถนนสายนี้เป็นสายใต้ จากถนนสายนี้เดินมุ่งไปทางตะวันตก ข้ามที่ราบสุงปารมีร์และภูเขาชังเนี้ย แล้วผ่านไปตามแนวภูเขา Bahaksan ก็จะถึงลุ่มแม่น้ำอมูดาเรีย แล้วก็บรรลุถึงอาณาจักรตุขาราของพวกง้วยสีกับอาณาจักรปาร์เธีย เป็นต้น ซ่งฮุ้นกับฮุ่นเซงได้เดินตามถนนสายนี้ไปอินเดีย พระภิกษุเฮี่ยงจังตอนขากลับก็กลับประเทศจีนทางนี้ ส่วนถนนสายเหนือนั้นต้องผ่านอาณาจักรฮามิ(อีอู๊) อาณาจักรตูรฟาน, อาณาจักรคุจะ บรรลุถึงอาณาจักรกาษคาร์ แล้วตั้งต้นที่อาณาจักรกาษคาร์ เดินทางข้าภูเขาชังเนี้ยที่ราบสุงปารมีร์ ก็จะถึงอาณาจักร Feaghana อาณาจักรซอกเดียนหรือคังกือ ถ้าวกลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกภูเขาชังเนี้ย ก็เป็นแคว้นกาษมีระแล้วเข้าอินเดีย ถัดแคว้นกาษมีระไปทางตะวันตก  ก็คืออาฟฆานิสตานหรือคันธาระ ถัดไปอีกเป็นอาณาจักรปาร์เธีย, อาณาจักสิเรีย Syria ซึ่งอิทธิพลของโรมันเคยแผ่มาถึง ถนนสายเหนือนี้นักจาริกนิยมเดินกันมากกว่าสายใต้ อนึ่ง ยังมีทางอีกสายหนึ่งที่พาดระหว่างถนนสายเหนือกับสายใต้ ผ่านแผ่นดินแถบลุ่มแม่น้ำโขตานกับลุ่มแม่น้ำตาริม พระภิกษุฮวบเฮี้ยงเวลาไปอินเดียได้จาริกผ่าน คือตั้งต้นจากเมืองตุ้นฮวง ผ่านอาณาจักรเสี่ยงเสียง แล้วเดินเลียบไปตามลำน้ำตาริมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 15 วัน ก็บรรลุถึงอาณาจักรการาชาร์ แล้วเดินมาตะวันตกเฉียงใต้ไปตามลุ่มน้ำโขตานอยู่เป็นเวลา 1 เดือนกับ 5 วัน ก็บรรลุถึงอาณาจักรโขตานในกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ภิกษุง่อคงตอนขากลับจากอินเดียก็ได้เดินไปตามทางนี้ ต่อมาในราวพุทธศก 1184 (ค.ศ.641) พระเจ้ากรุงทิเบตทรงพระนามว่าสรองตะสันคัมโป ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงบุ้นเช้งกงจู้แห่งราชวงศ์ถัง  เป็นเหตุให้นักจาริกจีนและอินเดียเข้าออกทิเบต ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันได้สะดวก นักจาริกจีนหลายคนได้เดินผ่านทิเบตแล้วเข้าอินเดียทางประเทศเนปาล ต่อมาอีกหน่อยสายคมนาคมทางทะเลก็เจริญขึ้น ประดาพ่อค้าวานิชตลอดจนนักธรรมจาริกทั้งแขกและจีนต่างนิยมมาทางเรือกันมาก เพราะสะดวกสบายกว่าไปทางบก ตลาดท่าเรือในเมืองจีนก็คือกวางตุ้ง ในอินเดียก็ได้แก่เมืองตารลิปติ (อยู่ถัดกัลกัตตามาทางตะวันออกเฉียงใต้) เรือจะต้องแล่นข้ามมหาสมุทรอินเดีย แล้วผ่านคาบสมุทรมลายูตัดวกขึ้นไปในทางเมืองญวนเข้าท่าเมืองกวางตุ้ง อันตรายในทางทะเลนอกจากมรสุมกับโจรสลัดบ้างแล้ว ก็ไม่มีอะไรปลอดภัยกว่าไปทางบกที่ต้องเดินข้ามทะเลทรายปีนป่ายภูเขาหิมะ ดีไม่ดีก็พลัดตกเหวและเหน็บชากินตาย ระยะเวลาทางทะเลก็เร็วกว่าทางบก พระภิกษุงี่เจ๋งไปอินเดียทั้งขาไปและกลับท่านเลือกเอาทางทะเลส่วนพระภิกษุฮวบเฮี้ยนขากลับก็กลับทางทะเลเหมือนกัน พระภิกษุเฮี่ยงจังเองเมื่อปรารถนาจะเดินทางกับมาตุภูมิ พระเจ้าหรรษวรรธนะหรือพระเจ้าศีลาทิตย์ ก็ทรงแนะนำให้กลับไปโดยทางทะเล แต่พระภิกษุเฮี่ยงจังแสดงเจตจำนงว่าต้องการไปทางบก

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรชาติง้วยสี

      ชนชาติง้วยสีเดิมมีภูมิลำเนาอยู่แถบภูเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ปัจจุบันได้แก่แถบจังหวัดอัน"ซกานจิวในมณฑลกานซู ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 (ก่อนค.ศ.165 )ถูกพวกสงหนูรุกราน ราชาของพวกง้วยสีถูกจับสำเร็จโทษ พวกง้วยสีจึงอพยพหนีภัยมาทางลุ่มแม่น้ำอิลิแย่งชิงที่ดินของเผ่าสกะ แล้วเข้าครอบครองดินแดนแถบนั้น ต่อมาพวกง้วยสีทำสงครามแพ้พวกอูซุน ก็ยกพวกอพยกเคลื่อนย้ายมาทางลุ่มแม่น้ำอมูดาเรียในเตอรกีสตานเข้ายึดเอาอาณาจักรบากเตรียของพวกกรีก สถาปนามหาอาณาจักรง้วยสีขึ้น เหตุการณ์ในระยะนั้นเกิดขึ้นในราวพุทธศก 300 ปีเศษ และก็เป็นเวลาที่ราชทูตของจีนชื่อเตียเคียง เดินทางมาเจรจาร่วมรบกับพวกง้วยสี เพื่อต่อสู้กับพวกสงหนู แต่พวกง้วยสีไม่เล่นด้วย เพราะสถานที่ใหม่ที่พวกตนอมาอยู่นั้น อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ พวกง้วยสีเห็นว่าตั้งหน้าประกอบทำมาหากิน ใช้ทรัพย์แผ่นดินให้เป็นประโยชน์บำรุงความสุขดีกว่าจะไปรบแก้แค้นศัตรูเก่าให้เปลืองกำลังทำไม แผนการของจีนจึงไม่ผลิตผล ในที่นี้ขอแทรกอธิบายเรื่องอาณาจักรบากเตรียสักหน่อย อาณาจักรนี้จีนเรียกว่า ไต้แฮ่ ตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำอมูดาเรีย อันว่าดินแดนนี้แต่ดั้งเดิมที่เคยเป็นที่ชุมนุมของพวยกอริยกะที่อพยพเข้ามาในอินเดียกับเปอร์เซียหรืออิหร่าน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและจุดศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งของการติดต่อระหว่างชนชาติต่างๆ ในอาเชียกลางแต่เบื้องโบราณ เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กรีธาทัพมาตีอินเดีย  ได้ผ่านมาทางแผ่นดินแถบนี้ด้วย และทรงแบ่งอาณาเขตแต่งตั้งให้พวกข้าหลวงต่างพระองค์เข้าปกครองคนละแห่ง มีอาณาจักรบากเตรียเป็นจุดรวม เพราะฉะนั้นดินแดนในเตอรกีสตานข้างฝ่ายใต้ กับอาฟฆานิสตานทั้งหมด ดินแดนอินเดีย อิหร่าน ข้างฝ่ายเหนือจึงกลายเป็นอาณาจักรของฝรั่งชาติกรีก ซึ่งความจริงปรากฏว่าประชาชนในดินแดนนั้นๆ มิได้เป็นกรีกทั้งหมด แต่ก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งครอบงำอยู่ทั่ว ต่อมาพวกข้าหลวงกรีกที่ปกครองรัฐต่างๆได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นเอง และยกพวกรบพุ่งแย่งชิงรัฐเดียวกันกับพวกอื่นๆเป็นที่ยุ่งเหยิง อาณาจักรบากเตรียกลายเป็นชิ้นเนื้อที่ใครๆก็ต้องการ ท่านว่าเพราะความที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสมบูรณ์พูนสุขของบากเตรีย ทำให้ประชาชนเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น เป็นเหตุนี่เอง พวกรัฐกรีกมีอยู่ราว 6-7  รัฐ ต่างฆ่ากันไปฟังกันมาในพวกเดียวกัน หนักเข้าก็เพลียลง ปล่อยโอกาสให้ชนชาติอื่นคือชาติง้วยสีเข้ามาฮุบเอาชิ้นเนื้อไปกินอย่างสาย เมื่อพวกง้วยสีเข้ามาอยู่ในบากเตรียได้รับวัฒนธรรมกรีกผสมอินเดียอย่างเต็มที่ และก่อนหน้าเล็กน้อยพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าไปในบากเตรียแล้ว เมื่อพวกง้วยสีเข้ามาพิจารณาเห็นความล้ำเลิศของพระพุทธศาสนา จึงรับเอาพระพุทธศาสนาเข้าไว้เป็นศาสนาประจำชาติของตน ในจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่น กล่าวถึงสภาพของอาณาจักรง้วยสีในยุคที่เข้ามาครอบครองบากเตรียใหม่ๆว่า "พระราชาแห่งง้วยสีทรงปกครองเมืองนั่มสี ระยะทางไกลจากรุงเชียงอาน 1 หมื่น 1 พัน 6 ร้อยลี้ มีบ้านแสนหลังคาเรือน ทหารแสนคน" เมื่อพวกง้วยสีอพยพเข้ามาอยู่ในบากเตรียแล้ว พระราชาของพวกง้วยสีจึงแบ่งดินแดนที่ตีได้ออกเป็น 5 รัฐ แต่งตั้งข้าหลวงต่างพระองค์ไปดูแล ต่อมาพวกรัฐทั้ง 5 ต่างกลายเป็นอิสรรัฐ

วงศ์กุษาน

      ลุพุทธศตวรรษที่ 4 มีรัฐๆหนึ่งชื่อรัฐกุษาน เจ้าผู้ครองรัฐชื่อพระเจ้ากนิษกะ ได้ยกเศวตฉัตรสถาปนาราชวงศ์กุษานขึ้น พระเจ้ากนิษกะพระองค์นี้ ท่านผู้อ่านอย่าไปปนกับพระเจ้ากนิษกะองค์ที่ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาเป็นอันขาด เพราะเป็นคนละองค์ แต่มีพระนามเหมือนกันเท่านั้น พระเจ้ากนิษกะองค์นี้เป็นปฐมกษัตราธิราชของวงศ์กุษาน ปัญหาเรื่องมีพระเจ้ากนิษกะสองพระองค์นี้ นักปราชญ์ประวัติศาสตร์ทางฝ่ายตะวันออกและตะวันตกถกเถียงกันมาก แต่ในที่สุดเสียงข้างมากยืนยันว่ามีสององค์แน่ๆ และพวกนี้ไปหาหลักฐานมายืนยันกันได้มาก ก็เลยเป็นอันรับว่ามีอยู่สองพระองค์ พระเจ้ากนิษกะองค์ที่หนึ่งขึ้นเสวยราชย์ก่อน ค.ศ.58 ปี อยู่ในราชสมบัติ 28 ปี ส่วนชื่อเสียงที่ฟังดูเป็นอินเดียนั้นได้กล่าวแล้วว่า พวกง้วยสีรับเอาอารยธรรมของกรีกผสมอินเดียเข้ามาไว้จนเต็มที่ จนมีคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า มหาราชาหรือราชาธิราชะอย่างในอินเดีย พระเจ้ากนิษกะองค์ที่หนึ่งได้แผ่พระราชอำนาจเข้ามาในแคว้นคันธาระและแคว้นกาษมีระ ตลอดลงไปถึงดินแดนปัญจาปและลุ่มแม่น้ำสินธุและยมุนา  ได้แคว้นมถุราไว้ในอำนาจ แต่เดิมทีพระเจ้ากนิษกะองค์นี้นับถือบูชาศาสนาพระเป็นเจ้าอย่างพวกฝรั่ง แต่ต่อมาเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว ก็กลับพระทัยมานับถือพระพุทธศาสนา ด้วยเห็นความดีงามกอปรด้วยเหตุผลในพุทธธรรมประเสริฐกว่าศาสนาฝรั่ง หลักฐานอันนี้เราจะเห็นได้จากเหรียญตราในรัชสมัยของพระองค์ ที่นักโบราณคดีขุดค้นพบเหรียญตราที่สร้างตอนสมัยต้นๆ มักแกะรูปพระเจ้า และมีหนังสือกรีก อิหร่าน แต่เหรียญตราที่สร้างตอนหลัง สลักพระพุทธรูปขึ้นแทน อนึ่ง สันนิษฐานว่า พระเจ้ากนิษกะคงได้กำราบเอารัฐอิสระอีก 4 รัฐ ไว้ในปกครองด้วย.

      พระสถูปอันสวยงามที่พระภิกษุฮวบเฮี้ยนไปพบในเมืองปุรุษปุระนั้น เป็นของพระราชาองค์นี้สร้างขึ้น ภิกษุฮวบเฮี้ยนกล่าวถึงลักษณะพระสถูปนี้ว่า "สูง 40 เจี๊ยง ประดับตกแต่งด้วยมณีรัตน์ต่างๆในประดาพระสถูปทั้งหลายที่ (ฮวบเฮี้ยน)เคยเห็นมา ความสวยงามตระการไม่อาจมาเปรียบด้วยพระสถูปนี้ได้ กล่าวกันว่าพระสถูปเจดีย์ทั่วชมพูทวีป พระสถูปองค์นี้เท่านั้นนับว่าเป็นเยี่ยม" ในหนังสือบันทึกประวัติของพระภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวว่า ท่านเฮี่ยงจังก็ได้มานมัสการพระสถูปองค์นี้และพรรณนาว่า พระสถูปอยู่ห่างจากตัวนครปุรุษปุระไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 8-9ลี้ สูงคิดเป็นเฉี้ยะได้ 400 เฉี้ยะ ฐานล่างโดยรอง 1 ลี้ครึ่ง วงลูกแก้วเป็นชั้นๆขึ้นไปถึง 24 ชั้น ว่าในองค์พระสถูปประดิษฐานพระสารีริกธาตุ ท่านนักธรรมจาริกทั้งสองพูดตรงกันว่า เป็นของพระเจ้ากนิษกะสร้าง นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า คือพระเจ้ากนิษกะที่ 1 ไม่ใช่ที่ 2 เมื่อพวกง้วยสีหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เอาเป็นธุระเผยแผ่พระพุทธธรรม พระพุทธธรรมจึงได้แพร่หลายเข้าไปในอาเชียกลางและอาเชียตะวันตกและในจีน ทำให้เกิดมีพุทธอาณาจักรขึ้นอีกหลายอาณาจักร ซึ่งจะพรรณนาถึงในเบื้องหน้า

      เมื่อพระเจ้ากนิษกะที่ 1 ทิวงคต กษัตริย์องค์ใหม่ทรงพระนามว่าพระเจ้าหุวิสกะ นัยว่าเป็นพระโอรส พระเจ้าหุวิสกะเสวยราชสมบัติอยู่ราว 40 พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจริญรอยตามยุคลบาทของอดีตมหาราช ได้ทรงสร้างพระอารามวิหารเป็นจำนวนมากในแว่นแคว้นอาณาเขตของพระองค์ โดยเฉพาะในแคว้นกาษมีระ มีพระอารามที่สง่างามแห่งหนึ่งชื่อหุวิสการะ  ซึ่งพระภิกษุเฮี่ยงจังเคยมาพักอยู่หลายวัน นอกจากนี้พระเจ้าหุวิสกะยังสร้างเมืองใหม่เมืองหนึ่ง ชื่อหุษปาปุระ ณ แคว้นกาษมีระอีกด้วย มิสเตอร์ วี.เอ.สมิท ได้กล่าวว่า ถ้าพระเจ้าหุวิสกะทรงเป็นพุทธศาสนิกแล้วไซร้ เหตุไฉนเหรียญตราสมัยของพระองค์จึงไม่มีแกะพระพุทธรูปไว้เล่า กลับมีรูปเทวะของกรีกและฮินดู แสดงว่าพระเจ้าหุวิสกะอาจเป็นพุทธศาสนิกชนที่ไม่ใครมั่นคงนัก แต่ศาสตราจารย์ญี่ปุ่นผู้หนึ่งแย้งไว้ว่า ข้อนั้นไม่แปลกแสดงว่าพระเจ้าหุวิสกะทรงสมกับที่เป็นพุทธมามกะ  ไม่มีกีดกันศาสนาอื่น ทรงรับอุปถัมภ์บำรุงทุกลัทธิศาสนาแบบพระเจ้าอโศกมหาราช ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่นับถือพระเจ้าแผ่นดินที่นับถือศาสนาอื่นแล้วไซร้ อาจไม่มีใจกว้างขวางอย่างนี้ได้ อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ได้บอกแก่เราว่า พระเจ้าหุวิสกะได้ส่งธรรมทูตเข้าไปเผยแผ่พุทธธรรมในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.511 (ก่อน ค.ศ.2 ปีตรงกับรัชสมัยพระเจ้าฮั่นอายเต้ของจีน กษัตริย์องค์ถัดมาจากพระเจ้าหุวิสกะ ทรงพระนามว่าพระเจ้าวาสุเทวะ ขึ้นเถลิงราชย์ประมาณปี พ.ศ.553 (ค.ศ.10) อยู่ในเศวตฉัตรราว 30 พรรษา ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ บูชาพระศิวะและพระนารายณ์ ในสมัยพระราชาองค์นี้ได้เสียดินแดนต่างๆ ในอินเดีย เช่นแคว้นกาษมีระเป็นต้น พวกง้วยสีคงครองแต่บริเวณดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดแดนอินเดียเท่านั้น กล่าวกันว่าพระพุทธศาสนาได้รับความเบียดเบียนจากพระเจ้าวาสุเทวะ ต่อจากพระเจ้าวาสุเทวะคือ พระเจ้ากุชุละกัทฟิเสส Kujula Kadphises ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.583 (ค.ศ.40) อยู่ในเศวตฉัตรราว 35 พรรษา ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์ฮั่นกล่าวถึงการรบพุ่งชนะรัฐง้วยสีอีก  4 รัฐ ข้อความนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า รัฐง้วยสี 4 รัฐคงจะเป็นอิสระจากอำนาจของรัฐกุษานในสมัยพระเจ้าวาสุเทวะ แล้วกลับรวมมาอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสนี้ พระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสยังแผ่อำนาจเข้าตีเอาดินแดนต่างๆ ที่เสียไปกลับคืน ตีได้อาณาจักรปาร์เธีย, คาบูล, คันธาระ, และปัญจาป, พระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเหรียญตราในรัชสมัยของพระองค์ แกะพระรูปพระพุทธเจ้าไว้เพื่อให้ประชาชนได้เห็นเป็นทัสสนานุตตริยะ และเป็นเครื่องเตือนใจ คันนิงแฮม กล่าวว่า บนเหรียญตราเหล่านั้นมีคำจารึก "พระราชาผู้คุ้มครองพระธรรม" ซึ่งแสดงว่าพระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และในรัชสมัยนี้เองที่ราชสำนักกรุงเชียงอาน พระเจ้าฮั่นเม่งเต้ส่งราชทูตออกมาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ในบันทึกของพระภิกษุฮวบเฮี้ยนกล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรง้วยง้วยสีกรีธาพลมาตีเมืองปุรุษปุระ เพื่อประสงค์จะอัญเชิญบาตรอันเป็นพุทธบริโภคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงได้ชัยชนะแล้ว โปรดให้อัญเชิญบาตรขึ้นหลังคชสารใหญ่ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการต่างๆ เพื่อจะนำไปบูชายังพระนครของพระองค์ แต่พญาช้างกลับหมอบอยู่กับที่ไม่ยอมเดิน  พระเจ้าง้วยสีให้อัญเชิญขึ้นไว้บนราชรถ ฉุดด้วยช้าง 8 เชือก ราวรถก็ไม่เคลื่อนไหว พระราชาสลดพระทัย เห็นว่ารอยบุญของพระองค์ยังไม่คู่ควรกับบาตรนี้ จึงโปรดให้สถาปนาพระวิหารสถูปเจดีย์ประดิษฐานบาตรนี้ไว้ ณ ที่นั้น และโปรดให้มีผู้ดูแลรักษาบูชาด้วยเครื่องมหาสักการะต่างๆพระภิกษุฮวบเฮี้ยนได้เข้าไปนมัสการแลเห็นบาตรนี้ด้วยตาของตนเอง พระวิหารแห่งนี้ตกสมัยพระภิกษุเฮี่ยงจัง พระภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวว่า อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครปุรุษปุระ และในสมัยที่ท่านไป บาตรลูกนี้หาอยู่ที่นั้นไม่ ว่าได้เคลื่อนย้ายไปหลายประเทศ และไปตกอยู่ในประเทศเปอร์เซีย (คงจะเป็นอาณาจักรปาร์เธีย) ศาสตราจารย์ญี่ปุ่นผู้หนึ่งกล่าวว่าพระราชาง้วยสีที่ท่านฮวบเฮี้ยนกล่าวถึงนั้น คือพระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสนั่นเอง

      พระเจ้ากุชุละกัทฟิเสสสิ้นพระชนม์เมื่อพรรษากาลได้ 80 เศษ พระราชบุตรขึ้นเสวยราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าวีมะกัทฟิเสส Wema Kasphises  ในปี พ.ศ.618 (ค.ศ.75) อยู่ในกำภูฉัตรประมาณ 20 พรรษาเศษ กษัตริย์พระองค์นี้ได้แผ่พระราชอำนาจลงมาในอินเดียตอนกลาง  ตีเอาบ้านเมืองทางลุ่มแม่น้ำคงคาที่พระชนกยังตีไม่ถึง จนกระทั่งถึงเมืองพาราณสี แต่ปรากฏว่าพระองค์เลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ ทรงนับถือพระศิวะ ในยุคนี้พระพุทธศาสนาคงไม่ได้รับการทำนุบำรุงอย่างไร และในรัชสมัยพระราชาพระองค์นี้เป็นเวลาที่จอมพลปันเทียวของจีนยกทัพมาตีอาณาจักรต่างๆในอาเชียกลาง และได้ขอกำลังจากพวกง้วยสีให้ไปช่วยรบอาณาจักรคังกือสำเร็จ ถัดต่อจากพระเจ้าวีมะกัทฟิเสส คือพระเจ้าวสิษกะ Vasishka พระราชาองค์นี้ยังไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันว่า ทรงเป็นพุทธมามกะหรือไม่ แต่มีเหตุการณ์อันหนึ่งเกิดขึ้นคืนพระเจ้าวสิษกะเรียกร้องค่าตอบแทนจากจีนในกรณีที่ช่วยจีนรบอาณาจักรคังกือ และค่าตอบแทนที่พระเจ้าวสิษกะประสงค์คือทรงสมัครจะเป็นเขยขวัญของพระเจ้ากรุงจีน แต่ราชสำนักจีนที่หยิ่งในศักดิ์ของความเป็นราชวงศ์สวรรค์ ไหนเลยจะยอมลดตนยกเจ้าหญิงในราชสกุลให้แก่หัวหน้าคนป่าได้ (จีนเรียกชาติอื่นว่าเป็นคนป่าหมด  ของเขาไม่ใช่คนป่าชาติเดียว) จึงต้องปฏิเสธอย่างเด็ดขาด พระเจ้าวสิษกะขาดทุนไม่ได้ผลตอบเช่นนี้  เลยให้ยกทัพใหญ่จำนวน 7 หมื่นคนเข้าตีจีนแต่ท่านผู้อ่านพึงเข้าใจว่าไม่ไปตีถึงตัวประเทศจึนหรอก หากไปตีจีนที่ยกออกมาปกครองหัวเมืองออกในอาเชียกลางเท่านั้น ผลของสงครามปรากฏว่าทัพจีน ซึ่งมีจอมพลปันเทียวเป็นผู้ยิ่งใหญ่อยูชนะ และนัยว่าพวกง้วยสียอมจิ้มก้องจีนเสียด้วย เรื่องจิ้มก้องนี้จะจริงเท็จแค่ไหนยังไม่รับรอง เพราะยังค้นหลักฐานไม่ได้ แต่มีข้อควรรู้อยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าใครที่ไหนถ้าไปเจรจาทำสัมพันธไมตรีกับจีน บางทีไปในฐานะผู้พิชิตด้วยซ้ำ จึนยังโฆษณาได้ปาวๆว่ามาจิ้มก้องอย่างเมืองออก พระเจ้าวสิษกะเสวยราชย์ในปี 638 (ค.ศ.45) อยู่ในราชสมบัติราว 15 พรรษา ต่อจากนี้อาณาจักรชาติง้วยสี พร้อมทั้งพระพุทธศาสนาก็เข้าสู่ความเจริญรุ่งโรจน์อย่างสูงสุด ภายใต้การนำของมหากษัตราธิราชพระองค์หนึ่ง ผุ้มีพระนามอันไม่รู้จักตายคู่กับพระนามพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้ากนิษกะที่ 2

สุวรรณยุคแห่งพระพุทธศาสนาของชาติง้วยสี

      พระเจ้ากนิษกะที่ 2 เป็นพระโอรสของพระเจ้าวสิษกะ ขึ้นเถลิงราชย์ในปี พ.ศ.653 (ค.ศ.110) อยู่ในเศวตฉัตรราว 30 ปีเศษ ทรงแผ่พระราชอำนาจในเขตอิหร่าน, เตอรกีสตาน และข้ามเทือกภูเขาฮินดูกูฎการาโกรัม เข้าไปดินแดนซินเกียง ได้ครอบครองอาณาจักรซอกเดียน, อาเรีย, โขตาน, ส่วนทางอินเดียนั้นอานุภาพของพระเจ้ากนิษกะ แผ่ปกคลุมแคว้นคันธาระ, กาษมีระ, ปัญจาป ตลอดลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา พระเจ้กนิษกะมหาราชมาตั้งราชธานีที่ปุรุษปุระ (คือเปชวารในปัจจุบัน) แปลว่าพวกง้วยสีได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในอินเดียอย่างแท้จริงและอย่างเต็มที่ ในจดหมายเหตุของพระภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวว่า ราชสำนักของพระเจ้ากนิษกมหาราชเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายไปตามกาลเวลาของฤดู ในฤดูหนาว ราชสำนักของพระองค์อยู่ในแคว้นต่างๆในอินเดีย(เห็นจะเป็นแถวลุ่มแม่น้ำคงคา) แล้วแต่จะทรงเลือก เมื่อถึงฤดูร้อนก็ย้ายไปอยู่ที่แคว้นกปิศะ (อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาหิมาลัย) ครั้นเข้าฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ราชสำนักก็ไปอยู่ที่คันธารราษฎร์ แต่ละแห่งที่เสด็จไปประทับทรงสถาปนาพุทธวิหารไว้เป็นที่ระลึก และทรงบำเพ็ญพระองค์ตามรอยพระเจ้าอโศกมหาราช คือโปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และสังฆาราม ตลอดพสุธา เขตที่บารมีของพระองค์จะแผ่ไปถึง ทรงบริจาคไทยทานถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาว่างพระราชกิจก็ทรงใฝ่พระทัยศึกษาพระธรรมวินัย ทรงอาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมมาถวายเทศน์ในพระราชวัง วันละรูปเป็นประจำทุกวัน แล้วยังแผ่พระการุณยภาพไปทั่วในหมู่สรรพสัตว์ เช่น ส่งธรรมทูตออกเผยแผ่พระพุทธธรรม สมณทูตเหล่านี้สาขาหนึ่งได้เข้าไปทำงานแผ่ธรรมในจีน และนับแต่บัดนี้เป็นต้นมาก็มีธรรมทูตชาวง้วยสี และธรรมทูตชาวแคว้นอื่นๆ ในอาเชียกลางจาริกเข้าไปในประเทศจีนไม่ขาดสาย ทั้งนี้เป็นผลจากการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระมหาราชองค์นี้ งานชิ้นสำคัญที่สุดของพระเจ้ากนิษกมหาราชที่ควรจะกล่าวถึง คือ งานสังคายนาพระธรรมวินัย  เราทราบมาแล้วว่าพระพุทธศาสนาที่แผ่ขึ้นไปทางดินแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานนิกายสรวาสติวาท พระเจ้ากนิษกมหาราชทรงเลื่อมใสในสงฆ์ฝ่ายนิกายนี้ ทรงเคารพนับถือพระมหาเถระรูปหนึ่งชื่อปารศวะเป็นอาจารย์แนะนำในทางธรรม พระปารศวะได้ทูลแนะให้พระเจ้ากนิษกะชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้น จำนวนสงฆ์ที่เข้าประชุมตามจดหมายเหตุของพระภิกษุเฮี่ยงจังว่ามี 500 รูป พระปารศวะได้เป็นประธานสงฆ์ สถานที่ทำสังคายนานั้น ภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวไว้แต่เพียงแคว้นกาษมีระ ในหนังสือของตารนาถบอกสถานที่ไว้ว่าอยู่ ณ กุณฑลวันวิหาร เมื่อทำสังคายนาแล้ว พวกพระภิกษุเหล่านี้ยังได้ร้อยกรองอรรถาธิบายพระไตรปิฎกขึ้น 3 คัมภีร์ใหญ่คือร้อยกรองอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ชื่ออุปเทศศาสตร์ เป็นจำนวนแสนโศลก ร้อยกรองอรรถกถาพระวินัยปิฎก ชื่อวินัยวิภาษาศาสตร์ เป็นจำนวนแสนโศลก ร้อยกรองอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ชื่ออภิธรรมวิภาษาศาสตร์ เป็นจำนวนแสนโศลก

ตอน 2

      เมื่อทำสังคายนาแล้ว พระเจ้ากนิษกมหาราชประสงค์จะไม่ให้ข้อธรรมที่รวบรวมต้องแปรผันได้รับอันตราย จึงโปรดให้จารึกอรรถกถาเหล่านี้ไว้ในแผ่นทองแดงแล้วบรรจุเข้าภายในหีบศิลาอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงนำไปบรรจุไว้ในพระสถูปใหญ่ให้มั่นคงอีกสถานหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ดู ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า เป็นด้วยยุคนั้นเกิดคณาจารย์ต่างมติความเห็นในพระธรรมวินัยไม่เหมือนกันมากมาย มูลปรารภของพระเจ้ากนิษกมหาราชที่เป็นต้นเหตุให้ทำสังคายนา ก็เพราะทรงฟังมติหลายอาจารย์หลายคณะไม่อาจเอายุตติว่าของใครถูก เมื่อสังคายนาแล้ว พระสงฆ์ได้รวมกันร้อยกรองอรรถกถาสำเร็จแล้ว คงจะทรงยุตติเอาอรรถาธิบายนั้นโดยแน่นอน จึงรับสั่งให้จารึกรักษาไว้แข็งแรง เพื่อเป็นพยานหลักฐานสำหรับอ้างอิงในกาลสืบไปเบื้องหน้า ในตำนานยังพรรณนาความว่าพระเจ้ากนิษกมหาราชโปรดให้พวกยักษ์นาคอยู่เฝ้ารักษา ซึ่งหักลงมาเป็นเรื่องจริงก็ได้ว่า มีการรักษาจารึกเหล่านี้อย่างกวดขันถึงกันตั้งกองทหารดูแลเท่านั้น ในหนังสือว่าด้วยเรื่องเถรวงศ์ของฝ่ายมหายานเล่าว่า พระเจ้ากนิษกมหาราชกรีธาพลมาตีกรุงปาตลีบุตรแคว้นมคธ พระราชาแห่งปาตลีบุตรเห็นเหลือกำลังที่จะป้องกันได้  ก็ยอมถวายบาตรของพระพุทธองค์บาตรหนึ่ง และถวายพระมหาเถระผู้มีเกียรติคุณโด่งดังรูปหนึ่งชื่อพระอัศวโฆษแก่พระมหาราช และว่าพระอัศวโฆษได้เป็นที่โปรดปรานเลื่อมใสของพระเจ้ากนิษกะเป็นที่ยิ่ง อย่างไรก็ดีเราสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาในแผ่นดินของกษัตราธิราชองค์นี้ได้รุ่งโรจน์ขึ้นถึงขีดสูงสุด มีแคว้นกาษมีระเป็นจุดศูนย์กลางของความเจริญ แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระอธิราชแล้ว พระพุทธศาสนาของชาวง้วยสี หรืออีกนัยหนึ่งพระพุทธศาสนาในอินเดียภาคเหนือก็เริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อม

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

      ในราวๆสมัยเดียวกับพระเจ้ากนิษกมหาราช พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็เริ่มแผ่ขยายเข้าไปในอาณาจักรง้วยสี  และกาลต่อมาก็ปรากฏว่ามีความสามารถข่มรัศมีของนิกายเดิมลงได้หลักฐานที่ปรากฏ เราอาจหาได้จากงานแปลพระคัมภีร์ของภิกษุชาวง้วยสีที่เข้าไปทำงานในประเทศจีน เช่นใน พ.ศ. 729 (ค.ศ.186) พระภิกษุชาวง้วยสีชื่อลู้เกียชั่ม (ตามเสียงของจีน) เดินทางมาแปลพระคัมภีร์ที่นครลกเอี๋ยงแผ่นดินพระเจ้าฮั่นเล่นแต่ ได้แปลคัมภีร์เป็นจำนวน 67 ลูกส่วนมากเป็นพระสูตรของฝ่ายมหายาน อาทิเช่น มหาไวปูลยมหาสันนิปาตสูตร, อักโษภยพุทธ, เกษตรสูตร, ศูรางคมสูตร, มรรคจริยาปรัชญาปารมิตาสูตร, ฯลฯ เป็นต้น แสดงว่าพระสูตรเหล่านี้ต้องแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรง้วยสีอยู่ก่อน แล้วจึงมีผุ้นำมาแปลถ่ายเป็นภาษาจีนในประเทศจีนทีหลัง ใน พ.ศ.766 ถึง พ.ศ.796 (ค.ศ.223-ค.ศ.253) มีอุลาสกชาวง้วยสีชื่อจีเหลียน ได้แปลคัมภีร์มหายานเป็นจำนวนมากในประเทศจีน อาทิเช่น โพธิสัตวมูลกรรมสูตร, อมิตายุสูตร, วิมลกีรติสูตร, โพธิสัตวชาติภูมิสูตร, จันทรประภาโพธิสัตวสูตร, นอกจากนี้ยังมีภิกษุ, อุบาสกชาวง้วยสีที่สำคัญ เช่น จีเอียว. จีฟาตู, ธรรมนันทิ, จีเตากึน, จึซีลุน, พุทธวรมัน, อุปศูนย ฯลฯ ที่เข้ามาแปลพระธรรมในเมืองจีน เป็นอันสรุปว่า อาณาจักรง้วยสีได้มีพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแพร่หลายแทนพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน อนึ่ง ภาษาที่ใช้จารึกพระธรรมนั้น ชาวง้วยสีใช้ภาษาสันสกฤตและใช้ภาษาของตน ซึ่งเรียกว่าภาษาตุขาราจารึก เมื่อนักสำรวจชาวฝรั่งไปสำรวจในบริเวณเขตอาณาจักรง้วยสี ได้ค้นพบคัมภีร์พระปาฏิโมกข์ของนิกายสรวาสติวาทที่ใช้จารึกด้วยภาษาตุขาราที่บริเวณเมืองคุจะ มณฑลซินเกียง

พระพุทธศาสนาแห่งชาติง้วยสีตอนเสื่อม

      เมื่อสิ้นบุญพระเจ้ากนิษกมหาราชแล้ว พระราชาองค์ถัดต่อๆมาจะเป็นผู้ใดมีความเป็นไปอย่างไร เราหาหลักฐานได้อย่างลำบากยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ในราว พ.ศ. 762 (ค.ศ.229) ได้มีพระราชาแห่งง้วยสีองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าสุเทวะ ซึ่งซ้ำกับพระนามของพระเจ้าสุเทวะองคืก่อน มิสเตอร์สมิทกล่าวว่า พระเจ้าสุเทวะองค์นี้ทรงมีชีวิตอยู่ในระหว่าง พ.ศ.728 (ค.ศ.185) ถึง.พ.ศ.763(ค.ศ.220) คืออยู่ราว 35 ปี และว่าพระองค์ได้จารึกพระนามไว้ในเหรียญตรา ซึ่งจะหาได้แถบปัญจาปและคันธาระ (V Smith Early History of India)ในจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงอำนาจของกษัตริย์องค์นี้ว่า แคว้นกาษมีระ บากเตรีย ,คาบูล,อินเดีย,ล้วนขึ้นอยู่แก่ชาติง้วยสี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของง้วยสีในประดาเมืองออก ยังคงยั่งยืนอยู่จนถึงพุทธศตวรรษที่ 7 และอันที่จริงถึงแม้ภายหลังง้วยสีต้องเสียดินแดนที่ตนเคยได้ไปก็ตาม แต่อำนาจของพุทธศาสนิกชนชาติมหาอำนาจนี้ก็ยังคงรักษาตัวอยู่ได้ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 10  พระราชวงศ์กุษานแห่งคาบูลหรืออาฟฆานิสตาน จึงได้ถูกทำลายไปด้วยทัพของพวกฮันขาว ในราว พ.ศ.945 (ค.ศ.402) เมื่อภิกษุฮวบเฮี้ยนจาริกไปอินเดียได้กล่าวถึงอำนาจของง้วยสีว่ามีอาณาบริเวณเพียงบริเวณตั้งแต่แถบเหนือของภูเขาฮินดูกูฏ คือดินแดนส่วนหนึ่งของเตอรกีสตานปัจจุบัน ซึ่งเป็นดินแดนเดิมเท่านั้น ส่วนอำนาจในอินเดียนั้นไม่มีเอาเสียเลยทีเดียว ในอินเดียเองมีกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะได้เป็นใหญ่ขึ้นแทนอยู่ ในกลางพุทธศตวรรษที่ 10 มีราชาของง้วยสีองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ากิตระ Kitara ได้แผ่อำนาจจากบากเตรียอันเป็นที่อยู่เดิมเข้ามาในอินเดียฝ่ายเหนืออีกครั้งหนึ่ง ได้แคว้นคันธาระไว้ในอำนาจอีก ตกราว พ.ศ.1023 (ค.ศ.480)บากเตรียถูกพวกฮันขาวย่ำยี พวกเชื้อวงศ์ของพระเจ้ากิตระในอินเดียก็ประกาศตั้งเป็นอาณาจักรง้วยสีเล็กขึ้น มีเมืองปุรุษปุระเป็นราชธานี ทำยุทธนาการสู้รบต้านทานพวกฮันขาวเป็นสามารถส่วนพระพุทธศาสนานั้นพวกง้วยสียังเลื่อมใสมั่นคง ภิกษุฮวบเฮี้ยนได้กล่าวถึงสภาพของพระพุทธศานาในแคว้นคันธาระสมัยนั้นว่า พระพุทธศาสนาในแคว้นคันธาระส่วนมากเป็นฝ่ายสาวกยานและเฉพาะในเมืองปุรุษปุระมีพระวิหารประดิษฐานบาตรของพระพุทธองค์ มีภิกษุสงฆ์อยู่ในอารามนั้นกว่า 700 รูปและพระสถูปวิหารยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ตกราวปี พ.ศ.1023(ค.ศ.680) พวกฮันก็ตีอาณาจักรง้วยสีเล็กแห่งนี้ได้อีก พวกฮันเป็นเชื้อสายเตอร์กพวกหนึ่ง เป็นคนป่าเร่ร่อนมีอาชีพทางเลี้ยงสัตว์ อัธยาศัยใจคอโหดร้ายบึกบึน อยู่ไม่เป็นที่ ในฤดูหนาวก็อพยพไปหาที่อยู่ทางแถบอบอุ่น ลักษณะเร่ร่อนต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติเสมอนี้เอง ทำให้พวกฮันเป็นมนุษย์ที่เข้มแข็งและสามารถ เมื่อรวบรวมกำลังได้มาก ปรากฏว่าพวกฮันยกทัพไปปล้นตีแว่นแคว้นอื่นๆในอาเชียกลางกว่า 30 อาณาจักร ตั้งเป็นมหาอาณาจักรฮันขึ้น พวกฮันไม่นับถือพระพุทธศาสนา นับถือพวกภูตพรายต่างๆ คงจะได้เบียดเบียนพระพุทธศาสนาอยู่มาก แต่ถึงกระนั้นในดินแดนง้วยสีเดิมในเตอรกีสตาน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าอาณาจักรตุขารานั้น ยังคงมีพระพุทธศาสนาอยู่มั่นคง ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ซุยว่า "ตุขารา (คือแดนพวกง้วยสีเดิม) อยู่ทางตะวันตกของเทือกภูเขาชังเนี้ย 500 ลี้ ประชาชนอยู่ปะปนกับพวกตาตาร์ เนื้อที่ของเมืองหลวง 2 ลี้ มีทหาร 10 หมื่น ล้วนฝึกฝนในยุทธการ ประชาชนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา" จากบันทึกนี้แสดงให้เรารู้ว่าแม้ง้วยสีจะเสียอธิปไตยแก่พวกฮัน และพวกฮันอพยพเข้ามาอยู่ในถิ่นของตนก็จริง แต่ก็ยังรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ต่อมาในตอนกลางแห่งพุทธศตวรรษที่ 10 พวกเตอร์กทางตะวันตกพวกหนึ่ง ยกมาตีพวกฮันแตก และเข้าครอบครองตุขาราที่พวกฮันยึดได้ และจำเนียรกาลต่อมาดินแดนเหล่านี้ก็เกิดแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยขึ้นประมาณ 20 กว่ารัฐ แต่ยังขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจอของเตอร์ก การนับถือศาสนาของเจ้าครองรัฐกับพลเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนาบ้าง นับถือภูตพรายและการบูชาไฟบ้างปะปนกันไป บางรัฐก็ไม่มีพระพุทธศาสนาเสียเลย เหตุการณ์เหล่านี้พระภิกษุเฮี่ยงจังได้บันทึกไว้ว่า "แคว้นโขตส์ ผู้คนดุร้าย ไม่มีธรรม มีวัดอยู่ 3 อาราม และมีภิกษุสงฆ์จำนวนเล็กน้อย" แคว้นกุนดักส์ ประชาชนส่วนมากยังเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ที่นับถือพระเจ้าทั้งหลายมีจำนวนน้อย มีพุทธวิหารกว่า 10 แห่ง ภิกษุสงฆ์หลายร้อยรูปศึกษาทั้งฝ่ายมหายานและสาวกยาน "แคว้นหิมตละ ประชาชนมีอัธยาศัยหยาบร้ายมุทะลุไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ" "แคว้นพทักษาน มีอารามอยู่ 3-4 อาราม พระราชาเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แคว้นตมัสกิติซึ่งเป็นแคว้นอยู่ระหว่างภูเขาใกล้แม่น้ำอมู ประชาชนมีอัธยาศัยหยาบกระด้าง ไม่ใคร่ถือในขนบธรรมเนียม รูปร่างลักษณะก็ไม่น่าดู แต่มีแปลคือดวงตาส่วนมากเป็นสีน้ำเงินตางกับผู้คนในแคว้นอื่น มีพุทธวิหารในแคว้นนี้กว่า 10 แห่ง จำนวนภิกษุมีเล็กน้อยนครหลวงของแค้วนนี้ชื่อกันทูต มีอารามที่สร้างขึ้นโดยพระราชาในอดีตสมัย ภายในอารามประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา เบื้องบนพระเศียรมีฉัตรที่ประดับด้วยมณีรัตน์กางกั้น เมื่อคนมาเดินประทักษินองค์พระ ฉัตรจะหมุนตาม เมื่อหยุดฉัตรนี้ก็หยุดเหมือนมีชีวิต" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัธยาศัยอันละมุนละไมอ่อนโยนตามลักษณะของชาวง้วยสีอันเป็นชาติเจริญ เมื่อมาอยู่คละปะปนกับพวกเตอร์กเผ่าคนเยิงก็ทำให้แปรเปลี่ยนไปได้ อนึ่ง หัวหน้าพวกเตอร์กบางคนก็ดูท่าทีจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบ้าง เช่นข่านหัวหน้าเตอร์กเผ่าใหญ่เผ่าหนึ่งที่พระภิกษุเฮี่ยงจังไปเฝ้า ก็ดูโปรดปรานถึงกันนิมนต์ให้แสดงพระธรรมเทศนา และประทานสบงจีวรข้าวของอื่นๆให้ เมื่อเล่ามาถึงเพียงนี้ ก็เลยเล่าถึงพระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นเล็กๆอื่นๆในเตอรกสตานกับบริเวณแถบบนของอินเดียฝ่ายเหนือ แถบบริเวณใกล้เคียงกับตุขารา ในยุคพระภิกษุเฮี่ยงจังไปพบไว้ด้วย ที่อาณาจักรสมารกันด์ซึ่งเป็นแหล่งของพวกเตอร์ก พวกชาวเมืองตลอดจนข่ายนับถือไฟ (เห็นจะถือลัทธิปาร์ซีของโซโรอัสเตอร์) ทั้งแคว้นมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ 2 วัด แต่เป็นวัดร้างไม่มีสงฆ์อาศัย และพวกชาวเมืองก็คอยขับไล่ไม่ให้ภิกษุสงฆ์เข้ามาอาศัยด้วยวิธีจุดไฟเผาไล่แต่เมื่อภิกษุเฮี่ยงจังเดินทางเข้าไปถึงได้อาศัยบารมีคุ้มครองจากราชาแห่งอาณาจักรเกาเชียง (อยู่ในมณฑลซินเกียง) และพระราชาแคว้นใกล้เคียงที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆ จึงไม่ได้รับการขัดขวาง แต่การต้อนรับก็เป็นไปอย่างเสียไม่ได้ แต่บังเอิญภิกษุเฮี่ยงจังมีโอกาสได้แสดงอรรถธรรมของพระพุทธศาสนา ตอบแก้ข้อกังขาของข่านแห่งสมารกันด์ จนข่านเกิดความเสื่อมใสมองเห็นความประเสริฐของพระพุทธธรรม ถึงกับสมาทานศีลและไม่เสวยของสดคาว (ตามคติของมหายานถือไม่กินเนื้อสัตว์) ชาวเมืองเห็นราชาของตนหันมาเคารพพระพุทธศาสนาก็พากันหันมานับถือตาม ภิกษุเฮี่ยงจังได้อยู่เทศนาสั่งสอนประชาชนเหล่านี้ และได้จัดให้มีการอุปสมบทภิกษุสงฆ์ให้ไปอยู่ในพระอารามร้าง 2 แห่ง เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาฟื้นคืนชีพใหม่ในอาณาจักรสมารกันต์ อาณาจักรพามิยานซึ่งเป็นแคว้นที่ตั้งอยู่ระหว่างทิวเขาหิมาลัย มีอารามกว่า 10 แห่งในนครหลวงของแคว้นนี้ และมีภิกษุสงฆ์หลายพันรูปเป็นฝ่ายพระพุทธศาสนาสาวกยาน นิกายโลโกตตรวาท ถัดไปข้างตะวันออกก็เป็นอาณาจักรกปิศะ ซึ่งเป็นอาณาจักรมหาอำนาจในยุคนั้นอาณาจักรหนึ่ง นครหลวงของแคว้นนี้มีพุทธวิหารนับจำนวนร้อยๆ และมีการศึกษาพระปริยัติธรรมแพร่หลายเจริญมาก พระพุทธศาสนามีทั้งฝ่ายมหายานและสาวกยาน พระราชาผู้ครองแคว้นก็เป็นพุทธมามกะ เลื่อมใสในฝ่ายมหายาน มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น มโนชญโฆษา, อารยาวรมัน, แลคุณภัทระ พระพุทธศาสนายังคงมีอยู่ในเตอรกีสตานและอาฟฆานิสตาน จนตราบเท่าตอนกลางแห่งพุทธศตวรรษที่ 12 กองทัพชาวอาหรับผู้นับถือคำสอนของมหหมัดได้ยกพลมาย่ำยี เฉพาะพระพุทธศาสนาในอาณาจักรตุขาราได้รับการทำลายจากกองทัพอิสลามภายใต้การนำของโกไลบาเบนมุสลิม แม่ทัพผู้ตีอาณาจักรโบคาระ ตรานซอกเชียน (Transoxiana) ในเตอรกีสตาน และยังมีจอมทัพอิสลามอีกผู้หนึ่ง ชื่อมูอัมเหม็ดเบนกาซิม (Muhammed ben Kasim) ยกทัพมาบีฑาอีก พระพุทธศาสนาในอาณาเขตอันไพศาลนี้ ได้รับการทำลาย ต้นโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นแก่ทวยชน ก็ถูกขุดรากเหง้าถึงแก่การโค่นประลัยลง และชาวง้วยสีชาวแคว้นเผ่าต่างๆก็ถูกบังคับ และถูกกลืนให้ไปเคารพบูชาพระอาหล่าแทน จนตราบเท่าปัจจุบันนี้

ตอน 3

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโขตาน

      ประวัติของอาณาจักร คำว่า โขตาน นักประวัติศาสตร์ได้เรียกต่างๆกัน บ้างเรียกว่าโคต่าน, อูเดียน, โขตาน, โค่วตัง, อุเทน ปัจจุบันได้แก่พื้นที่ตอนตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลทรายตะกลามากัน ระหว่างลุ่มแม่น้ำโขตานตาเรีย และ Kerija ดาเรียในมณฑลซินเกียง อาณาเขตทางใต้มีเทือกขุนเขาการาโกรัมกั้นไว้ ดินแดนข้างเชิงภูเขาอีกด้านหนึ่งก็คือแคว้นกาษมีระ คำว่า โขตาน มีความหมายถึง "เมืองแห่งหยก" เพราะดินแดนเหล่านี้อุดมไปด้วยแร่หินหยก นอกจากนี้อุดมไปด้วยทองแดง, ข้าว และต้นลินิน ในจดหมายเหตุของพระภิกษุเฮี่ยงจัง เรียกโขตานด้วยภาษาสันสกฤตว่า "กุสฺตน" อย่างไรก็ตาม ชื่อนี้ปราชญ์เชื่อกันว่า เป็นชื่อเรียกกันภายหลังชื่อเดิมโขตานเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เราก็ได้ยินชื่อนี้แล้ว ในปกรณ์ฝ่ายทิเบตและในบันทึกของภิกษุเฮียงจังกล่าวว่า กุสฺตนเป็นพระนามของพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งยกพลข้ามภูเขาการาโกรัมมาสถาปนาราชธานี และตั้งอาณาจักรโขตานขึ้น อย่างไรก็ดีเป็นที่ยืนยันได้แน่ว่า โขตานได้ตั้งขึ้นราวสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือในตอนกลางแห่งพุทธศตวรรษที่ 3 ประชาชาติในโชตานเป็นพวกเชื้ออารยันปนทิเบต พวกอารยันเป็นพวกอพยพมาทีหลังอักษรศาสตร์ตลอดจนอารยธรรมนั้น หนักเอนไปทางอินเดีย ส่วนขนบธรรมเนียมเอนไปข้างจีน

      อุปนิสัยของพลเมืองรักใคร่ในการศึกษาศิลปะและดนตรี ศิลปะทางพระพุทธศาสนาแบบคันธาระได้แพร่หลายในโขตาน และได้ก่อให้เกิดมีศิลปะของโขตานขึ้น ศิลปะทางพระพุทธศาสนาของจีนก็ได้รับแบบถ่ายทอดจากโขตานมิใช่น้อย ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ปรากฏว่ามีภาษาที่ใช้พูดกันในโขตาน คล้ายคลึงกับภาษาในแถบอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือมาก และจารึกภาษาเช่นนี้ได้ถูกขุดพบในแถบนิยา อย่างไรก็ตาม เราสรุปได้ว่า โขตานเป็นอู่แห่งอารยธรรมอินเดียกับจีนผสมกัน แต่หนักไปทางอินเดียเสีย 70 เปอร์เซ็น ในประวัติศาสตร์ของโขตานมีความสัมพันธ์กับอินเดียมาก โดยเฉพาะแคว้นกาษมีระซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของโขตานชนิดอยู่ข้างละรั้วบ้านเท่านั้น อนึ่ง โขตานยังเป็นดินแดนอันรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ศาสตราจารย์เหลียงฉีเชากล่าวว่า พระสูตรสำคัญๆของมหายานฝ่ายสัตตการเณวาท ส่วนมากมีกำเนิดขึ้นในโขตาน และพระพุทธศาสนาในโขตานนั้นเล่าก็มีทั้งฝ่ายมหายานและสาวกยาน และในยุคปลายยังปรากฏว่ามีมนตรยานหรือคุยหยานอีกด้วย เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในโขตาน เราได้อาศัยข้อความจากปกรณ์ของทิเบตมาก และสมควรจะกล่าวในที่นี้ด้วยว่า กษัตริย์ราชวงศ์วิชัยที่ครองโขตานนั้น เป็นวงศ์กษัตริย์ที่สืบเนื่องมาแต่เจ้าชายกุสฺตน และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์วงศ์นี้มาก ดั่งจะได้กล่าวต่อไป

ที่มาแห่งพระพุทธศาสนาในโขตาน

      กล่าวกันว่าในราวตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 4 ได้มีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระไวโรจนะ นำพระพุทธธรรมจากแคว้นกาษมีระมาเผยแผ่ในโขตาน พระราชาโขตานพระนามว่าพระเจ้าวิชัยสัมภวะ แห่งวงศ์วิชัย ทรงเลื่อมใสรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาของอาณาจักร ในจดหมายเหตุของพระภิกษุเฮี่ยงจังและในบันทึกประวัติของท่าน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้อย่างละเอียด ข้าพเจ้าขอคัดข้อความในฉบับแปลไทยมาลงไว้ ณ ที่นี้  เพราะถ้าแปลตามฉบับจีนข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจว่าจะแปลได้ดีกว่า

     "ห่างจากนครหลวง (ของโขตาน) ไปทิศใต้ราว 10 ลี้ มีอารามใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งพระราชาในโบราณกาลได้สถาปนาขึ้นสำหรับพระไวโรจนอรหันต์ เมื่อสมัยที่พระศาสนายังไม่ได้แผ่มาถึงแคว้นนี้ พระอรหันต์องค์นี้ได้มาจากแคว้นกาษมีระ นั่งจำศีลอยู่ในป่า มีผู้มาเห็นเข้า รู้สึกแปลกในเครื่องนุ่งห่มของท่าน จึงนำความกราบทูล พระราชาทรงทราบ ก็เสด็จไปเพื่อทรงพิจารณาลักษณะท่วงทีให้ประจักษ์แจ้ง แล้วรับสั่งถามว่า "ท่านคือใคร เหตุใดจึงมาอยู่ในป่า" พระอรหันต์ถวายพระพรว่า "อาตมาภาพเป็นสาวกของพระตถาคตเจ้า เหตุที่มาพักที่นี่ก็เพื่อบำเพ็ญธรรม"

      พระราชารับสั่งถามว่า "ที่ว่าพระตถาคตเจ้านั้น หมายความอย่างไร?"

      ถวายพระพรว่า "พระตถาคตเจ้า เป็นคำใช้แทนพระนามพระพทธเจ้า เดิมพระองค์เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงพระนามว่าสิทธารถ มีพระมหากรุณาแก่สัตวโลก ที่ตกอยู่ในห้วงมหรรณพสงสารไร้ที่พึ่ง จึงทรงสละแก้ว 7 ประการกับพระราชบุตร 1000 องค์ คือทรงสละซึ่งราชสมบัติอันคู่ควรแก่พระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งทวีปทั้ง 4 แล้วเสด็จออกสู่ไพรวัน บำเพ็ญมรรคปธานเป็นเวลา 6 ปี ก็บรรลุผล (ตรัสรู้) พระวรกายเปล่งปลั่งดั่งวรรณะแห่งทองคำ ด้วยพระองค์ได้ถึงซึ่งอนุตตรธรรม โดยมิต้องมีครูอาจารย์ แล้วทรงประทานน้ำอมฤตประโปรยลงมายังมฤคทายวัน(ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์) และทรงเปล่งรัศมีแห่งมณีรัตน์บนยอดเขาคิชกูฎ (ทรงประทานพระธรรมเทศนาแก่พระสาวกมากหลาย) ในระหว่าง 80 ปี (แห่งพระชนมายุ) พระองค์ได้ประกาศพระพุทธศาสโนวาทให้ประโยชน์และความรื่นเริงบันเทิงใจ (แก่เวไนสัตว์ทั่วไป) ครั้นเมื่อปัจจัยเครื่องปรุงแต่งได้สิ้นสุดลง พระองค์ก็เสด็จผ่านจากนิรมาณกายสู่พระธรรมกาย (ปรินิพพาน) แต่พระปฏิมาและพระธรรมวินัยของพระองค์ยังคงมีเหลืออยู่สืบมาจนตราบเท่าเวลานี้"

      "มหาบพิตรได้ทรงอบรมบุญบารมีไว้ในปางก่อน (บัดนี้) จึงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งปวงชน ย่อมเป็นการสมควรยิ่งนักที่จะทรงรับพระธรรมของพระพุทธองค์ไว้ แล้วกระทำความรู้แจ้งเห็นจริงเพื่อจะได้พึ่งพิงเป็นสรณะสืบไป จะยอมให้ความมืดมนในพระธรรมเข้าครอบงำดังฤา"

      พระราชารับสั่งว่า "ข้าพเจ้าคงหมกมุ่นอยู่ด้วยบาป จึงมิได้ทราบพระนามพระพุทธเจ้า บัดนี้ ท่านผู้ทรงคุณธรรมได้กรุณามาโปรด ก็ยังนับว่าเป็นบุญอยู่ และเมื่อพระพุทธปฏิมาและพระโอวาทานุศาสนียังคงปรากฏมีอยู่แล้ว ก็ใคร่จะได้อัญเชิญมาบูชาและปฏิบัติตาม"

      พระอรหันต์ถวายพระพรว่า "ถ้ามหาบพิตรทรงเลื่อมใสและมีพระประสงค์เช่นนั้น ชั้นต้นควรสร้างอารามขึ้นไว้ก่อนและต่อไปก็จะมีพระพุทธรูปมาสถิตเอง"

      ครั้นแล้วพระราชาก็เสด็จกลับพร้อมกับข้าราชบริพารไปเลือกสรรภูมิที่อันสมควร และจัดให้ช่างดำเนินการ ก่อสร้างตามแบบแผนที่ทรงไต่ถามหารือกาบพระอรหันต์องค์นั้น

      เมื่อการสร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระราชารับสั่งถามพระอรหันต์ว่า อารามได้สร้างเสร็จแล้ว แต่พระพุทธรูปอยู่แห่งใดเล่า พระอรหันต์ถวายพระพรว่า ขอแต่เพียงให้ทรงตั้งมั่นในพระศรัทธา แล้วพระพุทธรูปก็จะมีมาในไม่ช้า

      พระราชาทรงจุดธูปถือดอกไม้ พวกข้าราชบริพารตลอดจนประชาชนทุกชั้นก็กระทำเช่นเดียวกัน ต่างยืนสำรวมจิตมั่นเป็นเอกัคคตา สักครู่หนึ่งก็มีพระพุทธปฏิมาลอยลงมาจากอากาศสถิตเหนือแท่น(ที่สำรองไว้) เป็นพระปฏิมาอันเรืองอร่ามงามสง่ายิ่งนัก

      พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงปลาบปลื้มยินดี ภาคภูมิพระหฤทัยเป็นล้นพ้น แล้วอาราธนาพระอรหันต์แสดงพระธรรมเทศนาแก่ปวงชน และทรงชักชวนผู้คนพลเมืองพร้อมกันที่สร้างขึ้น(ในแคว้นกุสฺตน) (หมดข้อความที่คัดมาแต่เพียงนี้)

      จากข้อความนี้แสดงให้เรารู้ว่า พระพุทธศาสนาที่แผ่เข้าไปในโขตานนั้น คงจะต้องเป็นพระพุทธศาสนาแบบสาวกยาน นิกายสรวาสติวาท ตามอย่างพระพุทธศาสนาในแคว้นกาษมีระและทิเบตเรียกปฐมอารามที่สร้างขึ้นนั้นว่า ชื่อว่าวัดตสรฺม พระพุทธปฏิมาองค์แรกที่มีปรากฏในโขตานนั้น กล่าวกันว่ามีรูปลักษณะงดงามคล้ายคลึงใกล้เคียงกับพระพุทธลักษณะที่สุด จนกิตติศัพท์ร่ำลือไปในนานาประเทศ มีผู้คนเดินทางมาถวายสักการะบูชามาก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาก็ฝังรากลงในโขตาน ประชาชนเป็นพุทธมามกะตลอดทั้งประเทศ ต่อมาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เจริญขึ้นเป็นคู่แข่งกับฝ่ายสาวกยาน จนพระภิกษุในประเทศจีนต้องเดินทางมาค้นหาศึกษาคัมภีร์มหายานในอาณาจักรนี้ ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของมหายาน และความอุดมของปริยัติธรรมศึกษาเพียงไร สงฆ์ชาวโขตานก็ได้ตั้งต้นจาริกไปแพร่พุทธธรรมกันในเมืองจีนและแว่นแคว้นใกล้เคียงในปลายพุทธศตวรรษที่ 7 สงฆ์ชาวโขตานชื่อพระโมกษละ ได้มาแปลพระคัมภีร์ในนครลกเอี๋ยง ต่อมามีสงฆ์ชาวโขตานอีกรูปหนึ่งชื่อคีตมิตร ได้นำคัมภีร์มหายานเข้ามาและทำงานแปลพระสูตรใหญ่ๆหลายสูตร เช่นพระสูตรในหมวด อวตํสก, ไวปูลยะ, ปรัชญาปารมิตา, และอาคมของฝ่ายสาวกยาน,

      ในรัชสมัยพระเจ้าวิชยวีรยะ ซึ่งเป็นราชาองค์ที่ 8 ถัดจากพระเจ้าวิชยสัมภวะ ได้สร้างอารามอุทิศถวายให้แด่พระพุทธทูต มหาเถระของฝ่ายมหายานผู้เป็นอาจารย์

      อารามนี้ทางทิเบตเรียกว่า Hgum-stir วิหาร พระภิกษุฮวบเฮี้ยงและเฮียงจังได้เห็นอารามนี้ด้วยตาของตนเอง และได้พรรณนาถึงความงามของรามนี้ว่า เป็นวัดที่สมบูรณ์ด้วยวิจิตรกรรมอันประณีตอย่างยิ่ง ตามเสาประตูหน้าต่างแกะสักลวดลายสวงงามตระการตา และตามพื้นเพดาน หลังคา บุด้วยทองเงิน มีพระสถูปสูงถึง 3 เส้นเศษ (ขนาดพระปฐมเจดีย์ของเรา) ประดับประดาด้วยสรรพรัตนะอันสูงค่า และพระสถูปนี้ก็มักปรากฏอภินิหารเนืองๆ เป็นที่เคารพนับถือของพระราชาและประชาชนในแว่นแคว้นใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้พระเจ้าวิชยวีรยะยังสร้างอาราม หะเยน-โต-ชาน วิหาร มีผู้สันนิษฐานว่า คำนี้ตรงกับชื่อโคจีรชา พระราชาที่สืบต่อมาจากพระเจ้าวิชยวีรยะก็ทรงเป็นพระพุทธศาสนิก และได้ทำนุบำรุงเสร้างเสริมอารามนี้ให้งดงามยิ่งขึ้น ตกตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 9 พระภิกษุฮวบเฮี้ยงเดินทางมาถึงอาณาจักรนี้ และได้พักอาศัยอยู่ถึง 3 เดือนเศษ ได้พรรณนาถึงความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในโขตานว่า

      "ประเทศนี้มีความสมบูรณ์พูนสุข ประชาราษฎร์ก็แน่นหนาต่างมีความสุขสบาย และนับถือพระพุทธธรรม มีภิกษุสงฆ์หลายหมื่น ส่วนมากเป็นฝ่ายมหายาน" และว่าที่หน้าประตูบ้านเรือนทุกๆหลังของชาวเมืองต้องสร้างสถูปไว้บูชา พระสถูปขนาดเล็กที่สุดสูง 2 เจี๋ยงเศษ ภิกษุฮวบเฮี้ยนได้ไปพักที่วัดโคมติสังฆารามซึ่งเป็นวัดใหญ่โตของฝ่ายมหายาน มีสงฆ์อยู่ถึง 3 พันรูป นอกจากวัดนี้แล้ว ยังมีวัดชนิดใหญ่ๆอีกราว 14 วัด วัดเล็กๆอีกมาก ภิกษุฮวบเฮี้ยนได้อยู่เห็นพิธีแห่พระปฏิมา ซึ่งเป็นพิธีมโหฬารอย่างยิ่ง พระราชาผู้ครอบครองประเทศกับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการต้องออกมาร่วมพิธีด้วย ถึงวันกำหนดพิธี ประชาชนต่างพากันตบแต่งสถานที่บ้านเรือนและปัดกวาดถนนหนทางให้สะอาด เริ่มพิธีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 เสร็จพิธีเอาเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 รวม 14 วัน การแห่พระพุทธปฏิมาก็ผลัดเปลี่ยนกันแห่วัดละวัน (เห็นทีจะเป็นวัดใหญ่ๆที่สำคัญ 14 วัดๆละวัน) วัดโคมติเป็นวัดแรก

      จากบันทึกนี้เราจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า โขตานเป็นพุทธอาณาจักรอย่างแท้จริงเพียงไร ในราวต้นพุทธศตวรรษที่5 ในรัชสมัยพระเจ้าวิชยชยะ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ที่สืบต่อมาจากพระเจ้าวิชยวีรยะ ในปกรณ์ฝ่ายทิเบตว่าพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของราชสำนักจีนองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ปุมะเยซาน (ซึ่งกงจู๊) พระนางได้นำตัวไหมมาเลี้ยงในโขตาน แต่พระเจ้าวิชยชยะทรงเชื่อคำเพ็ดทูลของขุนนางจีนว่า ตัวไหมเหล่านี้จะทำให้แผ่นดินแห้งแล้งและจักกลายเป็นงูพิษทำอันตราย จึงโปรดให้เผาเสีย แต่พระมเหสีได้ลอบนำออกมาส่วนหนึ่ง และเลี้ยงไว้จนสามารถใช้ทำเป็นเส้นไหม และทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม พระเจ้าวิชยชยะก็เสียพระทัยและทรงเกรงในกรรมที่ทำลายชีวิตตัวไหม ทรงโปรดให้สร้างอารามอันงดงามประณีต 2 อารามขึ้น ซากของอารามทั้ง 2ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่

      ปรากฏว่า พระราชาทรงเคารพพระเถระอินเดียรูปหนึ่ง ชื่อสังฆโฆษะ(Sanghaghosha) เป็นอาจารย์ พระราชาองค์ถัดต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชยธรรม พระเชษฐาของพระองค์ทรงพระนามว่า ธรรมนันทะ ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและเที่ยวจาริกศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศอินเดีย ภายหลังเลื่อมใสในนิกายมหาสังฆิกะ พระอนุชาของพระเจ้าวิชยธรรมเอง ปรากฏว่าเลื่อมใสในนิกายสรวสติวาท ได้อัญเชิญพระเถระของนิกายนี้รูปหนึ่ง ชื่อมันลสิทธิ จากกาษมีระเข้ามาในโขตาน และสร้างอารามชื่อ Song-tir ซองตีร์ อุทิศให้ ต่อมามีพระเถระผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งเดินทางจากกาษมีระ ชื่อพระพุทธเสน (Buddhasena) มาพักอยู่ที่วัดโคมติสังฆาราม สั่งสอนสมาธิธรรมแก่พุทธบริษัท ถัดจากพระเจ้าวิชยธรรม กษัตริย์องค์ต่อมาทรงพระนามว่าพระเจ้าวิชยสิงหะ ทรงแผ่พระราชอำนาจไปในแว่นแคว้นใกล้เคียง ทรงนับถือพระพุทธศาสนา

ตอนเสื่อมแห่งราชวงศ์วิชัย

      ถึงแม้ว่า พระเจ้าวิชยสิงหะจะเรืองกฤษดานุภาพ แต่เมื่อพ้นแผ่นดินของพระองค์ไปแล้วถีงรัชสมัยพระเจ้าวิชยกีรติ (วิชัยเกียรติ) ซึ่งตกในราวตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 9 โขตานถูกบุกโดยกองทัพของพวกฮู้พวกหนึ่ง แต่พวกฮู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นการศาสนาในโขตานจึงยังคงเรียบร้อยดีอยู่ ต่อจากการบุคของพวกฮู้ก็เป็นพวกฮัน ซึ่งเป็นพวกเร่ร่อน มีอัธยาศัยสันดานหยาบร้าย  มาแย่งชิงอาณาจักรตรานซอกเชียน แล้วขยายอิทธิพลเที่ยวรุกรานแว่นแคว้นใกล้เคียง ตีได้อาณาจักรคังกือ, กาษคาร์, ปาร์เธีย, และเข้าตีอาณาจักรโขตาน พวกนี้ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจึงเบียดเบียนพระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นที่ตนตีได้ แต่ถึงดังนั้นพระพุทธศาสนาก็ยังไม่ดับสูญฝ่ายกษัตริย์วงศ์วิชัยและราษฎรที่ทนต่อการข่มเหงของข้าศึกไม่ได้ ก็พากันอพยพหนีมาพึ่งจีน บางพวกมาตั้งหลักแหล่งที่มณฑลชานซีเดี๋ยวนี้ กล่าวกันว่า ท่านมหาปราชญ์กุยกี ผู้เป็นคันถรจนาจารย์อันยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธศาสนาของจีน ก็เป็นผู้สืบสายจากราชวงศ์วิชัยเหมือนกัน

สมัยราชวงศ์วิชัยฟื้นฟู

      ต่อมาเชื้อสายของราชวงศ์วิชัยได้กลับฟื้นอำนาจขึ้นอีกในโขตาน และพระพุทธศาสนาก็กลับเจริญขึ้นอีกวาระหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยพวกนี้ได้เคยถูกยึดครองมาก่อน และพวกฮันได้พาให้วัฒนธรรมตลอดจนศีลธรรมของประชาชนเสื่อมทรามลง ในตอนต้นแห่งพุทธศตวรรษที่ 10 ฮุ่ยเซงกับซ่งฮุ้นได้กล่าวถึงธรรมเนียมเกี่ยวกับการทำศพของชาวโขตานว่า ถ้าเป็นราษฎรก็ใช้เผาแล้วเก็บอัฐิไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้น ส่วนพระราชานั้นใช้วิธีฝัง ในตอนกลางของพระพุทธศตวรรษที่ 10 นี้ มีสงฆ์ชาวโขตานชื่อคุณภัทร เดินทางมาแปลพระคัมภีร์ในจีน ถึงสมัยพระภิกษุเฮี่ยงจังๆได้แวะอาณาจักรนี้ตอนขากลับ และได้บันทึกว่า ทั่วประเทศมีพระอารามราวร้อยเศษ ภิกษุสงฆ์ประมาณ 5000 รูป ส่วนมากถือแบบมหายาน และได้เห็นพระอารามร้างอีกมากที่ปราศจากสงฆ์อาศัย เมื่อเราเทียบปริมาณสงฆ์ในสมัยฮวบเฮี้ยน จำนวนสงฆ์นับด้วยจำนวนหมื่นๆ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาของโขตานในสมัยภิกษุเฮี่ยงจังนั้น ความรุ่งโรจน์ลดน้อยลงเพียงไร เมื่อภิกษุออกมาในกระบวนแห่ พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ และพระสงฆ์ตลอดจนข้าราชการประชาชนต้อนรับท่าน และทรงให้พระราชโอรสเป็นศิษย์ปรนนิบัติท่าน ภิกษุเฮี่ยงจังได้พักอาศัยอยู่ในวัดของฝ่ายนิกายสรวสติวาท และได้แสดงธรรมเทศนาแก่พระราชาและประชาชน ตลอดเวลาที่พักอยู่ในโขตาน รวมเป็นเวลา 7 ถึง 8 เดือน เมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังมรณภาพแล้วราว 20 ปี เศษ มีภิกษุเทวปรัชญา เดินทางมาจากโขตาน เข้ามาแปลพระคัมภีร์ในหมวดอวตํสกและมันตระ แสดงว่าในยุคนั้นพระพุทธศาสนาแบบคุยหยานหรือมนตรยานก็ได้แพร่หลายในโขตานแล้ว ต่อจากนั้นท่านเทวปรัชญา ก็คือท่านศึกษานันทะ มาแปลคัมภีร์ในประเทศจีน รวมเป็นคัมภีร์ 27 ผูก ในแผ่นดินพระเจ้าตงจง (พ.ศ.1250 หรือ ค.ศ.707) โอรสของพระราชาโขตาน ได้มาอุปสมบทเป็นภิกษุในประเทศจีน มีฉายาว่าตี้เงี้ยม และได้แปลคัมภีร์ 6 ผูก ในบันทึกของฮุ่ยเทียว (ต้นพุทธศตวรรษที่ 12) ได้กล่าวถึงโขตานว่า เต็มไปด้วยพระอารามและภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตามธรรมของมหายานไม่ฉันเนื้อสัตว์ และว่ามีวัดจีนวัดหนึ่งชื่อวัดเล่งเฮงยี่ มีพระจีนอยู่เพียงรูปเดียว พระรูปนี้เป็นชาวมณฑลฮ่อปัก จังหวัดกีจิว พระพุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาประจำชาติของโขตานอยู่

พระพุทธศาสนาหมดจากโขตาน

      ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 พระราชาแห่งโขตาน ได้ส่งราชทูตมาจิ้มก้องพระเจ้าเกาโจ๊วๆโปรดแต่งตั้งให้เป็น "ไต้ป้ออูเตียนก๊กอ๋อง" แปลว่า มหารัตนราชแห่งประเทศโขตาน ต่อมามีราชทูตจีนไปเยี่ยมเป็นปฏิการ จากบันทึกของทูตจีนกล่าวว่า ชาวโขตานนิยมนับถือภูตผีปนกับพระพุทธศาสนาคู่กันไป ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าซ้องไทโจ๊ว มีภิกษุชาวโขตานสองรูปชื่อเสี่ยงเมี้ย และเสี่ยงฮวบมาเฝ้า โปรดพระราชทานไตรจีวร ต่อมาอีก 4 ปีพระภิกษุรูปที่ชื่อสี่ยงเมี้ยอุตสาหะเดินทางมาเข้าเฝ้าอีก โปรดพระราชทานสมณนามเป็นเกียรติยศว่า "เจียวฮ่วยไต้ซือ"

      ในปี พ.ศ.1514 (ค.ศ.971 ) พระราชาแห่งโขตานให้พระภิกษุกิกเซี้ยง(มังคละ) นำพระราชสาสน์และช้างศึกที่ทรงได้เมื่อไปตีอาณาจักรกาษคาร์มาถวาย เรื่องโขตานทำศึกกับอาณาจักรกาษคาร์นั้น เกิดเพราะสมัยนั้นอาณาจักรกาษคาร์ พวกตุรกีที่นับถือศาสนาอิสลามปกครองอยู่ และพวกนี้เที่ยวเบียดเบียนพระพุทธศาสนาถึงอาณาจักรโขตาน ชาวพุทธมามกะโขตานจึงต่อสู้ป้องกัน และได้ชัยชนะตีโต้พวกอิสลามพ่ายไป แต่ในที่สุดกองทัพอิสลาม ก็คงกำความมีชัยปรากฏว่าในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 15 กองทัพอิสลามจำนวน 4 หมื่นคน ภายใต้การนำของยูซุฟควัดข่านได้เข้าบุกโขตาน พุทธศาสนิกชาวโขตานได้พยายามต่อต้านถึง 24 ปี และถึงแม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากทิเบตก็ตาม แต่ในที่สุดก็ถูกพวกอิสลามิกตุรกีแตกพระราชาโขตานทรงพระนามว่าชคาลูขัลขาลู ได้รบจนโลหิตหยาดสุดท้าย สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิ ยูซุฟควัดข่ายได้ขึ้นครองราชย์ในโขตาน ศาสนาอิสลามก็แพร่หลาย เพราะฉะนั้นในตำนานฝ่ายทิเบตได้บันทึกไว้ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ 1500 ปี พระราชาแห่งโขตานไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเบียดเบียนสงฆ์ให้ได้รับความเดือดร้อน ประชาชนก็เสื่อมศรัทธาในพระรัตนตรัย ไม่ถวายไทยทานแก่ภิกษุสงฆ์ เป็นเหตุให้สงฆ์ต้องลงมือทำไร่ไถนาเอง วัดวาอารามก็ถูกแย่งชิง จนที่สุดคณะสงฆ์ได้เปิดประชุมขึ้นที่วัดตสรฺม สังฆสภาลงมติให้ละทิ้งภูมิลำเนาอพยพหลบหลีกภัยเข้าสู่ประเทศทิเบต พระพุทธศาสนาอันรุ่งโรจน์ในโขตานตลอดเวลานับพันปี ก็ถึงกาลนิโยคหมดสิ้นสลายลงด้วยฝีมือของพวกอิสลามิก ด้วยประการดังนี้ เมื่อมารโคโปโลเดินทางผ่านมาถึงประเทศนี้ เขาเห็นแต่สุเหร่า และได้ยินเสียงสวดมนต์อ้อนวอนพระอ้าหล้าตลอดทั่วทั้งประเทศ

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรคุจะ

      อาณาจักรคุจะ ปัจจุบันได้แก่แถบถิ่นจังหวัดคุจะในมณฑลซินเกียง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลทรายตะกลามากัน ไกลจากอาณาจักรโขตานด้วยมีทะเลทรายนี้กั้นขวางไว้ ชื่อของอาณาจักรนี้จีนเรียกต่างๆกันหลายอย่าง เช่นกูจือ, คิวชื้อ, โค่วชา. คุยี ฯลฯ โขตานเป็นแคว้นสำคัญ ชุมทางสินค้าคาราวานของเหล่าพ่อค้าฉันใด คุจะก็เป็นแคว้นสำคัญและชุมทางคาราวานของเหล่าพาณิชฉันนั้น อาณาจักรนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุเหล็ก ในบันทึกของจีนกล่าวว่าทางทิศเหนือของคุจะราว 200 ลี้ มีภูเขาใหญ่ ประชาชนนำเหล็กมาจากภูเขาและปริมาณเหล็กนั้นสามารถทำใช้กันอย่างสมบูรณ์ตลอด 36 ประเทศ (ปัจจุบันรัสเซียก็กำลังขนแร่ธาตุเหล็กจากดินแดนแถบนี้ไปจากจีนไม่ขาด) พระพุทธศาสนาได้แผ่จากกาษคาร์, โขตาน และด้วยอิทธิพลของกษัตริย์ในวงศ์กษาน อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ว่า พระพุทธศาสนาได้ครองใจชาวคุจะ ไม่ช้ากว่าพุทธศตวรรษที่ 6 และได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ แต่อาณาจักรคุจะมักจะตกเป็นเมืองขึ้นของจีน อารยธรรมจีนคงจะได้แพร่หลายเข้าไป ในสมัยพระเจ้าฮั่นฮัวเต้ (พ.ศ.634 หรือ ค.ศ.91) จอมพลปันเทียวได้ยกพลมาตีอาณาจักรคุจะแตก และนับตั้งแต่คุจะรับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติ ธรรมทูตทั้งฝ่ายสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวคุจะ ได้จาริกเข้าไปในประเทศจีนเป็นจำนวนมากๆ ในจำนวนธรรมทูตเหล่านั้น อาทิเช่นท่านพระสิริมิตร (พุทธศตวรรษที่ 8 ) เดิมเป็นพระยุพราช ได้สละราชสมบัติให้แก่พระอนุชาครอบครองแล้วออกอุปสมบท เดินทางมาแปลพระคัมภีร์ในประเทศจีน คัมภีร์ท่านแปลส่วนมากเป็นของฝ่ายมนตรยาน เช่นแปลมหามูรธาภิเษกสูตร (ไต่ก่วงเตงเกง) 13 ผูก แปลมหามยุรราชาธารณีสูตร 1 ผูก มยุรราชาสังยุกตธารณีสูตร 1 ผูก แสดงว่าพระพุทธศาสนาในคุจะเดิมเป็นพระพุทธศาสนาแบบสาวกยาน ต่อมาเป็นแบบมหายานและมนตรยาน และในจำเนียรกาลต่อมา พระพุทธศาสนาแบบสาวกยาน นิกายสรวาสติวาทได้กลับเจริญข่มแบบอื่นหมด หลังสมัยพระสิริมิตรเล็กน้อย ได้มีภิกษุชาวคุจะชื่อกุมารชีพผู้ทรงเกียรติคุณโด่งดัง ในความแตกฉานในพระปริยัติธรรมจนได้รับยกย่องเป็น "ติปิฎกธราจารย์" เป็นที่เคารพนับถือของประชาชาติเตอร์ก, ตาดต่างๆในอาเชียกลาง จนพระจ้าฮูเกียนซึ่งเป็นกษัตริย์ฮันพวกหนึ่งปกครองจีนเหนือ เกิดอยากเป็นเจ้าของช้างเผือกเสียเอง ประกอบกับถือเป็นโอกาสแผ่กฤษดาภินิหารด้วย จึงกรีธาพล 7 หมื่นคนบุกเข้าอาเชียกลาง อ้างว่าจะมารับท่านกุมารชีพไปเมืองจีน ตีอาณาจักรคุจะแตก จับราชาผู้ครองแคว้นประหารชีวิต แล้วเชิญพระกุมารชีพกับพระธิดาของพระเจ้ากรุงคุจะเข้ามาในจีน พระกุมารชีพได้มาแปลพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรมกว่า 300 ผูก และถึงมรณภาพที่นครเชียงอาน สิริชนมายุได้ 70 ปีเดิมความจริงบิดาของพระกุมารชีพเป็นชาวอินเดีย แต่ได้อพยพข้ามภูเขาการาโกรัมมาตั้งภูมิลำเนาในคุจะ และมารดาของท่านได้ให้กำเนิดท่านในแคว้นนี้ ท่านจึงกลายเป็นคนของคุจะ และได้จาริกเที่ยวศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักคณาจารย์ต่างๆทั้งในและนอกประเทศ จนมีความรอบรู้เจนจบอรรถธรรมทั้ง 84000 พระธรรมขันธ์

      ในสมัยของท่านกุมารชีพ มีภิกษุสงฆ์อาณาจักรคุจะถึงหมื่นรูป และปรากฏว่ามีภิกษุณีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน พระพุทธศาสนาหลังสมัยท่านกุมารชีพ เราทราบเรื่องราวได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี เราก็ยังอาจอาศัยคาดคะเนจากประวัติของนักธรรมจาริกได้ เช่นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 9 สงฆ์กาษมีระชื่อพระธรรมมิตร ก่อนจะเดินทางมาถึงเมืองจีนก็ได้มาพักอยู่ในคุจะและได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระราชาคุจะมาก ในพุทธศตวรรษที่ 10 สงฆ์ชาวอินเดียใต้ชื่อพระธรรมคุปตะ ก็ได้มาพักแสดงธรรมเทศนาอยู่ในคุจะ 2 ปี เป็นที่โปรดปรานของพระราชามาก ถึงกับทรงกักไม่ยอมให้พระธรรมคุปตะเดินทางไปเมืองจีนตามเจตจำนงของท่าน พระธรรมคุปตะต้องหลบหนีไปเอง จากเรื่องราวนี้ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาคงรุ่งโรจน์เป็นศาสนาของทางการตลอดเวลา 4-5 ร้อยปี ตกสมัยพระภิกษุเฮี่ยงจัง ตอนขาไปอินเดียท่านแวะผ่านประเทศนี้ พระราชาและข้าราชบริพารตลอดจนภิกษุสงฆ์นับพันๆ มีพระโมกษคุปต์เป็นสังฆเถระพากันออกมาต้อนรับอยู่ภายนอกประตูเมืองและท่านได้รับพระราชทานฉันในพระบรมมหาราชวัง พระภิกษุเฮี่ยงจังพักอยู่ในเมืองคุจะ 2 เดือนเศษจึงออกเดินทาง ตอนขาไปก็ได้รับพระราชทานข้าคนรับใช้และม้าอูฐสัมภาระต่างๆ และพระเจ้าคุจะกับคณะสงฆ์ก็เสด็จออกมาส่งเป็นระยะทางไกล พระโมกษคุปต์เป็นพระสังฆเถระของคุจะ ที่แตกฉานในพระปริยัติธรรมฝ่ายสรวาสติวาท เคยเดินทางไปศึกษาที่อินเดียถึง 20 ปีเศษ พำนักอยู่ที่วัดชื่ออาศจรฺย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระราชาและประชาชน ภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวว่ามีวัดในคุจะกว่าร้อยอาราม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระราชาและประชาชน ภิกษุเฮี่ยงจังกล่าวว่ามีวัดในคุจะกว่าร้อยอาราม และได้กล่าวถึงพิธีแห่พระพุทธปฏิมาว่า เมื่อถึงวันกำหนดพิธี ภิกษุสงฆ์ตลอดจนพระราชาและประชาชนจะมาชุมนุมกันรับศีล ฟังพระธรรมเทศนาตามวัดวาอาราม ก็จะประดับประดาตกแต่งด้วยรัตนะแพรพรรณอย่างงดงาม และว่าในประเทศนี้อุดมไปด้วยธรรมาจารย์ที่เจนจบในพระไตรปิฎก เป็นที่เลื่องลือไปในนานาประเทศ มีชาวต่างประเทศมาอุปสมบทในคุจะและสร้างวัดของตนขึ้น อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาในคุจะตอนนั้น เป็นฝ่ายสาวกยานนิกายสรวาสติวาทเหตุด้วยฝ่ายมหายานนั้น พอสิ้นพระกุมารชีพแล้วก็เสื่อมลง และฝ่ายสาวกยานก็เจริญขึ้นแทนอีก การปริยัติธรรมก็นิยมเล่าเรียนคัมภีร์อภิธรรมวิภาษา ,อภิธรรมโกศ, สังยุกตาภิธรรมหฤทัยและคัมภีร์ของฝ่ายสาวกยาน ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 พระศึกษานันทะแห่งโขตานได้กล่าวว่า อาณาคุจะเล่าเรียนปฏิบัติแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน ไม่รู้การแบ่งภาคอวตารต่างๆ ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า และว่าพุทธศาสนิกชนชาวคุจะไม่เชื่อถือในคัมภีร์มหายานเช่นคัมภีร์อวตํสกสูตร ตกตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 13 บันทึกของภิกษุฮุ่ยเทียวกล่าวว่า จากอาณาจักรกาษคาร์ เดินทางไปทางตะวันออกก็จะถึงอาณาจักรคุจะ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัดอารามและกาสาวพัสตร์แต่ปฏิบัติอย่างสาวกยาน ภิกษุสงฆ์ฉันเนื้อกับหัวหอมหัวกระเทียม(ฝ่ายมหายานฉันเจ) ฝ่ายสงฆ์จีนปฏิบัติตามอย่างมหายาน ต่อจากนั้นมาอีก 300 ปีพระพุทธศาสนาคงรุ่งเรืองอยู่เรื่อย ปรากฏว่ามีฝ่ายมหายานแพร่หลายอยู่บ้าง แต่ไม่เจริญเท่าฝ่ายสาวกยาน จนกระทั่งถึงพุทธศก 1600 ปีเศษ พวกโจรอิสลามตุรกีบุกเข้าตี พระพุทธศาสนาอันรุ่งโรจน์อยู่ตลอดระยะกาลพันปี ในอาณาจักรคุจะ ก็ถึงแก่ภินทนาย่อยยับลง

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรเกาเชียง

      อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือในมณฑลซินเกียง ปัจจุบันได้แก่พื้นที่แถบเมืองตูรฟาน ภูมิประเทศล้อมรอบด้วยทิวภูเขาสูงๆ อากาศอบอุ่น อุดมด้วยข้าวสาลีและต้นสำลี มีการเลี้ยงไหม อาณาจักรนี้เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับดินแดนมองโกเลียและจีน นับแต่เบื้องบุราณมาจึงเป็นที่ๆแย่งชิงกันเป็นเจ้าของระหว่างจีนกับพวกสงหนู แต่ส่วนมากไปขึ้นอยู่กับจีนอารยธรรมของจีนมีอิทธิพลในอาณาจักรนี้มากกว่าอินเดีย พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้ามาในเกาเชียงไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 8 และได้เป็นศาสนาประจำชาติ ในพ.ศ.925 (ค.ศ.382) พระราชครูของพระเจ้ากรุงเกาเชียง ชื่อว่าพระมหาเถระกุมารภัทร ๆ ได้นำคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตามาสู่ประเทศจีน จากเรื่องพอสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธศาสนาที่แพร่เข้าสู่เกาเชียงนั้น อาจจะเป็นฝ่ายมหายานก็ได้ พระภิกษุที่ใครในการศึกษาของเกาเชียง ได้พากันไปศึกษาในจีนบ้าง ในอาณาจักรคุจะ, โขตาน และไปไกลจนถึงอินเดีย แต่ถึงอย่างไรพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานก็ได้เจริญขึ้นมากเหมือนกัน ในพุทธศตวรรษที่ 11 พระเจ้ากรุงเกาเชียง ได้ส่งภิกษุนักศึกษามาร่ำเรียนพระปริยัติในจีน และได้ส่งทูตมาศึกษาวัฒนธรรมของจีนเพื่อนำกลับไปเผยแผ่ ใน พ.ศ.1152 (ค.ศ.609) พระเจ้ากรุงเกาเชียงได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าซุยเอี้ยงเต้แห่งราชวงศ์ซุยและได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปตีประเทศเกาหลีด้วย พระเจ้าซุยเอี้ยงเต้โปรดเกล้าให้พระภิกษุฮุ้ยเสงมาแสดงธรรมแก่พระเจ้ากรุงเกาเชียง พระภิกษุฮุ้ยเสงได้แสดงสุวรรณประภาสูตร โปรดพระเจ้ากรุงเกาเชียงเลื่อมใสแก่กล้า ทรงสยายพระเกษาปูลาดลงกับพื้นดินแล้วอาราธนาให้พระภิกษุฮุ้ยเสงเหยียบ พระเจ้ากรุงเกาเชียงองค์นี้ ในจดหมายเหตุจีนเรียกพระนามว่าแปะเอีย ใน พ.ศ. 1160 (ค.ศ.168) แปะเอียสวรรคต พระโอรสทรงพระนามว่าบุ้นไถ่ขึ้นเสวยราชสมบัติปรากฏว่าพระเจ้ากรุงเกาเชียงบุ้นไถ่ทรงศรัทธาในพระศาสนายิ่งนัก เมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังเดินทางผ่านไปถึง ก็เสด็จออกมาต้อนรับพร้อมด้วยราชบริพาร และนิมนต์ให้ไปพักอยู่ในหอมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวัง ได้เอาใจใส่ปรนนิบัติประเคนภัตตาหารด้วยพระองค์เอง และทรงเลื่อมใสในความรู้ของพระภิกษุเฮี่ยงจังมาก ถึงกันเหนี่ยวรั้งขอร้องให้ท่านเฮี่ยงจังละเลิกการไปอินเดีย ให้อยู่ประจำในอาณาจักรเกาเชียง สอนธรรมแก่ประชาชนต่อไป เมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังไม่อาจจะปฏิบัติตามรับสั่งก็ทรงใช้พระราชอำนาจบังคับขัดขวางไม่ให้ท่านเดินทางไปได้ จนท่านต้องทำการอดอาหารทรมานให้พระเจ้าบุ้นไถ่คลายทิฏฐิมานะ ยอมอนุญาตให้ไปอินเดียโดยสะดวกแต่ให้สัญญาว่าเมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังสืบการพระศาสนาในอินเดียสำเร็จแล้ว ขากลับต้องมาอยู่ในอาณาจักรเกาเชียง 3 ปีเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน เสร็จแล้วยังทรงปฏิญญาพระองค์กับพระภิกษุเฮี่ยงจัง ให้นับถือรักใคร่เป็นพี่น้องแก่กันด้วย ทรงอารธนาให้พระภิกษุเฮี่ยงจังแสดงราชไมตรีโลกปาลปรัชญาปารมิตาสูตรแก่ข้าราชบริพารด้วย พระเจ้าบุ้นไถ่เองทรงลดพระกายของพระองค์ลงต่างขั้นบันไดให้ท่านเฮี่ยงจังเหยียบขึ้นธรรมอาสน์ทุกครั้ง จากข้อนี้แสดงให้เราประจักษ์ว่า พระเจ้ากรุงเกาเชียงทรงเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาสักปานไหน เมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังจะเดินทางต่อไป ยังทรงประทานราชูปถัมภ์อีกเป็นอเนกอย่าง ตก พ.ศ.1182 พระเจ้าเชียงบุ้นไถ่ได้ดำเนินรัฐประศาสน์ร่วมมือกับพวกเตอร์กทางตะวันตก ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมส่งส่วยบรรณาการมาให้จีน ขัดขวางไม่ให้นานาประเทศราชของจีนในเตอรกีสตานเดินทางมาส่งบรรณาการให้จีน พระเจ้าถังไทจงมหาราชจึงโปรดให้โฮ่วกุนจิ๊มยกกองทัพใหญ่จำนวนแสน ไปตีเกาเชียงฐานกระด้างกระเดื่อง เมื่อทัพจีนไปถึง พระเจ้าบุ้นไถ่ทรงกลัวจนกระทั่งประชวรและถึงสวรรคต พระโอรสพระนามว่าตี้เสง ได้พยายามต่อต้านทำยุทธาการกับกองทัพจีน แต่ที่สุดก็ยอมแพ้ พระเจ้าถังไทจงจึงโปรดให้ยุบประเทศเป็นจังหวัดและอำเภอ รวมเรียกว่าไซจิว และส่งข้าหลวงมาปกครองอาณาจักรเกาเชียง ในยุคถังสำคัญมาก เป็นชุมนุมของเส้นทางเดินระหว่างตะวันออกและตะวันตกอยู่ตลอดสมัย ลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นลัทธิปาร์ซีและลัทธิอิสลามก็ได้แพร่เข้าไป ตกในสมัยราชวงศ์ซ้อง ชื่อเรียกไซจิวก็ถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อเกาเชียงของเดิมอีก ในพ.ศ.1508 (ค.ศ.965)ข่านแห่งเกาเชียงส่งพระภิกษุฮวบอวงนำพระพุทธทันตธาตุ และไพฑูรย์มุกดามาถวายพระโอรสแห่งสวรรค์ของจีน กล่าวกันว่า ในยุคนั้นมีวัดพระพุทธศาสนาในเกาเชียง 50 เศษ และว่ามีวัดของฝ่ายลัทธิปาร์ซี มีนักบวชชาวเปอร์เชียในลัทธินั้นอาศัยอยู่ แสดงให้เราเห็นว่า พระพุทธศาสนาในอาณาจักรเกาเชียงได้ถูกโจมตีโดยลัทธิศาสนาอื่นบ้างแล้ว และก็ไปสู่ความเสื่อมเป็นลำดับ ตกในสมัยราชวงศ์เหม็งในแผ่นดินพระเจ้าเหม็งเซ่งโจ้ว พ.ศ.1951 (ค.ศ.1408) มีสงฆ์ชาวเกาเชียงชื่อเชงไล้ นำบริวารเดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าเหม็งเซ่งโจ้ว โปรดพระราชทานสมณศักดิ์ และพระราชทานทินนามว่า "ชือหุยอี้ตี่โพวทงก๊กซือ" แปลว่า "พระรัฐคุรุผู้มีเมตตาและปัญญาอันเป็นไปรอบโดยทั่ว" อนึ่ง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หงวน (ก่อนราชวงศ์เหม็ง) พระพุทธศาสนาแบบมนตรายานได้จากทิเบตและมองโกเลียแพร่หลายเข้าไปในเกาเชียง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 22 (พ.ศ.2200 ปีเศษ) พระพุทธศาสนายังคงมีผู้นับถืออยู่ในเกาเชียงจำนวนไม่มากนัก และต่อจากนั้นดินแดนส่วนนี้ ก็ค่อยๆกลับกลายเปลี่ยนเป็นอาณาจักรอิสลาม

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรกาษคาร์

      อาณาจักรนี้จีนเรียกว่า ซอเล็กบ้าง ซอเล็ก, กาชา, เกียกชาบ้าง ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกของทะเลทรายตะกลามากันเหนือจังหวัดยารกานต์ คือแถบเมืองกาษคาร์เดี๋ยวนี้ อย่างไรก็ตามชื่อนี้คงเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลัง ความหมายอันแท้จริงคือชื่อกาษคาร์ ซึ่งหมายถึงตลาดหยกหรือภูเขาหยก ชาวชนในอาณาจักรนี้เป็นเชื้อสายผสมระหว่างมนุษย์ทั้งเผ่าอารยัน, ตุรกีและทิเบต พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในกาษคาร์อย่างน้อยก็ไม่หลังพุทธศตวรรษที่ 7 ในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่ 2 อาณาจักรกาษคาร์ขึ้นอยู่ภายใต้ร่มโพธิสมภารของพระองค์ เพราะฉะนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธศาสนาที่แผ่เข้าไปในยุคแรกต้องเป็นพระพุทธศาสนาแบบสาวกยานนิกายสรวาสติวาท ในบันทึกของจีนว่า ในพระราชวังของกษัตริย์กาษคาร์ มีเครื่องพระพุทธบริโภค อาทิ เช่น บาตร กระโถน และพระทันตธาตุ ประดิษฐานไว้สำหรับบูชา พระทันตธาตุและพระพุทธบริโภคเหล่านี้คงอัญเชิญมาจากอินเดีย ในสมัยเมื่อท่านกุมารชีพเดินทางมาที่อาณาจักรนี้ พระราชากาษคาร์ได้นิมนต์ให้ท่านแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตร ท่านกุมารชีพได้อยู่พักศึกษาลัทธิพระเวทและโหราศาสตร์ ในข้อนี้แสดงว่า การศึกษาลัทธิธรรมต่างๆในกาษคาร์ได้เจริญถึงขีดขั้นเพียงไหน เมื่อถึงสมัยพระภิกษุฮวบเฮี้ยนๆได้เห็นความเป็นไปในอาณาจักรนี้อย่างละเอียด และได้บันทึกว่า วัดทั้งอาณาจักรมีสงฆ์กว่า 1000 รูป เป็นฝ่ายสาวกยานทั้งหมด กับทั้งได้เห็นพระราชพิธีประชุมสงฆ์ และถวายไทยทานแก่สงฆ์ทั่วทั้งประเทศของพระราชาแห่งกาษคาร์ด้วย พระภิกษุฮวบเฮี้ยนได้เห็นกระโถนของพระศาสดา และได้เห็นสถูปใหญ่ที่บรรจุพระทันตธาตุด้วย ต่อมาในราว พ.ศ.1008 (ค.ศ. 465) พระเจ้ากรุงกาษคาร์ได้ส่งราชทูตอัญเชิญกาสาวพัสตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายแก่พระโอรสแห่งสวรรค์ในราชวงศ์งุ่ย พระโอรสแห่งสวรรค์ต้องการจะพิสูจน์ว่าเป็นของเท็จหรือจริง จึงรับสั่งให้นำไปเผาไฟ ปรากฏว่าพระเพลิงมิได้ไหม้เนื้อผ้าเลย เป็นทีอัศจรรย์แก่ผู้เห็นยิ่งนัก ตกพุทธศตวรรษที่ 10 พระพุทธศาสนาแบบมหายานก็เริ่มแพร่หลายในกาษคาร์ ส่วนใหญ่ได้แพร่ไปจากอาณาจักรโขตาน แต่อิทธิพลของฝ่ายสาวกยานยังคงมั่นคงอยู่ จนตราบถึงสมัยของพระภิกษุเฮี่ยงจังๆ ได้บันทึกว่า อาณาเขตรอบประเทศนี้ 5000 ลี้ พื้นดินส่วนใหญ่เป็นกรวดทราย อุดมไปด้วยผลไม้ อากาศสม่ำเสมอ ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล อักษรศาสตร์ถ่ายแบบอย่างจากอินเดีย ประชาชนเลื่อมใสในพระพุทธธรรม และขยันในการประกอบบุญกุศล มีอารามหลายร้อยแห่ง พระสงฆ์กว่าหมื่นรูป เป็นฝ่ายสรวาสติวาท มีพระที่จดจำอาจสาธยายพระไตรปิฎก และคัมภีร์วิภาษาศาสตร์เป็นจำนวนมาก จากบันทึกของท่าน เราก็ทราบว่า ในระหว่างเวลา 200 ปีเศษ นับจากสมัยของท่านฮวบเฮี้ยนถึงสมัยท่านเฮี่ยงจังนั้น พระพุทธศาสนาในประเทศนี้ได้ก้าวรุดหน้าไปกว่าเดิมมาก ปริมาณสงฆ์จากพันกว่ารูปเป็นหมื่นกว่ารูป นับได้ว่าเป็นสุวรรณยุคของพระพุทธศาสนาแห่งประเทศกาษคาร์ได้ และต่อแต่นั้นดวงประทีปนี้ก็เริ่มต้นจางแสงลงไป ปรากฏว่าลัทธิศาสนาปาร์ซีได้เข้าแพร่หลาย และในต้นพุทธศตวรรษที่12 กองทัพอิสลามได้เข้าโจมตีพุทธอาณาจักรแห่งนี้ และทำลายเบียดเบียนพุทธศาสนิกชน ตกพุทธศตวรรษที่ 15 ดินแดนตั้งแต่ทะเลสาบอิสลิกกุลจนถึงกาษคาร์ ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าอิสลามสะโต๊กโขคาระข่าน และจึงไม่เป็นที่กังขาอันใดเลยว่าพระพุทธศาสนาจะไม่หมดไปจากประเทศกาษคาร์

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรปาร์เธีย

      อาณาจักรปาร์เธียนี้ จีนเรียกว่า "อันเชกก๊ก" ปัจจุบันได้แก่พื้นที่บริเวณแถบเหนือของประเทศอิหร่าน เป็นอาณาจักรของชนผิวเหลืองตั้งขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3 ได้รับอารยธรรมจากกรีก, อิหร่านและยิว เคยเป็นมหาอาณาจักรทีทรงอำนาจและรุ่งโรจน์ด้วยอารยธรรมตลอดเวลาร่วม 500 ปี จึงเสื่อมสูญไป เคยเป็นแหล่งชมรมของพ่อค้าวิณิชด้วยอารยธรรมตลอดเวลาร่วม 500 ปี จึงเสื่อมสูญไป เคยเป็นแหล่งชมรมของพ่อค้าวาณิชที่มาจากประเทศกรีกโรมัน และบรรดาประเทศในดินแดนอาเชียไมเนอร์กับประเทศต่างๆ ในอาเชียกลางและอาเชียตะวันออก คนปาร์เธียเป็นนักการค้า สิ้นค้าผ้าและเครื่องหอมของปาร์เธียเป็นที่นิยมของสุภาพสตรีชาวโรมัน อัธยาศัยของชาวปาร์เธียก็สุภาพ ใจคอกว้างขวาง รักสัตย์ การปกครองนอกจากมีพระราชาแล้ว ยังมีสภาขุนนางที่มีอำนาจที่จะปลดพระเจ้าแผ่นดินได้ ในพุทธศตวรรษที่ 4ปาร์เธียได้เริ่มเปิดการสัมพันธ์กับจีน บันทึกของจีนกล่าวว่า ในอาณาจักรปาร์เธียมีเมืองหลายร้อยเมือง แผ่นดินหลายพันลี้และว่าเป็นมหาประเทศ และสัมพันธไมตรีได้เจริญขึ้นเป็นลำดับในยุคต่อมา  พระเจ้ากรุงปาร์เธียได้ส่งทูตนำบรรณาการมีสิงโตเป็นต้น ไปถวายพระโอรสแห่งสวรรค์จีนพระพุทธศาสนาได้แผ่จากบากเตรียมาสู่ปาร์เธียในราวพุทธศตวรรษที่ 7 พระโอรสของกษัตริย์ปาร์เธียทรงพระนามว่าอันสิเกา (จดตามสำเนียงจีน) ได้สละราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าอา แล้วเสด็จออกอภิเนษกรมณ์จาริกเที่ยวสั่งสอนธรรมจนถึงประเทศจีน ได้มาแปลคัมภีร์ต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งคัมภีร์ของฝ่ายสาวกยานและมหายาน ต่อมาในปี พ.ศ. 724 (ค.ศ.181) มีอุบาสกชาวปาร์เธียคนหนึ่งชื่ออันเฮี้ยง (เรียกตามเสียงจีน) เดินทางมาเมืองจีนทำงานแปลคัมภีร์ในปี พ.ศ.797 (ค.ศ.254) ภิกษุทังม่อติ (ธรรมมติ) ชาวเปอร์เธียได้เดินทางมาแปลคัมภีร์วินัยของฝ่ายนิกายธรรมคุปต์ที่วัดแปะเบ้ยี่ นครลกเอี๋ยง ในปี พ.ศ.824 (ค.ศ.281) ภิกษุชาวปาร์เธียอีกรูปหนึ่งชื่ออันฮวบคิม ได้มาประเทศจีนแปลคัมภีร์ อย่างไรก็ตาม ในพุทธศตวรรษที่ 7 นี้ ปาร์เธียได้ถูกรุกรานจากกองทัพของพวกอิหร่าน และลัทธิศาสนาโซโรอัสเตอร์หรือปาร์ซีก็กลายเป็นเจ้าเหนือลัทธิอื่นๆนักประวัติศาสตร์บางท่านให้ข้อคิดเห็นว่า พวกปาร์เธียได้ย้ายไปตั้งอาณาจักรอยู่แถวเมืองโบคาระในเตอร์กีสตานตะวันตก และว่า พวกชาวชนเผ่าหนึ่งในอินเดียก็เป็นพวกสืบเชื้อสายมาจากพวกปาร์เธีย

อาณาจักรมหายาน "จือฮะ"

      อาณาจักรนี้ เรียกกันหลายชื่อว่า จือฮะ, ซูคูเกีย, เจกูกา, และจัมกูเกียบ้าง มีผู้เข้าใจว่าได้แก่แถบเมืองยารกานต์ในปัจจุบัน เป็นอาณาจักรเล็กๆที่นับถือพระพทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างตึงเครียด ในบันทึกของจีนกล่าวว่า ถ้ามีภิกษุต่างถิ่นเดินทางมา จะถูกพระราชาผู้ครองแคว้นสอบสวนปากคำ ถ้าเป็นภิกษุฝ่ายสาวกยานก็จะถูกขับไล่ไม่ให้พักอาศัย ถ้าเป็นภิกษุในฝ่ายมหายานก็จะได้รับการต้อนรับสักการบูชา ในพระราชวังของพระราชามีมหาปรัชญาสูตร มหาสันนิบาตสูตร พระราชาทรงสวดสาธยายพระสูตรเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นนี้  มีภูเขาสูงชัน เป็นที่ประดิษฐานคัมภีร์สำคัญของฝ่ายมหายานเป็นอันมาก และว่าทางทิศใต้ของแคว้นนี้ มีภูเขาใหญ่เป็นที่จำศีลภาวนาของบรรดาโยคีสิทธาจารย์ทั้งหลายที่บ้างก็เป็นชาวเมือง บ้างก็มาจากประเทศอินเดีย (อย่าลืมว่าแผ่นดินแถบนี้เป็นนอกฟ้าป่าหิมพานต์) ในถ้ำหนึ่งพระอรหันต์เข้านิโรธสมาบัตินั่งนิ่งอยู่ 3 องค์ ถึงเวลาที่ผมและหนวดยาวก็ปรากฏว่ามีภิกษุชาวเมืองเนปาลมาปลงให้ ในสมัยพระภิกษุฮวบเฮี้ยนๆกล่าวว่า มีสงฆ์ในอาณาจักรจือฮะนี้กว่าพันรูป และตัวท่านเองได้พักอยู่ในจือฮะราว 15 วัน ต่อมาภิกษุฮุยเซงได้เดินทางผ่านมาอีก และเขียนไว้ว่า ชาวเมืองจือฮะอาศัยอยู่ตามหุบเขา บริบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ใช้ข้าวสาลี ข้าวฟ่างเป็นอาหาร ไม่นิยมปาณาติบาต กินแต่เนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว และผู้คนก็มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวโขตาน มีอักษรศาสตร์ใช้แบบพราหมณ์ ส่วนพระภิกษุเฮี่ยงจังบันทึกไว้ว่า อาณาเขตของอาณาจักรจัมกูเกียพันลี้เศษ เป็นประเทศใหญ่ เขตรอบนครหลวงได้ 10 ลี้เศษ คับคั่งด้วยอาคารบ้านเรือน มีภูเขาติดต่อกันเป็นพืด บริเวณริมฝั่งแม่น้ำอุดมด้วยป่าผลไม้และการเพาะปลูก ลมฟ้าอากาศหนาวเย็น ภาษาคำพูดแตกต่างกับโขตาน แต่หนังสือเป็นแบบเดียวกัน ประชาชนเลื่อมใสในพระรัตนตรัย นอกนั้นยังมีอาณาจักรเล็กๆ อีกเป็นจำนวนมากในเตอรกีสตานทั้งสอง เช่นอาณาจักรซอกเดียนในเตอรกีสตานตะวันตก ก็เคยเป็นที่ๆพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่ง อาณาจักรเสี่ยงเสียงในซินเกียงเคยมีพระถึง 4000 รูป เป็นฝ่ายสาวกยาน อาณาจักรการาชาร์ อีอู๊ มีพระขนาด 4000 ถึง 5000 รูป เป็นฝ่ายสาวกยาน และถือวินัยเคร่งครัดอย่างอินเดีย นอกนั้นก็มีอาณาจักรอื่นๆในอาฟฆานิสตานบ้าง ในเปอร์เซียบ้าง และไปไกลจนถึงชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โพธิรัศมีในสมัยหนึ่งก็ยังได้แผ่ไปครอบคลุมถึง

นิเขปบท

      เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านหนังสือจบลงแล้ว ท่านจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรหรือไม่? ผู้เขียนไม่ทราบจะหยั่งได้ แต่ฐานะพุทธศาสนิกชนผู้นับถือเคารพพระพทธศาสนา เราก็มีความรู้สึกสลดใจที่พระศาสนาของเราต้องมีอันเป็นไป สูญสลายลงทีละประเทศๆ เช่นนี้ จนบัดนี้เหลือเพียง 4-5 ประเทศเท่านั้น ที่อยู่ในฐานะเรียกเต็มปากได้ว่าเป็นประเทศพระพุทธศาสนาจากเนื้อที่ 2 ใน 3 ของพื้นปฐพีทั่วทุกทิศาดลแห่งอาเชียทวีปเรา ก็หดเหลือลงมาเพียงแผ่นดินแถบอาเชียบูรพาเท่านั้น ผิดกับศาสนาอื่นที่แพร่หลายไปทุกทวีปของโลก ความจริงพระบรมครูตรัสว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะมาทำให้พระสัทธรรมของพระองค์เสื่อมไปได้นอกจากโมฆบุรุษในศาสนานี้เป็นผู้ทำ หรือผู้ก่อชักนำศึกภายนอกเข้ามาเท่านั้น เราจงดูอินเดียเป็นตัวอย่าง ศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลไล่เลี่ยกัน แต่พอถูกภัยศาสนาอื่นรุกราน พระพุทธศาสนาก็สิ้นลมปราณเลยทีเดียว ไม่เหลือแม้แต่รากเหง้า ส่วนศาสนาพราหมณ์ตรงกันข้าม กลับดำรงอยู่ได้ จากภาพของคนฮินดูนับจำนวนล้านๆ แห่กันไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ลอยบาปกันทุกปี เดือน วัน ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นพยานว่า ศาสนาใหม่ๆไม่ทำความสะดุ้งสะเทือนแก่ลัทธิฮินดูเท่าไรเลย  พระพุทธศาสนาของเรามีหลักธรรมอันประเสริฐ แต่พุทธบริษัท 4 ส่วนมากพอใจแต่สภาพเท่าที่เป็นมาแล้ว ไม่ใคร่คิดก้าวหน้าที่จะช่วยกันส่งเสริมงาธรรมทูตให้แพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเพาะปลูกความเข้าใจในหลักศาสนาลงในใจของเหล่าอนุชน เรามักจะว่าของดีแล้ว ใครต้องการเข้ามาหาเอง ความคิดเช่นนี้ตราบใดที่ยังมีอยู่ ตราบนั้นฐานะของพระพุทธศาสนาจะลดต่ำลงทุกวัน และก็จะถึงกาลนิโยค ผู้เขียนเลื่อมใสในปาฐกถาของท่านธัมมิสสรานันทะ ภิกษุลังกา ที่ว่างานเผยแผ่พระศาสนาเป็นปฐมสิกขาบทและเป็นมหาวินัยที่สำคัญที่สุด ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญชาให้พุทธบริษัทการทำและรักษาไว้ ของของเราดีจริง แต่คนที่ไม่รู้จักของดียังมีอยู่มาก เขาจะเข้ามาหาได้ด้วยวิธีเช่นไรเล่า เพราะแม้คุณค่าของของดีนั้นแม้แต่ชื่อเขาก็ยังไม่รู้เสียแล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าทีของพุทธบริษัทผู้รักษาพระศาสนา จะต้องช่วยกันเผยแผ่เปิดเผยของดีนั้นให้แก่โลกแล้วนั่นคือการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้มีชีวิตยืนยาวต่อไป

คำอธิบายเพิ่มเติม

1 เรื่องมนุษย์ชาติฮัน, เตอร์ก

      1 ปัญหาเรื่องมนุษย์ชนชาติที่เรียกว่า ฮู้,ฮัน,เตอร์ก,สงหนู,ตาด,ตาตาร์ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากของนักศึกษาประวัติศาสตร์อาเชียกลางนั้น ความจริงเป็นมนุษย์เผ่าเดียวกัน แต่แยกกันหลายสาขา บางพวกผิวขาวก็มี ที่เรียกไปต่างๆนั้นก็เป็นด้วยพวกนี้ไม่มีการปกครองแบบรวมต่างแยกก๊กแยกเหล่าเป็นอิสระ มีกษัตริย์หรือหัวหน้าของตนแต่ละพวก ใครต้องการเผด็จอำนาจก็ต้องยกทัพเที่ยวปราบปรามรบพุ่งกันให้เห็นแพ้หรือชนะ ฆ่าฟันกันเองอยู่เนืองนิตย์ อนึ่ง ขนบธรรมเนียม ผิวพรรณ ภาษา ก็ผิดเพี้ยนกันตามพวกด้วย พวกง้วยสีก็เป็นแขนงหนึ่งของมนุษย์เผ่าต่างๆ นี้อยู่กระจายไปทั่วดินแดนตอนเหนือของทวีอาเชียว ตั้งแต่ไซบีเรียลงมาจนจดประเทศจีนและอินเดีย ทางตะวันตกไปจดถึงชายแดนยุโรป ทางตะวันออกไปจดเอาแมนจูเรีย ฉะนั้น ในพงศาวดารจีน เรามักจะพบชื่อพวกคนแปลกๆที่เที่ยวบุกรุกบ้านเมืองของจีนว่า พวกฮู้บ้าง สงหนูบ้าง พวกมองโกลบ้าง สรุปแล้วพวกเหล่านี้ล้วนมีบรรพบุรุษต้นรากมาจากอันเดียวกัน บางพวกก็รุกมาตีชิงเมืองของจีนแล้ว อีกพวกหนึ่งก็ติดตามมาแย่งเอาไป และอีกพวกหนึ่งก็ตามซ้อนมาแย่งพวกที่ 2 ไปเสียอีก เพื่อกันยุ่งยากจึงมีผู้ใช้ศัพท์ว่า พวกตาด รวมๆกันไปเลยทีเดียว ไม่รู้ว่าจะเป็นตาดเผ่าไหนก็สุดแล้วแต่ ซึ่งยิ่งทำให้งงมากขึ้น พวกนี้ (หมายถึงเผ่าต่างๆอยู่ในบริเวณกว้างใหญ่ตอนเหนือของอาเชีย) บางเหล่าก็อยู่เป็นบ้านเป็นเมืองเจริญด้วยอารยธรรมก็มี บางเหล่าก็ร่อนเร่พเนจรเที่ยวตีชิงบุกรุกบ้านเมืองเขาก็มี พวกข้างหลังนี่แหละมีมากและเป็นพวกที่ทำให้โลกสั่นสะเทือนมาก เช่นพวกสงหนู เตอร์กกับพวกมองโกล พวกสงหนูซึ่งอยู่แถบมองโกเลีย ตั้งหน้าตั้งตารุกรบกับจีน จนจีนต้องสร้างกำแพงยักษ์ ขนาดยาว 1500 ไมล์ ไว้สกัดกั้นพวกนี้ ครั้งเมื่อจีนปราบพวกสงหนู พวกสงหนูที่ไม่ชอบเป็นข้าจีนก็อพยพกันหาที่อยู่ใหม่ สงหนูพวกหนึ่งอพยพไปจนถึงลุ่มแม่น้ำอูราล และแดนต่อแดนอาเชีย-ยุโรป พวกนี้ภายหลังได้บุกตะลุยไปถึงอาณาจักรโรมันในยุโรป อีกพวกหนึ่งแยกลงมาทางอาเชียกลาง มาตั้งบ้านเมืองกระจัดกระจายกันแถวเหนือๆของอินเดีย และสู้รบพวกเจ้าของถิ่นเดิม (ซึ่งก็เป็นพวกเผ่าเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าได้มาอยู่ก่อน) พวกนี้ภายหลังเมื่อได้กำลังมากแล้ว ก็ทะลวงบุกอินเดียต่อไป ฝรั่งเรียกพวกสงหนูทั้ง 2 เหล่านี้ว่า ฮัน (อย่าปนกับราชวงศ์ฮั่นของจีน) พวกเตอร์กก็คือพวกเดียวกับฮันเหมือนกัน เมื่อมาอยู่ในอาเชียกลาง แบ่งออกเป็นเตอร์กตะวันออกซึ่งอยู่เตอรกีสตานจีน (มณฑลซินเกียง) กับเตอร์กตะวันตกในเตอรกีสตาน แต่ละฝ่ายยังประกอบด้วยอาณาจักรใหญ่น้อยอีกหลายสิบอาณาจักร รบพุ่งฆ่าฟันกันเรื่อย บางสมัยก็ยกมารวมกันไปตีจีน พวกอาณาจักรกาษคาร์, การาชาร์, คุจะ, ยารกานต์, โขตาน, เกาเชียง, ล้วนมีเตอร์กอยู่เต็มทั้งนั้น แต่เป็นเตอร์กที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่พวกเตอร์กที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งพวกไม่นับถือนี้ ต่อมาได้ยกมาอยู่ยุคราชวงศ์ถัง จีนรบชนะเตอร์กทั้ง 2 ฝ่ายอาณาจักรต่างๆของเตอร์ก จีนยุบเป็นมณฑล จังหวัด ตั้งพวกหัวหน้าเตอร์กเป็นข้าหลวงปกครอง ครั้นมาถึงปลายแผ่นดินถัง อำนาจจีนเสื่อมลง พวกเตอร์กตะวันตกก็กลับเป็นอิสระทำสงครามกับพวกเดียวกันอีก พอดีกับพวกอาหรับกำลังขยายอิทธิผลเข้ามาในอาเชียกลาง ก็ปรากฏว่าราวพุทธศตวรรษที่ 12 พวกเตอร์กก็ถูกอาหรับกลืนเป็นอิสลามิกหมด และพวกนี้กลับเป็นตัวตั้งตัวดีแผ่ศาสนาอิสลามเข้าไปในอินเดีย และทำทารุณกรรมต่อพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ส่วนพวกมองโกลนั้น ได้ทำความสั่นสะเทือนให้แก่โลกอย่างมโหฬารยิ่ง ด้วยได้สร้างเจ็งกิสข่าน,กุบไลข่าน มหาจักรพรรดิของโลกขึ้นเอง

2 เรื่องอาณาจักรบากเตรีย

      อาณาจักรบากเตรียอยู่ทางตะวันออกของอิหร่าน เดิมขึ้นอยู่กับอาณาจักรสิเรีย ซึ่งเป็นอาณาจักรกรีกในอาเชีย ต่อมาในสมัยพระเจ้า Antiochus ที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองสิเรียได้เกิดยุทธชิงชัยกับอียิปต์ขึ้น จึงข้าหลวงผู้ครองบากเตรียผู้หนึ่งชื่อ ดิโอโดตัส ได้ถือโอกาสประกาศอิสรภาพ สถาปนาราชอาณาจักรขึ้นสำเร็จ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 4 และได้เริ่มขยายอำนาจออกมาทางตะวันออก ในยุคนั้นอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของวงศ์โมริยะ ต่อมาราว 206 ปีก่อน ค.ศ.กษัตริย์ของบากเตรียพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ยูไธเตมัส ได้ให้โอรสกรีธาพลข้ามภูเข้ามาตีอินเดียถึงดินแดนปาญจาป ซึ่งเป็นครั้งขยายอิทธิพลยิ่งใหญ่ของบากเตรีย ในขณะที่ทัพบากเตรียกำลังตีอินเดียนั้น ทางบ้านเมืองของตนก็ปรากฏการกบฏขึ้น นายทหารผู้หนึ่งชื่อยูเครติเดส แย่งราชบัลลังก์สำเร็จ นับแต่นั้นมา อาณาจักรบากเตรียก็หย่อนกำลัง เกิดการรบพุ่งแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง จนเสื่อมกำลังลงมาก เปิดโอกาสให้พวกปาร์เธียและพวกง้วยสีเข้ามาบุกรุก อารยธรรมของกรีกซึ่งมาเบ่งรัศมีอยู่ในอาเชียอยู่ร่วม 200 ปี ก็ถึงกาลอวสานพร้อมด้วยความสิ้นสูญแห่งความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรบากเตรียเช่นนี้

3 เรื่องอาณาจักรปาร์เธีย

      อาณาจักรปาร์เธีย เดิมก็มีสภาพเช่นเดียวกับบากเตรีย และประกาศเอกราชร่วมยุคเดียวกัน ผิดกันแต่ว่าปาร์เธียมิได้เป็นกรีกอย่างบากเตรีย คนปาร์เธียเป็นเผ่าผิวเหลือง ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอยู่เกือบ500 ปี ตลอดระยะเวลานั้นปาร์เธียต้องทำสงครามกับอาณาจักรใกล้เคียงและศัตรูอันสำคัญยิ่งก็คือพวกโรมัน ผู้ตั้งอาณาจักรปาร์เธียเป็นอิสระชื่ออาร์ชาเชส ตกในแผ่นดินพระเจ้าอาร์เชาเชสที่ 2 ปาร์เธียได้ถือโอกาสที่สิเรียพ่ายแพ้แก่อียิปต์ จึงแย่งชิงอำนาจของสิเรียได้มาก ต่อมาปาร์เธียได้ทำสัมพันธ์มิตรกับบากเตรียร่วมกันรบสิเรีย จนสิเรียเข็ดหลาบไม่กล้ารบกวนปาร์เธีย และยอมรับว่าปาร์เธียเป็นอิสรรัฐ ถึงรัชสมัยพระเจ้าไมธริเดเตส (ราว 180 ก่อนค.ศ.) อำนาจของปาร์เธียได้ขยายออกไปจนถึงลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส และรบชนะกองทัพบากเตรียขยายอำนาจเข้าสู่อินเดียอีกด้วย อาณาเขตปาร์เธียจึงกว้างขวางมาก พระเจ้าไมธริเดเตสประกาศเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ การปกครองของปาร์เธยก็เจริญมาก มีสภา 2 สภาซึ่งมีอำนาจ กล่าวกันว่า ชาวปาร์เธียมีอารยธรรมกรีกผสมกับจีน คนปาร์เธียอ่านหนังสือกรีกและยิวออก ในยุคนั้นตอนกลางของอาเชียทวีป  มีพวกปาร์เธียกำลังขยายอำนาจออกไปทางเอาเชียตะวันตก ร่วมกับพวกง้วยสีซึ่งเป็นเผ่าผิวเหลืองเหมือนกัน กำลังขยายอำนาจออกทางตะวันออกแล้วเข้าสู่อินเดีย ศาสนาที่นับถือส่วนใหญ่ชาวปาร์เธียนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ แต่ก็ปรากฏว่ามีพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้าไปในปาร์เธียเหมือนกัน ดังความที่กล่าวเบื้องต้น จำเนียรกาลล่วงมาเมื่อโรมันขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกมากขึ้นและตีสิเรียได้ ก็ปะทะกับอำนาจของปาร์เธียซึ่งเป็นมหาอำนาจ อันโรมันเองก็หวั่นอยู่เหมือนเดิม ปาร์เธียกับโรมันได้รบพุ่งผลัดกันแพ้และชนะอยู่ร่วม 300 ปี จนตราบเท่าพุทธศตวรรษที่ 7 ในขณะที่ภายในอาณาจักรปาร์เธียเองก็กำลังอ่อนแออยู่ เนื่องด้วยการแตกสามัคคีฆ่าฟันกันเองบ้าง  เนื่องด้วยรบกับโรมันเสียย่ำแย่มาแล้วบ้าง ทางอิหร่านก็เกิดคนดีขึ้นมาตั้งราชวงศ์สัสสนิตขึ้นล้างอำนาจของปาร์เธียลงสำเร็จเด็ดขาด อาณาจักรปาร์เธียจึงหมดบุญกันเพียงนั้น

4 ภูมิประเทศของเตอรกีสตาน

      ปัจจุบันนี้ เตอรกีสตานตกอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต ภูมิประเทศมีภูเขาใหญ่ๆทางใต้และทางตะวันออกมาก และมีที่ราบลุ่ม ผิดกับทางตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นทุ่งหญ้าใหญ่ เตอรกีสตานมีแม่น้ำใหญ่ๆหลายสาย เช่นแม่น้ำอมูดาเรีย ยาว 2080 กิโลเมตร แม่น้ำเซอร์ดาเรีย ยาว 1840 กิโลเมตร อาณาเขตทิศตะวันออกจดเตอรกีสตานจีนและที่ราบสูงปาร์มี เทือกภูเขาการาโกรัม ทิศตะวันตกจดทะเลทาบแคสเบียน และยุโรป ทิศเหนือจดไซบีเรียทิศใต้จดอิหร่านและอาฟฆานสตาน มีพลเมืองอยู่ราว 15 ล้านเศษ (สถิติเก่า เดี๋ยวนี้คงเพิ่มมาก) นับถือศาสนาอิสลาม มีสินค้าที่สำคัญ เช่นฝ้าย, พรม, และขนแกะเป็นต้น อนึ่ง ยังมี ทะเลสาบใหญ่อยู่หลายแห่ง เช่นทะเลสาบแคสเปียน ทะเลสาบอิสสิกกุล ที่ทะเลสาบนี้เมื่อพระภิกษุเฮี่ยงจังจาริกมาถึงได้รำพันว่า แม้ไม่มีพายุพัด คลื่นในทะเลสาบแต่ละลูกก็สูงหลายตึ๋ง แลน่ากลัวนัก

5 เตอรกีสตาน (ซินเกียง)

      อยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก โตกว่าประเทศไทยราว 3 เท่า ในสมัยวงศ์แมนจูครองเมืองจีน ทัพแมนจูปราบพวกก๊กต่างๆ ในเตอรกีสตานตะวันออกแล้ว ก็ยุบตั้งขึ้นเป็นมณฑลซินเกียง ทิศเหนือจดมองโกเลีย ทิศใต้จดทิเบต,อินเดีย, ทิศตะวันออกจดจีน ทิศตะวันตกจดเตอรกีสตานของโซเวียต พื้นที่ประกอบด้วยทะเลทรายและภูเขาสูงๆแห้งแล้งกันดาร มีที่ราบลุ่มทางภาคไต้ มีเทือกขุนเขาเทียนซานแล่นผ่านขวางกลางแผ่นดิน แบ่งภูมิภาคออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้ ภาคใต้ไปจดสิ้นเอาเทือกขุนเขาคุนลุ้นซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติกั้นเขตระหว่างซินเกียงกับทิเบต ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ไปจดกับเทือกเขาการาโกรัมซึ่งแบ่งเขตซินเกียงกับแคว้นกาษมีระ มีแม่น้ำสายสำคัญชื่อตาริมและแควหลายสายไหลผ่านทำให้เกิดที่ราบบ้าง ใต้แม่น้ำตาริมมีทะเลทรายใหญ่ชื่อตะกลามากัน ส่วนทางภาคเหนือของภูเขาเทียนซานนั้น แผ่นดินติดเนื่องกับที่ราบสูงมองโกเลีย มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน เช่นแม่น้ำอิลิ,แม่น้ำอูลุน, แม่น้ำการัทษ์ อากาศหนาวเย็นแห้งแล้ง พลเมืองมีราว 2 ล้านเศษ (เตี๋ยวนี้ต้องเพิ่มแน่)ชึ่งแม้จะทวีปริมาณขึ้นอีก 10 ล้าน ก็ยังน้อยมากสำหรับแผ่นดินอันไพศาลนี้ ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พวกมองโกเลียนับถือพระพุทธศาสนา และมีอยู่มากทางภาคเหนือนอกจากนี้มีชาวจีนและทิเบต อาชีพของพลเมืองทางภาคเหนือส่วนมากทำการเลี้ยงสัตว์ ทางภาคใต้มีการทำกสิกรรมกันตามที่ราบลุ่มแม่น้ำบางแห่ง และตามที่ราบเชิงภูเขาคุนลุ้น การาโกรัม สินค้าออกที่สำคัญมีจำพวก หยก ทองคำ ผ้า ขนสัตว์ ฝ้าย และข้าวสาลี เมืองสำคัญมีเมืองติฮัวเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ทางภาคเหนือ มีพลเมืองราวแสนเศษ เมืองการาชาร์เป็นเมืองเก่าแก่เคยเป็นที่รุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกภูเขาเทียนซานเหนือทะเลทรายตะกลามากัน มีซากวัตถุโบราณวัตถุเก่าแก่เหลืออยู่ ปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญของสายคมนาคม การพาณิชยกรรมเจริญ เมืองกาษคาร์ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลทรายตะกลามากัน แถบลุ่มแม่น้ำกาษคาร์ เคยเป็นพุทธอาณาจักร เป็นเมืองรวมจุดของพาณิชกรรมอันเจริญมาก มีคนเผ่าต่างๆในอาเชียกลางเดินทางมาค้าขายมาก เมืองยารกานต์ถัดลงมาจากเมืองกาษคาร์ ในอดีตเป็นพุทธอาณาจักรเหมือนกัน ปัจจุบันเป็นแหล่งพาณิชยกรรม ทางใต้ของเมืองมีแหล่งหินหยกใหญ่ที่สุดของจีนเมืองโขตานอยู่ใต้ทะเลทรายตะกลามากัน เป็นเมืองสำคัญทางภาคใต้ เคยเป็นพุทธอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ในเพรงกาล อนึ่ง มีมติบางท่านกล่าวว่า คำว่าง้วยสีนั้นควรอ่านว่าง้วยสี จึงบอกไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats